ศิลปะของชนชั้น “ไพร่” ถูกนำมาใช้ในการชุมนุมตั้งแต่ยุคโรมันเรืองอำนาจ ซึ่งเป็นปฏิบัติการที่เป็นขั้วตรงข้ามกับรัฐ ในเมืองไทยเริ่มเห็นศิลปะของชนชั้นไพร่มากขึ้น บทความโดย ดร.ถนอม ชาภักดี

ถนอม ชาภักดี 

ศิลปะสามัญชน คือ กลไกต่อต้านผ่านปฏิบัติการทางศิลปะที่รองรับอารมณ์ความรู้สึกการมีส่วนร่วมของสามัญชน 

นิยามแห่งสามัญชนคนธรรมดาหรือ Plebeians หรือ Plebs ถ้าดูความหมายตามรากศัพท์ภาษาละตินนั้น หมายถึงไพร่ คนชั้นต่ำ ซึ่งเป็นคำที่มีคุณสมบัติและสถานภาพที่ตรงข้ามกับคนชั้นสูง ซึ่งปรากฏหลักฐานมา ตั้งแต่สมัยโรมันเรืองอำนาจที่เรียกผู้คนชนสามัญที่ไม่ได้สังกัดฐานตำแหน่งทางสังคมว่าเป็น Plebeians หรือ ไพร่, คนชั้นต่ำ ที่มีหน้าที่รับใช้เป็นเบี้ยล่างให้คนที่มีตำแหน่งทางสังคมชั้นสูงจึงไม่แปลกที่ผู้คน ธรรมดาทั้งหลายที่จะตะเกียกตะกายทุ่มเทสรรพกำลังทุกสิ่งอย่างเพื่อขยับสถานะของตัวเองไปสู่ฐานะที่สูงกว่าวรรณะที่ดำรงอยู่ 

แต่ถึงกระนั้น Plebs หรือ Plebeians ที่ได้ขยับตำแหน่งตัวเองจากสามัญชนไปเป็น นายพล นายพัน หรือคหบดี มีสายสะพายพาดไหล่ก็ใช่ว่าจะหลุดพ้นจากกำพืดพื้นฐานสันดานเดิมของตัวเองไปได้ เพราะปูมหลังพังผืดที่สืบสายนั้นเป็นสิ่งที่ชำระล้างออกยาก 

นักคิดนักปรัชญาร่วมสมัยเช่น Michel Foucault : The Subject and Power (2001), Jacques Rancière : The Disagreement (1999), Gerald Rauning : Art and Revolution (2007) หรือ Antonio Negri,  Paolo Virno, Boris Groys มักจะชี้ประเด็นในบริบทการต่อสู้ของสามัญชนคนสามัญหรือประชาชนที่ปราศจากอาภรณ์หรือเหรียญทองแห่งอำนาจคลุมกายด้วยตำแหน่งแห่งหนในกลไกของรัฐที่จะสามารถนำมาต่อสู้ได้มีเพียงสิ่งเดียวที่ทำได้ก็คือ การใช้อำนาจอันไร้เดียงสาและทักษะแบบสามัญมาเป็นการต่อรอง นอกนั้นก็แทบจะไม่มีสิ่งใดเลย 

เรือนร่างอันเปลือยเปล่าไร้สิ่งพันธนาการมักจะถูกนำมาเป็นปราการด่านหน้าเพื่อแสดงให้เห็นเนื้อหนังและจิตวิญญาณแห่งความเป็นคนและเป็นเครื่องมือในการวิพากษ์วิจารณ์และการต่อต้าน (Critique and Resistance) อำนาจรัฐที่ทับถมและตราหน้าตีตราว่า เป็นเพียงสามัญชนหรือไพร่ 

ฤาชีวิตไพร่มันไร้ค่า? เครดิตภาพ iLaw

ในฐานะสามัญชน (Plebeians) หรือ Commoners หรือ Common man ดีขึ้นมาหน่อยก็เป็น Demons ในฐานะประชาชน แต่ทว่านามเรียกขานก็ไม่ได้รวมความเป็นประชาชนในฐานะพลเมืองแห่งรัฐที่มีสิทธิ  เสรีภาพอย่างเท่าเทียม ถูกนับว่า เป็นพลังที่สำคัญทางสังคม การเมือง ศิลปวัฒนธรรม 

ในทางตรงกันข้ามสิ่งที่รัฐกระทำต่อประชาชนพลเมืองของรัฐก็ยังปฏิบัติเยี่ยงความเป็น Plebeians เช่นเดิม แม้ว่าผู้คนจำนวนมากปากบอกว่า ฉันไม่ใช่สามัญชนคนธรรมดาแล้วก็ตาม เพราะฉันถูกนับเข้าสู่พื้นที่ของชนชั้นอีก สถานะหนึ่งที่สูงกว่า Plebeians ในฐานะฉันที่เป็นข้าราชการ ฉันเป็นคนของพระราชา กูคือข้าแผ่นดิน กู เป็นตำรวจ พ่อกูเป็นทหาร เป็นต้น แต่สถานะตำแหน่งเหล่านี้ คือ บรรณาการจากรัฐผู้มีอำนาจที่จะประเคนและถอดถอนได้ทุกเมื่อ ในขณะที่สำนึกทางชนชั้นแห่ง Plebeians นั้นไม่มีทางที่จะหลุดลอยออกจากเรือนกายและจิตวิญญาณอันเปียกปอนในการตะเกียกตะกายหนีกำพืดตัวเองได้ 

ในศตวรรษที่ 21 ที่ไกลเกินกว่าจะกล่าวถึงการต่อสู้ของสามัญชนกลุ่มแรกๆ ในสมัยอาณาจักรโรมันที่พวกเขาต้องอพยพและถูกขับไล่ออกจากเขตคามนาครไปสร้างเขตแดนแห่งการขบถของตนเองเพื่อกอบกู้ ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคนหันหน้ามาผจญกับเจ้าอาณาจักรครั้งแล้วครั้งเล่าในวิถีทางแห่งขบถ กลุ่มสามัญชนจึงต้องสร้างรั้วกำแพงอันแข็งแกร่งและทัพสามัญอันเกรียงไกรเพื่อศกัดิ์ศรีแห่งความเป็นคนของตนเอง 

The Exodus of the Plebeians ที่สามัญชนทุกคนเชื่อมันในพลังและจิตวิญญาณแห่งผู้ถูกขับไล่และการผจญภัยที่ไม่มีแต่เจ้าชายผู้ครองนครเท่านั้นที่ทำได้ แต่พลังแห่งสามัญชนผู้ปฏิเสธคำสั่งอำนาจผู้ครองนครก็สามารถสร้าง Common agreement อันเป็นคำสัญญาสามัญที่จะต่อสู้ร่วมกันรับผิดชอบร่วมกันด้วยการสร้างปราการและคูเมืองให้แข็งแกร่งด้วยวิถีแห่งการมีส่วนร่วม ไม่จำเป็นต้องมีผู้นำแต่เพียงผู้เดียวแต่จะเคลื่อนพลังไปพร้อมๆ กัน เสมือนหนึ่งพลังแห่งนามธรรมที่ไร้หัว (หน้า) และตัวตนเพื่อที่จะต่อต้านรูปธรรมกองทัพ (แห่งโรม) ที่เต็มไปด้วยรูปชนชั้น – วรรณะ  

การต่อสู้และต่อต้านของทัพสามัญชนนั้นไม่ได้มีศาสตราวุธที่ทันสมัยแต่ประลองกับกองทัพสมัยใหม่ด้วย แรงกำลัง มีด ผาหน้าไม้ ธนู จะแพ้หรือชนะไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่เหล่าสามัญชนต้องการแสดงให้เห็นชีวิตและจิตวิญญาณของการต่อสู้ในฐานะความเป็นคน มีเลือดเนื้อ มีแผ่นดินที่อาศัย มีครอบครัวที่ต้องดูแลและมีทักษะในการดำรงอยู่แม้แต่ในทางศิลปะวัฒนธรรมของสามัญชนก็ไม่ถูกนับรวมว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ สร้างสรรค์เช่นงานฝีมือหัตถกรรม ข้าวของเครื่องใช้ ลวดลายตกแต่ง ก็จะดูถูกว่า เป็นชาวบ้านไม่มีความสวยงาม วิจิตรตระการตาเหมือนผลงานในโบสถ์วิหารหรือพระราชวัง 

แบบอย่างกลไกการวิจารณ์และการต่อต้านของกลุ่มสามัญชนในสมัยโรมันก็คือ ปฏิบัติการในสิ่งที่เป็นขั้วตรงกันข้ามกับอำนาจของผู้ครองอาณาจักร มีพลวัตในการเคลื่อนไหวเชิงการมีส่วนร่วมในลักษณะเข้าร่วมปฏิบัติการได้ทุกคนเชื่อมั่นการมีส่วนร่วมและปฏิบัติการที่แตกต่างออกไป ปราศจากการชี้นำหรือกุมอำนาจแต่ฝ่ายเดียว

การชุมนุมไล่ล่าทรราช : ความหวังและการต่อสู้ของกลุ่มทะลุฟ้า เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2564 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน

 

สภาวะเหล่านี้ดูเหมือนว่าจะนำไปสู่ชัยชนะของสามัญชนได้อย่างไรนั้น? ต้องบอกไว้ก่อนว่า การต่อสู้ของสามัญชนในสมัยนั้นมีความยืดหยุ่นและทางเลือก (flexibility and alternative) ในแต่ละพื้นที่ โดยเน้นความสำคัญในเรื่องของการเข้าไปมีส่วนร่วมกับผู้คนในแต่ละพื้นที่ให้มากที่สุดและ ปฏิบัติการทางศิลปะก็เฉกเช่นเดียวกัน 

แน่นอนว่า ปฏิบัติการของสามัญชนอาจมีจุดอ่อนในหลายๆ ประเด็น โดยเฉพาะกับรัฐชาติสมัยใหม่ที่มีเครื่องมือกลไกของรัฐแทรกซึมแทบทุกอณูอากาศ 

ในขณะที่สามัญชนนั้นแทบจะไม่มีเครื่องมือกลไกอะไรที่จะไปต่อกรกับอำนาจรัฐสมัยปัจจุบัน แต่ถึงกระนั้นการขับเคลื่อนทางศิลปะวัฒนธรรมก็ยังคงเป็นอาวุธหนึ่งอันทรงพลังที่จะวิพากษ์วิจารณ์และนำมาเป็นเครื่องมือปฏิบัติการได้เพื่อที่จะประกาศให้รัฐเห็นว่า สิทธิเสรีภาพ การแสดงออกของผู้คนชนสามัญนั้นได้อาศัยเรือนร่างและจิตวิญญาณแห่งการต่อรองทางศิลปะวัฒนธรรมเป็นกลไกทางการเมืองในพื้นที่ของการประท้วง การชุมนุมเพื่อนำเสนอให้เห็นถึงการเรียกร้องในสิทธิเสรีภาพ ขั้นพื้นฐานที่กลไกรัฐพยายามแผ่สยายอำนาจปิดล้อมทับถมให้มืดมนหวาดกลัวทั่วอาณาบริเวณแห่งรัฐ 

ปฏิบัติการเคลื่อนไหวทางศิลปะและสุนทรียสามัญชน ( Artistic Activist Movement and Plebeian  Aesthetic ) เป็นแบบอย่างและชั้นเชิงการนำเอากระบวนการสร้าง การผลิตและการปฏิบัติการเชิงศิลปะที่ เกิดจากการมีส่วนร่วม ความสัมพันธ์ของผู้ประท้วง เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตยและความไม่เป็น ธรรมจากกลไกอำนาจรัฐ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ศิลปะ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม โดยการนำเสนอและแสดงออกผ่านการสื่อสารด้วยเทคนิคกลวิธีต่างๆ เช่น Naive Graffiti, Performance, Naked Body,  สาดสี, วลีความ, ข้อความ, การล้อเลียน, เสียดสีและประชดประชัน 

ทั้งนี้นักปฏิบัติการเคลื่อนไหวทางศิลปะสามารถทำได้ทั้งปัจเจกและกลุ่มด้วยการสื่อสาร ทั้ง On site และ Online อันจะก่อทำให้เกิดกระแสการ วิพากษ์วิจารณ์และกระบวนการต่อต้านทางศิลปะอย่างเนื่อง โดยมีความยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์ ทางการเมือง สังคม วัฒนธรรมนั้นๆ 

ปฏิบัติการเคลื่อนไหวทางศิลปะ ( Artistic Activist Movement ) นั้นเป็นการปฏิเสธศิลปะแห่งสถาบัน (Academic art) ฉะนั้นพลังสามัญชนทุกผู้ทุกนามมีความสามารถที่จะสร้างสรรค์รูปแบบเทคนิคกลวิธีนำเสนอและแสดงออกถึงผลแห่งความคับแค้น อุกอั่งจากผลกระทบจากความอยุติธรรม การถูกจำกัดสิทธิ เสรีภาพจากกลไกอำนาจรัฐ สิ่งที่ถูกพลังสามัญชนนำเสนอออกมานั้นมันคือ ปะทุของการรับรู้ทางอารมณ์ ความรู้สึกที่ถูกกดทับจนระเบิดออกมาในรูปแบบการนำเสนอที่หลากหลาย จนเกินกรอบของศิลปะแห่งสถาบัน (Academic art) 

แน่นอนว่า การเคลื่อนไหวทางศิลปะสามัญชน ย่อมเป็นที่กระดากปาก ขัดเขินที่จะถูกเรียกมันว่า ศิลปะจากมุมมองของอภิสิทธิ์ชนในสังคม สิ่งสำคัญที่สามัญชนแสดงออกในนามปฏิบัติการเคลื่อนไหวทางศิลปะ ในแต่ละพื้นที่และบนเวทีการชุมนุมประท้วงแต่ละครั้ง แต่ละช่วงเวลา คือการวิพากษ์วิจารณ์สังคมการเมือง ผ่านกระบวนการปฏิบัติการเคลื่อนไหวทางศิลปะที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากนามเนื้อเชื้อไขของคำว่า ศิลปิน ( Artist) แต่ทุกคนที่อยู่ร่วมในพื้นที่แห่งการเรียกร้อง ชุมนุม ประท้วง แห่งนี้ คือ นักปฏิบัติการทางศิลปะที่ใช้การสร้าง/ผลิตรูปลักษณ์แบบอย่างเชิงศิลปะเพื่อนำเสนอข้อเรียกร้องประท้วง ต่อต้าน/ต่อรอง อำนาจทางการเมือง สังคม วัฒนธรรมกับกลไกของรัฐที่ไม่เป็นธรรม  

ไม่เป็นประชาธิปไตย ดังที่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในพื้นที่การเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตยในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา 


โปรดติดตามตอนที่ 3 : ว่าด้วยท้องถนน สุนทรียสามัญชน ผู้คน และปฏิบัติการทางศิลปะ 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

สุนทรียสามัญชน : การวิจารณ์และการต่อต้านทางศิลปะ (1)

image_pdfimage_print