The Isaan Record รวบรวมคดีความจากการออกมา ชุมนุมประท้วง ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบการดำเนินคดีกับนักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองและผู้ร่วมชุมนุมประท้วงที่น่าสนใจหลายกรณี แต่ขอยกตัวอย่างเพียงสองกรณี คือ กรณีของ อานนท์ นำภา และ ของนักกิจกรรม “อีฟ” ชาวจังหวัดหนองบัวลำภู
ด่วนจี๋! อัยการเร่งส่งฟ้องผู้ร่วมชุมนุมคาร์ม็อบฯ หนองบัวลำภู
3 กันยายน 2564 อีฟ (นามสมมุติ) วัย 24 เดินทางไปที่ศาลจังหวัดหนองบัวลำภู ตามนัดฟังคำสั่งอัยการคดีที่ถูกกล่าวหาว่า ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการเข้าร่วมคาร์ม็อบหนองบัวลำภู ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 บริเวณหน้าอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยอัยการได้แจ้งล่วงหน้าแล้วว่า มีคำสั่งฟ้องและจะยื่นฟ้องต่อศาลวันที่ 3 กันยายนนี้ ทั้งที่อีฟเพิ่งเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมาและยังไม่ได้ยื่นคำให้การในชั้นสอบสวน
ก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน อีฟได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการจังหวัดหนองบัวลำภู ขอให้พิจารณามีคำสั่งไม่ฟ้องคดี ระบุเหตุผลว่า ผู้ต้องหาไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุมและการฟ้องในครั้งนี้ไม่เกิดประโยชน์แก่สาธารณะ
ผู้ต้องหาได้ให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนว่า มีความประสงค์ที่จะยื่นคำให้การเป็นหนังสือภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2564 ซึ่งทนายความอยู่ระหว่างการรวบรวมเอกสารและพฤติการณ์ในคดี อีกทั้งคำสั่งไม่ฟ้องที่เป็นบรรทัดฐานของพนักงานอัยการจังหวัดลำปาง(ศาลจังหวัดลำปางสั่งไม่ฟ้องคดีชุมนุมคาร์ม็อบ) ซึ่งวันที่ 3 กันยายน 2564 ยังไม่ครบกำหนดระยะเวลายื่นคำให้การ อย่างไรก็ตามอัยการยืนยันจะยื่นฟ้อง
อัยการฟ้องอีฟและประไว (อีกหนึ่งผู้ต้องหา) ฐานฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยทั้งสองปฎิเสธและแถลงต่อศาลว่า ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น จึงขอต่อสู้คดีเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์
หลังจากนั้นศาลได้ฝากขังอีฟ และทนายความได้ยื่นประกันตัวและศาลปล่อยตัวชั่วคราว หลังได้รับการปล่อยตัวอีฟกล่าวถึงการตัดสินใจสู้คดีว่า
“ถ้ายอมรับสารภาพก็เหมือนว่า สิ่งที่เราทำไปนั้นเป็นสิ่งผิด เราเพียงใช้สิทธิในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่ควรจะต้องได้รับโทษทางอาญาจากการแค่ไปขี่รถเล่น จึงตัดสินใจต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์”
สถิติการดำเนินคดีความจากการรวบรวมของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เดือนสิงหาคม มีผู้ถูกดำเนินคดีรวม 1,161 คน 621 คดี
เปิดคำฟ้องอัยการคดี ม.112 ‘อานนท์’ ปราศรัยม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์ ก่อนศาลอาญาไม่ให้ประกันตัว
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่3 สิงหาคม 2563 อานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชาวร้อยเอ็ด ขึ้นปราศรัยในการชุมนุม “เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย” หรือม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม2563 ปราศรรัยข้อเสนอแห่งยุคสมัย เกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
การฟ้องดังกล่าวเป็นการฟ้องโดยไม่มีตัวผู้ต้องหา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม2564 พนักงานอัยการ สํานักงานอัยการสูงสุด (สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7) ได้สั่งฟ้อง “อานนท์ นำภา” ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามมาตรา 112, ยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, พ.ร.ก ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ
อานนท์ ถูกจับและถูกแจ้งข้อกล่าวหาในคดีนี้ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม2563 บริเวณหน้าศาลอาญา หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจรอเวลาให้ศาลปิดทำการเพื่อทำการจับกุม เขายังถูกแจ้งข้อหา ม.112 เพิ่มเติมครั้งที่ 2 ขณะที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์2564
พิทยา วีระพงศ์ พนักงานอัยการโจทก์บรรยายฟ้องโดยสรุปว่า ระหว่างวันที่ 1-3 สิงหาคม2563 อานนท์ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ชื่อบัญชี “อานนท์ นําภา” ในลักษณะเชิญชวนให้มาร่วมการชุมนุมจำนวน 3 โพสต์และคำปราศรัยบางส่วน
ตัวอย่างเช่น “พี่น้องครับปัจจุบันนี้เราประสบปัญหาอย่างยิ่งยวดและสําคัญยิ่ง คือ มีกระบวนการที่ทําให้สถาบันพระมหากษัตริย์ของพวกเราเนี่ยขยับออกไปไกลห่างจากระบอบ ประชาธิปไตยมากขึ้นทุกทีทุกที”
“นอกจากนั้นการที่เอาทหารหลายกองพันไปสังกัดกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการเปลี่ยนระบอบการปกครอง นอกจากนั้นการที่เอาทหารหลายกองพันไปสังกัดกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการเปลี่ยนระบอบการปกครอง”
ทั้งนี้อานนท์เคยให้การในชั้นสอบสวน โดยอธิบายถึงความหมายของบางถ้อยคำที่ปรากฏในคำฟ้องไว้แล้ว
อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน ชาวร้อยเอ็ด ถูกดำเนินคดี ม.112 หลังการปราศรัยเรื่องข้อเสนอการปฎิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ นับเป็นข้อเสนอแห่งยุคสมัย
อัยการได้สรุปความเห็นว่า ถ้อยคําปราศรัยของอานนท์ “มีเจตนาพูดพาดพิงเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยอันเป็นเท็จ และเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่นใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงอาฆาต มาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทําให้พระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลปัจจุบัน เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง โดยทําให้ประชาชนเสื่อมความศรัทธา ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้
และเป็นการกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา อันมิใช่การกระทำในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต แต่เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง และปลุกปั่นทําให้ประชาชน และบุคคลทั่วไปเกิดความตระหนกตกใจ เกิดความเข้าใจผิด และถูกชักจูงให้ต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันหลักและเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนคนไทย ทั้งประเทศ จนอาจนํามา ซึ่งความเกลียดชังหรือความแตกแยกในสังคม ถึงขั้นออกมากระทําความผิดต่อกฎหมาย เพื่อให้เกิดควาามเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดิน เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ก่อให้เกิดความไม่สงบของประชาชนภายในประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนละเมิดกฎหมายแผ่นดิน”
อานนท์ถูกฟ้องทั้งสิ้น 6 ข้อหา ประกอบด้วย ม.112 , ม.116 , พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ , ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ,ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง
อัยการยังได้คัดค้านการขอปล่อยตัวชั่วคราวของจำเลย โดยอ้างว่า “จำเลยนี้ได้กระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงหลายครั้ง หากปล่อยตัวไปอาจกระทำความผิดซ้ำอีก”
7 กันยายน2564 ขณะที่เขาถูกคุมขังอยู่ในสถานบำบัดพิเศษกรุงเทพ ภายใต้อำนาจของศาลอาญากรุงเทพใต้ จากกรณีปราศรัยในงานครบรอบ 1 ปีม็อบแฮรี่ พอตเตอร์ บริเวณลานหน้าหอศิลป์ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม2564 และถูกออกหมายจับในวันที่ 9 กันยายน2564 ศาลอาญา รัชดา ได้นัดถามคำให้การโดยการวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ในคดี “เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย” หรือม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ 3 สิงหาคม2563
เนื่องจากการสั่งฟ้องในคดีนี้เป็นการฟ้องแบบไม่มีตัวผู้ต้องหา ทนายความจึงต้องยื่นประกันตัวอีกครั้งในวันดังกล่าว ด้วยหลักทรัพย์ 90,000 บาท อย่างไรก็ตามเมื่อเวลา 17.30 น. ชนาธิป เหมือนพะวงศ์ รองอธิบดีศาลอาญา มีคำสั่งไม่อนุญาตประกันตัว
“พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พฤติการณ์แห่งคดีร้ายแรง หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะไปกระทำการตามที่ถูกฟ้องหรือจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นหรือจะหลบหนีได้จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยให้ยกคำร้อง”
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง :