“สุชาติ สวัสดิ์ศรี” ชี้ถูกถอดตำแหน่งศิลปินแห่งชาติเป็นนิติสงครามปิดปากคนเห็นต่าง ยันคิดต่างไม่ใช่ชังชาติ เตรียมทีมกฎหมายฟ้อง ก.วัฒนธรรมเป็นบรรทัดฐาน
กระแสข่าวการปลด “สุชาติ สวัสดิ์ศรี” พ้นศิลปินแห่งชาติ แว่วมาเป็นระยะตั้งแต่ปีที่แล้ว กระทั่งล่าสุด 30 สิงหาคม 2564 มีหนังสือออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อลดการเชิดชูเกียรตินักเขียนวัย 76 โดยนัยของหนังสือไม่ได้ชี้ชัดถึงสาเหตุนั้น
นำมาสู่การล่ารายชื่อและออกแถลงการณ์ของนักคิดนักเขียนกว่าร้อยคน รวมทั้งล่าชื่อบนเว็บ Change.org ให้คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติชี้แจงเหตุผลเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา
The Isaan Record ร่วมกับกลุ่มพลังคลับ จัดเสวนาคลับเฮาส์หัวข้อ “คิดต่าง = ชังชาติ? : กรณีปลด สุชาติ สวัสดิ์ศรี พ้นศิลปินแห่งชาติ” เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 ทีมงานถอดความบทสนทนาในคลับเฮาส์ครั้งแรกของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี นักเขียนและอดีตศิลปินแห่งชาติ แบบคำต่อคำเพื่อเห็นการอ่านได้อรรถรสยิ่งขึ้น
เรื่องปลดศิลปินแห่งชาติมีข่าวลือตั้งแต่เมื่อกลางปี 2563 แล้ว ว่าจะมีการแก้กฎกระทรวงให้ปลดศิลปินแห่งชาติได้ทราบมาว่า มีข้าราชการในกระทรวงบางคนไม่เห็นด้วยแต่ก็คงไม่สามารถจะทัดทานได้เพราะกลัวจะถูกเด้งหรืออะไรก็แล้วแต่
ตอนนั้นก็มีข่าวลือพุ่งเป้าไปที่นักร้องลูกทุ่งคนหนึ่งกับนักเขียนสตรีอีกคนหนึ่ง หลายคนก็บอกว่า “มึงโดนแน่” เขาแก้กฎกระทรวงเพื่อมึงโดยเฉพาะ เวลาผ่านมา 1 ปี เขาก็มีการประชุมกันเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม เป็นการประชุมครั้งที่ 3 ของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ที่มี วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมประชุมพร้อมกับคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีวาระประชุมลับ แต่มีข่าวออกมาว่า มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปลดนายสุชาติ
ข่าวนั้นวันต่อมาก็มี ส.ว.คนหนึ่งเขียนบนเฟซบุ๊กว่า แว่วข่าวดี “สุชาติโดนแน่” ลูกชายก็มาบอกว่าเขาเขียนอย่างนี้ เป็นเฟคนิวส์หรือไม่ แต่ปรากฏว่าพอตกเย็นก็มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคนหนึ่ง เท่าที่ทราบเป็น พล.อ.อ.และเป็น ส.ว.ด้วยให้ข่าวว่า เป็นความจริง
ในช่วงแรกผมยังไม่ได้รับหนังสืออย่างเป็นทางการเพื่อแจ้งเรื่องว่าโดนปลด มันเป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ว่า อันนี้มันเป็นวิธีการที่เขาเรียกว่า นิติสงครามหรือ LAWFARE หมายความว่า เขาก็ใช้วิธีแก้กฎกระทรวงเพื่อที่จะปิดปากผู้ที่เห็นต่างทางความคิด
ไอ้วิธีการที่เรียกว่า นิติสงคราม เราก็เห็นตัวอย่างมามากมาย ทั้งเรื่อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การใช้ ม.112 กับพวกเด็กๆ เรื่องนี้ผมเข้าใจว่า ประการแรกเขาคงต้องการที่จะบอกว่า ศิลปินแห่งชาตินั้นปลดได้
ผมได้จดหมายหรือหนังสืออย่างเป็นทางการ โดยส่งมาทางไปรษณีย์ ครั้งแรกคิดว่า เขาจะส่งด้วยมือตัวเองและหนังสือดังกล่าวคงจะมีประธานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ คือ วิษณุ หรืออย่างน้อยก็ รมว.วัฒนธรรม เป็นคนเซ็น แต่ปรากฏว่า อีก 10 วันต่อมา เขาส่งหนังสือทางไปรษณีย์ หลังจากที่เป็นข่าวเสียหายแล้ว
ในหนังสือนั้นประธานกรรมการฯ ไม่ได้เซ็น แต่เซ็นโดยระดับรองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรมที่ทำหน้าที่แทนอธิบดี ก็เหมือนคล้ายๆว่า เป็นผู้รับเคราะห์แทนอะไรทำนองนี้
“คิดว่า เรื่องมันเลยจากผมไปแล้ว มีการวิพากษ์วิจารณ์หลายแง่มุม ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยไม่เห็นด้วย ฝ่ายที่เข้ามาแสดงความเห็นว่า ผมควรต่อสู้ ควรทำให้เป็นบรรทัดฐานไว้ เพราะเรื่องนี้มันเกี่ยวข้องกับศิลปินแห่งชาติคนอื่นๆ ด้วย”
สุชาติ สวัสดิ์ศรี (ซ้าย) เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ (กลาง) และ ชาติ กอบจิตติ (ขวา) ภาพจากเฟซบุ๊ก สุชาติ สวัสดิ์ศรี
ไม่แยแสกับการถูกปลด
ครั้งแรกผมก็มีความรู้สึกว่า ไม่แยแสแล้ว แต่หลายคนก็บอกว่า ควรจะสู้ ตนก็เลยต้องสู้ก็ คือ ได้มอบหมายให้ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเป็นคนคอยดูแลเรื่องนี้ ล่าสุดเขาได้ส่งหนังสือไปถึงปลัดกระทรวงฯ เพื่อขอผลการประชุมในวันดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารแล้ว
หลายคนที่ติดตามเฟซบุ๊กของผมคงจะทราบ คือ หนังสือถอดถอนที่มาถึงตนลงวันที่ 30 สิงหาคม กว่าจะมาถึงคือวันที่ 3 กันยายน หนังสือถอดถอนดังกล่าวที่ลงนาม โดยรองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ผมสรุปได้ 2 ข้อกล่าวหากับ 3 ข้อสั่งสอน 2 ข้อกล่าวหานั้น
ข้อกล่าวหาแรก คือ โพสต์ข้อความที่เป็นประเด็นขัดแย้งในสังคม ในสื่อเฟซบุ๊กเป็นประจำ
ข้อกล่าวหาข้อที่สอง คือ โพสต์ถ้อยคำหรือภาพที่หมิ่นเหม่ต่อสถาบันกษัตริย์ ซึ่ง 2 ข้อกล่าวหานี้ไม่มีรายละเอียดหรือตัวอย่างใดๆ ทั้งสิ้น
ส่วน 3 ข้อสั่งสอน ข้อแรก คือ การเป็นศิลปินแห่งชาติต้องเคารพในหลักวัฒนธรรมไทย ข้อสองการเป็นศิลปินแห่งชาติต้องมีคุณสมบัติเหมาะสมประพฤติปฏิบัติโดยแสดงออกทางกาย วาจาและจิตใจ ที่ไม่ส่งผลให้ผู้อื่นได้รับความหาย ข้อสามมีความประพฤติเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม เมื่อสรุปตามขอกล่าวหาและข้อสั่งสอนของเขาแล้ว ถ้าหากใครทำไม่ได้ตามนี้ก็ถือว่ามีความประพฤติเสื่อมเสียต่อการเป็นศิลปินแห่งชาติตามกฎกระทรวงข้อ 10 วรรคสอง ที่แก้ไขเมื่อกลางปี 2563
การแสดงออกเรื่องความเห็นต่างเป็นเสรีภาพที่ได้รับการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 34 รัฐธรรมนูญฉบับที่เราไม่ชอบก็ได้เขียนไว้ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติไม่ทราบหรืออย่างไรว่า มีการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ บอกว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้
“ผมคิดว่า การเป็นศิลปิน คือ การเป็นสื่อประเภทหนึ่งที่จะต้องติดต่อสื่อสารกับระบบความคิดต่างๆ ในความเห็นของผม ไม่ว่าศิลปินจะคิดอย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า เขาไม่ใช่วัว ควาย ที่จะต้องถูกสนตะพาย”
การออกกฎกระทรวงของกระทรวงวัฒนธรรมครั้งนี้สรุปก็ คือ เป็นการกำจัดคนเห็นต่างทางการเมือง ศิลปินในความเห็นของผมเขาต้องเดินตามวิถีของเขา ไม่ได้เดินตามวิถีที่คนอื่นกำหนดให้ ด้วยเหตุผลนี้ผมจึงคิดว่าการกระทำให้ผมอับอายครั้งนี้เป็นการเชือดไก่ให้ลิงดูอย่างที่เขาว่ากัน
สุชาติ สวัสดิ์ศรี กับ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ภาพจากเฟซบุ๊ก สุชาติ สวัสดิ์ศรี
สำหรับสาเหตุใดที่ถูกระบุว่า เป็นพฤติกรรมเสื่อมเสียนั้นผมก็ไม่ทราบจริงๆ ทางทีมทนายจึงได้มีจดหมายไปขอข้อมูลจากปลัดกระทรวงวัฒนธรรมในเรื่องที่กล่าวหาตน โดยขอทราบข้อมูลภายใน 10 วันว่า ข้อกล่าวหาผมมีรูปธรรมอย่างไรบ้าง เราจะได้ชี้แจงและต่อสู้ถูก แต่ตอนนี้ก็ยังไม่มีคำตอบมา
ส่วนเรื่องการโพสต์ข้อความที่ประเด็นขัดแย้งในสังคม เขาคงติดตามเฟซบุ๊กของผม ซึ่งผมโพสต์เฟซบุ๊กวันละหลายโพสต์ เพราะถือว่า เป็นเครื่องมือในการแสดงความคิดเห็นที่ชัดเจนมาตั้งแต่ 7-8 ปีแล้วว่า ผมไม่นิยมวิธีการรัฐประหาร ไม่นิยมวิธีการเผด็จการ สิ่งนี้คงเป็นสิ่งที่เขาเรียกว่า ผมโพสต์ข้อความที่เป็นประเด็นขัดแย้งในสังคมและที่บอกว่าโพสต์ถ้อยคำหรือภาพที่หมิ่นเหม่ต่อสถาบันกษัตริย์ คำว่าหมิ่นเหม่ก็เป็นเรื่องที่ไม่มีรูปธรรมให้เห็นว่ามันคืออะไร คิดว่า เรื่องนี้ก็เป็นข้อต่อสู้ทางกฎหมาย ส่วนข้อที่เทศนาสั่งสอน 3 ข้อนั้น ผมรู้สึกเฉยๆ เป็นมุมมองของแต่ละคน
เป็นหนึ่งผู้ก่อตั้งโครงการศิลปินแห่งชาติ
ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้ที่ร่วมก่อตั้งโครงการศิลปินแห่งชาติขึ้นมาเมื่อปี 2527-2528 สิ่งที่ผมคิดไว้มันบิดเบนบิดเบี้ยวกลายเป็นอีกเรื่องไปเลย ตนอยากจะมองแบบกว้างๆ ว่า กรณีของผม มันจะเกิดอะไรขึ้นกับผมก็ชั่งมัน อยากเห็นโครงการนี้มันมีการรื้อสร้างใหม่ ในลักษณะที่เป็นระบบราชการน้อยลงและมีวิธีการที่เราควรจะมีมุมมองในลักษณะที่ว่าเราไม่ควรจะทิ้งใครไว้ข้างหลัง
“การทิ้งใครไว้ข้างหลังของระบบศิลปินแห่งชาติที่ประกาศกันในแต่ละปี คุณรู้ไหมคุณประกาศแค่ 2 คน 3 คน หรือ 10 คน หรืออะไรก็แล้วแต่ คุณทิ้งคนไว้ข้างหลังเป็น 100 คน”
เมื่อเริ่มต้นความคิดของผม ผมคิดว่าการยกย่องเชิดชูนั้นมันควรจะไปพร้อมกับสวัสดิการของคนทำงานศิลปะ และคนทำงานศิลปะที่ไม่มีค่าตอบแทนในลักษณะเป็นข้าราชการ มีบำเหน็จ บำนาญ มันมีมาก ผมจึงเน้นไปที่คนนอก (Outsider) ทั้งหลาย ซึ่งในระบบของการให้เป็นศิลปินแห่งชาติในความเห็นของผมในปัจจุบันมันมีลักษณะที่เป็นราชการมากขึ้น มีการรวมศูนย์อำนาจมากขึ้น ดังนั้นมันก็เลยกลายเป็นว่า คนที่เข้าไปเป็นศิลปินแห่งชาติก็คือข้าราชการประเภทหนึ่ง ซึ่งสำหรับผมแล้วมันไม่ใช่
คิดต่างคืออาภรณ์ประชาธิปไตย
ในประเทศนี้ถ้าหากว่า สังคมยังเห็นว่า วัฒนธรรมเป็นเรื่องที่จะต้องอยู่ในระบบอุปถัมป์ วัฒนธรรมไม่ใช่วิธีชีวิตของผู้คนของประชาชน ดังนั้นมันจึงมีเบ้าหลอมอยู่เบ้าเดียวนั่นคือเบ้าหลอมแบบราชการเบ้าหลอมแบบระบบอุปถัมภ์เบ้าหลอมที่เขากำหนดเส้นทางไว้ให้แล้ว ในความเห็นของผมการจะทำให้วัฒนธรรมเป็นซอฟท์พาวเวอร์หรือฮาร์ดพาวเวอร์ หรือจะมองศิลปะในลักษณะไหนก็ตาม
“ผมคิดว่า เริ่มต้นมันต้องคิดต่าง เพราะคิดต่างมันคืออาภรณ์ของเสรีภาพ เป็นอาภรณ์ของประชาธิปไตย คนทำงานศิลปะมีร้อยพ่อพันแม่ และเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้เวลามองเสาทางสังคม ผมคิดว่ามันต้องไปด้วยกัน คือ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม แต่ในบ้านเราวัฒนธรรมกลายเป็นส่วนประกอบของการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ”
ในความคิดผมมัน คือ วิถีชีวิตของผู้คน มันเคลื่อนไหวตลอดเวลา ตัววัฒนธรรมมันก็ต้องขึ้นอยู่กับการเมืองที่ดี เศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ สังคมที่หลากหลาย เพราะวัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งเหล่านี้ ดังนั้นมันเป็นพลวัตร ไม่ใช่สิ่งที่หยุดนิ่งกับที่ วัฒนธรรมมันไม่หยุดนิ่งมันแช่แข็งไม่ได้ ถ้าหากหยุดนิ่งหรืออยู่ในระบบอุปถัมภ์แบบรัฐราชการรวมศูนย์และยิ่งเป็นรัฐราชการรวมศูนย์ที่ต้องคอยมองว่าเมื่อไรนายจะสั่งลงมาผมคิดว่า วัฒนธรรมไม่มีทางที่จะก้าวหน้าไปได้ เพราะว่าคนทำงานศิลปะที่มีความหลากหลาย เหมือนใบหน้าของคนเราที่มีความหลากหลาย มันเป็นทั้งวิถีและวิธีของผู้คน
สังคมใดไม่มีเสรีภาพ สร้างศิลปินใหญ่ไม่ได้
ด้วยเหตุผลนี้มันจึงแช่แข็งไม่ได้ วัฒนธรรมหรือสิ่งที่เรียกว่า ศิลปะมันเหมือนของเหลวที่เข้าไปอยู่ได้ในทุกภาชนะ ทุกรูปแบบ ทุกเนื้อหา ทุกองคาพยพ ดังนั้นจึงต้องมีการเมืองที่ดี มีรัฐธรรมนูญที่ดี มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ มีประชาธิปไตยที่เห็นคนเท่ากัน ให้เสรีภาพ
“สังคมใดที่ไม่มีเสรีภาพ สังคมนั้นสร้างศิลปินที่ยิ่งใหญ่ไม่ได้ด้วยเหตุผลอันนี้ในความเห็นของผม ชาติมันจึงเป็นประชาชน ชาติไม่ใช่รัฐ ยิ่งมีลักษณะของรัฐซ้อนรัฐ ปลดได้ ถ้ากูไม่ชอบใจ ก็เชิญตามสบาย”
ในอนาคตมันต้องเปลี่ยนแปลง แล้วการเปลี่ยนแปลงนี้มันต้องมาในลักษณะที่ว่า มันเหลือประตูอยู่ประตูเดียวเท่านั้นที่คุณจะต้องเลือกก็คือประตูประชาธิปไตย รัฐประหารเป็นความพยายามที่จะปิดประตู แต่ประตูมันเปิดแล้ว พอคุณใช้วิธีรัฐประหาร ใช้วิธีเผด็จการ หรือประชาธิปไตยอำพราง มันก็เท่ากับหยุดประเทศอยู่กับที่ สิ่งที่เรียกว่าเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม มันจึงจำกัดอยู่กับสิ่งที่ถูกกำหนดไว้ ดังนั้นประตูที่เหลืออยู่บานเดียวคือประชาธิปไตย ไม่ว่าคุณจะเปิดกว้างหรือแคบประตูมันก็เปิดแล้ว ในที่สุดมันก็จะต้องไปในเส้นทางนี้
ห้ามศิลปินเดิน แต่เขาจะบินไป
ถ้าหากสังคมไหนก็ตามบอกศิลปินว่าถ้าเอ็งไม่เดินตามข้า เอ็งไม่มีสิทธิเดินสังคมแบบนี้มันก็คือสังคมอำนาจนิยมจะเรียกว่า เผด็จการฟาสซิสม์อะไรก็แล้วแต่ ด้วยเหตุผลนี้ศิลปะกับเสรีภาพมันจึงเป็นของคู่กัน
“การห้ามศิลปินไม่ให้เดินตนคิดว่า เขาก็จะบินไป คุณห้ามก็ห้ามไป แต่เขาจะบินเพราะเขาทำงานศิลปะ หวังว่าในอนาคตคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามารับหน้าที่รับบทบาทในฐานะที่จะมองวัฒนธรรม มันคงต้องไปกับการเมืองที่ดี เพื่อที่จะทำให้มีระบบเศรษฐกิจที่ดี ระบบเศรษฐกิจที่ดีก็จะสร้างสังคมที่ให้เสรีภาพกับวัฒนธรรม ที่จะสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ”
สุชาติ สวัสดิ์ศรี กับกองหนังสือที่รอดพ้นจากเหตุน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ ปี 2554
คนรุ่นใหม่ คือ อรุณกำลังใกล้จะรุ่ง
ความคิดประเภทหน่วยคัดครอง หน่วยควบคุมศิลปะอะไรแบบนี้เลิกเสียที ในโลกที่ทุกคนเท่าเทียมกันในทางการรับรู้ คือสังคมมันเปิดไปแล้ว ก็หวังว่าในอนาคตมันน่าจะดีกว่าปัจจุบัน
ช่วงที่เราเริ่มประท้วง เราเริ่มไม่เอาเผด็จการ เริ่มต้นจากคนกลุ่มเล็กและผ่านหน้าเฟซบุ๊ก เพราะมันเป็นเครื่องมือที่จะบอกตัวตนของเราในการที่จะบอกว่า เราไม่เห็นด้วยกับการมีรัฐบาลเผด็จการ แต่ 7 ปีผ่านไปแล้ว ผมคิดว่า คนที่เข้ามาอยู่ในเส้นทางสายนี้ มันไม่ใช่คนรุ่นอายุ 70 อย่างตนแล้ว มันเป็นคนรุ่นอายุ 15 -20 เป็นคนรุ่นใหม่ๆ ที่เขาจะต้องเข้ามามองเส้นทางในอนาคตของเขาว่ามีหรือไม่และเขาก็พยายามต่อสู้เพื่อให้ได้มา
ด้วยเหตุผลอันนี้ผมจึงเห็นความหวัง อะไรก็ตามที่มันมืดที่สุดแล้วมันหมายความว่า อรุณกำลังใกล้จะรุ่ง มันผ่านจุดมืดที่มืดสนิทไปแล้ว เสนีย์ เสาวพงศ์ เคยเขียนในลักษณะนี้ นั่นหมายความว่า เมื่อมันผ่านจุดที่มืดที่สุดไปแล้ว มันก็ใกล้ที่จะรุ่งสางแล้ว มันก็ใกล้ที่จะพบกับวันใหม่
“ผมจึงมองอนาคตด้วยความหวังที่คนรุ่นใหม่และผมก็ทำได้แต่เพียงแค่เป็นม็อบหน้าจอ โพสต์เฟซบุ๊กทุกวันเพื่อบอกว่า ผมคิดอะไรและเป็นเหมือนกองหนุน เพราะมันผ่านมาแล้วกับสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาของผม แต่สภาพสังคมมันก็ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่ผมพอใจ มันยังย่ำอยู่กับที่และดูเหมือนว่าจะก้าวถอยหลังด้วย ดังนั้นคนรุ่นใหม่คืออนาคต คนหนุ่มสาวเป็นชีวิต ส่วนคนแก่อย่างผมมันก็ใกล้จะลาลับแล้ว ไม่ต้องมาปลดผมหรอก เดี๋ยวผมก็ไปเอง ”
หนุนคนรุ่นใหม่ แก้ ม.112
เมื่อผมเห็นว่า คนรุ่นใหม่เป็นอนาคต ไม่ใช่อนาคตของผม แต่เป็นอนาคตของเขาอนาคตของสังคมของประเทศ จึงต้องเปิดทางให้เขาต้องฟังเขาไม่ใช่ไปปิดกั้นเขาและใช้วิธีการในลักษณะที่น่ารังเกียจน่าขยะแขยง อย่างน้อยผมก็อยากได้รัฐธรรมนูญที่ประชาชนเป็นคนสร้างขึ้น
“ผมเห็นด้วยกับเรื่องการยกเลิก ม.112 เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เกิดการปฏิรูปสถาบัน การปฏิรูปหมายถึงการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สง่างาม มันเป็นเสรีภาพของตนที่จะแสดงออกได้ แม้ว่าสังคมจะมีข้อจำกัดในเวลา 7-8 ปีที่ผ่านมา ก็ฝากไว้สั้นๆ ว่าสำหรับคนทำงานศิลปะ สำหรับศิลปินถ้าคุณปิดกั้นเขาไม่ให้เขาเดินเขาก็จะบินไปเอง วัฒนธรรมแช่แข็งไม่ได้ เช่นเดียวกับการศึกษาในโลกปัจจุบันมันก็แช่แข็งไม่ได้มันกลายสภาพในลักษณะที่ว่าเป็นเรื่องของประชาชนว่าชาติคือประชาชน ดังนั้นคิดต่างไม่ใช่ชังชาติ สิ่งที่ใครบอกว่าการคิดต่างคือการชังชาตินั้นก็คือสร้างความอับจนให้กับตัวเอง การคิดต่างคืออาภรณ์ของประชาธิปไตย การคิดต่างคือแขนขาของเสรีภาพ ที่จะทำให้คนเราในทุกระดับมีความเท่าเทียมกัน จะเท่าเทียมกันแบบไหนเป็นพี่น้องกันอย่างไรก็ต้องขึ้นอยู่กับการเมือง อย่างน้อยที่สุดความเท่าเทียมก็ต้องดูที่ว่าการเลือกตั้งนั้น 1 สิทธิ์ 1 เสียง 1 คน 1 เสียงไม่ว่าคุณจะอยู่ในสถานะอะไรก็ตาม
สำหรับเรื่องของผมอยากให้เป็นบรรทัดฐาน เป็นอุทาหรณ์และน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นนับหนึ่งของคำว่า วัฒนธรรมและกระทรวงวัฒนธรรม โครงการศิลปินแห่งชาติจะมีอยู่ต่อไปหรือไม่ ผมคิดว่า ก็น่าจะมาแลกเปลี่ยนกันได้ว่า ต่อไปถ้ามันจะยังมีควรเป็นลักษณะใด
คำว่า “แห่งชาติ” ถ้าแห่งชาติมัน คือ แห่งประชาชนแล้วเงินที่ให้กับศิลปินแห่งชาติมันเป็นภาษีของประชาชน มันก็จะต้องถูกประชาชนกำกับ การเลือกศิลปินมันควรจะเป็นไปในลักษณะที่ให้เกียรติพร้อมกับให้สวัสดิภาพกับเขา
ในอนาคตถ้าหากมีลักษณะที่ว่า เราจะให้เสรีภาพกับศิลปินกับคนทำงาศิลปะแล้ว สังคมก็จะต้องดูแลเขาด้วย หมายความว่า ให้โอกาสเขาก้าวไปข้างหน้าก่อนหนึ่งก้าว มันคงต้องมีระบบระเบียบที่น่าจะศึกษาจากบรรดาอารยประเทศทั้งหลายว่าเขาดูแลศิลปินอย่างไรและศิลปินของเขามีสถานะที่จะสร้างให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าความหลากหลาย รวมทั้งวิถีและวิธีใหม่ๆ ของโลกสมัยใหม่ได้อย่างไร
ไม่ควรทิ้งศิลปินไวข้างหลัง
ผมมองเห็นว่า เราไม่ควรทิ้งใครไว้ข้างหลัง ถ้ามองในฐานะว่า เคยเกี่ยวข้องกับโครงการนี้มาตั้งแต่ต้น ตนก็รู้สึกผิดเสียด้วยซ้ำที่มันกลายสภาพเป็นไปในลักษณะที่มันเข้าไปสู่ระบบอุปถัมภ์ อย่างน้อยที่สุดการที่เขาแก้กฎกระทรวงที่จะปลดผมออก เขาไม่รู้หรือว่า ผมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่เรียกว่า ศิลปินแห่งชาติจะเกิดอะไรขึ้นก็ช่างมัน แต่อยากเห็นกระทรวงวัฒนธรรมมีวิสัยน์ทัศน์ที่ก้าวหน้า มีเข็มมุ่งและเปลี่ยนไปจากเดิม อย่ามองวัฒนธรรมในฐานะที่มันเป็นก้อนแข็งๆ แช่แข็งได้ วัฒนธรรมมันเป็นของที่ยืดหยุ่นตามสภาพ มันไม่หยุดนิ่ง มันเคลื่อนอยู่ตลอดเวลา
“อยากให้กรณีของผมเป็นจุดเริ่มต้นในการแลกเปลี่ยนในทางความคิดเห็น เช่น เป็นสวัสดิการถ้วนหน้าได้หรือไม่ มีระบบระเบียบอย่างไรที่จะทำให้เขาเป็นอิสระมีเสรีภาพด้วย โดยที่ให้สวัสดิการเขาและให้ในลักษณะที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
สิ่งเหล่านี้ผมเข้าใจว่า เป็นการให้เกียรติอย่างหนึ่ง ถ้าเขาสร้างผลงานมาจนอายุ 70-80 แล้วเขายังไม่มีสวัสดิการอะไรเลย เราทำร้ายศิลปินคนทำงานศิลปะหรือเปล่า ศิลปินแห่งชาติเดี๋ยวนี้ก็เหมือนเหมาโหลถูกกว่า แต่ว่ามันเป็นการเหมาโหลถูกกว่าที่ไม่ถูก เพราะใช้ภาษีของประชาชน ยิ่งได้คนที่ไม่ใช่ด้วยก็ยิ่งเป็นปัญหา ยิ่งได้คนที่มีบำเหน็จบำนาญในฐานะข้าราชการอยู่แล้วก็ทำให้เกิดความไม่เสมอภาค ไม่เท่าเทียม และคุณทิ้งใครไว้ข้างหลังล้วนพื่อนที่เคยสร้างงานมาพร้อมกัน
ร่วมลงชื่อในแคมเปญ Chang.org หัวข้อ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติต้องชี้แจงกรณีปลด อ.สุชาติ สวัสดิ์ศรี จากการเป็นศิลปินแห่งชาติ