“เสาวนีย์” นักวิชาการ ม.อุบลฯ ชี้ปัญหาในอีสานยังเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียม ชี้หลังรัฐประหาร 7 ปีความเดือดร้อนรอวันประทุ ส่วน “สมบัติ บุญงามอนงค์” แนะคนอีสานผนึกกำลังต้านการกดขี่ ส่วน “อุเชนทร์ เชียงเสน” ชี้ภาคประชาชนตายแล้ว

The Isaan Record ร่วมกับคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จัดเสวนาออนไลน์ “ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองสมัยใหม่ : การปรับกระบวนทัศน์ขบวนประชาชนภาคอีสาน”

ผศ.ดร.เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเล็กซานเดอร์ ม.อุบลราชธานี กล่าวว่า หลังรัฐประหาร 2557 เราเริ่มเห็นคนรุ่นใหม่ เห็นการกลับมาของนักศึกษา แต่ยังไม่ได้ขยายในวงกว้างเพราะว่าการประกบตัวแกนนำหรือกลุ่มบุคคลที่เคลื่อนไหวทางการเมือง การเคลื่อนไหวเชิงมวลชนจึงเห็นได้น้อย แต่เริ่มเห็นว่า นักศึกษาและคนรุ่นใหม่เริ่มมีพื้นที่แล้ว โดยเฉพาะกลุ่มดาวดิน 

“ผ่านมา 6-7 ปี คิดว่า ความรู้สึกของประชาชน ความอัดอั้นตันใจ ความไม่พอใจความเดือดร้อนไม่เคยไปไหน เหมือนรอวันที่จะปรากฏออกมาในรูปแบบไหนแค่นั้นเอง สภาพเวลานี้ที่เราอาจจะรู้สึกว่า มันชะงัก มันรวมตัวกันไม่ได้ คนทะเลาะกัน และไม่ร่วมมือกัน ฝั่งเดียวกันวิพากษ์วิจารณ์กัน หรือฝั่งนั้นก็บีบคอเราสุดฤทธิ์ แต่สิ่งที่ยังคงอยู่ คือ ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ความไม่เป็นธรรมและสิ่งที่คนเสื้อแดงเรียกว่า สองมาตรฐานก็ยังคงอยู่”ผศ.ดร.เสาวนีย์ กล่าว 

เธอกล่าวอีกว่า ในเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก ความต้องการของประชาชนนั้นยังไม่ได้รับการตอบสนอง นับวันจะโดนซ้ำเติมจากปัญหาเศรษฐกิจและโควิด ดังนั้นต่อให้คิดว่า คนกลัว คนไม่ออกมา โดยคิดว่าเดี๋ยวก็มีในรูปแบบอื่น เพียงแค่มันจะเป็นรูปแบบใดเท่านั้นเองและตนยังมีความหวัง

“สิ่งที่เป็นปัญหาหลักของภาคอีสาน คือ ความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำ เราอยู่กับสิ่งเหล่านี้มาย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ 100-200 ปีแล้ว”ผศ.ดร.เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเล็กซานเดอร์ ม.อุบลราชธานี 

อีสานยังเหลื่อมล้ำ ไร้เท่าเทียม 

ผศ.ดร.เสาวนีย์ กล่าวต่ออีกว่า จากการที่ศึกษาการเมืองมา 10 กว่าปี เป็นการเมืองบนท้องถนนของประชาชนธรรมดา ไม่เห็นภาพขององค์กรเอกชนหรือคนที่เป็นนักกิจกรรมแสดงตัวอย่างชัดเจนว่า สนับสนุนการต่อสู้ทางการเมือง จึงอยากถามว่าเอ็นจีโอต้องการอยากจะมาขับเคลื่อนการเมืองหรือไม่หรือไม่อยากยุ่งกับการเมืองหรือมองว่า การเมืองเป็นสิ่งไม่ดีหรือไม่ 

“สิ่งที่เป็นปัญหาหลักของภาคอีสาน คือ ความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำ เราอยู่กับสิ่งเหล่านี้มาย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ 100-200 ปีก็เรื่องนี้ แล้วทำไมเราจะไม่เห็นอกเห็นใจคนอื่นในการต่อสู้ กลับมามองตัวเราเองในฐานะปัจเจก ทำอย่างไรให้เสียงของทุกคนในสังคมเท่าเทียม เราสู้เพื่อหลักการ ไม่ได้สู้เพื่อว่านี่คือเพื่อน มิตรสหาย หรือคนดี และเราไม่ได้ต่อสู้กับคนชั่ว ถ้าเคยคิดแบบนั้นก็ทบทวนจุดยืน และต้องทำงานกับคนที่เราไม่ชอบได้ นี่คือ การต่อสู้เพื่อหลักการเดียวกัน เราหาแนวร่วม แต่อาจไม่ต้องหาเพื่อนก็ได้”ผศ.ดร.เสาวนีย์ กล่าว 

เอ็นจีโอยังไม่เชื่อมต่อกับประชาชน 

สมบัติ บุญงามอนงค์ มูลนิธิกระจกเงาและผู้ริเริ่มจัดกิจกรรมคาร์ม็อบ กล่าวว่า อยากจะพูดในเรื่องการเมืองกับบทบาทเอ็นจีโอที่มันสอดคล้องกัน คิดว่า การที่เรามาเป็นเอ็นจีโอหรือมาเคลื่อนไหวทางการเมืองมันอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน คือสำนึกพลเมือง ก่อนสถานการณ์ทางการเมืองมันจะคุกรุ่นกันมา 15 ปี เราก็ทำงานเอ็นจีโอในฐานะหรือสำนึกที่เรารู้สึกว่า ประเทศนี้เป็นของประชาชน 

เขากล่าวอีกว่า ได้เห็นปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นและอยากเอาตัวเองไปผูกเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการปัญหา ทั้งนี้การขับเคลื่อนสังคมเป็นการเคลื่อนไหวแบบพลวัตร ไม่มีจบ เป็นการทำจนเราส่งไม้ต่อได้ หรือลดบทบาทไปทำอย่างอื่น ซึ่งตัวเราเป็นตัวละครในสายธารวิวัฒนาการทางสังคมที่ประชาชนมีสำนึกพลเมือง 

“ผมอยากเห็นบทบาทขององค์กรพัฒนาเอกชนไทยจับประเด็นขององค์กรและสามารถมีเครื่องมือในการขับเคลื่อนออกไปได้ เมื่อก่อนอาจจะมีข้อจำกัดของการสื่อสาร ทำให้การทำงานของเอ็นจีโอ เวลามองเป้าหมายเราเห็นแค่ชาวบ้านที่ทำงานร่วมเท่านั้น แต่ไม่สามารถเชื่อมประเด็นชาวบ้านที่กำลังขับเคลื่อนอยู่นั้นไปสื่อสารต่อสาธารณะได้”สมบัติ กล่าว 

“คนอีสานต้องรวมกลุ่มกันให้ได้ เพราะคนอีสานเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศที่ตั้งรัฐบาล แต่ถูกกดถูกเหยียบและด้อยค่ามาโดยตลอด”สมบัติ บุญงามอนงค์ มูลนิธิกระจกเงา 

แนะคนอีสานรวมกลุ่มอย่าให้เขากดเหยียบ

ผู้ริเริ่มจัดกิจกรรมคาร์ม็อบ กล่าวว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผู้คนในแวดวงเอ็นจีโอได้แสดงบทบาททางการเมืองในยุคพันธมิตรฯ ไปเยอะมาก แต่ความผิดพลาดนี้จะมาบอกว่า เอ็นจีโอไม่สนใจการเมืองไม่ได้ ฟังแล้วก็รู้สึกแปลกมาก เพราะในรุ่นตนถึงขนาดคุยว่า จะตั้งพรรคการเมืองด้วยซ้ำไป 

“ตั้งแต่ช่วงรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา ผมคิดว่า บทบาท กป.พอช.อีสานชัดมาก ในหมู่พวกเราที่เป็นเอ็นจีโอคิดว่า เป็นขบวนการก้าวหน้าที่ยังหลงเหลืออยู่ แต่มันต้องมีขบวนการแทนที่คุณจะเรียกตัวเองว่า กป.พอช.อีสาน แต่ควรจะตั้งชื่อองค์กรว่า ลูกอีสาน ซึ่งเข้าใจง่ายกว่า ต้องรวมกลุ่มแบบนี้ให้ได้ เพราะคนอีสานเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศที่ตั้งรัฐบาล แต่ถูกกดถูกเหยียบและด้อยค่ามาโดยตลอด”สมบัติ กล่าว 

การเมืองภาคประชาชนตายแล้ว 

อุเชนทร์ เชียงเสน อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตร์ สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า มองการเคลื่อนไหวภายใต้เงื่อนไขช่วงประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ทางการเมืองหรือการแข่งขันทางการเมืองในช่วงหลัง 14 ต.ค. 2516 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการเมืองภาคประชาชนมันตายไปแล้ว 

“ข้อเรียกร้องตอนนี้ให้คือปฏิรูปสถาบันฯ เรียกร้องรัฐสวัสดิการ ความเท่าเทียมทางเพศ คิดว่าข้อเรียกร้องเหล่านี้อยู่ในกรอบของการปฏิรูป”  อุเชนทร์ เชียงเสน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ปฏิรูปภายใต้ระบอบศักดินาใหม่

อุเชนทร์ กล่าวว่า หลังรัฐประหารปี 2549 เป็นขั้นตอนใหม่ทางการเมือง คือ ระบอบสมบูรณายาสิทธิราชย์หรือศักดินาใหม่หรือรัฐพันลึก ช่วงคนที่เจอประสบการณ์ช่วงนี้ก็คือ นักเรียน นักศึกษาที่อายุ 20-30 กว่าปี คนที่มีบทบาทสำคัญและเป็นคู่ต่อสู้ของฝ่ายค้านก็จะมีทหารและราชสำนัก 

เขากล่าวอีกว่า มีงานวิชาการที่อธิบายเรื่องพวกนี้ว่า เป็นเครือข่ายในหลวง Network Monarchy หรือ Deep State ที่มีกลุ่มก้อนของคนต่างๆ ที่พยายามต่อต้านประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง ต่อต้านการเมืองแบบรัฐสภา ผู้แสดงก็อย่างที่เราเห็นที่สำคัญก็เป็นคณะราษฎรที่อธิบายตัวเองว่า เป็นผู้สืบทอดเจตนารมณ์ของคณะราษฎรที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 ประกอบด้วย นักเรียน นักศึกษา และเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่มีข้อเรียกร้องต่างไปจากการเมืองภาคประชาชนมาก คือ เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างชัดเจน และยังเรียกร้องรัฐสวัสดิการ ความเท่าเทียมทางเพศ การเมืองอัตลักษณ์ เป็นหลายเรื่องที่เราไม่คุ้นเคยที่อยู่ในข้อเรียกร้องนั้นทำให้ขบวนการนี้ดูหลากหลายและเด่น คิดว่าข้อเรียกร้องของพวกเขาอยู่ในกรอบของการปฏิรูป  

“สถานการณ์ตอนนี้ตรงข้ามกับการเมืองภาคประชาชนเมื่อก่อน เรากำลังต่อสู้กันเรื่องประชาธิปไตยแบบตัวแทนและเรียกร้องสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สุด ผมคิดว่า เป็นความท้าทายไม่ใช่เฉพาะเอ็นจีโออีสาน หรือเอ็นจีโอทั่วไป ทั้งคนรุ่นผมและรุ่นเก่าจะเอาอย่างไรกับสถานการณ์แบบนี้ ตอนนี้ขบวนการเคลื่อนไหว มีทั้งคนรุ่นผม คนเสื้อแดง หรือคนกลุ่มอื่นๆ แต่เราต้องให้ความสำคัญว่า ขบวนการนี้มันนำโดยคนรุ่นใหม่”อดีตนักกิจกรรมนักศึกษา กล่าว 

image_pdfimage_print