ในรอบปีที่ผ่านมา พลังของคนรุ่นใหม่เบิ่งบานทั่วทุกสารทิศ แต่พวกเขาก็ถูกกดด้วยจับขัง คุกคาม และสลายการชุมนุม ทำให้พลังอ่อนแรงลง Citizen Reporter ของ The Isaan Record ได้พูดคุยกับ “พิมมาดา” เยาวชนในจังหวัดอุดรธานี ผู้ใช้การแสดงในการโต้กลับเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่า ไม่สยบยอมกับการถูกควบคุมจากรัฐ
อรนิภา สู้ณรงค์ Citizen Reporter เรื่อง
ปีที่ผ่านมามีการชุมนุมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่เบ่งบานในหลายจังหวัดทั่วประเทศ “พิมมาดา” ก็เป็นหนึ่งในเยาวชนที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพด้วยการแสดงออกเช่นเดียวกัน
ด้วยวัยเพียง 17 ปี เธอถูกกล่าวหาว่า “เป็นภัยความมั่นคงของรัฐ” และถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ในหลายรูปแบบ
การถูกเป็นเป้าโจมตีจากรัฐเธอโต้กลับได้เพียงต้องแสดงออกสัญลักษณ์ด้วยการ “Performance Art”
โดยใช้พื้นที่บริเวณหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดอุดรฯ เป็นเวทีการแสดง ภายใต้ชื่องาน “D-DAY อุดรสั่นคลอนถึงรัฐสภา” เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ท่ามกลางความสนใจของผู้คนที่เข้าร่วม
Citizen Reporter ได้พูดคุยกับเธอถึงที่มาของการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสารที่ต้องการส่งถึงสาธารณะผ่านการแสดง
……
Citizen Reporter: ทำไมจึงออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง
พิมมาดา: เราโตมาพร้อมกับการเมือง คนในครอบครัวมีทั้งข้าราชการ ทหาร นักการเมืองท้องถิ่น หลายคนในครอบครัวก็ทำงานเกี่ยวกับการเมืองท้องถิ่นจึงเห็นและเติบโตกับอะไรแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก ก่อนที่จะมาเคลื่อนไหวทางการเมืองก็ติดตามข่าว แล้ววิจารณ์การทำงานของรัฐบาล จนมาช่วงที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบและเริ่มมีแฟลชม็อบของนักศึกษาก็เข้าร่วมและเคลื่อนไหวเรื่อยมา
Citizen Reporter: ไม่กลัวเหรอ เพราะการเคลื่อนไหวทุกวันนี้ถูกจับ ถูกคุกคาม บางคนก็ได้รับบาดเจ็บจากการออกไปร่วมชุมนุม
พิมมาดา: ไม่กลัว หลายคนอาจจะกลัวเพราะว่ามันมีปัจจัยหลายๆ อย่างทางครอบครัวเราก็มี แต่การถูกจับ ถูกคุกคาม หรือการได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุม เรารู้สึกว่า ถ้าเป็นรัฐเผด็จการต้องเรื่องอย่างนี้อยู่แล้ว อย่าง ตอน ยุค คสช.ก็มีการนำคนไปปรับทัศนคติ ดังนั้นเราจึงไม่กลัว
Citizen Reporter: ที่ผ่านมาถูกคุกคามในรูปแบบไหนบ้าง
พิมมาดา: ตั้งแต่เริ่มเป็นนักเคลื่อนไหวมาหนึ่งปี มีการคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐเท่าที่รู้ คือ หนึ่งครั้ง วันนั้นเราไปทำธุระที่ต่างจังหวัด หลังจากนั้นคนที่บ้านก็โทรมาว่า มีตำรวจสันติบาลและเจ้าหน้าที่จาก กอ.รมน.มาที่บ้านประมาณ 4-5 คน ถ่ายรูปที่บ้านแต่บังเอิญบ้าน หลังที่เจ้าหน้าที่ไป คนที่บ้านเราไม่ได้อยู่แล้ว เลยไม่ได้รู้ส้กว่ามันส่งผลกระทบกับเรา
“จากนั้นเขาก็ไปหาผู้ใหญ่บ้านแล้วบอกให้คนที่บ้านช่วยห้ามไม่เราออกไปเคลื่อนไหวอีก โดยบอกว่า เราเป็นภัยความมั่นคงของสถาบัน”
Citizen Reporter: กดดันไหม แล้วแก้ไขปัญหาอย่างไร
พิมมาดา: ตอนนี้ไม่ได้รู้สึกกดดัน แต่ช่วงแรกๆ เราก็รู้สึกกดดันบ้าง อย่างที่บอก รัฐเผด็จการมันสามารถทำอะไรกับเราก็ได้ เราเริ่มเคลื่อนไหวของช่วงอยู่ ม.4 ตอนนั้นก็ยังคิดว่า เราเด็กอยู่ก็เลยรู้สึกกดดัน แต่ที่กดดันมากกว่าการคุกคามจากเจ้าหน้าที่ คือ การกดดันจากครอบครัว เพราะเขาคุกคามครอบครัวเราด้วย มันไม่ใช่เราคนเดียว ซึ่งตอนนั้นก็พุดคุยทำความเข้าใจกับคนในครอบครัวมากขึ้น
Citizen Reporter: การถูกคุกคามส่งผลอย่างไรกับตัวเองและครอบครัว
พิมมาดา: ช่วงที่ถูกคุกคาม ก็ทะเลาะกับคนในครอบครัว จนเราถูกตัดเงินและโดนไล่ออกจากบ้าน ช่วงนั้นทำให้เราไม่ได้กลับบ้านหลายเดือนเลย เพราะว่าก่อนที่เราจะออกมาเคลื่อนไหว ความคิดเห็นของเรากับคนในครอบครัวไม่ค่อยตรงกันอยู่แล้ว แต่เขายังไม่ได้ว่าอะไร แต่พอเจ้าหน้าที่มาคุกคามถึงบ้านเขาก็เลยใช้วิธิการที่เรารูสึกว่า มันรุนแรงกับเรา ตอนนี้เรายังไม่สามารถที่จะทำอะไรได้
“การถูกตัดเงินและการถูกไล่ออกจากบ้านมันส่งผลกระทบต่อจิตใจเรามาก แต่ตอนนี้ได้กลับมาอยู่บ้านแล้ว เพราะเราทำให้เห็นว่า ต่อให้ห้ามแค่ไหนเราก็ไม่หยุดเคลื่อนไหวและแสดงออก”
“เราไม่เห็นด้วยมากๆ กับคำว่า การเมืองไม่ใช่เรื่องของเด็ก เรามองว่าคำนี้มันด้อยค่าเด็กมากๆ”เยาวชนจากจังหวัดอุดรธานี
Citizen Reporter: ครูที่โรงเรียนมองอย่างไรต่อการเคลื่อนไหว แล้วเพื่อนๆ มองว่า เป็นคนประหลาดไหม
พิมมาดา: ครูที่โรงเรียนมีหลายคนที่เห็นด้วย แต่บางคนก็ไม่เห็นด้วย ซึ่งคนที่ไม่เห็นด้วยเราก็โดนนะ อย่างที่เราไปเป็นพิธีกรในม็อบ หลังจากนั้นเราก็โดนครูที่เป็นระดับหัวหน้าตามหา โดยถามว่ามีใครรู้จักคนนี้มั้ย เขาเป็นใคร ครูอยากเห็นหน้า พยายามถามกับหลายๆ คนที่ใกล้ชิดกับเราแต่ครูก็ไม่ได้ข้อมูล เพราะคนที่รู้จักเราไม่ได้บอกอะไรมาก ส่วนเพื่อนๆ ในห้องก็สนับสนุนตลอด หลายครั้งที่ทำกิจกรรมก็ชวนเพื่อนๆ ไปร่วมด้วย ไม่ได้มีใครมองว่าแปลกประหลาด
พิมมาดา แสดง Performance Art ในกิจกรรม “D-DAY อุดรสั่นคลอนถึงรัฐสภา” เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2564
Citizen Reporter: การแสดง Performance Art ชุดนี้ต้องการสื่ออะไร
พิมมาดา: สิ่งที่ต้องการสื่อ คือ ต้องการบอกว่า เราเป็นเยาวชนที่โดนคุกคามจากรัฐและโดนบังคับทุกวิถีทางที่มีการมัด แล้วบังคับให้กราบ กรอบรูป คือ เราอยากให้ทุกคนเอาไปคิดต่อ เพราะมันเป็นการแสดงปลายเปิดมากๆ อยากให้ทุกคนมองแล้วคิดตามกับสิ่งที่เราแสดง ต้องขอบคุณพี่นักเคลื่อนไหวในภาคอีสานคนนั้นที่อนุญาตให้เราทำ ซึ่งก็ได้แรงบันดาลใจจากการมัดเชือกมาจากพี่คนนั้น
Citizen Reporter: เรียน Performance Art มาจากไหน
พิมมาดา: ไม่เคยเรียนการแสดงเลย แต่ชอบดูการแสดงจากหลายๆ ที่ เราชอบดูงานศิลปะ เลยจำแล้วเอามาปรับใช้กับการแสดงของตัวเอง การแสดงเมื่อวันที่ 17 กันยายน ถือเป็นการแสดงครั้งแรกที่แสดงต่อหน้าคนเยอะๆ มีทั้งการโดนกดหัว โดนสีสาดใส่ ซึ่งเป็นการแสดงที่อยากทำมานานแล้วและอยากทำให้การแสดงเข้าถึงทุกคนได้ง่ายๆ
Citizen Reporter : คิดอย่างไรกับวาทกรรม “การเมืองไม่ใช่เรื่องของเด็ก”
พิมมาดา: ไม่เห็นด้วยกับวาทกรรมนี้ แต่หลังจากมีวาทกรรมนี้ออกมามันก็จะมีอีกวาทกรรมหนึ่งที่บอกว่า “การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน” ซึ่งเราเห็นด้วยกับคำหลัง เพราะว่าสิ่งรอบตัวมันเป็นการเมือง ตั้งแต่ที่เราเกิดหรือเราอยู่ในท้องมันก็เป็นเรื่องของการเมือง บางครั้งรัฐหรือคนอื่นๆ พยายามที่จะทำให้การเมืองเป็นเรื่องไกลตัวทั้งๆ ที่มันใกล้มาก ใกล้กว่าที่ทุกคนคิด
“เราไม่เห็นด้วยมากๆ กับคำว่า การเมืองไม่ใช่เรื่องของเด็ก เรารู้สึกว่าคำนี้มันวัดเด็กที่อายุและมันเป็นการกดเด็กลงไปอีกทีหนึ่ง เพราะว่าเด็กหลายคนก็มีความคิดเป็นของตัวเอง มีวุฒิภาวะมาก สามารถทำอะไรหลายๆ อย่างที่หลายๆ คนคาดไม่ถึง เรามองว่าคำนี้มันด้อยค่าเด็กมากๆ”
Citizen Reporter: ตอนนี้การเคลื่อนไหวของเยาวชนในจังหวัดอุดรฯ เป็นอย่างไรบ้าง
พิมมาดา: การเคลื่อนไหวไม่ได่อยู่ในระดับที่ดีหรือแย่มาก เพราะตอนนี้มีการยกระดับการชุมนุม ที่ผ่านมากระแสของกิจกรรมในจังหวัดมันดีมาตลอด หลายๆ ครั้งที่เราจัดกิจกรรมก็จะมีมวลชนเข้าร่วมมากแบบคาดไม่ถึง เพราะบางครั้งเราไม่ได้มีอะไรเป็นตัวจุดกระแส แต่คนก็มาร่วมเ็นจำนวนมาก ทั้งพ่อค้าแม่ค้าก็ออกมาร่วม เพราะพวกเขาได้รับผลกระทบจากโควิด ค้าขายไม่ได้ เศรษฐกิจไม่ดี
Citizen Reporter: สังคมในฝันของเยาวชนที่ถูกคุกคามโดยรัฐเป็นอย่างไร
พิมมาดา: เราเคยเจอคำถามนี้จากพี่คนหนึ่ง แต่ตอนนั้นเป็นช่วงที่เพิ่งออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองใหม่ๆ ตอนนั้นเราตอบว่า ต้องการชีวิตที่มันดีขึ้น ไม่ต้องกังวลว่า เดินทางไปไหนมาไหนแล้วจะเป็นอะไรหรือเปล่า ซึ่งตอนนี้เราก็ยังต้องการเหมือนเดิม แต่อยากให้สังคมเรามีความเท่าเทียมอย่างแท้จริงและก็อยากให้ทุกคนมีความเข้าใจกัน เพราะตอนนี้หลายครั้งปัญหาในสังคมเกิดจากความไม่เข้าใจกัน เราอยากให้ทุกคนมีความเข้าใจกันมากขึ้น
นอกจากนี้เรายังต้องการมีรัฐสวัสดิการที่ดี เพราะเราเชื่อว่า ถ้าปัญหาเชิงโครงการสร้างมันถูกแก้ไขแล้วเราได้รับสวัสดิการที่ดี เราจะรู้สึกว่า คนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังมันจะน้อยลงๆ
Citizen Reporter: ถ้าได้เห็นสังคมในฝันคิดว่าจะยังคงเคลื่อนไหวอีกต่อไปไหม
พิมมาดา: คิดว่า จะยังทำต่อไป เพราะถ้าเราไม่ทำก็ไม่รู้ว่า ใครจะทำ ถึงแม้เราจะเป็นเสียงเล็กๆ ก็จริง แต่ถ้ามันเป็นเสียงเล็กๆ ที่มารวมกันหลายๆ เสียงมันก็จะดึงขึ้นมาได้