เจ้าของวาทะ “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ครอง จันดาวงศ์ ถูกฆาตกรรมอย่างโหดเหี้ยมจากรัฐ โดยถูกล้อมยิงด้วยกำลังสามชั้นรวมกว่า 200 คน ต่อหน้าประชาชนชาวสว่างแดนดินทั้งเมือง ถือเป็นการขจัดผู้เห็นต่างจากรัฐที่ทำให้ผู้คนหวาดกลัวจนไม่กล้าขายโลงศพให้และไม่มีคนรู้จักวีรบุรุษคนสำคัญเท่าที่ควร  

วิทยากร โสวัตร เรื่อง  

แรกที่เขียนถึงครูครอง จันดาวงศ์ นั้นตั้งใจว่า จะเขียนสองตอน  แต่พอใคร่ครวญดูแล้วก็เห็นว่า ถ้าไม่เขียนอีกสองตอนคงรู้สึกผิดอย่างมาก เพราะจะขาด “มิติที่สำคัญ” ทั้งการสะท้อนความเหี้ยมโหดของรัฐไทยที่ใช้ครูครองและ ทองพันธ์ สุทธิมาศ บูชายัญอำนาจส่วนกลางเพื่อกดและข่มขวัญคนอีสานทั้งหมด 

อีกประเด็น คือ บุคลิกลักษณะแห่งวีรบุรุษของครูครอง จันดาวงศ์ ซึ่งเมื่อเทียบกับวีรบุรุษระดับประเทศอย่าง จิตร ภูมิศักดิ์ และระดับสากลอย่าง เช เกวารา ยิ่งจะเห็นมิตินี้ชัดขึ้น (ซึ่งผู้คนไม่ใคร่ให้ความสนใจมิตินี้นัก?)

อีกอย่างก็เห็นว่า ครูครอง จันดาวงศ์ นั้นถือว่า เป็น “ต้นแบบของนักสู้อีสาน” ในวิถีทางประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ที่สุดคนหนึ่ง แต่กลับมีคนเขียนถึงน้อยเหลือเกิน

ที่น่าเศร้าและย้อนแย้งฉิบหาย คือ ข้อเขียนถึงครูครอง จันดาวงศ์ ที่ยาวที่สุดกลับออกมาจากทางฝั่ง กอ.รมน. ทั้งที่ข้อมูลส่วนใหญ่ก็ไม่น่าเชื่อถือเพราะเขียนจากฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเดียว แต่ก็มีอิทธิพลต่อความคิดความเชื่อของคนส่วนใหญ่ที่หนังสือเล่มนี้กระจายไปถึง (ด้วยรัฐสนับสนุน) บวกรวมกับการกระจายข่าวจากทางการและสื่อมวลชนที่อยู่ฝ่ายทางการก็ยิ่งช่วยเสริมความเข้าใจ (ผิด) นี้มากขึ้นในหมู่ประชาชนและกินเวลายาวนานมาก

แต่มองอีกมุมหนึ่ง ถ้าเราศึกษาชีวิตครูครอง จันดาวงศ์ โดยไกด์จากเอกสารชิ้นนี้แล้วหาข้อมูลมายัน แล้วตีแผ่ออกมาก็จะทำให้เห็นวิธีการของรัฐที่แสดงถึงความเหี้ยมโหด หน้าไหว้หลังหลอกและกุหลักฐานปรักปรำ ก็จะเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของทางรัฐมากขึ้น

ดังนี้แล้วผมอยากชวนให้คนรุ่นเราที่สนใจประวัติศาสตร์มาช่วยกันค้นคว้าศึกษาวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ของเสรีไทยอีสานแถวสองแถวสามแถวสี่ (ต่อจาก 4 รัฐมนตรีอีสาน) ให้มากขึ้นๆ 

ผมจะให้ดูอะไร – – –

“04.00 น. ของวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2504 พันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ (ยศขณะนั้น) สั่งให้นายร้อยเวรขึ้นไปปลุกนายครองและนายทองพันธ์ ซึ่งถูกคุมขังอยู่ที่กองตำรวจสันติบาล…จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงนำนายครองและนายทองพันธ์ขึ้นเครื่องบินกลับไปจังหวัดอุดรธานี ตลอดเวลาที่อยู่บนเครื่องบิน ทั้งสองไม่ยอมพูดจาอะไรทั้งสิ้น คงอยู่ในอาการเหม่อลอย ทอดสายตาไปนอกหน้าต่างตลอดเวลา แต่เมื่อเจ้าหน้าที่นำกาแฟไปให้ทั้งสองก็ดื่มอย่างเป็นปรกติ…

“(เมื่อถึงจังหวัดอุดรธานี) พันตำรวจเอกจำรัส มังคลารัตน์ ได้จัดกำลังตำรวจคุ้มกันบริเวณสนามบินอย่างแข็งขัน นอกจากนี้พลจัตวาสังคม วนภูติ ผู้บังคับการกรมผสมที่ 13 จังหวัดอุดรธานี ก็ได้จัดกำลังอีกจำนวนหนึ่งไปคุ้มกันและป้องกันเหตุร้ายอยู่ด้วย ที่เจ้าหน้าที่ต้องทำการรักษาบริเวณสนามบินอย่างแข็งแรงเช่นนี้ก็เพราะเห็นว่า นายครองและนายทองพันธ์มีสมัครพรรคพวกมากมายที่นั่น เกรงว่าพรรคพวกของบุคคลทั้งสองอาจก่อการวุ่นวายขึ้น หรือเข้าทำการแย่งตัวผู้ต้องหาได้…จากนั้นคณะเจ้าหน้าที่ พร้อมด้วยผู้ต้องประหารจึงเดินทางโดยรถยนต์ไปยังอำเภอสว่างแดนดินทันที และไปถึงที่นั่นเมื่อ 09.45 น. แล้วเจ้าหน้าที่จึงนำตัวนายครองและนายทองพันธ์ไปยังสถานีตำรวจภูธรอำเภอสว่างแดนดิน

หนังสือ “ครอง จันดาวงศ์​ เขา คือ ใคร” เขียนโดย คมสรรค์ มาตุคาม 

“บริเวณสนามบินหลังที่ว่าการอำเภอถูกกำหนดให้เป็นสถานที่ทำการประหารชีวิต ระหว่างที่เจ้าหน้าที่เตรียมการประหารอยู่นั้น รถยนต์ของตำรวจได้แล่นประกาศไปทั่วโดยผ่านเครื่องขยายเสียงให้ประชาชนออกไปจากบริเวณสนามบินโดยด่วน ห้ามคนเดินผ่านเข้า -ออกบริเวณสนามบินโดยเด็ดขาด ในขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังปฏิบัติราชการอยู่และให้นำสัตว์เลี้ยงต่างๆ ออกไปให้พ้นบริเวณด้วย

“จากนั้นทหารจากกรมผสมที่ 13 ค่ายประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี จำนวน 3 กองร้อย ในเครื่องแบบชุดออกสนามรบ ภายใต้การนำของพลจัตวาสังคม วนภูติ จึงเริ่มกระจายกำลังนอนเรียงรายล้อมรอบตัวสนามบินอยู่ในท่าเตรียมยิง นับเป็นการระวังป้องกันรอบนอก นอกจากกำลังทหารดังกล่าวนี้แล้วตำรวจภูธรและตำรวจฝ่ายชายแดนรวมกันอีกประมาณ 100 คน ยังได้เรียงรายคอยคุ้มกันระวังเหตุเป็นรอบในอีกชั้นหนึ่ง นับเป็นการระมัดระวังเหตุร้ายอย่างเข้มแข็งยิ่งขึ้น

“ผู้ที่เป็นเพชฌฆาตมีทั้งหมด 6 คน เป็นตำรวจภูธรฝ่ายชายแดนเสีย 3 คน คือ สิบตำรวจตรีดัด รอดพันดุง พลฯ สงวน วงศ์พระจันทร์ และพลฯ สวน บุญเผย อีก 3 คนเป็นตำรวจภูธรจากกองเมืองจังหวัดอุดรธานี คือสิบตำรวจเอกอ่อน พินินทร์กุล พลฯ ตุ่น วงสินธ์ และพลฯ ทองดี กำธร ตามหมายกำหนดการนั้นจะให้เพชฌฆาตแต่ละคนจะยิงผู้ต้องประหารคนละหนึ่งชุด ๆ ละ 15 นัด เป็นการยิงรวดเดียวพร้อมกันหมดทั้ง 6 คน ผู้ต้องประหารทั้งสองจะต้องถูกยิงคนละ 45 นัด”

นี่คือจากเอกสารทางการหรือหนังสือของฝ่ายรัฐ (ครอง จันดาวงศ์ เขาคือใคร?, คมสรรค์ มาตุคาม)

คุณเห็นความอำมหิตไหม?

ถ้าดูจาก 3 ย่อหน้าที่ทำตัวเอนไว้นี้ ย่อหน้าแรกมันคล้ายพิธีการบูชายัญ ที่ป่าวประกาศให้คนแตกตื่นและเกิดความสนใจที่จะมาดู แต่แน่นอนว่าเมื่อเห็นแล้วก็จะเกิดผลสั่นสะเทือนต่อจิตใจให้เกิดความกลัวอำนาจที่กระทำ

และเมื่อเราพิจารณาจากทั้งสามย่อหน้ารวมกัน – นี่คือการล้อมยิง!

ดูจากกองกำลังทหาร 3 กองร้อย รายล้อมอยู่รอบนอกในลักษณะพร้อมรบ ชั้นในต่อมายังมีตำรวจพร้อมอาวุธกระจายล้อมอยู่อีก 100 นาย ชั้นในสุดคือคนยิงเป้าอีก 6 คน (3 ต่อ 1) ยิงชุดเดียวคนละ 15 นัด (รวม 45 นัด ต่อ คนถูกยิงหรือรวมทั้งสิ้น 90 นัด)

ถ้าเทียบกับขบวนการผู้มีบุญ ถ้าไม่นับจำนวนคนที่ตายอย่างมหาศาลแล้ว การฆ่าครูครองและครูทองพันธ์ ถือว่าอำมหิตโหดเหี้ยมกว่า เพราะคนถูกยิงไม่มีสิทธิ์สู้ ล้อมยิงด้วยกำลังสามชั้นรวมมากกว่า 200 คน และยิงต่อหน้าประชาชนชาวสว่างแดนดินทั้งเมือง! และในตอนเย็นวันเดียวกันก็ออกกระจายข่าวทั่วประเทศทางวิทยุกระจายเสียงถึงการประหารนี้ !!

นี่คือการฆ่าแบบที่มนุษย์ที่มีอารยะธรรมเขาไม่ทำกัน 

ทีนี้มาดูความตอแหลหน้าไหว้หลังหลอกของรัฐ – –

พิธีประหารชีวิตนายครองและนายทองพันธ์สิ้นสุดลงเมื่อนายแพทย์ตำรวจพร้อมทั้งเจ้าพนักงานได้ทำการชันสูตรพลิกศพและพิมพ์ลายนิ้วมือถูกต้องเรียบร้อยตามระเบียบวิธีการประหารแล้ว จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงแจ้งให้ญาติมิตรของผู้ตายรับศพไปจัดการตามประเพณีต่อไป ทั้งสั่งมิให้จัดงานศพอย่างเอิกเกริกใหญ่โตด้วย…”

สังเกตไหมครับว่า เขาใช้คำว่า พิธี ในการประหารชีวิตครั้งนี้ ซึ่งมันอธิบายรูปการจิตสำนึกของเหล่าผู้กระทำการนี้ได้เป็นอย่างดี

ทีนี้มาดูข้อมูลจริงจากพื้นที่ในวันเวลาเดียวกัน จากบันทึกคำบอกเล่าของแม่แตงอ่อน จันดาวงศ์ (ภรรยาครูครอง จันดาวงศ์) จากข้อเขียน ชีวิตที่เลือกเกิดไม่ได้ ในหนังสือสดุดีนักสู้ลูกอีสาน (เมษายน 2552) – –

“วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2504 ต้นปีฝนค่อนข้างแล้ง เพิ่ม (หลานชาย) มาช่วยทำนา พากันวิดน้ำเตรียมหว่านกล้า ประมาณเที่ยงวันได้ยินเสียงปืนยิงรัวหลายนัด ฉันกำลังหว่านกล้า เก่ง (เมียพงษ์) ตะโกนเรียกแม่บอกว่า เขาเอาพ่อไปฆ่าที่สนามบิน ฉันทิ้งตะกร้าใส่ข้าวลง อยากวิ่งไปแต่ก้าวขาไม่ออก ได้แต่เดินข้ามคันดินออกไปที่สนามบิน

“ไปถึงชายป่าพบยง (หลานชาย) มาจากพังโคน น้ำตาไหลไม่พูดอะไร แต่เอาเงินให้ 400 บาท เดินไปที่ศพนอนเคียงกันอยู่ 2 ศพ มีผ้าห่มผืนละ 12 บาท ปิดหน้าลงมาแค่เข่า มีไม้กางเขนตัดครึ่งวางทับไว้ มีชาวบ้านยืนดูอยู่ห่างๆ ฉันไปเปิดดูศพเห็นริมฝีปากข้างล่างลงมาถึงคางเหวะหวะ ที่ท้องก็มีรอยกระสุนปืน ฉันปิดผ้าแล้วก้มลงกราบศพสามีพร้อมกับสาปแช่ง สาธุเด๊อ ปืนกระบอกใดสังหารผัวผู้ข้าโดยไม่ได้ทำผิดคิดร้ายต่อใคร ก็ขอให้ปืนกระบอกนั้นคืนตอบสนองมันทุกตัวคน นั่งอยู่ครู่หนึ่งก็มีเสียงบอกให้หาโลงมาใส่ศพ จึงเอาเงิน 400 บาทที่หลานชายให้ไว้ให้เพื่อนบ้านช่วยหาซื้อโลง พวกเขาก็กลัว ไปซื้อโลงคนขายก็ไม่อยากขายให้ สุดท้ายได้มาสองโลง เพื่อนบ้านยกศพใส่โลงทั้งครูครอง คุณทองพันธ์ บรรทุกเกวียนไปฝังไว้ที่ป่าช้าวัดป่าศรีสว่างฯ แล้วนิมนต์อาจารย์คำมี มาสวด ฝังเสร็จแล้วพากันกลับ พวกนายรอด นายชู พ่อค้าไทยที่ตลาดสว่างแดนดินแบกจอบกลับมา ตำรวจก็เรียกไปสอบสวน ยง (หลานชาย) ก็โดนสอบสวน…”

ทีนี้มาฟังปากคำที่สะเทือนใจของลูกชายคนที่สองของครูครองในกรณีการจัดการศพ จากข้อเขียน ความหลังรำลึก ในหนังสือ ครอง จันดาวงศ์ ชะตากรรมที่เลือกไม่ได้ (พฤศจิกายน 2538) – –

“…ศพพ่อและอาทองพันธ์ สุทธิมาศนอนอยู่โดยที่พวกมันกลับไปหมด จะจัดการศพอย่างไร คนส่วนใหญ่กลัว ไม่กล้าช่วยเรา ญาติพี่น้องก็มีแต่พี่ยง พี่ยงไปเยี่ยมและร้องไห้ ให้เงินช่วยเหลือส่วนหนึ่ง และสุดท้ายพี่ยงก็ถูกสอบปากคำเป็นเวลานานทีเดียว

“การซื้อหีบศพเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะพวกเจ้าหน้าที่กีดกัน ต้องขอร้องกันเป็นนาน ร้านขายหีบศพจึงยอมขายให้ แต่ให้หีบใบเล็กและสั้น ศพอาทองพันธ์ใส่ง่าย ส่วนศพพ่อใส่อย่างลำบาก เพราะหีบไม่ได้ขนาดตัว ถึงตอนจะขนย้ายศพก็ลำบาก ใครๆ ต่างกลัวไม่อยากช่วย สุดท้ายก็ได้เกวียนของเพื่อนบ้านเข็นไปฝังที่ฝังศพซึ่งอยู่จนทุกวันนี้ เจ้าของเกวียนถูกนำไปสอบสวนและถูกติดตามอยู่ระยะหนึ่ง ใครๆ ต่างไม่กล้าไปงานศพ แต่ก็ยังมีผู้ที่เห็นใจจำนวนหนึ่งไปเยี่ยมเยียนช่วงสั้นๆ แล้วก็กลับ”

ปากคำเหล่านี้ (ถ้าไปสอบถามคนในพื้นที่ที่เคยอยู่ในเหตุการณ์ก็จะได้รับข้อมูลแบบนี้ แต่กว่าที่พวกเขาจะกล้าพูดก็ล่วงเลยมาหลายสิบปี) เอกสารจากทางรัฐและข้อเขียนจากคนของฝ่ายรัฐไม่เคยบันทึกไว้ และทำประหนึ่งว่ามันไม่มีอยู่จริง ที่แย่กว่านั้นคือศพของครูครอง จันดาวงศ์ ทำให้ถูกฝังลืมโดยการทำให้ชื่อของครูครองกลายเป็นชื่อต้องห้าม และให้หายไปจากปากของประชาชนอีสานโดยเฉพาะแถบถิ่นสว่างแดนดินและสกลนครถึง 34 ปี กระทั่งปี 2538 จึงได้มีการขุดหลุมศพนำกระดูกของทั้งสองท่านขึ้นมาทำบุญ

คุณจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม ถึงทุกวันนี้อำนาจมืดของรัฐก็ยังกดทับชื่อครูครองและคนนามสกุล “จันดาวงศ์” อยู่ และยังแผ่เงาทะมึนดำครอบเมืองสว่างแดนดิน กระทั่งอีสานทั้งหมดไม่ให้หือหา กล้าต้านอำนาจรัฐ

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฏบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print