หลังปล่อย MV เพลง Lalisa  นักร้องสาวลิซ่า BLACKPINK ที่มีพื้นเพเป็นชาวบุรีรัมย์ แต่โกอินเตอร์เป็นนักร้องในเกาหลีก็ได้รับความนิยมจนฉุดไม่อยู่ สิ่งได้รับความสนใจไม่แพ้กัน คือ การถกเถียงวัฒนธรรมในหลายฉากของมิวสิควิดีโอ โดยเฉพาะฉากปราสาทหินพนมรุ้งว่า เป็นของใครเป็นกันแน่ 

กชภพ กรเพชรรัตน์ เรื่อง 

แฟนแพลงสาย K-Pop แนวเพลง Pop-EDM ในศตวรรษนี้คงไม่มีใครที่จะไม่รู้จักวงเกิรล์กรุ๊ป (Girl Group) จากประเทศเกาหลีใต้ที่เป็นเจ้าของวลีฮิตติดหูอย่าง “BLACKPINK IN YOUR AREA” ที่สื่อความหมายว่า เสียงเพลงและเสน่ห์การแสดงของทั้ง 4 สาวสมาชิกวง BLACKPINK กำลังจะเข้ามาสร้างความสุขและทำให้ผู้ชมและผู้ฟังตกอยู่ในภวังค์อย่างแน่นอน 

วงเกริล์กรุ๊ปนี้มีแฟนคลับติดตามและสนับสนุนจากทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ประเทศทางฝั่งตะวันตก รวมถึงในประเทศไทยเองด้วย  

BLACKPINK ได้สร้างอิทธิพลต่อวงการ K-Pop ไปทั่วโลก เป็นผู้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ของศิลปินเกาหลีที่ก้าวข้ามอุปสรรคทางภาษาไปสู่การแสดงบนเวทีระดับโลก เมื่อพวกเธอกลายเป็นเกิรล์กรุ๊ป K-Pop วงแรกที่ได้แสดงในเทศกาลดนตรีและศิลปะโคเชลลา (Coachella) เป็นเทศกาลดนตรีและศิลปะระดับโลกที่จัดขึ้นทุกปีที่เอมไพร์โปโลคลับ ที่รัฐแคลิฟอร์เนียในปี 2019 และได้แสดงในรายการชื่อดังของ Jimmy Camel Live รายการทีวีชื่อดังระดับ Hollywood  

ล่าสุดสมาชิกทั้ง 4 คนก็ทยอยมีผลงานเพลงเดี่ยว (Solo) ของตัวเองแยกออกมาและกำลังเป็นกระแสอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะเพลงของ ลลิษา  มโนบาล หรือ ลิซ่า (Lisa) สาวน้อย ผู้มีถิ่นกำเนิดจากจังหวัดบุรีรัมย์ ที่มากความสามารถด้านการเต้น จนสามารถเข้าสู่วงการบันเทิงในประเทศเกาหลีได้อย่างในที่สุด 

เพลงใหม่ล่าสุดที่มีชื่อว่า Lalisa กลายเป็นกระแสโด่งดังภายในชั่วข้ามคืน โดยมียอดชมกว่า 11 ล้านภายใน 5 วัน (เข้าล่าสุดเมื่อ 15 กันยายน 2564) ในมิวสิควีดีโอเพลงนี้เองก็มีการสอดแทรกวัฒนธรรมท้องถิ่นจากบ้านเกิดของลิซ่า เช่น รัดเกล้า (เครื่องประดับศีรษะ) และปราสาทหินพนมรุ้งจนเป็นกระแสทั้งในไทยที่กระตุ้นการท้องเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ปรากฎการนี้ทำให้เราเห็นการแสดงออกเชิงชาตินิยมจากประเทศกัมพูชาอันเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัยยุคอาณานิคมที่สร้างมโนทัศน์ที่สร้างความขัดแย้งให้กับกลุ่มประเทศที่มีวัฒนธรรมร่วม อย่างมาก

ปราสาทหินพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์

มรดกตกทอดจากยุคอาณานิคม 

นิยามของแนวคิดชาตินิยม จากงานเขียนของ เบนนิดิกต์ เอนเดอร์สัน (Benedict Anderson) ในหนังสือชุมชนจิตรกรรม (Imagine Community) ที่ให้นิยามของคำว่า “ชาติ” ว่าเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นเครื่องมือเชื่อมโยงความผูกพันของกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่และเวลา แม้ว่าจะไม่รู้จักกัน อยู่ห่างไกลกัน ในคนละมิติหรือเวลา แต่การสามารถรู้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ผ่านประวัติศาสตร์ ศิลปะวัตถุ ภาษา ดนตรี รวมถึงวัฒนธรรมที่เป็นวิถีชีวิตประจำวันอื่นๆอีก มากมาย 

ชาติและชาตินิยมเป็นเครื่องมือนำไปสู่การสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (Homogeneity) ความเป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น มีภาษาเดียวกัน ระบบการบริหาร เดียวกัน ประเพณี วัฒนธรรมเดียวกันและมีหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ปลุกเร้าความรู้สึกผูกพัน สร้างความรู้ที่เป็นหนึ่งเดียว ทำให้รู้สึกเป็นกลุ่มเดียวกัน เป็นความรู้สึกที่ตั้งอยู่พื้นฐานของความภาคภูมิใจ ในบรรพบุรุษ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และสัญลักษณ์อื่นๆ ที่เป็นลักษณะแห่งชาติตน ซึ่งแนวคิดชาตินิยมนี้ได้มาพร้อมกับการสร้างแผนที่หรือเขตแดนอันเป็นสิ่งที่บอกขอบเขตอำนาจที่ชัดเจน 

แต่เดิมในเอเชียอาคเนย์ยังค่อนข้างอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย มีความสัมพันธ์ในลักษณะเครือญาติที่มีการผสมกันหลายกลุ่มมาก ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐโบราณที่มีศูนย์กลางที่เป็น “เมือง” และ “กษัตริย์” ตามแบบจารีตโบราณในอุษาคเนย์ ซึ่งแตกต่างจากการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ตามแบบตะวันตก ที่รู้จักกันว่า เวสต์ฟาเลีย (Westphalia)  อันประกอบไปด้วยที่มีเขตแดน ประชากร รัฐบาล และอำนาจธิปไตย  

เมื่อตกเป็นอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตก เจ้าอาณานิคมได้เปลี่ยนรูปแบบตกอยู่ภายใต้ ศูนย์กลางการปกครองเดียวกัน ทั้งยังถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมและการผลิตตามแบบที่แม่กำหนดโดยเฉพาะการสร้างประวัติศาสตร์โดยเฉพาะแวดวงโบราณคดี 

ในศตวรรษที่ 19 ถือว่า เป็นยุครุ่งอรุณแห่งโบราณคดีเลยก็ว่าได้ ที่มีการศึกษาเพื่อการขุดค้นทางโบราณคดี ซึ่งหลักฐานช่างศิลปะวัตถุนี้ถูกนำมาอ้างสิทธิ์ จากการค้นพบโบราณวัตถุเพื่ออ้างเขตแดนของบริเวณนั้น ตลอดการสร้างประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่จากการค้นคว้าเอกสารโบราณ โดยมีการวางประวัติศาสตร์นิพนธ์โดยฝรั่งเศส ให้อาณาจักรเขมรโบราณเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่เป็นศูนย์กลางของอารธยธรรม เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปที่สามารถสืบเชื้อสายมาสู่ประชาชนชาวเขมรในปัจจุบันเพื่อสิทธิธรรมในการครอบครองดินแดนกัมพูชาที่มีร่องรอยอารยธรรมขอมโบราณของคนขาว โดยเฉพาะเมืองพระนครที่ฝรั่งเศสได้ยึดครองอยู่ ให้ถือว่าเป็นศูนย์กลางในการเรียกรูปแบบจำแนกศิลปะเพื่อการ “จำแนก” รูปแบบศิลปะตามสถาปตยกรรมที่ถูกค้นพบในบริเวณเขตอาณานิคมอินโดจีนฝรั่งเศส (French Indochina) เช่น ศิลปะนครวัด ศิลปะบายน ศิลปะปาปวน เป็นต้น 

เมื่อมีการกำหนดรูปแบบศิลปะลักษณะนี้ทำให้ความถูกต้องในอ้างเขตพื้นที่อำนาจตามรัฐสมัยใหม่ ได้รับการยอมรับและถ่ายถอดมาเรื่อยๆ ในการจำแนกรูปแบบศิลปปะต่างๆ ที่ใช้โบราณสถานและศิลปะวัตถุที่ถูกค้นพบในอาณาเขตการปกครองของเจ้าอาณานิคม โดยการอ้างว่า ชนชาติเขมรที่ตนกำลังปกครองอยู่นั้นเคยมีอิทธิพลและอำนาจอยู่ในบริเวณที่มีการขุดค้นพบทางโบราณคดี 

ในศตวรรษที่ 19 สยามเองก็พยายามจะสร้างกลไกลในการปกป้องตัวเองในการอ้างสิทธิ์เพื่อที่เป็นการต่อรอง โดยพยายามที่แยกศิลปะขอม/เขมร ที่นักวิชาการฝรั่งเศสสร้างขึ้น โดยใช้คำว่า “ศิลปะลพบุรี” ในการแยกตัวเองออกจากความเป็นเขมรทั้งที่รูปแบบศิลปะเป็นเขมรแต่เป็นคนละสกุลช่าง ดังนั้นชื่อเมืองลพบุรี จึงถูกหยิบยืมมาใช้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมแบบก่อนสยามที่ไม่ต้องการให้มีการเชื่อมโยงกับอาณาจักรขอม/เขมรที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองพระนคร (เสียมเรียบ) อันอาจจะเป็นอันตรายด้วยการทับซ้อนพื้นที่อาณานิคม

การถกเถียงบนโลกโซเชียลมีเดียระหว่างผู้ใช้ทวิตเตอร์ชาวกัมพูชาและคนไทย ถึงความเป็นเจ้าของในปราสาทหินพนมรุ้ง ที่ปรากฎอยู่ในมิวสิควิดีโอเพลงของลิซ่า ภาพ เพจเฟซบุ๊ก Asian SEA Story

ประวัติศาสตร์ชาตินิยมกับมรดกทางความคิด 

หลังจากเจ้าอาณานิคมตะวันตกโดยเฉพาะฝรั่งเศสที่มีความพยายามที่สร้างความรู้สึกชาตินิยมผ่านทางเรื่องราวประวัติศาสตร์ทำให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเองผ่านมรดกทางวัฒนธรรมที่ตนเองนั้นไม่ได้ด้อยไปกว่าชาติอื่น การถูกเอารัดเอาเปรียบในเรื่องต่างๆ ผสมไปกับความคิด เพราะฉะนั้นจึงได้มีการรวบรวมพลังในรูปแบบของ ขบวนการต่างๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่ออิสรภาพและการก่อตั้งรัฐเอกราชในที่สุด ชาตินิยมในเอเชียอาคเนย์  ซึ่งภายหลังกลับกลายเป็นตัวเร่งการต่อต้านลัทธิอาณานิคมของฝรั่งเศสโดยมีกระบวนการรักชาติ แม้ในปัจจุบันทั้งกัมพูชาและไทยเองไม่ได้ตกอยู่ภายใต้ภัยคุกคามของชาติตะวันตกอีกต่อไป แต่มรดกทางความคิดยังคงฝังรากที่ทำให้มโนทัศน์แบบอาณานิคมต่อประเทศเพื่อนบ้านในรัฐสมัยใหม่ ที่ต้องการอ้างสิทธิ์ว่า เป็นของใคร 

หลังจากที่ตัวมิวสิควีดีโอได้ถูกปล่อยออกมาทำให้มีกลุ่มเพจในโลกโซเชียลมีเดียพยายามที่จะอ้างว่า ปราสาทหินพนมรุ้ง ในภาคอีสานเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรขอม/เขมรและเป็นของตนอันหมายความว่า พื้นที่บริเวณนี้ควรจะเป็นของกัมพูชา และสรุปว่า ลิซ่า เป็นคนเขมรด้วย โดยการอ้างจากโบราณสถาน ซึ่งมีกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในภาคอีสานและเปรียบเทียบกับโบราณสถานที่ปัจจุบันอยู่ในอาณาเขตของประเทศกัมพูชา นำไปสู่การแลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็นว่า ประเทศไทยในปัจจุบันนั้นขโมยวัฒนธรรมของตนไปใช้ 

นอกจากนี้ศึกชิงมรดกทางวัฒนธรรมทั้งจับต้องได้ (Tangible Cultural  Heritages) และมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritages) ก็ดำเนินมาโดยตลอด เช่น กรณีข้อพิพาทเรื่องโขนระหว่างไทยและกัมพูชา เรื่องเขาพระวิหาร (Phra Vihear Temple) ในกรณีมิวสิควีดีโอล่าสุดนี้ก็เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์สำคัญที่แสดงให้เห็นว่า มรดกจากแนวคิดชาตินิยมยังคงเข้มแข็งในยุคปัจจุบัน

ชาตินิยมในยุคการรวมตัวของประชาคม

ปัจจุบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ดำเนินเข้าสู่ยุคประชาคม (Regional Integration) หรือที่เราคุ้นเคยกับที่เรารู้จักว่า อาเซียน (Association of Southeast Asian Nations) ที่แต่ละประเทศต่างเริ่มปฏิสัมพันธ์ทั้งในระดับการเมือง เศษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมมากขึ้น 

การรวมตัวกันของประชาคมอาเซียน หากพิจารณาจากก็จะเห็นได้ว่า เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐกับรัฐในแง่ของความมั่นคงและเศษรฐกิจ แต่ในส่วนของภาคประชาชนนั้นก็ยังขาดความรู้และความเข้าใจในการตระหนักถึงความเป็นพลเมืองอาเซียน 

การเห็นคุณค่าของความเหมือนและความต่างเข้าใจถึงความเชื่อมโยงวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ความเท่าเทียมในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ตระหนักถึงคุณค่าและเอกลักษณ์ที่ดีงามเป็นสิ่งสำคัญมากที่คนในปัจจุบันควรจะตระหนักรู้ 

แนวคิดชาตินิยมผ่านทางวัฒนธรรมจึงเป็นแนวคิดที่อุปสรรคสำคัญต่อการรวมตัวเป็นประชาคมด้วยตรรกะการเข้าใจวัฒนธรรมร่วมจากการสร้างประวัติศาสตร์แบบอาณานิคม และทัศนคติเชิงความสัมพันธ์ระหว่าง ผู้คนในภูมิภาคอย่างมาก  

แหล่งอ้างอิง 

Jane Lydon and Uzma Rizvi (2010): Handbook of Postcolonial Archaeology. Walnut Creek:

Left Coast Press , pp. 39-50. 

O’G, A. B. R. (1991). Imagined communities: Reflections on the origin and spread of nationalism. Verso. 

Wnichakul, T. (1994). Siam mapped: A history of the Geo-body of a nation. Silwkorm Books. 

ประภัสสร์ ชูวิเชียร(ม.ป.ป).ศิลปะลพบุรี-ขอม/เขมรในดินแดนไทย: คำเรียกแบบศิลปะที่ควรทบทวน.ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฏบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print