วิธีฆ่าคนอีสานของรัฐไทย : ฆ่าครอง จันดาวงศ์ (2)

วิทยากร โสวัตร เรื่อง
มีหนังสือสำคัญเล่มหนึ่ง คือ การเมืองสองฝั่งโขง ของ ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์ ซึ่งเป็นงานค้นคว้าระดับปริญญาเอกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่องการรวมกลุ่มทางการเมืองของ ส.ส.อีสาน พ.ศ. ๒๔๗๖-๒๔๙๔ ได้ขึ้นต้นบทนำ ด้วยรายงานการตรวจราชการภาคอีสาน ของนายเลียง ไชยกาล (ส.ส.อุบลราชธานี) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรม 10 พฤษภาคม 2500 (กจช.(๓)สร.๐๒๐๑.๒๒/๖๖)
“๑. เนื่องจากชนภาคนี้อยู่ใกล้ชิดกับประเทศลาวและเป็นเชื้อชาติเดียวกัน เป็นเหตุให้มีความผูกพันทางจิตใจต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างไม่แน่นอน ๒. เรื่องการคิดอ่านแบ่งแยกดินแดนนั้น เป็นเรื่องจี้ถูกเส้น ในอนาคตอาจมีได้ เพราะเด็กรุ่นนี้ ซึ่งจะเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า ได้รู้ได้เห็นได้ศึกษาภาวการณ์ทั่วไป ทั้งภายในและภายนอกประเทศก็อาจคิดเช่นเดียวกับชาวไอริส แม้จะอยู่เกาะอังกฤษก็ยังแยกปกครองจากอังกฤษ เป็นต้น ๓.ในสมัย ทองอินทร์ เตียง ถวิล จำลอง เป็นรัฐบาลนั้นได้รับการสนับสนุนจากปรีดีให้รวมลาวทั้ง ๒ ฝั่ง โดยอาศัยหลักเชื้อชาติ ซึ่งการกระทำเช่นนี้ความจริงเป็นดาบ ๒ คม คือ อาจเป็นว่า ลาวฝั่งโน้นมารวมกับฝั่งนี้หรือฝั่งนี้อาจหันไปรวมกับฝั่งโน้น ๔.หน่วยใต้ดินเสรีไทยในภาคอีสานที่ก่อตั้งกันขึ้นในสมัยโน้นยังไม่สิ้นขาด หากเมื่อใดไม่พอใจการกระทำของรัฐบาลหรือต้องการเป็นใหญ่เป็นโตเสียเองก็อาจทำการปลุกปั่นขึ้นก็ได้…ทางฝ่ายรัฐบาลจำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างจริงจัง…”
เนื้อความไม่กี่บรรทัดนี้ ถ้าจะว่าโดยเนื้อหาก็คือการสรุปแถลงการณ์ที่คณะรัฐบาลจากการรัฐประหาร 2490 เผยแพร่ทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยที่ผมเอ่ยถึงในบทความก่อนที่อยู่ในหนังสือเรื่อง ครอง จันดาวงศ์ เขาคือใคร? นั้นเอง ซึ่งมันก็คือวิธีมองหรือทัศนคติของรัฐไทยที่มีต่อคนอีสาน
เมื่อดูช่วงเวลาของรายงานการตรวจราชการภาคอีสานฉบับนี้ มันคือ จุดเชื่อมของรัฐบาลชุดก่อน คือ ปลายจอมพล ป. พิบูลสงครามและจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในอีกหนึ่งปีต่อมาและรายงานชิ้นนี้ยังมี “การชี้นำ” ให้รัฐกระทำการบางอย่างในประโยคสุดท้าย (ที่ผมทำตัวเอนไว้)
และ 4 ปีต่อมา ภายหลังจอมเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เถลิงอำนาจ ครูครอง จันดาวงศ์ ก็ถูกประหารด้วยการยิงเป้าที่สนามบิน อำเภอสว่างแดนดิน จ.สกลนคร
ที่สะเทือนใจที่สุดก็คือ คนที่รายงานนี้เป็นคนอีสานด้วยกัน !
ถ้านี่เป็นนิยายมันก็เหมือนว่า นักเขียนจงใจสร้างความสะเทือนใจให้คนอ่านอย่างสุดๆ และที่ “หักมุม” จนเกิดแรงสะเทือนใจเพิ่มขึ้นเหมือนหมัดบวกก็คือ ย่อหน้าต่อมาของบทนำในหนังสือ การเมืองสองฝั่งโขงนั้น ระบุว่า
“มีนักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศได้เข้ามาศึกษาอีสานในช่วงหลังทศวรรษ ๒๕๐๐ เป็นจำนวนมากและงานในช่วงนี้จนถึงช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๙ นักวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับอีสานเหล่านี้จะมีคำถามหลักในการศึกษาภาคอีสานคล้ายๆ กัน คือ ทำไมมีการต่อต้านรัฐบาลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ส่วนแนวคิดที่ใช้ในการอธิบายในงานเหล่านี้มองว่า เป็นเพราะลักษณะของภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดพลังต่างๆ อันเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลกลาง”
ยังได้อธิบายถึงปัจจัยอื่นอีกที่สำคัญมี 3 แนวทาง คือ 1) กลุ่มแนวคิดที่ศึกษาด้านชาติพันธุ์ 2) กลุ่มแนวคิดที่ศึกษาเกี่ยวกับเศรษฐกิจของภาคอีสาน 3) กลุ่มแนวที่ศึกษาสภาพการเมืองในอีสาน
จุดพีคมันอยู่ที่ผลการศึกษาในกลุ่มที่ 3 นี่แหละครับ กล่าวคือ มีงานศึกษาที่สำคัญของ Frank C. Darling “Rural Insurgencies in Thailand : A Comparative Analysis” (1975)
“งานชิ้นนี้เป็นการศึกษาเปรียบเทียบการต่อต้านรัฐบาลในชนบทที่เกิดขึ้นในภาคใต้ ภาคเหนือและภาคอีสาน และเป็นการวิเคราะห์ถึงการแทรกแซงจากต่างประเทศที่ก่อการต่อต้านรัฐบาลในท้องถิ่นต่างๆ ด้วย
“ส่วนการอธิบายในงานชิ้นนี้ที่สำคัญอย่างหนึ่งกล่าวไว้ว่า ในขบวนการต่อต้านรัฐบาลในภาคอีสาน ไม่เคยประกาศเจตนารมณ์ที่จะแบ่งแยกดินแดนเหมือนในภาคใต้และไม่เคยประกาศเจตนารมณ์ที่จะแยกภาคอีสานเพื่อเข้าไปผนวกกับประเทศใกล้เคียง และมองว่าเป้าหมายเบื้องต้นอยู่ที่การแสวงหาความอิสระในการปกครองและตัดสินใจในท้องถิ่น และเรียกร้องความช่วยเหลือในการพัฒนาจากรัฐบาลกลางมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในงานชิ้นนี้ชี้ให้เห็นได้ว่า การต่อต้านรัฐบาลในชนบทของทั้งสามภาคไม่มีที่ไหนเลยที่มีศักยภาพแห่งการขยายตัวมากเพียงพอที่จะเป็นอันตรายต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของไทย…”
เจอข้อมูลตรงนี้แล้วและมองย้อนไปถึงการที่นักต่อสู้อีสานมากต่อมากถูกฆ่าตายอย่างโหดเหี้ยม รู้สึกสลดหดหู่ สะเทือนใจและโกรธแค้นมาก
ซึ่งข้อมูลนี้ตรงกับการเปิดเผย “เบื้องหลังนายฟอง สิทธิธรรมเป็นกบฏแยกดินแดน ?” ของ พ.ต.สีห์พนม พิชิตวรสาร ที่ได้ตีพิมพ์ไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ชินภูมิปตฺถโน ภิกขุ (อดีตรัฐมนตรี ฟอง สิทธิธรรม) วันเสาร์ที่ 20 มีนาคม 2525 ซึ่งเป็นการบันทึกปากคำของนายฟอง สิทธิธรรม
“อาจารย์ฟอง ก็ถูกรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม สั่งจับ ถูกกล่าวหาอย่างร้ายแรง หาว่าเป็นเป็นหัวหน้าแบ่งแยกดินแดนและจะตั้งตัวเป็นนายกรัฐมนตรีลาวด้วย เมื่อถูกจับก็ถูกสอบสวนอย่างละเอียดถี่ถ้วน ในที่สุดไม่ได้เรื่องไม่ได้หลักฐานเลยต้องปล่อยตัว ท่านอาจารย์ฟอง เคยพูดให้ข้าพเจ้าฟังเสมอว่า พวกเรานี่แหละคือนักรวมดินแดน ไม่มีคนอีสานคนใดโง่พอจะคิดแบ่งแยกดินแดน หากบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยกันจริงๆ แล้ว วันหนึ่งข้างหน้าคนอีสานก็มีสิทธิที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีได้เหมือนกัน สำหรับลาวนั้น ลาวเป็นพี่น้องที่ใกล้ชิดกับเรา เราต้องการให้เขาได้เอกราช และอยู่ร่วมกับเราโดยสันติต่อไป หากไทยเราทำดีกับเขา วันหนึ่งเขาอาจคิดจะมารวมกับเราก็ได้ เป็นเรื่องการตัดสินใจของเขาเอง หรือเขารักจะเป็นเอกราชปกครองตนเองก็เป็นเรื่องของประชาชนชาวลาว สุดแท้แต่เขาจะคิดเอา สำหรับเรานั้นให้เขาได้เป็นเอกราชก็พอใจแล้ว”
ข้อเท็จจริงนี้ยิ่งย้ำชัดเข้าไปอีกเมื่อไปสอดคล้องกับ “บันทึกภาคสนาม” ของคนที่เคยร่วมขบวนการเสรีไทยอีสานบนภูพาน และต่อมาได้พิมพ์เป็นเล่มในชื่อ บันทึกลับของเสรีไทยภูพาน โดย นายสีดอกกาว มีนาคม 2532 โดยสำนักพิมพ์เพื่อนชีวิต
“…ช่วงสุดท้าย (19.00-21.00) เป็นการฟังการบรรยายเรื่องการเมือง ปลุกใจให้รักชาติ ผู้บรรยายในวันแรกนี้ได้แก่ ท่านหัวหน้าใหญ่ (พลูโต) การบรรยายของท่าน ทำให้ผมเข้าใจเรื่องของโลก ปัญหาความขัดแย้งอันก่อให้เกิดสงคราม การช่วงชิงทรัพยากรจากอาณานิคมทางเศรษฐกิจและอาณานิคมทางการเมือง ปัญหาเรื่องเชื้อชาติ ท่านตำหนินโยบายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่กีดกันคนเชื้อชาติอื่น ที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินไทย ท่านบอกว่าคนที่มีเลือดไทยแท้ๆ นั้นหายากมากในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้นเป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ คนเชื้อสายจีน มอญ ฯลฯ มาปักหลักทำมาหากินกันนับร้อยปี การผสมของสายพันธุ์ย่อมมีกันตลอดเวลา…
“ฉะนั้นการที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม จะคลั่งชาติเหมือนฮิตเลอร์นั้น นับว่าดำเนินการผิดพลาด ท่านยังให้พยากรณ์ไว้ว่า ญี่ปุ่นต้องแพ้สงครามภายใน 6 เดือนข้างหน้านี้ แม้เราจะกำจัดศัตรูของเราคือญี่ปุ่นได้สำเร็จแล้ว งานของขบวนการเสรีไทยยังมีต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด เราต้องช่วยเพื่อนบ้านที่มีสายเลือดเดียวกันกับเราต่อสู้เพื่อเอกราชให้ได้ ฝรั่งเศสต้องหวนกลับมายึดครองลาว เขมร และญวนอีก เพราะประเทศเหล่านี้มีทรัพยากรธรรมชาติให้มันได้ขนกลับไปฟื้นฟูประเทศของมันได้ ทางฝ่ายอังกฤษนั้นก็เช่นกัน มันจะไม่ยอมปล่อยให้มลายู พม่า ไทยใหญ่ มอญ กะเหรี่ยง ได้เป็นเอกราชเป็นอันขาด นอกจากคนในประเทศเหล่านั้นจะลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อเอกราชของตน
“เมื่อท่านหัวหน้าใหญ่จบการบรรยายคืนนั้น ผมได้รับเชื้อไฟความเกลียดชังฝรั่งนักล่าเมืองขึ้นมากขึ้นจนเปี่ยมล้น ทำให้เกิดความรู้สึกสงสารคนลาวที่มีสายเลือดเดียวกันกับเราที่ต้องตกอยู่ภายใต้การกดขี่ เอารัดเอาเปรียบจากพวกนักล่าเมืองขึ้น คิดว่าสักวันหนึ่งผมต้องมีโอกาสได้ช่วยพวกเขาต่อสู้เพื่อเอกราชอย่างแน่นอน”
เมื่อเราวางข้อมูลเหล่านี้ย้อนเกร็ดข้อมูลกระแสหลักจากทางการของรัฐไทยแล้ว เราจะเห็นได้เลยว่า การตายของครูครอง จันดาวงศ์ นั้นเป็นการตายที่ไม่ชอบด้วยเหตุผลเลย โคตรไร้สาระจากความผิดพลาดของนโยบายของรัฐไทยที่ไม่ให้ค่ากับข้อมูลการศึกษาหาความจริง ไม่ยึดหลักการเหตุผลใดใดนอกเสียจากความเห็นแก่ตัว เอาแต่ได้ ดูการโตของกรุงเทพฯ เทียบกับจังหวัดอื่นๆ ในประเทศหรือเทียบกับภาคอีสานทั้งภาคก็ได้ เหมือนกับสัดส่วนจากงบประมาณการพัฒนาโดยเทียบคนกรุงเทพฯกับคนอีสาน สัดส่วนต่างกันถึง 25 เท่า
ที่สำคัญท่าทีและทิศทางของรัฐไทย (ที่ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้พวกอนุรักษ์นิยม) ก็ไม่เคยที่จะเปลี่ยนไปเลย และเมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็มองออกว่าจะมีคนตายจากน้ำมือของรัฐไทยมากขึ้นๆ จนกว่าประชาชนจะลุกขึ้นมาพร้อมกันและร่วมกันชิงชัย
แต่ก็มีเรื่องที่น่ายินดี ในส่วนของข้อมูลและทัศนคติของประชาชนในปัจจุบัน กล่าวคือมีการรุกกลับของข้อมูลทางวิชาการที่สืบค้นความจริงในสังคม ที่ฝ่ายเรารุกคืบกินพื้นที่ได้มากขึ้นๆ เรื่อยๆ จนได้พื้นที่ส่วนใหญ่แล้ว และทำให้คนรุ่นปัจจุบันตั้งคำถามกับชุดข้อมูลเดิม ซึ่งเป็นการปูทางให้คนรุ่นใหม่ๆ ไม่ได้ยึดโยงกับความงมงายอีกต่อไปไม่ว่าจะในนามของสถาบันใดก็ตาม
เพราะถ้าคุณปลอม คุณก็ต้องโดนตรวจสอบและท้าทาย
และนี่เองจะเป็นการ แก้แค้น ให้ครูครอง จันดาวงศ์ และเหล่านักสู้เพื่ออิสรภาพความเท่าเทียมกันของคนอีสานที่ถูกรัฐไทยฆ่าตายไปก่อนหน้า ด้วยการเอาพวกมันเข้าสู่หลักประหารหรือศาลสถิตยุติธรรมของประวัติศาสตร์ เพื่อลูกหลานเหลนจะได้รับรู้และทรงจำต่อไปตราบชั่วกาลนานว่า
พวกมัน คือ ฆาตกร อำมหิต เลือดเย็น