แม้ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จะแตะหลักสามร้อยต่อวัน แต่รัฐบาลไทยก็ยังไม่สามารถวางมาตรการควบคุมการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยิ่งไปกว่านั้น การสื่อสารที่คลุมเครือและปิดปากผู้วิจารณ์ด้วยข้อหาปล่อยข่าวปลอมอย่างพร่ำเพรื่อก็ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายขึ้น การไม่เข้าใจโรคจึงทำให้เกิดอคติและซ้ำเติมผู้ติดเชื้อมากขึ้น  

มาร์ค โคแกน เรื่อง 

เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา หญิงชาวบ้านขามจากจังหวัดบุรีรัมย์ติดเชื้อโควิด-19 ระหว่างการทำงานที่จังหวัดสมุทรสาคร หลังจากเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสตึก ซึ่งอยู่ในพื้นที่บ้านเกิด เธอได้รับอนุญาตจากแพทย์ให้กลับบ้านมาพักฟื้นและกักตัวต่อเป็นเวลา 14 วัน โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอื่นๆ อย่างเคร่งครัด 

ตามรายงานของสำนักข่าวบอกว่า หญิงคนนี้กักตัวอยู่ภายในบ้านตามลำพัง แยกตัวโดดเดี่ยวจากผู้อื่น แต่เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ซึ่งใกล้ครบกำหนดการกักตัว ปรากฏว่า มีกลุ่มชาวบ้านและอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ราว 20 มายืนรวมตัวกดดันที่หน้าบ้านให้เธอไปกักตัวที่ศาลากลางของหมู่บ้าน ซึ่งถูกจัดให้เป็นสถานที่รับรองผู้ป่วยโควิด-19 แทน

ผู้สื่อข่าวที่เดินทางไปลงพื้นที่พบว่า บ้านของเธอมีเชือกขึงเอาไว้โดยรอบ พร้อมป้ายข้อความที่เขียนติดเอาไว้ที่หน้าบ้านว่า “ห้ามเข้าใกล้ผู้ป่วย (รักษาตัวมาแล้ว)”

กรณีที่จังหวัดบุรีรัมย์เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ของปัญหาใหญ่ที่แฝงฝังอยู่ในสังคมไทยและในอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก แม้ว่าชาวบ้านขามจะเป็นห่วงถึงความเป็นอยู่ของหญิงสาวคนนี้ แต่พวกเขาก็เป็นห่วงสวัสดิภาพของตัวเองมากกว่าและไม่ยอมฟังคำอธิบายใดๆ จากเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลที่เดินทางมาช่วยชี้แจงสถานการณ์ เชื่อได้ว่าความดึงดันของชาวบ้านเป็นผลพวงแห่งอคติและการตีตราทางสังคมที่แพร่กระจายเป็นวงกว้างระหว่างการเกิดโรคระบาด

ตามคำนิยามขององค์การอนามัยโลก “การตีตราทางสังคม” คือ การเชื่อมโยงในทางลบระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคลกับลักษณะร่วมบางประการหรือโรคบางชนิด ดังเช่นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างวิกฤตการระบาดของไวรัสเอชไอวีหรือโรคเอดส์ทั่วโลกในช่วงทศวรรษที่ 1980 และ 1990 โดยผู้คนที่ถูกมองว่า มีความเชื่อมโยงกับโรคนี้ต่างถูกตีตรา ถูกเหมารวม ถูกเหยียดหยาม ถูกเลือกปฏิบัติและสูญเสียสถานะทางสังคม การตีตราทางสังคมส่งผลกระทบในทางลบต่อทั้งตัวผู้ป่วยเองไปจนถึงผู้คนรอบข้างอย่างครอบครัว เพื่อนฝูง และเครือข่ายผู้ให้ความช่วยเหลือ

องค์การอนามัยโลกยังรายงานอีกว่า อัตราการติดเชื้อโควิดในชุมชนของไทยเพิ่มสูงขึ้นถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับอัตราของช่วงเดือนที่แล้วที่การติดเชื้อกว่า 22% กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ แต่ตอนนี้หลายจังหวัดเริ่มประสบกับอัตราผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้น อย่าง จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ ชลบุรี อุบลราชธานี และบุรีรัมย์

ส่วนจังหวัดแพร่ ชายวัย 25 ปีคนหนึ่งเดินทางกลับมาจากปทุมธานีพร้อมกับภรรยา หลังได้รับการวินิจฉัยว่า ติดเชื้อโควิด-19 เมื่อได้รับการรักษาจนหายป่วย พวกเขาวางแผนจะกลับไปพักฟื้นที่บ้านของญาติ แต่เพื่อนบ้านกลับนำป้ายไปติดที่บ้านหลังนั้นพร้อมข้อความว่า “ขอความกรุณาเปลี่ยนสถานที่กักตัวใหม่ คนบ้านใกล้มีผลกระทบ กลัวจะมีปัญหาโปรดพิจารณาด้วย” โดยผู้ใหญ่บ้านให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลควรจัดพื้นที่เฉพาะเพื่อรับรองผู้ที่เพิ่งหายป่วยจากโควิด

ช่วงนี้คนไทยจำนวนไม่น้อยกำลังประสบกับความยากลำบากนี้ โดยมีหลายกรณีมีความคล้ายคลึงกับตัวอย่างที่กล่าวมาปรากฏในรายงานข่าวจากทั่วประเทศ เมื่อเดือนกรกฎาคม ผู้จัดการคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งในจังหวัดนนทบุรีเอาไม้ตอกประตูขังครอบครัวหนึ่งในบ้าน หลังพวกเขาติดเชื้อโควิด-19 ชายคนหนึ่งถูกไล่ออกจากงานที่แคมป์ก่อสร้างในจังหวัดปทุมธานี หลังภรรยาของเขาติดเชื้อ ทั้งคู่ต้องใช้ชีวิตอย่างขัดสนโดยมีเงินติดตัวเพียง 80 บาทเท่านั้น

หญิงวัย 24 ปีถูกไล่ออกจากบ้านมานอนข้างถนน หลังจากพบว่า เธอติดเชื้อโควิดที่เกรงว่า อาจจะเป็นผู้แพร่เชื้อ เครดิตภาพ ข่าวสด 

ปัญหาเหล่านี้ล้วนมีต้นตอมาจากการตีตราทางสังคมที่เกิดจากโรคโควิด-19 เห็นได้ชัดจากกรณีของหญิงวัย 24 ปี ที่ถูกสามีทำร้ายร่างกายและไล่ออกจากบ้านหลังจากติดเชื้อ ผลกระทบที่ตามมาหลังติดเชื้อมีส่วนทำให้ผู้คนจำนวนหนึ่งไม่อยากเข้ารับการตรวจหาเชื้อ โดยในหลายๆ ประเทศ อคติทางสังคมกลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้โรคระบาดยังกระจายตัวเป็นวงกว้าง การตีตราผู้ป่วยกลายเป็นสิ่งที่ลดทอนประสิทธิภาพต่อมาตรการควบคุมโรคและทำให้หน่วยงานรัฐต้องเสียเวลาอันมีค่าที่ควรจะนำไปรับมือกับการระบาดของเชื้อไวรัสที่ติดคนไทยไปแล้วนับล้านคน

ทั้งนี้เพื่อช่วยลดอคติที่เกิดขึ้นจากโรคโควิด-19 องค์การอนามัยโลกได้เปลี่ยนมาใช้ตัวอักษรกรีกเรียกชื่อเชื้อโควิดกลายพันธุ์ แทนที่จะเป็นชื่อประเทศต้นกำเนิดของสายพันธุ์ดังกล่าว โดยการตีตราทางสังคมอาจเป็นเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างความเป็นและความตายได้ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่ยังมีพื้นที่ชนบทอยู่อย่างกว้างขวาง เนื่องจากผู้คนส่วนหนึ่งอาจลังเลที่จะเข้ารับการรักษา เพราะไม่อยากเป็นภาระให้กับครอบครัวหรือกลัวถูกดูหมิ่นดูแคลน อย่างเช่น ในพม่า อคติต่อโรคโควิด-19 สร้างความร้าวฉานระหว่างสมาชิกครอบครัว รวมไปถึงอาสาสมัครผู้ขับรถพยาบาลหรือผู้ฝังศพผู้เสียชีวิต

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย พยายามช่วยสร้างความเข้าใจถึงบริบทของสถานการณ์โรคโควิด-19 ในไทยว่า เมื่อมีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก แน่นอนว่า อัตราของผู้ที่กำลังได้รับการรักษาก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย กรมอนามัยจึงขอชี้แจงว่า แพทย์สามารถอนุญาตให้ผู้ป่วยไปกักตัวและรักษาตัวอยู่ที่บ้านได้เป็นเวลา 14 วัน นับจากวันที่พบการติดเชื้อ โดยขอให้ชุมชนเห็นใจและไม่รังเกียจผู้ป่วยที่กำลังพักฟื้น รวมถึงให้การสนับสนุนผู้ป่วยที่เลือกกลับมารักษาตัวที่บ้าน ด้วยการช่วยส่งของยังชีพและยารักษาโรคให้

ในขณะเดียวกัน คนไทยก็กำลังพยายามรักษาตัวให้อยู่รอดปลอดภัยจากโรคระบาด โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลล้มเหลวที่จะให้ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติต่างๆ อันเห็นได้ชัดจากการสื่อสารที่สับสนอลหม่านและการใช้ข้อกล่าวหาเรื่องปล่อยข่าวปลอม ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐจากหลายฝ่ายออกมาให้ข้อมูลที่ขัดแย้งกันเอง แม้จะมีการตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เพื่อรวมศูนย์ช่องทางการสื่อสารต่อสาธารณชนขึ้นมาแล้วก็ตาม

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงการให้ข้อมูลกลับไปกลับมา เช่น การประกาศคำสั่งล็อกดาวน์พื้นที่ 5 จังหวัดเมื่อช่วงต้นปี แต่ตอนหลังกลับปฏิเสธว่า ไม่ใช่การล็อกดาวน์ แต่เป็นการ “ทำให้เกิดความเข้มงวดขึ้นมา”

อคติทางสังคมมักเกิดขึ้นจากการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการแพร่กระจายของเชื้อโคโรน่าไวรัส ซึ่งนำไปสู่การโยนความผิดและก่อให้เกิดความกลัวโรคหรือกลัวตายอย่างไร้เหตุผล รวมไปถึงการแพร่กระจายข่าวลือซุบซิบที่เป็นเพียงการยกเมฆ รัฐบาลไทยเชื่อว่าข้อมูลข่าวสารที่ถือว่าเป็น “ข่าวปลอม” ส่งผลกระทบต่อศักยภาพของรัฐในการทำงานรับมือกับโรคระบาด และพยายามออกกฎต่างๆ มาควบคุมข้อมูลเหล่านี้ แต่ก็ถูกวิจารณ์กลับจากหลายฝ่ายว่าเป็นเพียงข้ออ้างแบบเผด็จการในการปิดปากและลงโทษผู้ที่เห็นต่างเท่านั้น

ในความเป็นจริง ไม่มีใครหรือกลุ่มคนใดที่มีความเสี่ยงหรือมีความสามารถในการแพร่เชื้อไวรัสได้มากกว่ากลุ่มใดเป็นพิเศษ แม้แต่แรงงานต่างด้าวที่ตกเป็นแพะรับบาปจากอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ท่ามกลางสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขเช่นนี้ ความหวาดกลัวและวิตกกังวลจึงกลายเป็นแรงขับอันทรงพลังก่อให้เกิดอคติทางสังคมที่หวนกลับมาทำร้ายประชาชนด้วยกันเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มเปราะบางและกลุ่มคนชายขอบ

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากตีตราทางสังคมนี้จะลดลงได้ก็ต่อเมื่อผู้นำชุมชน อสม.และเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงทำงานร่วมกันเพื่อกระจายข้อมูลที่ถูกต้องออกไปให้กว้างขวาง นั่นหมายความว่า ทั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและผู้นำชุมชนท้องถิ่นจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจ รวมถึงข้อเท็จจริงของโรคและมุ่งมั่นที่จะสื่อสารให้ผู้อื่นรับรู้อย่างถูกต้องเช่นกัน

อคติและการตีตราทางสังคมถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการควบคุมโรคระบาดของประเทศไทย ความพยายามรับมือกับโรคในระดับท้องถิ่นจะเป็นผลสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อทุกคนยอมรับเสียก่อนว่า อคตินั้นมีอยู่จริง

อ่านฉบับภาษาอังกฤษได้ที่นี่

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฏบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print