“ช้างเหยียบนา พระยาเหยียบเมือง” น่าจะเปรียบได้ดีกับบรรยากาศที่ “ประยุทธ์” ลงพื้นที่ประสบภัย จ.อุบลฯ นอกจากต้องปิดถนนกันคนเห็นต่างเข้าพบแล้วยังส่งคนประกบ นักกิจกรรมอีกนับไม่ถ้วน นักวิชาการ อ.ธีระพล อันมัย ก็รวมอยู่ในบัญชีนั้นด้วย

ธีร์ อันมัย เรื่อง

การเดินทางมาจังหวัดอุบลราชธานีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา นอกจากการสร้างภาพชาวบ้านแถวอำเภอโขงเจียมที่ส่วนใหญ่ใส่เสื้องเหลืองถือป้ายฟิวเจอร์บอร์ดพร้อมข้อความ “ลุงตู่สู้ๆ” “รักลุงตู่” “ลุงตู่อยู่ต่อ” แล้ว มันได้สร้างความอลหม่านกับชาวบ้านชาวเมืองแถววารินชำราบ

ความอลหม่านแรก คือ การให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบไปประกบติดนักกิจกรรมทางการเมืองในพื้นที่ตลอดหนึ่งสัปดาห์ก่อนพลเอกประยุทธ์จะมาถึง

แกนนำคณะอุบลปลดแอกอย่างน้อย 3 คน แกนนำกลุ่มเสรีชนอุบลราชธานีถูกตำรวจในพื้นที่ไปนั่งคุย ไปนั่งเจรจา นัดกินกาแฟถึงบ้าน ถึงที่ทำงานแทบทุกวันจนไม่เป็นอันทำมาหากิน

และในเช้าวันที่พลเอกประยุทธ์ไปถึงนั้น นักวิชาการมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 2 คน ที่ถูกฝ่ายความมั่นคงระบุว่า มีแนวคิดปฏิรูปสถาบันก็ถูกตำรวจในท้องที่ไปจอดรถเฝ้าบ้าน ทั้งถ่ายรูปบ้าน ถ่ายรูปรถและขอถ่ายรูปเซลฟี่ เพื่อส่งรายงานไปยังหน่วยเหนือ

นอกจากรายงานผ่านไลน์และโทรศัพท์จากเคหสถานของเป้าหมายแบบเรียลไทม์แล้ว ตำรวจท้องที่ยังขับรถติดตามนักกิจกรรม นักวิชาการไปทุกแห่งในวันที่ 15 ตุลาคมนั้น คือ ถ้าหากวันนั้นไม่ออกจากบ้านก็จะมีรถยนต์ที่ไม่มีป้ายทะเบียนท้ายจอดดักรออยู่หน้าบ้านและมีรถปิ๊กอัพ เชฟโรเลตสีดำไม่มีป้ายทะเบียนขับวนอยู่หลายๆ รอบ เป็นอันรู้กันว่า นั่นคือ รถของฝ่ายความมั่นคงทหารซึ่งมักจะขับวนอยู่แถวมหาวิทยาลัยอุบลราชธานียามมีกิจกรรมทางการเมืองหรือมีกิจกรรมว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

ตำรวจควบคุมฝูงชนและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองปิดถนนใน จ.อุบลราชธานี ขณะนายกฯ ลงพื้นที่ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2564 เครดิตภาพ Win The photo

อลหม่านที่สอง คือ ตำรวจถูกระดมมาจาก 30 กว่าโรงพักในพื้นที่เพื่ออารักขานายกรัฐมนตรี แหล่งข่าววงในบอกว่า การมาของประยุทธ์สร้างความเดือดร้อนให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจมากกว่าการรับเสด็จ

อลหม่านที่สาม คือ คนวารินชำราบ คนที่จะเดินทางผ่านวารินชำราบจึงเดินทางไปไหนมาไหนลำบาก เพราะพื้นที่รอบศาลาประชาวาริน เทศบาลเมืองวารินชำราบที่พลเอกประยุทธ์ใช้แจกถุงยังชีพให้กับชาวบ้านที่ประสบอุทกภัยนั้นถูกปิดทุกแยกในรัศมี 500 เมตร

ถามว่า ปิดถนนทำไมขนาดนั้น กลัวอะไรขนาดนั้น?

แหล่งข่าววงในอีกคนเล่าให้ฟังว่า พลเอกประยุทธ์กลัวมวลชนที่จะมาประท้วง กลัวจะเป็นเหมือนชัยภูมิ เหมือนนนทบุรี หรือเหมือนที่ขอนแก่น ขณะเดียวกันวารินชำราบเป็นพื้นที่ค่ายทหารอยู่แล้ว การที่นายกรัฐมนตรีที่เป็นนายของพวกเขาโดยตรงลงมาพื้นที่ จึงจำเป็นจะต้องอารักขาอย่างเข้มงวดกวดขัน โดยทหารไม่ต้องลงมือเอง แต่กดดันให้ตำรวจทำโดยมีทหารคอยสั่งการและควบคุมอีกที

“ถ้าจะมีการปะทะกับมวลชนก็กลายเป็นว่าตำรวจนั่นล่ะที่จะต้องเป็นฝ่ายปะทะเอง ส่วนทหารมีแต่ได้กับได้ นายกรัฐมนตรีคนอื่นไม่เห็นเป็นแบบนี้เลย กลัวขนาดนี้จะมาเป็นทำไม”

สำหรับผมเองแล้ว นี่เป็นครั้งที่ 2 ที่มีตำรวจนอกเครื่องแบบมาหาที่บ้าน และทั้ง 2 ครั้ง ก็เป็นเพราะพลเอกประยุทธ์ลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ครั้งแรกเป็นการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรในเดือนกรกฎาคม 2561 ตอนนั้นนอกจากจะมีรองเสนาธิการทหารไปนัดคุยที่มหาวิทยาลัยแล้ว ในวันต่อมายังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ 4 นายไปหาที่บ้านในตอนค่ำเพื่อสอบถามว่าจะมีความเคลื่อนไหวอะไรหรือไม่ในตอนนั้นแล้วก็ขอถ่ายรูปเพื่อทำรายงาน

ผู้ร่วมชุมนุมเจรจาขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีขณะลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี แต่เจ้าหน้าที่กีดกัน เครดิตภาพ Win The photo

แต่การมาติดตามผมในครั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งกับผมว่า เขาถูกสั่งให้ประกบตัว (Casing) คือ เขาจะต้องรายงานความเคลื่อนไหวของผมตลอดเพื่อให้ฝ่ายความมั่นคงทหารรับรู้โดยตลอด แม้ว่าผมจะติดภาระด่วนจนไม่สามารถไปร่วมขบวนคาร์ม็อบกับคณะอุบลปลดแอกได้ตามเวลานัดหมายก็ตาม เขาก็จะขับรถวานอยู่แถวหมู่บ้านและสุดท้ายมาจอดรถรออยู่หน้าบ้าน

เมื่อผมเสร็จธุระสำคัญแล้ว ผมจึงปั่นจักรยานออกจากบ้านเพื่อไปสมทบกับมวลชนที่วารินชำราบ ซึ่งตอนนั้นถนนที่จะไปทุ่งคำน้ำแซบ หรือศาลาประชาวารินถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแผงกั้น บล็อกเส้นทางไว้หมดแล้ว ผมจึงปั่นจักรยานไปอีกทางหนึ่งโดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบคนเดิมขับรถตามมาและถ่ายรูปผมตลอด

เมื่อวนมาถึงแยกประปาทางทิศใต้ของสถานีรถไฟอุบลราชธานี ตำรวจตั้งแผงกั้นทางเข้า-ออก ผมจอดถ่ายรูป ขณะที่นายตำรวจคนดังกล่าวก็ขับรถมาจอดคุยกับผมและขอถ่ายรูปรายงานว่าเรามาถึงตรงนี้กันแล้วและระหว่างนั้นก็มีเสียงโทรศัพท์เข้ามาหาเขา เขาคุยโทรศัพท์ว่าอยู่กับผมที่แยกประปานี่แหละ เขาวางสายแล้วบอกขอถ่ายรูปส่งไปให้คนที่โทรหา ถ่ายรูปเสร็จโทรศัพท์ก็ดังขึ้นอีก เขาคุยครับท่าน ครับท่าน ผมเลยตะโกนแทรกการคุยว่า “กลัวอะไรนักหนา ทหาร นี่ประชาชน” แล้วเขาก็วางสาย นายตำรวจบอกลากับผมว่าเขาได้ทำภารกิจเสร็จสิ้นแล้ว

ผมปั่นจักรยานลอดสะพานรถไฟตัดเข้าชุมชนลับแล (ทิศเหนือของสถานีรถไฟอุบลราชธานี) ไปสมทบกับคณะอุบลปลดแอกที่ถนนสถิตย์นิมานการ มีตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ตรึงกำลังขวางถนนไว้แต่ปล่อยให้ผู้ชุมนุมเดินเข้านอกออกในได้แต่รถผ่านไม่ได้

เราเดินจากตรงนั้นมาถึงแยกดับเพลิงเทศบาลเมืองวารินชำราบซึ่งห่างจากที่พลเอกประยุทธ์แจกถุงยังชีพประมาณ 300 เมตร แต่มี คฝ.ปิดถนนไว้ จากนั้นก็ระดม คฝ.มาปิดถนนจนเต็ม ตำรวจประกาศเงื่อนไขการชุมนุม ข้อกฎหมาย ไม่มีการปะทะ ประชาชนที่มาส่วนใหญ่เป็นเยาวชน ผู้หญิง บางคนมีธงสีแดง บางคนมีป้ายประท้วง บางคนใส่เสื้อที่มีสัญลักษณ์แห่งการต่อต้านรัฐบาลประยุทธ์

สี่โมงกว่า ผู้คนที่มารับของแจกทยอยออกมาจากศาลาประชาวาริน ตำรวจค่อยๆ เปิดถนนให้รถยนต์ได้ผ่าน นั่นแสดงว่าประยุทธ์กลับไปแล้ว จากนั้นวารินชำราบก็เข้าสู่โหมดปกติ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ในห้วงยามห่าตำปอด หรือ โควิด-19 เช่นนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการวัคซีนที่ดี ไม่ใช่วัคซีนที่รัฐบาลตะบี้ตะบันสั่งจากจีน ประชาชนต้องการรัฐบาลที่สามารถบริหารเศรษฐกิจให้ประชาชนสามารถทำมาหากินได้ตามปกติ ไม่ใช่มาเข้าคิวรอรับถุงยังชีพเยี่ยงขอทานเพื่อบารมีใคร

ก็อย่างว่าล่ะ เรามีพวกชอบใช้กำลังและมีปืนปกครอง ส่วนสมองเรื่องการบริหารนั้น กว่า 7 ปีที่ผ่านมามันก็บอกถึงระดับความสามารถและมันสมองของทหารประเทศนี้ได้ดีที่สุดแล้วว่าเป็นอย่างไร

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฏบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print