103 นักคิดนักเขียนทั่วประเทศออกแถลงการณ์ผ่าน Change.org จี้ กก.วัฒนธรรมแห่งชาติ ทบทวนมติปลด “สุชาติ สวัสดิ์ศรี” เตรียมเดินหน้าฟ้องร้อง ล่าสุดมีผู้ลงชื่อเกือบ 7 พันคน

กรุงเทพฯ – วันที่ 12 กันยายน 2564 กลุ่มนักคิดนักเขียนจากทั่วประเทศจำนวน 103 คน อาทิ สุจิตต์ วงศ์เทศ, อธิคม คุณาวุฒิ, ธีระพล อันมัย, บินหลา สันการาคีรี, ประจักษ์ ก่องกีรติ เป็นต้น ร่วมกันออกแถลงการณ์คัดค้านมติยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ โดยรณรงค์ที่เว็บ Change.org เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ล่าสุดมีผู้ลงชื่อสนับสนุนแล้วถึง 6,675 คน


แถลงการณ์ระบุใจความสำคัญว่า จากมติคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ อ้างเหตุผลการยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติระบุว่า นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี มีพฤติกรรมเสื่อมเสียโดยการแสดงความเห็นที่เป็นประเด็นขัดแย้งในสังคม มีถ้อยคำหรือภาพที่หมิ่นเหม่ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ผ่านสื่อเฟซบุ๊ก
มติที่ประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติดังกล่าว ก่อให้เกิดปัญหาข้อสงสัยหลายประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทบาทหน้าที่คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

หนึ่ง ข้อกล่าวหาหมิ่นเหม่ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นข้อกล่าวหาที่มีผลกระทบรุนแรง จำเป็นต้องแสดงพยานหลักฐานให้ประจักษ์ชัด ไม่สมควรกล่าวหาอย่างเลื่อนลอยปราศจากหลักฐานอ้างอิง ทั้งนี้ประเด็นสำคัญ คือ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติมิใช่ผู้มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยว่าผู้ใดหมิ่นหรือไม่หมิ่นสถาบัน เนื่องจากบทบาทดังกล่าวเป็นหน้าที่ขององค์กรตุลาการ มติคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรตินายสุชาติ สวัสดิ์ศรี โดยใช้เหตุผลนี้ จึงเป็นการวินิจฉัยเกินเลยบทบาทหน้าที่

สอง หากวัฒนธรรมคือสิ่งที่วิวัฒน์ไปตามความเคลื่อนไหวแปรเปลี่ยนทางสังคม บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจึงควรติดตามทำความเข้าใจสภาพสังคมอย่างเท่าทัน และมีขีดความสามารถในการจำแนกแยกแยะได้ว่า พฤติกรรมใดเป็นการปิดหูปิดตาประจบสอพลอ พฤติกรรมใดเป็นข้อเสนอโดยปรารถนาให้สถาบันกษัตริย์อยู่ร่วมกับสังคมที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารเฉกเช่นปัจจุบัน

สาม หากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ถึงพร้อมด้วยสติปัญญาและดุลพินิจ สมควรเข้าใจได้ไม่ยากว่าการดึงสถาบันมาใช้เป็นข้อกล่าวหานั้น นอกจากจะรังแต่สร้างความมัวหมองให้แก่สถาบันแล้ว ในขณะเดียวกันยิ่งเป็นแรงเสริมให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชน เนื่องจากเป็นที่รับรู้กันดีว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นเพียงเครื่องมือปิดปากผู้เห็นต่างทางความคิด ทั้งหมดนี้ยกเว้นว่าคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจะยอมรับว่า การตีสองหน้าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย

สี่ หากใช้วิธีพิจารณาแบบเหมารวมรวบรัดเฉกเช่นพฤติกรรมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ การใช้กฎกระทรวงข้อ 10 ที่เพิ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี 2563 เป็นเครื่องมือยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ ก็อาจตีความวินิจฉัยได้เช่นกันว่า นี่เป็นการแก้ไขกฎกระทรวง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการกับบุคคลในสถานการณ์แตกต่างทางความคิด

ทั้งนี้ยังเสนอข้อเรียกร้องด้วยการขอให้ทบทวนและยกเลิกมติดังกล่าวอย่างรวดเร็ว คณะกรรมการคนใดอยู่ในเสียงข้างน้อยสมควรแสดงความกล้าหาญบอกกล่าวจุดยืนของตนต่อสาธารณะ เพื่อได้รับประดับเกียรติจากประชาชน”

“หากคณะกรรมการคนใดบังเกิดความละอาย สามารถสร้างวัฒนธรรมดีงามใหม่ให้เกิดขึ้นในสังคมด้วยการเอ่ยขอโทษอย่างจริงจัง และลาออกจากคณะกรรมการโดยเร่งด่วน เพื่อสร้างบรรทัดฐานการทำงานให้คนรุ่นถัดไปแสดงความนับถือได้”แถลงการณ์ระบุ


ทั้งนี้อาจจะนำไปสู้ขั้นตอนการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม เพื่อดำรงหลักการความถูกต้องและชอบธรรมอีกหลายคดีความ


ร่วมลงชื่อที่ตามลิงค์นี้ค่ะ

image_pdfimage_print