ศิลปะในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของแต่ละสีเสื้อต่างมีเป้าหมายและความหมายต่างกัน ดร.ถนอม ชาภักดี นักปฏิบัติการทางศิลปะวิพากษ์การใช้งานศิลป์เพื่อการต่อต้านรัฐ เริ่มตั้งแต่การต่อสู้ของ พันธมิตรฯ กปปส. จนถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎรมีความหมายแตกต่างกันอย่างไร

ถนอม ชาภักดี เรื่อง 

นับตั้งแต่ปี 2562 (2019) เป็นต้นมา สถานการณ์ทั่วโลกต่างเผชิญกับวิกฤตโรคห่าตำปอด หรือ Covid-19 ที่ลุกลามแพร่เชื้อไปอย่างรวดเร็ว สภาวะการดำเนินชีวิตของประชาชนคนสามัญต่างชะงักงัน เศรษฐกิจ สังคม การเมืองสับสนอลหม่าน รัฐบาลทั่วโลกต่างตระหนักกับหายนะวินาศสันตโรโกลาหลชนิดที่มิอาจรับมือได้ แต่รัฐไทยกลับบอกประชาชนว่า มันคือโรคหวัดธรรมดา ในที่สุดก็ยอมรับกับภัยโรคห่าตำปอดที่ไม่มีแนวทางป้องกันหรือปกป้องพลเมืองของรัฐใดๆ นอกจากหน้ากากผ้าอนามัยปิดปากและเว้นระยห่างทางสังคม พร้อมกับการเข้า Mode of New -Normal มาจนถึงทุกวันนี้ 

ชะตากรรมที่แบกบ่า ภาระอันหน่วงหนักที่ประชาชนในประเทศต้องเผชิญกับวิกฤตโรคห่าตำปอด อันมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตอย่างที่ไม่เคยประสบพบเจอมาก่อน ประกอบกับความล้มเหลวในการบริหารจัดการของรัฐที่ไม่มีความพร้อมในการรับมือกับสภาวะความเสี่ยงใดๆ ปล่อยให้โรคห่าตำปอดคร่าชีวิตของผู้คนชนทุกชั้น (สามัญ) ล้มหายตายจากวันละนับร้อย 

สิ่งเดียวที่รัฐกระทำ คือ การโฆษณาชวนเชื่อทั้งขู่และปลอบวันละ 3 เวลา สารพัดโมเดลที่รัฐผลักดันออกมา อย่าง เถียงนาโมเดล แต่ทุกอย่างมันช้าและสายไปเสียแล้ว ซึ่งทำให้วิกฤตโรคห่าตำปอดที่หนักหน่วงรุนแรงเป็นทุนเดิมซ้ำเติมเข้ามากลายเป็น Political Pandemics อันเป็นโรคห่าการเมืองเรื่องคุณภาพของวัคซีนที่ไม่สามารถป้องกันการปรับตัวของไวรัสโรคห่าตำปอดที่พัฒนาเร็วกว่าเซลล์สมองของคณะรัฐบาลยุคหน้าด้านงานไม่เดิน

ในขณะที่วิกฤตทางการเมืองก็มิได้น้อยไปกว่าหายนะโรคห่าตำปอด อันเนื่องมาจากตราบาปการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 นำโดย พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะ ในนามคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คมช.) เพื่อโค่นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง นำโดย ดร.ทักษิณ  ชินวัตร ด้วยข้อหาสารพัดที่ยัดใส่ แต่โดยนัยก็คือรัฐบาลเลือกตั้งได้มาทลายขุมอำนาจสีเทาและสร้างผลกระทบกับผลประโยชน์มหาศาล จึงถึงกาลต้องกำจัด 

ก่อนจะมีรัฐประหารครั้งนั้นได้มีกลุ่มพันธมิตรกู้ชาติ (2548) หรือกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ได้สร้างเครือข่ายการต่อต้านรัฐบาล ดร.ทักษิณ  ชินวัตร ด้วยวิธีการต่างๆ มาจนสุกงอมและนำมาสู่จุดทำรัฐประหารดังกล่าว 

นับตั้งแต่นั้นมา ถือว่า เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการเมืองไทยในต้นศตวรรษที่ 21 ที่ประชาชนแบ่งขั้วสนับสนุนทางการเมืองอย่างชัดเจน 

ขณะฝั่งพันธมิตรฯ ที่มีแนวคิดเชิงอนุรักษ์ชาตินิยมได้ใช้สีเหลืองเป็นสัญลักษณ์ในนามเสื้อเหลือง 

ส่วนฝ่ายที่ปกป้องรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยใช้สีแดงเป็นสัญลักษณ์หรือคนเสื้อแดงในนามแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปก.- 2550) ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) 

แต่ละกลุ่มก็จะมีเครือข่ายและแนวร่วมกระจายทั่วประเทศ การระดมพลชุมนุมประท้วงหรือปฏิบัติการกิจกรรมต่างๆ มักจะใช้กรุงเทพเป็นศูนย์กลางในการแสดงพลังรวมทั้งมีภาคส่วนปฏิบัติการทางศิลปะวัฒนธรรมนำเสนอสร้างบรรยากาศ สีสัน ความบันเทิง และสร้างกระบวนการวิพากษ์วิจารณ์การต่อต้านผ่านรูปแบบวิธีการต่างๆ เช่น ภาพล้อเลียน ภาพผู้นำของแต่ละฝ่าย กราฟิตี้เสียดสีประชดประชัน ดนตรี ตีฝีปาก

ถ้าสังเกตการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ปฏิบัติการทางศิลปะกับการเมืองมาตั้งแต่ปี 2553-2559 จะเห็นว่า ความเคลื่อนไหวทางศิลปะในฟากฝั่งกลุ่มพันธมิตรฯ มาจนถึงการเปลี่ยนชื่อเป็นคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ซึ่ง กปปส. นี่เองที่ปูพรมวางทางรถถังนำไปสู่การรัฐประหารปี 2557 ที่เป็นวิกฤติมาจนถึงวันนี้ 

ช่วงระยะ 7  ปี ที่พลังขวาอนุรักษ์มีบทบาทถาวรมาแต่ไหนแต่ไรในสังคมไทยได้แผ่แม่เบี้ยเข้าสู่พื้นที่ศิลปะในนาม Art Lane (2556 – 2557) เสมือนยกสตูดิโอมาตั้งกลางถนนราชดำเนินและเคลื่อนย้ายไปสร้างกิจกรรมในพื้นที่ต่างๆ ตามย่านธุรกิจสำคัญๆ  โดยมีศิลปินทั่วทิศ สถาบันการศึกษาศิลปะทั่วไทยต่างระดมพลคนศิลปินชั้นเยี่ยมมาวาดรูป เขียนรูป เสกสรร ปั้นสื่อศิลปะหลากหลายแบบอย่างเอิกเกริก

กลุ่ม กปปส.และเครือข่ายศิลปินเพื่อประชาธิปไตยชุมนุม Shutdown Bangkok 2557 (2014)

ภายใต้สุนทรียศิลปะแห่งคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  (People’s Democratic Reform Committee : PDRC ซึ่งต่อไปจะเรียกชื่อย่อ กปปส. หรือ PDRC เท่านั้น เพราะชื่อเต็มจำไม่ได้) ย่อมมีแนวปฏิบัติทางศิลปะไปตามนามชื่อของกลุ่มอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

“……. อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เป็นคำขีดเส้นใต้และตัวเน้นสำหรับกิจกรรม Art Lane  ฉะนั้นแล้วบริบทและแบบอย่างอะไรที่ยืนอยู่ตรงกันข้ามนามแนวคิดองค์กรก็ย่อมถูกนำมาใช้เป็นเนื้อหาและรูปแบบในการนำเสนอเพื่อสื่อให้พลังเสื้อเหลืองได้เห็นถึงสุนทรียศิลปะ 

กปปส. ในแง่ของการวิพากษ์วิจารณ์ล้อเลียนเสียดสีฝ่ายตรงข้ามอย่างต่อเนื่อง รวมถึงข้อความโฆษณาชวนเชื่อ ปลุกใจ ในฝั่งฝ่ายเดียวกัน ซึ่งผลิตออกมาตอบสนองต่อความเชื่อ ความศรัทธาองค์กร แต่ในขณะเดียวกัน บริบทและรูปแบบบการประท้วง วิจารณ์ กลับเป็นการสนับสนุนต่อการใช้อำนาจเชิงเผด็จการทหารมาบดบี้พลังประชาธิปไตยที่ยืนอยู่ฝั่งตรงข้าม อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สุนทรียศิลปะ กปปส. ; PDRC. Art Aesthetic เป็นผลที่เกิดจากการสร้างงานศิลปะในบรรยากาศของการชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตั้งแต่ช่วงสมัยรัฐบาล ดร.ทักษิณ ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติการ Shut Down Bangkok ช่วงปี 2556 – 2557 โดยมีภาคีศิลปินจากสถาบันการศึกษาศิลปะ เช่น มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นภาคีหลัก ร่วมกันจัดกิจกรรมศิลปะ Art Lane  ขึ้นเพื่อระดมทุนสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปปส. โดยรายละเอียดต่างๆ ของกิจกรรมสามารถหาอ่านและสืบค้นได้อย่างสะดวก

ผลงานส่วนมากนำเสนอในแบบอย่างศิลปะ Socialist Realism และ Political Pop ศิลปะร่วมสมัยจีนแผ่นดินใหญ่ช่วงทศวรรษ 1980 โดยที่กลุ่มศิลปิน Art Lane นำมาประยุกต์เข้ากับสถานการ์การเมืองไทยในช่วงปี 2556 – 2557 โดยผลงานมีทั้งภาพเขียนด้วยเทคนิคสีชนิดต่างๆ ภาพเทคนิคสเตลซิล (Stencil Printing) หรือภาพพิมพ์ลายฉลุ ภาพสีชอล์คบนพื้นถนน ภาพเขียนบนใบหน้าหรือเรือนร่าง เป็นต้น 

ผลงานเหล่านั้นค่อนข้างอิงตามหลักการทางศิลปะ เพราะกลุ่มศิลปินที่ร่วมกิจกรรม Art Lane  ล้วนผ่านระบบการศึกษาศิลปะมาอย่างดี จึงสามารถใช้ทักษะในการสร้างงานตอบสนองกลุ่มเป้าหมายของ กปปส.ได้เป็นอย่างดี แต่ในบริบทพลังของผลงานที่เกิดจากหน่อเนื้อการชุมนุม ข้อเรียกร้องต่างๆ ดังเช่นวลีที่ว่า “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” “ทวงคืนประเทศไทย” “ไทยอย่าเฉย” เป็นต้น กลับกลายเป็นการกวักมือเรียกให้ทหารมาทำการยึดอำนาจรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่นำพาประเทศไทยภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 แต่กลับมีการลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย ขยายอำนาจชนชั้นนำจนกลายเป็นวิกฤตไม่ต่างจากโรคห่าตำปอดในขณะนี้

ที่สุดแล้วผลผลิตของศิลปิน Art Lane ภายใต้การชี้นำของ กปปส. ก็คือศิลปะเชิงศิโรราบสยบยอม (Compliant Art) ที่นำเสนอผลงานศิลปะให้เข้าไปสยบยอมอยู่ภายใต้อำนาจรัฐเผด็จการฟาสซิสม์นั่นเอง ซึ่งศิลปะแนวทางนี้เคยเกิดขึ้นในช่วงสมัยนาซีเรืองอำนาจ อันเป็นแนวทางศิลปะของพรรค National Socialist ของ  Hitter ที่มุ่งหวังสร้างงานศิลปะให้ภาพชนบทมีความโรแมนติค อยู่ดี กินดี มีความพอเพียง  ขณะเดียวกันก็ใส่ร้ายป้ายสีผลงานที่ไม่เชิดชูผู้นำ ไม่ทำตามนโยบายรัฐภายใต้คำขวัญอันสวยหรูว่า เป็นศิลปะเสื่อมทราม (Degenerated art)

ในทางกลับกันภูมิทัศน์ปฏิบัติการทางศิลปะของกลุ่มประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แทบจะไม่มีคำว่า “ศิลปิน” เข้าไปผนวกรวมขับเคลื่อนในการต่อสู้อย่างเป็นชิ้นเป็นอันในห้วงเวลาดังกล่าว มีแต่เพียงเสียงพิณ เสียงแคนจากมิตรสหายพี่น้องช่วยสร้างบรรยากาศและดนตรีบรรเลงเสียงเพลงขับขานพี่น้องกันเองในพื้นที่ชุมนุม ส่วนศิลปินสายสาขาอื่นๆ  นั้นแทบไม่กล้าแสดงตัวออกมาในพื้นที่ของการชุมนุมต่อต้านเผด็จการ เพราะพลังอำนาจของกลุ่มอนุรักษ์นิยมกำลังรุ่งโรจน์ ศิลปินจำนวนมากไหลเทไปสู่ฝั่ง กปปส. จนล้นถนนบน Art Lane  

การชุมนุมประท้วงของกลุ่มนักเรียนเลว Shutdown Dictatorship 2563 (2020) ที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2563

นี่เป็นปรากฎการณ์ทางโลกศิลปะในประเทศไทยที่สวนกระแสกับปณิธาน นิยาม ความหมายของคำว่า ศิลปะที่ต้องการสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย ในการแสดงออก แต่ศิลปิน กปปส. กลับวิ่งไปซุกอยู่ใต้ชายคาท็อปบูธทหารและตอบสนองผลงานต่อแนวคิดเผด็จการ

ในขณะที่ผู้เรียกร้องให้ได้มาซึ่งสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย ต่างระหกระเหิน เอาชีวิตเข้าแลกกับการปราบปรามของรัฐในมหานครที่ไม่เคยคุ้นชิน ป้ายผ้า ธงแดง แผ่นกระดาษที่เขียนด้วยลายมือของแต่ละคนกับคำสบถก่นด่ารัฐบาลเผด็จการทหาร “เผด็จการจงพินาศ  ประชาชนจงเจริญ” “แดงทั้งแผ่นดิน”  และป้ายสุดท้ายที่ผู้เสียชีวิตได้แสดงให้ผู้มีชีวิตได้เห็น “ที่นี่มีคนตาย”  

การต่อสู้ของสามัญชนกับกลไกอำนาจรัฐขนาดมหึมานับมาหลายทศวรรษ พลวัตเพียงอาภรณ์ห่มกายและแรงพลังที่ปะทุจากความขมขื่นที่ถูกกดทับรุ่นแล้ว รุ่นเล่า กลายเป็นเชื้อปะทุ ที่ทำให้สามัญชนออกมาเรียงหน้าเดินสู้กลางถนนในมหานครอันแปลกหน้า หลายคนหาทางกลับบ้านไม่ได้ อีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องสูญเสียอิสรภาพ ถูกจองจำ หลายศพก่ายกอง เหตุเพราะออกมาแสดง สิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย ขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่พึงมี

ความเรียง ณ บัญชร เดอะ อีสาน เรคคอร์ด (The Isaan Record) ในชุดนี้จะได้กล่าวถึงปฏิบัติการทางศิลปะที่เปลี่ยนไปในช่วงตั้งแต่วิกฤติการเมืองและรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2562 การเกิด Flash Mob ของกลุ่มต่างๆ จนขวบปี 2564 ที่มีมิติทางการประท้วง เรียกร้อง ต่อต้านอำนาจกลไกของรัฐที่ไม่ชอบธรรมและเพื่อเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตยของประชาชน พลเมือง นักเรียน นิสิต นักศึกษา หลากหลายกลุ่มพลังต่างขับขานผ่านวิธีการนำเสนอและแสดงออกการเคลื่อนไหวปฏิบัติการทางศิลปะในแนวคิด Plebeian Aesthetic : Critique and Artistic Resistance 

การเคลื่อนไหวปฏิบัติการทางศิลปะในแนวคิดสุนทรียสามัญชนไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องเพรียกหานิยามของศิลปิน (Artist) ในพื้นที่ปฏิบัติการ เพราะทุกคนที่เข้ามาร่วมยืนหยัดอยู่ในพื้นที่ปริมณฑลการเรียกร้องต่อสู้กับอำนาจรัฐสกปรกนั้น คือ นักปฏิบัติการทางศิลปะ (Artistic Activist) ที่มีแนวคิดการสร้างสรรค์กลวิธีนำเสนอแสดงออกผ่านปัจเจกบุคคลอย่างล้นหลาม เพื่อสร้างการรับรู้ ส่งสื่อสารผ่านสัญญะ สัญลักษณ์ รูปลักษณ์ ภาพลักษณ์ ที่แสดงออกมาดังที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์เห็นบนท้องถนนในนามของ Street Graffiti ใบปิดที่เขียนด้วยพลังลายอัตลักษณ์ ภาพการ์ตูนล้อเลียนแบบเรียบง่ายแต่สร้างความอับอายให้กับผู้ที่ถูกกล่าวถึง ไปจนถึงสื่อการแสดงสดแบบฉับพลัน (Happening Art) สาดสีเทสีหรือสื่อการแสดงสด (Performance Art) ที่มีเรื่องราว เค้าโครงจากเหตุการณ์ต่างๆ   

การแสดงออกเหล่านี้เป็นวิถีทางที่สามัญชนทุกผู้ทุกนามมีส่วนร่วมในการสร้างภูมิทัศน์และกายภาพการชุมนุมเรียกร้อง มีบรรยากาศ Collective Activity อันคึกคัก สนุกสนาน ผ่อนคลาย ในขณะเดียวกันก็เกิดพลวัตในการขับเคลื่อนสู่การรับรู้ในปริมณฑลอื่นๆ ได้อย่างกว้างไกลและจะนำไปสู่ Artistic Activist Collective Revolution ต่อไป

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฏบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print