ครูครอง จันดาวงศ์ กล่าวประโยคสุดท้ายว่า “ขอลาไปตายก่อนเด้อ พิน่องเอ้ย ผู้ได๋ยังอยู่ก็ขอให้สู้ต่อไป เผด็จการนี่มันไปบ่ได้ท่อได๋ด้อก ประชาชนจะต้องชนะในที่สุดอย่างแน่นอน” ก่อนจะเข้าแดนประหารจากคำสั่งตาม ม.17 ของจอมพลสฤษดิ์ ทว่าการตายครั้งนั้นไม่ได้ถูกจดจำในฐานะวีรบุรุษ
วิทยากร โสวัตร เรื่อง
สว่างแดนดินเป็นถิ่นประหาร
ครูเดินตรงเข้าสู่ลาน
สู่หลักประหารด้วยใจที่มั่นคง…
ผมว่า ภาพหนึ่งของครูครอง จันดาวงศ์ ที่ตรึงตราเรามากที่สุด คือ ฉากการเดินเข้าสู่หลักประหาร (ยิงเป้า) เหมือนท่อนแรกของเพลงครูครอง จันดาวงศ์ ของวงสะเลเต ทัพหน้าทางศิลปวัฒนธรรมของอีสานยุคใหม่ (ที่แม้เคยถูกศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์คนหนึ่งที่เคยร่วมเวทีดนตรีเดียวกันปรามาสว่าเป็นวงคอมมิวนิสต์ – ก็ช่างหัวแม่มัน)
ผมอ่านฉากสุดท้ายของครูครอง จันดาวงศ์ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากเอกสารหลายชิ้น ทั้งคำบอกเล่าหรือแม้แต่ความเห็นของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อภาพการเดินเข้าสู่หลักประหารของครูครอง…
“ในเช้าวันที่ 31 พฤษภาคมนั้น เมื่อมีการเบิกตัวออกไปพบจอมพลสฤษดิ์ ทั้งครูครองและคุณทองพันธ์ก็ทราบได้ทันทีว่า ตนจะถูกประหารอย่างแน่นอน ท่านทั้งสองจึงตะโกนลาเพื่อนๆ ที่ถูกคุมขังอยู่ห้องข้างเคียงเป็นภาษาอีสานว่า “ขอลาไปตายก่อนเด้อ พิน่องเอ้ย ผู้ได๋ยังอยู่ก็ขอให้สู้ต่อไป เผด็จการนี่มันไปบ่ได้ท่อได๋ด้อก ประชาชนจะต้องชนะในที่สุดอย่างแน่นอน” เสียงของท่านมีอาการปกติ ไม่แสดงให้เห็นความสะทกสะท้านแต่ประการใด
เมื่อไปถึง จอมพลสฤษดิ์ทำท่าบึ้งตึงพร้อมกับพูดอย่างยโสโอหังกับบุคคลทั้งสองว่า “พวกมึงรู้รึเปล่าว่าการกระทำของพวกมึงเป็นการขายชาติ?”
ครูครองตอบกลับไปว่า “พวกผมไม่เคยรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้ขายชาติ การกล่าวหาพวกผมว่าจะเอาดินแดนอีสานไปขึ้นกับลาวก็ดี หาว่าผมลบหลู่ศาสนาและพระมหากษัตริย์ก็ดี ล้วนแต่ไม่มีมูลความจริงแม้แต่น้อย เป็นการเสกสรรปั้นแต่งขึ้นทั้งสิ้น บุคคล 48 คนที่จับมาและให้การปรักปรำพวกผมนั้น แท้จริงก็คนของพวกตำรวจเอง ไม่ใช่คนของพวกผมแต่อย่างใด การกระทำของพวกผมในอดีต ไม่ว่าจะเป็นตอนเป็นเสรีไทย คัดค้านการยึดครองของญี่ปุ่น ตอนต่อสู้เพื่อสันติภาพคัดค้านการส่งทหารไทยไปร่วมรบในสงครามเกาหลี ตอนคัดค้านการเข้าร่วมกลุ่มสนธิสัญญาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือซีอาโต้ ตอนคัดค้านการมีฐานทัพอเมริกันในประเทศไทยเพื่อรุกรานประเทศเพื่อนบ้าน ล้วนแต่ได้กระทำไปด้วยความรักชาติทั้งสิ้น และได้กระทำไปภายในกรอบของอระบอบประชาธิปไตย ไม่เห็นว่าจะขายชาติตรงไหน ถ้าจะว่าไปแล้ว ฝ่ายท่านต่างหาเป็นฝ่ายขายชาติ เพราะท่านปล่อยให้ทหารอเมริกันเข้ามาเต็มบ้านเต็มเมือง ทำให้ปัญหาโสเภณี ปัญหาเมียเช่าและปัญหาเด็กหัวแดงที่ไม่มีพ่อเกิดขึ้นอย่างเกลื่อนกลาด…”
จอมพลสฤษดิ์โกรธจัดและพูดเชิงข่มขู่ว่า “พวกมึงรู้รึเปล่าว่า กูมี ม.17 ซึ่งพร้อมจะประหารพวกมึงได้ทุกเวลา?”
“ทราบครับ” ครูครองตอบ “แต่อย่างคิดว่า ผมกลัว ม.17 ของท่านนะ ท่านอาจสั่งประหารผมและผู้รักชาติจำนวนหนึ่งได้อย่างตามใจชอบ แต่ท่านไม่อาจประหารผู้รักชาติทั้งหมดทั่วประเทศได้ ท่านฆ่าพวกเขาไม่หมดหรอก ในที่สุดประชาชนจะต้องเป็นฝ่ายชนะพวกอธรรม พวกเผด็จการจะต้องพินาศ ผมขอภาวนาว่าเมื่อวันนั้นมาถึงขอให้ท่านยังอยู่และอย่าได้หนี”
อ่านเพิ่มเติม ‘เขา’ ฆ่าครูครอง จันดาวงศ์ อย่างไร
“จับมันไปประหารเดี๋ยวนี้ ตามแผนที่กูสั่งไว้แล้ว” จอมพลเผด็จการออกคำสั่งเด็ดขาด
(เรียบเรียงจาก…34 ปีแห่งการถูกประหาร, เปลว สัจจาภา, ในหนังสือครอง จันดาวงศ์ ชะตากรรมที่เลือกไม่ได้)
บ่อยครั้งที่เมื่อผมอ่านถึงฉากตอนนี้ก็ไพล่นึกไปถึงฉากสุดท้ายของ เช เกวารา ช่วงเผชิญหน้ากับนายทหารชั้นสูงของรัฐบาลเผด็จการโบลิเวียในอีก 6 ปีต่อมา – –
“…พอเริ่มมืด พวกทหารได้ย้ายเชออกจากบริเวณที่มีการปะทะกัน โดยทหารโบลิเวียสองคนต้องช่วยกันพยุงเชขึ้นเขา คืนนั้น เชถูกจับมัดให้นอนอยู่บนพื้นดินในโรงเรียนที่ฝาผนังทำด้วยดินในลา ฮิเกรา โดยมีศพอีกสองศพนอนอยู่ถัดไป ในขณะที่อีกห้องเป็นที่คุมขังคนที่ช่วยเชหนี
“เวลาประมาณทุ่มครึ่ง ผู้พันเซลิชได้วิทยุถามทางกองบัญชาการว่าจะทำอย่างไรกับเช ทางหน่วยเหนือแจ้งว่าให้ควบคุมตัวไว้จนกว่าจะมีคำสั่งใหม่ จากนั้นนายทหารก็เข้าไปสอบสวนเช ผู้พันเซลิชได้บันทึกไว้ว่า
“คอมมานดันเต (ตำแหน่งหัวหน้าในหน่วยรบของคิวบา) คุณดูเครียดมาก ช่วยบอกหน่อยว่าทำไมคุณถึงเครียด?”
เชตอบว่า “ผมแพ้ ทุกอย่างจบสิ้น และนี่ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้คุณเห็นผมอยู่ในสภาพนี้”
ผู้พันถามว่าทำไมเขาจึงเลือกปฏิบัติการในโบลิเวีย? แต่เชเลี่ยงที่จะตอบคำถาม ด้วยการยกย่องให้ความสำคัญแก่การปกครองแบบสังคมนิยมในละตินอเมริกา ผู้พันเลยตัดบท ต่อมาผู้พันเลยกล่าวหาว่าเชนำกองกำลังต่างชาติเข้ามารุกรานโบลิเวีย เชมองศพเพื่อนที่อยู่ใกล้ๆ แล้วกล่าวว่า
“ผู้พันดูนั่น เด็กๆ พวกนี้มีทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาอยากได้ในคิวบา ถึงขนาดนั้นพวกเขาก็มาตายอย่างหมา”
พอผู้พันถามว่า เชเป็นคนชาติไหน? คิวบาหรืออาร์เจนตินา? เชตอบว่า
“ผมเป็นชาวคิวบา อาร์เจนตินา โบลิเวีย เปรู เอควาดอร์และอื่นๆ…คุณเข้าใจไหม?”
“ทำไมคุณถึงเลือกมาปฏิวัติในประเทศของเรา?”
“คุณไม่เห็นหรือว่าสภาพชาวนาที่นี่เป็นยังไง? คนพวกนี้อยู่อย่างคนป่า สภาพความเป็นอยู่ก็ยากจน น่าเศร้าใจเหลือเกิน มีห้องไว้ห้องเดียวเอาไว้ทั้งนอนและทำอาหาร ไม่มีเสื้อผ้าใส่ ถูกปล่อยปละละเลยอย่างกับสัตว์”
ผู้พันสวนไปว่า “คิวบาก็อยู่ในสภาพเดียวกัน”
“ไม่จริง ผมไม่ปฏิเสธว่าคิวบาไม่มีความยากจน แต่อย่างน้อยชาวนาก็ยังมีความหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้น ไม่เหมือนชาวนาโบลิเวียที่ไม่มีความหวัง ราวกับว่าชีวิตมีแค่เกิดแล้วก็ตาย ไม่มีโอกาสที่จะได้เห็นสภาพชีวิตที่ดีกว่านี้”
บ่ายโมงสิบนาทีของวันที่ 9 ตุลาคม 1967 เวลาในโลกนี้ของนักปฏิวัติผู้ยิ่งยง จบสิ้นลงแล้ว… (เช เกวารากับความตาย, ธเนศ วงศ์ยานนาวา)
เวลาแห่งการตายของวีรบุรุษทั้งสองท่านนี้ ใกล้เคียงกันมาก
ผมอ่านฉากสุดท้ายของครูครอง จันดาวงศ์ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากเอกสารหลายชิ้น ทั้งคำบอกเล่า หรือแม้แต่ความเห็นของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อภาพการ “เดินเข้าสู่หลักประหาร” ของครูครอง…
ในงานรำลึกการจากไปของครูครอง จันดาวงศ์ปีนี้ ผมพาพี่ชายคนเล็กวัยห้าสิบสองไปด้วย นอกจากเขาจะผ่านความเป็นความตายในวงการนักเลงในวัยหนุ่ม เขายังเคยพบเห็นคนใกล้ตายและคนตายมามากมายในช่วงหลังของชีวิตจากการเป็นกลุ่มคนอาสาในงานศพของหมู่บ้าน เขาอ่านเนื้อหาในนิทรรศการในงานอย่างละเอียดและพินิจภาพถ่ายของครูครองในช่วงก่อนเข้าสู่หลักประหารอย่างจริงจัง และเข้าไปพูดคุยกับลุงวิทิต จันดาวงศ์ (ลูกชายคนโตครูครอง) ในช่วงที่วงสะเลเตร้องเพลงครูครอง จันดาวงศ์ จบลง
คำบอกเล่าของพี่ชายน่าสนใจ – – “อ้ายบ่เคยเห็นคนลักษณะนี่ ถั่นแมนคนทัวไป ฮู่วาจะของสิตายปานนี่ มันยืนบอยูดอก ยาวาแตสิญาง สังเกตเบิงเทียบกันเลยกับ ครูทองพันธ์ เพินนั่นญางบาไลตก แต่ครูครองญางอาดๆ วาแมนไปหาเสียง ลาวต้องมีจิตใจหนักแหน่นยิ่งใญขนาดคนแบบเฮากะยังบอเถิง”
ล่าสุดผมได้ดูคลิปการสัมภาษณ์คุณประถม เครือเพ่ง ผู้ที่เคยทำหน้าที่ประหารชีวิตคนในรายการตี 10 ของ วิทวัส สุนทรวิเนตร์ ข้อมูลจากเพชฌฆาตคนนี้น่าสนใจมาก
วิทวัส สุนทรวิเนตร์ – “ปฏิกิริยาของผู้ที่รู้ตัวว่าจะถูกประหารชีวิตในวันนั้นเป็นอย่างไร จากที่เห็นมาเป็นร้อยๆ ศพ”
ประถม เครือเพ่ง – “เหงื่อที่เขาออกจะไม่เหมือนคนทั่วๆ ไป คือเหงื่อจะเม็ดใหญ่ บุหรี่ที่เขาสูบ (ถ้าเขาเป็นคนสูบบุหรี่) เขาจะอัดอย่างเต็มปอดเลย อย่างแรงที่สุด และจะสูบบ่อยที่สุด มวนหนึ่งจะสูบแค่ไม่เกินสามอึดใจ (สภาพบุหรี่จะบี้หมดไปเลยจากแรงสูบ) ถ้าเป็นคนสีเนื้อค่อนข้างดำ จะรู้ทันทีเลยว่าขาวขึ้น คือหมายความว่าเลือดมันไม่ได้ไปวิ่งเต็มที่แล้ว
“ความอ่อนเปลี้ยนี่ ถ้ายังเป็นระยะที่ยังไม่ถึงหลักประหารก็ยังดูแข็งแรงอยู่ แต่ถ้าเข้าใกล้หลักประหารแล้ว ต่อให้ตัวเขาจะแข็งเท่าไรก็แล้วแต่ แต่ร่างกายจะไม่แข็งไปตามตัวแล้ว จะต้องพยุง
“และอีกประการหนึ่ง เราจะสังเกตได้ว่า พวกนี้จะชอบกินน้ำมากที่สุด คล้ายว่าคอเขาแห้ง เพราะเหงื่อเขาออกมาก แต่ตามหลักของเรา ก็อยากให้เขารับทานน้ำมากที่สุด เพราะเวลาถูกกระสุนปืนแล้ว ความดันของน้ำจะทำให้เลือดบางลงไป เลือดจะได้ออกมากจะได้ตายเร็ว ถ้าตายช้ามันจะเป็นการทรมานเขาเกินไป…”
ครูครอง จันดาวงศ์ ไม่เป็นแบบนี้เลย !
ข้อนี้แม้แต่เอกสารจากฝ่ายของทางการก็ยืนยันว่าตลอดเวลาที่ยืนฟังคำสั่งประหาร ครูครองยืนขาถ่าง
มือกางออกจากลำตัวอย่างทรนงไม่มีท่าทีของความตระหนกหรือตื่นเต้นแต่อย่างใด แม้แต่ตอนจับปากกาเซ็นชื่อรับในคำสั่งประหารมือก็ไม่สั่นเลยและไม่มีอาการสะทกสะท้านแต่อย่างใด
สิ่งที่ยืนยันได้ชัดเจนและดีที่สุดถึงจิตใจของวีรบุรุษคือชีพจร ตามรายงานของฝ่ายรัฐบาลระบุการตรวจชีพจรของแพทย์ว่า – – “ก่อนถึงกำหนดเวลาประหาร พันตำรวจตรีประเสริฐ อยู่ประเสริฐ นายแพทย์ของกองบังคับการตำรวจภูธร เขต 4 เข้าไปจับชีพจรของทั้งสองดู ปรากฏว่าชีพจรนายทองพันธ์อ่อนลงไปเล็กน้อย ส่วนของนายครองยังคงเป็นปรกติ ‘ของผมยังดีอยู่ จะยิงก็ยิงเร็วๆ เถอะ’ นายครองกล่าวออกมาด้วยท่าทีที่แสดงความโอหัง”
เมื่อเทียบกับบันทึกของ CIA ถึงช่วงสุดท้ายของเช เกวารา – – “…ในตอนแรกเชคิดว่า อย่างไรเสียตนก็คงไม่ถูกยิงตาย แต่เมื่อรู้ว่าจะต้องตายแน่ ไป๊ป์ที่คาบอยู่ก็หล่นจากปาก แต่เมื่อรู้ตัวก็รีบยืนท่าขึงขังและขอยาเส้นใส่กล้องใหม่ รอยแผลที่ขาของเชใหญ่มาก แต่ดูเหมือนเชจะไม่รู้สึกเจ็บปวดอะไรอีกในตอนนั้น เมื่อรู้ว่าชีวิตของตนกำลังจะสิ้นไป เชก็ปลงตกและยอมรับชะตากรรมอย่างสุขุม โดยไม่ขอร้องอะไรเป็นพิเศษก่อนตาย” (เมื่อเชไปตายที่โบลิเวีย (ซีไอเอ ลับสุดยอด), สุทธิชัย หยุ่น แปล)
มีแต่คนที่เกิดมาเพื่อเป็นวีรบุรุษเท่านั้น ถึงจะมีจิตใจแบบนี้ได้.
และเล่ากันสืบมาว่าก่อนที่กระสุนทั้ง 90 นัดจะพุ่งออกจากกระบอกปืนของผู้ประหาร ท่ามกลางวงล้อมแน่นหนาทั้งสามชั้นของทหารและตำรวจ และต่อสายตายของประชาชนที่มายืนดู ครูครอง จันดาวงศ์ ได้ร้องตะโกนขึ้นว่า
“เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยของประชาชนจงเจริญ”
และเสียงนั้นก็ยังก้องอยู่ กึกก้องอยู่จนถึงวันนี้ แต่กระจายไปในหมู่ผู้คนรุ่นใหม่ที่รักประชาธิปไตยของประชาชนและมันได้กลายเป็นเสียงของยุคสมัย
“เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ”
“ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ”
หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฏบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด