ปรากฏการณ์ Car Mob ต่อต้านรัฐบาลเบ่งบานไปทั่วทั้งประเทศ โดยเฉพาะในอีสานที่มีการสร้างสีสันด้วยการนำรถแห่ รถอีแต๋น พร้อมกับเปิดเพลงหมอลำสร้างความม่วนซื่นให้ร่วมกิจกรรมและคนมุงริมทางได้อย่างออกรสออกชาติ 

ปฐวี โชติอนันต์ เรื่อง 

ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ความเคลื่อนไหวของประชาชนในการต่อต้านและขับไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กลับมาอีกครั้ง 

จากสถิติการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลท่ัวประเทศเมื่อปี 2563 ก็มีมากถึง 779 ครั้ง ซึ่ง 5 อันดับแรกถือไม่พ้นกรุงเทพฯ ที่มีการชุมนุมถึง 261 ครั้ง  เชียงใหม่ 31 ขอนแก่น 30 สงขลา 25 และอุบลราชธานี 21 ครั้ง 

แต่ปีนี้แผ่วลง เพราะแกนนำหลายคนถูกจับติดคุก รวมถึงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ซึ่งมีผู้ที่ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น

จุดเริ่มของการเคลื่อนไหวครั้งนี้เกิดจาก “สมบัติ บุญงามอนงค์” หรือ ที่รู้จักกันในนาม “บ.ก.ลายจุด” ได้นัดประชาชนรวมตัวกันทำ Car Mob เมื่อวันนี้ 3 กรกฎาคม 2564 

กิจกรรมที่เกิดขึ้นมีลักษณะการแสดงออกทางการเมืองเชิงสัญลักษณ์ ภายใต้กลุ่มที่เรียกว่า ‘สมบัติทัวร์’ ซึ่งเป็นการนำผู้เข้าร่วมเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาลและมีการเปิดไฟกระพริบ พร้อมบีบแตรขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ 

ผลที่ตามมา คือ มีประชาชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมากและมีกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามมาอีกหลายครั้ง

กิจกรรม Car Mob ไม่ได้เพียงเกิดขึ้นเพียงในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ยังปลุกกระแสการเคลื่อนไหวต่อต้านและขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ในต่างจังหวัด โดยเฉพาะในภาคอีสานหลายจังหวัด

ในอีสาน กิจกรรม Car Mob เริ่มที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2564 หลังจากนั้นวันความคึกคักก็เริ่มขึ้นในอีกหลายจังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม บึงกาฬ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี อุบสลราชธานี และอำนาจเจริญ 

ถือเป็นความตื่นตัวของชาวอีสานใน 18 จังหวัดจากที่มี 20 จังหวัดในอีสาน บุรีรัมย์ และ เลย ที่ยังไม่เห็นกิจกรรมดังกล่าว

ผู้เขียนได้สำรวจลักษณะการกลับมาชุมนุมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ของประชาชนในรูปแบบ Car mob ในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา ทำให้เห็นปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวอย่างมีนัยสำคัญ 

ลักษณะประการที่ 1 การเกิดขึ้นของการชุมนุมในรูปแบบของ Car Mob ในพื้นที่อีสานสามารถรวมกลุ่มต่างๆ เข้าด้วยกัน กล่าวคือ การจัด Car Mob เป็นการสร้างอัตลักษณ์ (Identity) ทางการเมืองขึ้นมาใหม่ซึ่งรวมกลุ่มคนเสื้อแดง นักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่ไม่ได้นิยามตนเองว่า เป็นคนเสื้อแดง แต่ไม่ชอบการบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐบาลในเรื่องของการจัดการวิกฤตโควิด จัดสรรวัคซีน และปัญหาความตกต่ำทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลก่อไว้ ส่งผลให้การจัดกิจกรรม Car Mob ในแต่ละจังหวัดในอีสานมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากและกระจายไปยังจังหวัดต่างๆ

จากการสังเกตพบว่า ผู้เข้าร่วมกิจกรรม Car Mob  ถ้าเป็นนักเรียนและนักศึกษาส่วนใหญ่ หรือ ผู้ที่ประกอบอาชีพขนส่งอาหารจะมาร่วมในรูปแบบของการขี่รถจักรยานยนต์รั้งท้ายขบวนหรืออยู่ด้านหน้าขบวน นอกนั้นจะการนำรถยนต์ส่วนตัวมาเข้าร่วมหรือมาพร้อมกับเพื่อนที่มีรถยนต์

ลักษณะที่ 2 กิจกรรม Car Mob ซึ่งให้ประชาชนนำรถยนต์ หรือ รถจักรยานยนต์เข้าร่วมเพื่อขับขี่ไปบนท้องถนนเพื่อไปยังสถานที่สำคัญต่างๆ ของรัฐเพื่อทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์นั้น เป็นการเล่นกับข้อ พ.ร.บ.รักษาความสะอาด ที่รัฐชอบใช้แจ้งข้อกล่าวกับผู้ชุมนุม 

การชุมนุมในรอบนี้ต่างคนต่างจึงอยู่บนรถทำให้การแจ้งความในข้อหาดังกล่าวทำได้ยากขึ้น เพราะไม่ได้ไปสร้างความสกปรกให้กับใคร รวมถึงไม่รู้ว่าใครเป็นผู้นำในการชุมนุม

ลักษณะที่ 3 การที่ประชาชนต่างคนต่างขับขี่ยานพาหนะของตนมานั้นทำให้มีประชาชนกล้าที่จะออกมาเข้าร่วมกับการประท้วงมากขึ้น เนื่องจากความกลัวในการติดเชื้อโควิดมีน้อยลง เพราะอยู่แต่ในยานพาหนะของตนเองโดยเฉพาะรถยนต์ที่มีกระจกปิดมิดชิด ต่างจากการชุมนุมครั้งที่ผ่านมาที่มีการปราศรัยและมีคนมารวมตัวกันอย่างแออัด ซึ่งถูกมองว่า อาจจะเกิดการแพร่ระบาดของโรคได้ง่ายกว่า ไม่รวมถึงในการที่อยู่ในรถยนต์ทำให้ผู้เข้าร่วมไม่เปียกฝนและไม่ต้องตากแดด จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนกล้าที่จะออกมาชุมนุมมากขึ้น

ลักษณะที่ 4 การเคลื่อนไหวของกิจกรรม Car Mob มีการเคลื่อนขบวนไปยังสถานที่สำคัญต่างๆ ของรัฐเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ส่งผลให้ผู้ที่เข้าร่วมไม่รู้สึกเบื่อ เพราะเป็นเสมือนขับรถไปเที่ยวยังสถานที่ต่างๆ เช่น ศาลากลางจังหวัด สถานีตำรวจ หรือ ค่ายทหาร เป็นต้น และในบางจังหวัดมีการจัดกิจกรรมปราศรัยอยู่บนรถ แล้วผู้ร่วมชุมนุมก็สามารถติดตามการถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook Live ได้ 

ลักษณะที่ 5 กิจกรรม Car Mob กลายเป็นขบวนพาเหรดใหญ่ของเมือง เพราะการเคลื่อนขบวนไปยังที่ต่างๆ ยังสามารถดึงดูดให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ขนาบข้างของถนนเข้าร่วมกิจกรรมด้วย ดังจะเห็นภาพคนออกมายืนชู 3 นิ้ว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ในการต่อต้านรัฐบาล หรือ ชูป้ายข้อความต่างๆ ที่มีข้อความต่อต้านรัฐบาล 

บรรยากาศในลักษณะนี้จึงเป็นบรรยากาศแห่งความสนุกและการหัวเราะต่ออำนาจเผด็จการ เหมือนกับที่อาจารย์จันจิรา สมบัติพูนศิริ ที่เสนอว่า ให้ใช้มิติอารมณ์ขันเป็นเครื่องมือประท้วงกับรัฐบาล คือ ต้องทำให้รัฐบาลเผด็จการเป็นตัวตลกและคนที่เข้าร่วม ทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจรู้สึกสนุกกับการต่อต้านเผด็จการที่เกิดขึ้นด้วย (1)

ลักษณะที่ 6 ข้อเรียกร้องในกิจกรรม Car Mob ในอีสานดูเหมือนจะล้อตามกับการจัดกิจกรรมที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ คือ เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งดูเหมือนว่า จะมีการลดเพดานการเรียกร้องลงจากกลุ่มราษฎรปลดแอกที่เรียกร้องในเรื่องของการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แต่เมื่อลองสังเกตจากยานพาหนะของผู้ที่เข้าร่วมจะเห็นได้ว่า ประเด็นเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ยังไม่ได้ลดลง เนื่องจากมีถ้อยคำหรือป้ายข้อความจำนวนมากที่แสดงถึงความต้องการให้ปฏิรูปสถาบันฯ โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ

ลักษณะที่ 7 ผู้เข้าร่วมกิจกรรม Car Mob ไม่ใช่เพียงแค่เรียกร้องหรือส่งทอดความต้องการของตนเองให้กับรัฐบาลได้รับทราบเท่านั้น แต่เป็นการเรียกร้องไปถึงผลประโยชน์ของหมอ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นด่านหน้าที่ต้องเผชิญกับการระบาดของโควิดอีกด้วย 

ข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นอยู่ในลักษณะการวิพากษ์วิจารณ์การบริหารจัดการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่ถูกเรียกว่า VIP ซึ่งไม่ได้ทำงานในด่านหน้าในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส หรือ ช่วยเหลือผู้ป่วยติดเชื้อให้ได้รับวัคซีนก่อน การเรียกร้องดังกล่าวทำให้ต้องย้อนกลับไปดูข้อเรียกร้องของนิสิตและนักศึกษาเมื่อปี 2516 และ 2519 ที่เรียกร้องเพื่อผู้อื่นมากกว่าที่จะมองเฉพาะผลประโยชน์ตนเอง

ลักษณะที่ 8 ลักษณะของผู้เข้าร่วมกิจกรรม Car Mob ในอีสานยังคงไม่ทิ้งความเป็นอีสาน เราจะเห็นได้จากรถที่เข้าร่วมกิจกรรมเป็นรถที่ใช้แห่ในเทศกาลต่างๆ อีกทั้งเปิดเพลงหมอลำ มีไฟเทคกระพริบ ส่วนในขบวนก็มีการสร้างความม่วนซื่นให้กับผู้เข้าร่วมและผู้คนสองข้างทาง อาทิ การนำรถอีแต๋นที่ใช้ในการเกษตรมาร่วมเพื่อบ่งบอกว่าม็อบนี้เป็นของคนอีสาน เป็นต้น 

ลักษณะที่ 9 กิจกรรม Car Mob ตอนนี้เป็นไวรัล (ได้รับความนิยม) ไปทั่วประเทศ เนื่องจากคนที่เข้าร่วม ทั้งขับขี่รถหรือยืนอยู่สองข้างถนน ได้ถ่ายรูปลงสื่อโซเชียลมีเดียเพื่อบอกถึงกระแสความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ไปพร้อมๆ กับกรุงเทพฯ 

ลักษณะที่ 10 การเกิดขึ้นของ Car Mob ในอีสานดูเหมือนว่า จะถูกสกัดกั้นน้อยกว่าในกรุงเทพฯ จากการสังเกตปรากฏการณ์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ดูเหมือนว่า จะปล่อยให้ขบวน Car Mob เคลื่อนไปยังสถานที่ต่างๆ ได้ง่าย แตกต่างจากกรุงเทพฯ ที่มีการนำตู้คอนเทนเนอร์ และกำลังตำรวจเข้าสกัดการชุมนุมและใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุม 

ทั้งนี้มีคนตั้งข้อสังเกตว่า การที่เจ้าหน้าที่ปล่อยให้การจัดกิจกรรม Car Mob ในอีสานถูกสกัดน้อยกว่าในกรุงเทพฯ นั้นเป็นเพราะว่า พลังการกดดันในอีสานนั้นยังไม่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อรัฐบาลได้

อย่างไรก็ตามการจัดกิจกรรม Car Mob ในพื้นที่ต่างจังหวัดไม่ใช่แค่ในอีสาน แต่ในจังหวัดต่างๆ ในประเทศไทยยังคงมีความสำคัญ เพราะเป็นการแสดงความไม่พอใจที่มีต่อรัฐบาลผ่านการแสดงออกทางการเมือง และที่สำคัญ คือ การสร้างกระบวนการเรียนรู้ทางการเมืองให้กับคนกลุ่มต่างๆ ให้มาสนใจปรากฎการณ์ทางการเมืองหรือมีพื้นที่ทางการเมืองมากขึ้น รวมถึงการเกิดการเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลในต่างจังหวัด อย่างเช่น Car Mob ทำให้ฝ่ายความมั่นคงต้องตรึงกำลังส่วนหนึ่งในไว้ในพื้นที่ไม่สามารถนำเข้าไปสกัดกั้นผู้ชุมนุมในกรุงเทพฯ ได้ทั้งหมด

การเคลื่อนไหวในอีสานรอบนี้จึงต่างจากการเคลื่อนไหวของนักเรียนและนักศึกษาในช่วงปีที่ผ่านมา เพราะสามารถรวมคนจากกลุ่มต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมได้ รวมถึงมีรูปแบบและกิจกรรมแปลกใหม่ผ่านการเคลื่อนที่ไปบนท้องถนนให้ผู้คนที่ต่างๆ ในเมืองได้เข้าร่วม พร้อมกับการแสดงพลังสัญลักษณ์ทางการเมืองในการต่อต้านรัฐบาล พร้อมกับเรียกร้องความต้องการของตัวเองและบุคลากรทางการแพทย์ โดยไม่ละทิ้งความเป็นอีสานที่รักในเสียงดนตรีและความสนุกสนาน ที่สำคัญ คือ Car Mob ที่เกิดขึ้นในต่างจังหวัดนี้ยังเป็นการช่วยเสริมและสนับสนุนการชุมนุมประท้วงที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ไปในตัวอีกด้วย

อ้างอิง 

(1) จันจิรา สมบัติพูนศิริ. (2558). หัวร่อต่ออำนาจ : อารมณ์ขันและการประท้วงด้วยสันติวิธี กรุงเทพฯ : มติชน, 2558

image_pdfimage_print