การต้องถูกคุมขังด้วยข้อหา “กบฏแยกดินแดนอีสาน” อันเป็นข้อหาเดียวกับ “ครอง จันดาวงศ์” ทำให้ “วิทิต จันดาวงศ์” และแม่ต้องถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาเดียวกัน แต่ชะตากรรมก็ทำให้เขาได้ประสบพบเจอคนสำคัญๆ ที่เป็นนักโทษทางการเมือง อย่าง ไขแสง สุกใส และอีกหลายคน ซึ่งเป็นผู้เปลี่ยนแปลงหน้าฉากประวัติศาสตร์การเมืองไทย
วิทิต จันดาวงศ์ เรื่อง
หลังจากการประหารชีวิตครูครองแล้ว ครอบครัวเราต้องเดินอยู่บนเส้นทางวิบากกรรม ชีวิตสมาชิกในครอบครัว “จันดาวงศ์” จำนวน 4 ชีวิตต้องเผชิญชะตากรรมต่างกรรมต่างวาระกัน น้องชายต้องเตลิดหนีเอาตัวรอด หลังจากที่รู้ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจับผมที่เป็นพี่ชายไปรวมกับพวกชาวบ้านที่หลบซ่อนอยู่แถวป่าคำปลาฝาประมาณ 40-50 คน แล้วหนีข้ามประเทศลาวไปตายเอาดาบหน้า เหลือรับวิบากกรรมที่บ้านเพียง 2 ชีวิต คือ แม่และน้องสาว ซึ่งกำลังเรียนอยู่ ม.8 ที่โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล ส่วนผมถูกขังต่อไปโดยไม่รู้ชะตากรรม
จากการกระทำที่คุกคามคนในครอบครัวที่เหลือเพียง 2 คน ทำให้ “ควรครอง” น้องสาวคนเดียวที่อยู่กับแม่ จำเป็นต้องหนีไป
ตายเอาดาบหน้าอีกคนเมื่อต้นปี 2505 ในที่สุดแม่ผู้เผชิญชะตากรรมที่บ้านคนเดียวก็ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมในข้อหาเดียวกันเมื่อต้นปีใหม่ 2506 นั่นเอง ทำให้เหลือเพียงภรรยาคุณภักดีกับลูกน้อย 2 คนที่ต้องเผชิญชะตากรรมตามลำพัง
ผมถูกขังอยู่ที่ตึกบังคับการสันติบาล หลังจากประหารพ่อประมาณหนึ่งสัปดาห์ ตอนเช้าวันหนึ่งผมเห็นพลตำรวจโทเกษียน ศรุตานนต์ เดินตรวจห้องขัง มาหยุดที่ห้องขังผม แล้วเกาะลูกกรงจ้องมองผมด้วยความสนใจ เมื่อถูกจ้องมอง ผมไม่รู้จะทำอย่างไรก็เลยยกมือไหว้ท่านเพื่อเป็นการแก้เขิน
ท่านเลยถามขึ้นว่า “ถูกขังข้อหาอะไร”
ผมตอบว่า “กบฏแยกดินแดนอีสานครับ” ผมตอบตามข้อกล่าวหาที่ได้ยินเมื่อวันที่เขาประกาศประหารพ่อ
ท่านพูดสวนค่อนข้างดุๆ ว่า “จะแยกทำไม แยกเอาไปไหน”
ผมก็ตอบทันทีเหมือนกันว่า “ไม่ได้แยกครับและก็ไม่เคยคิดจะแยก มันเป็นข้อกล่าวหาที่ผมไม่รู้เรื่อง”
“งั้นเหรอ” ท่านพูดแล้วก็เดินจากไป
พรรคพวกผู้ต้องขังรีบเข้ามาถามด้วยความสนใจ ผมก็เล่าให้พวกเขาฟังตามนั้น ประมาณอีก 3 – 4 วันต่อมา ขณะผมกำลังก้มเขียนจดหมายหาแม่ พลตำรวจโทเกษียนมายืนจ้องที่หน้าห้องขังเมื่อไหร่ไม่ทราบ ได้ยินแต่เสียงถามดังๆ ตามแบบของท่านว่า
“เขียนอะไร”
ผมหันมามองท่านและก็ตอบทันทีว่า“เขียนคำร้องถึงท่านครับ”
ท่านถามต่อว่า“ร้องเรื่องอะไร”
“เรื่องอยากขอความกรุณาท่านอนุญาตเปิดประตูห้องซอยเพื่อให้ผมได้ออกไปเดินนอกห้องบ้าง ขังซอยจำกัดแบบนี้ไม่นานคงเป็นง่อยแน่ อีกอย่างอาหารการกินก็น้อย ไม่พออิ่ม พวกผมฐานะยากจนเงินทองไม่มีแม้แต่จะซื้ออาหารการกินเพิ่มเติม”ผมตอบเสียยืดยาว
ท่านพูดน่าจะแบบติดตลกและเสียงค่อนข้างดังว่า “อ้าว แล้วเงินที่ต่างประเทศสนับสนุนเอาไปไว้ไหนล่ะ”
“ไม่เคยมีเลยครับ หากได้รับการสนับสนุนจริงพวกผมจะลำบากขนาดนี้หรือครับ” ผมตอบด้วยความมั่นใจ
ท่านพูดต่อว่า“เอ๊า เดี๋ยวพบกัน” แล้วท่านก็เดินไปที่ห้องทำงานของท่าน
จากนั้นไม่ถึง 5 นาที ผมเห็นผู้กำกับสันติบาลกอง 4 เดินไปที่ห้องท่านอย่างเร่งรีบ สักพักผู้กำกับสิบเวรมาเรียกผมกับคุณภักดีให้แต่งตัวไปพบท่านผู้ช่วยฯ
เมื่อพวกผมเข้าไปในห้อง ท่านบอกให้นั่ง แล้วส่งบุหรี่สิงห์หมอบมาให้สูบ แล้วท่านก็พูดว่า“ระหว่างผมกับคุณและคุณพ่อคุณ เราไม่มีอะไรกันนะ ผมเพียงทำตามหน้าที่ ผมรู้ว่าพ่อคุณผิดหรือไม่ผิด แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้ ระหว่างเราไม่มีอะไรกันนะ ถ้าต้องการให้ช่วยเหลือเป็นการส่วนตัวก็บอกเจ้าหน้าที่เขามา ผมยินดีและเห็นใจ”
ท่านพูดพลางหยิบเงินในกระเป๋ามาให้พวกเราคนละ 200 บาท แล้วก็ให้เอาบุหรี่สิงห์หมอบกระป๋องนั้นไปสูบด้วย พร้อมกับกำชับว่า “อย่าเผาห้องขังเสียล่ะ”
“ถ้าเผาพวกผมก็ตายซิครับ” ผมตอบพร้อมกับหยิบบุหรี่กระป๋องนั้นไปด้วย
ระหว่างถูกกล่าวหาแบ่งแยกดินแดน วิทิต จันดาวงศ์ ได้เจอบุคคลสำคัญอย่าง ไขแสง สุกใส นักการเมืองชาวอุบลราชธานี
หลังจากวันนั้นเจ้าหน้าที่ก็ผ่อนคลายการควบคุมผมลงบ้าง ด้วยการเปิดประตูห้องซอยออกมาเดินหน้าห้อง ตั้งแต่กลางคืนถึงเข้าห้องซอยก็ทำให้คลายเครียดลงในระดับหนึ่ง
ต่อมาเมื่อปลายปี 2504 ประมาณเดือนใดจำไม่ได้ พวกเราผู้ต้องขังร่วมกันทำหนังสือขอย้ายที่คุมขัง เหตุผลเนื่องจากกำลังมีการก่อสร้างห้องขังเพิ่มเติม พวกเราต้องทนต่อเสียงเครื่องจักรตอกเสาเข็มดังก้องเข้าไปในห้องทรมานแทบจะบ้า
หลังจากยื่นคำร้องไปประมาณ 2 สัปดาห์ ทางสันติบาลได้สั่งย้ายที่คุมขังไปขังไว้ที่ใต้ถุนที่ทำการกองปราบปทุมวันเก่า ซึ่งถือว่าดีกว่าที่เดิมมากเพราะมีโอกาสเห็นผู้คนเดินไปมาบนซอยหน้าห้องพักครอบครัวตำรวจและมีโอกาสได้พูดคุยกับคนในครอบครัวตำรวจ เช่น ลูกเมียพวกเขา ได้บริการสำหรับการต่อน้ำประปาจากห้องขังไปให้ครอบครัวตำรวจที่รับจ้างซักผ้า เพราะที่ห้องพวกเขาน้ำไม่ไหลและไหลไม่พอ ทางครอบครัวตำรวจเหล่านี้เขาก็ให้ความเป็นกันเองกับพวกเรา บางครั้งเขาก็ส่งอาหารการกินเพื่อเป็นการตอบแทนการบริการพวกเราบ้าง
มีเรื่องที่น่าขบขันอยู่เรื่องหนึ่ง ลูกๆ ตำรวจอายุก็ประมาณเด็กประถมที่มักจะมาคุยเล่นกับพวกเรา เขาถามพวกเราว่า “น้าๆ พวกน้าโดนข้อหาอะไร”
เส้นทางชีวิต วิทิต จันดาวงศ์(1) : ครอบครัว‘จันดาวงศ์’รื่นรมย์และขมขื่น
พวกเราเลยตอบไปตามตรงว่า “ข้อหาคอมมิวนิสต์” ไม่น่าเชื่อที่ได้ยินคำพูดสวนทันทีของเด็กว่า “หนูไม่เชื่อ พวกน้ามีแต่คนดีๆทั้งนั้นจะเป็นคอมมิวนิสต์ได้อย่างไร ไม่เหมือน คอมมิวนิสต์ในโฆษณาที่เขี้ยวโตๆ เหมือนยักษ์เลย” ทำให้พวกเราต้องอธิบายให้เขาฟังเสียยืดยาว
ต้องยอมรับว่าครอบครัวตำรวจแถวนั้นมีน้ำใจกับพวกเราที่เป็นผู้ต้องหามาก ไม่เพียงเท่านั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุม (สันติบาล) ทุกคนนับแต่สิบเวร ยาม ท่าทีดีมาก ไม่มีท่าทีที่ดูถูกเหยียดหยาม แต่ให้เกียรติผู้ต้องหาทางการเมืองเหมือนกันทุกคน ผิดกับตำรวจภูธร ตชด.ยังกับหน้ามือเป็นหลังมือ
เมื่อผมถูกย้ายมาอยู่ที่กองปราบปทุมวัน คนแรกที่ได้รู้จัก คือ นายคำนึง พรมสาขา ณ สกลนคร ปลัดอำเภอนาแก ถูกจับมาจากอำเภอนาแกในฐานะเป็นลูกน้องครูครอง พวกเราก็เลยรวมเป็นกลุ่มเดียวกัน มีผม คุณภักดี (น้าชาย) ลุงบุญมาและปลัดคำนึง โดยได้รับการดูแลจากคุณนิพนธ์ ชัยชาญ
นอกจากนี้ยังได้พบปะรู้จักกับกลุ่มคดีกบฏแยกดินแดนภาคใต้ อย่าง คุณอามีน โต๊ะมีนาลูกชายหะยีสุหรงและอดีต ส.ส.ปัตตานี คุณวิลัย เบญจลักษณ์ อดีต ส.ส.สตูล กำนันดอเลาะ และอีก 2 – 3 คน จำชื่อไม่ได้ คุณบุญรอด จำนามสกุลไม่ได้เป็นพนักงานโรงงานยาสูบ ถูกจับหาว่า เป็นสมุนนายครอง
เมื่อผมเจอคุณบุญรอดเขาไม่เคยอยู่ใกล้และพูดคุยกับผมเลย อาจจะเพราะกลัวหรืออะไรไม่ทราบ อีกคน คือ คุณลุงฟอง สิทธิธรรม อดีต ส.ส.อุบลราชธานี นอกจากนี้ก็ยังมีฝรั่งรัสเซียขาวมีภรรยาเป็นชาวญี่ปุ่นขังอยู่ที่นั่นด้วย ฝรั่งคนนี้เขาจะเรียกผมว่า Small Krong (ครองน้อย)
ระหว่างอยู่ที่คุมขังนี้มีโอกาสได้พบคุณไขแสง สุกใส เป็นครั้งแรก (ก่อนหน้านั้นไม่เคยรู้จักได้ยินแต่ชื่อ) เขาไปโรงพยาบาลแล้วเลยมาเยี่ยมพรรคพวกที่ขังอยู่ที่นั่น เมื่อเขารู้ว่า ลูกชายครูครองขังอยู่ที่นั่นก็เลยมาเยี่ยมและจำได้ว่า คุณไขแสงให้เงินผม 200 บาท ตอนนั้นก็เรียกว่า มากโขแล้วสำหรับผมและได้พบคุณชาญและคุณสมิง (หรืออุดม) ศรีสวัสดิ์ สองพี่น้องที่ถูกจับมาจากภาคเหนือ
การดำเนินชีวิตระหว่างที่คุมขังที่นี่เมื่อปี 2505 ผมสอนภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ม.ต้นให้กำนันดอเลาะ ได้ค่ากาแฟและบุหรี่เกล็ดทองครั้งละ 5 มวน (ราคา 1 บาท) พอถึงหน้าเดือนบวชก็ได้กับข้าวที่พวกเขาเหลือทานมาทานบ้างและเขาก็ให้ความช่วยเหลือบ้างตามความจำเป็น
ส่วนทางด้านลุงฟอง สิทธิธรรม ท่านแปลหนังสือปรัชญาพุทธศาสนาจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย แล้วให้ผมไปลอกลงในกระดาษฟูตสแก๊ปทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ท่านให้ค่าแรงผมอาทิตย์ละ 10 บาท ซึ่งผมก็ไม่เคยเรียกร้องค่าแรงเหล่านี้เลยจากทั้ง 2 ท่าน แต่เข้าใจว่าท่านคงสงสารมากกว่า
การลอกคำแปลพุทธศาสนาให้ลุงฟองทำให้ผมได้พื้นฐานทางพุทธบ้าง เพราะไม่เคยสนใจมาก่อนเลย แม้จะเคยช่วยงานวัดบ้างแต่ก็เป็นงานบริการทั่วไปในด้านพิธีกรรม ไม่ใช่พุทธปรัชญาทำให้ผมเข้าใจบ้างว่า การนับถือศาสนานั้นควรจะแยกระหว่างความงมงายกับความเป็นวิทยาศาสตร์ พิธีกรรมกับพุทธศาสตร์ ผมถือว่าเป็นพื้นฐานแห่งการค้นคิดอย่างมีเหตุมีผล
ผมถูกย้ายมาขังที่นี่ได้ประมาณ 3 เดือน มีพนักงานสอบสวนเรียกออกไปพบนอกห้องขังแล้วแจ้งว่า แม่ส่งจดหมายมา ในระหว่างที่พนักงานสอบสวนตรวจอ่านแล้วเงยหน้าขึ้นพูดกับผมว่า
“ข่าวไม่ค่อยดีนัก ในจดหมายบอกว่า ภรรยาคุณไปมีใหม่แล้ว” พนักงานสอบสวนมองหน้าผมเห็นผมยิ้ม
เขาเลยถามว่า “คุณนี่แปลกนะ มีข่าวภรรยามีใหม่คุณยังยิ้มได้ ตอนคุณพ่อคุณถูกประหาร คุณก็ร้องเพลงเฉยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ผมนับถือจริงๆ สมเป็นลูกนักสู้จริงๆ”
ผมตอบไปว่า “ผมดีใจครับที่จะได้เป็นคนโสดอีกครั้ง ผมเตรียมใจไว้เพื่อเผชิญทุกอย่างตั้งแต่วันถูกจับแล้ว แม้ผมจะเสียใจจนขาดดิ้น พ่อผมก็คงไม่ฟื้นคืนกลับมา ภรรยาเองเขาก็คงไม่กลับมา ความโศกเศร้าเสียใจจึงเป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ คนเรามันต้องปลงให้ตก การสูญเสียพ่อเป็นเรื่องใหญ่กว่าภรรยาครับ ขอบคุณมากที่นำจดหมายมาส่งให้”
จากนั้นผมก็เดินกลับเข้าห้องขัง สักพักหนึ่งเด็กร้านขายของตะโกนเรียก “น้าวิทิต รับบุหรี่” ผมเดินไปและบอกว่า “น้าไม่ได้สั่ง” เด็กบอกว่าตำรวจที่มาคุยกับน้าซื้อให้ ผมรับบุหรี่กับกาแฟร้อนมานั่งดื่มพลางคิดในใจว่า อะไรกัน เขาให้ด้วยความสงสารหรืออะไรกันแน่
ผู้ต้องหาอีกคนหนึ่งที่ผมต้องกล่าวถึง คือ นายซีเง็ก แซ่อะไรผมจำไม่ได้เป็นคนจีนอายุน่าจะประมาณ 40 บวกลบ เขาถูกนำตัวมาขังที่นี่หลังผมย้ายมาประมาณไม่เกินสามเดือน แกเป็นคนประสาทแต่ไม่ทราบเป็นก่อนหรือหลังการถูกจับกุม วันๆ แกมีหน้าที่ร้องตะโกนด่ารัฐบาลสฤษดิ์ ข้อความทีด่าเป็นภาษาจีนน่าจะแต้จิ๋ว
ผมจำคำลงท้ายว่า “อันธพาลนายสฤษดิ์” บางครั้งยาวจะต่อถนอมประภาสเข้าไปด้วย ตอนแรกๆ พวกผู้ต้องหาด้วยกันก็ขำๆ ดี แต่พอนานเข้าขำไม่ออกกลายเป็นความรำคาญก็น่าเห็นใจเพราะแต่ละคนก็เครียดกันเป็นทุนอยู่แล้ว ซีเง็กไปใช้ห้องน้ำในห้องเขาก็โดนไล่ออกมา ซีเง็กก็ต้องมาพึ่งบริการที่ห้องผม ผมบอกแกว่า อย่าไปกวนห้องคนอื่นเขาเลยมีอะไรก็มาใช้ที่ห้องเราเถอะ ผมเห็นใจและเข้าใจแก ดูแกก็รู้สึกดีๆ ต่อผม บางวันญาติผู้ต้องหาเนรเทศมาเยี่ยมที่ห้องขังตรงข้าม ซีเง็กก็ยืนด่าสฤษดิ์ให้เขาฟัง ด่าสักพักก็ขอเงินญาติผู้ต้องหาเนรเทศ 2 บาท เขาก็ให้แก
พอได้เงินสองบาท ซีเง็กตะโกนสั่งร้านค้าทันทีว่า“โอยั๊ว 1 แก้ว ยาตั้ง 1ตั้ง เกล็ดทอง 5 มวน” ผมแปลกใจว่า ทำไมเขาต้องสั่งบุหรี่เกล็ดทองด้วยของทั้งหมดรวมแล้ว 2 บาทพอดี
เมื่อได้ของแล้วเขาก็เดินตรงมาที่ห้องผม บอกว่า “อาวิทิต อั๊วซื้อบุหรี่ให้ลื๊อ 5 มวนเอาไว้สูบนะ” ผมตอบแกว่า“ลื๊อให้อั๊วะทำไม เก็บไว้เองเถอะ ทำไมลื๊อไม่เก็บอีกบาทไว้ซื้อยาตั้งเล่า”
ซีเง็กตอบว่า “อั๊วเห็นใจลื้อ ลื้อก็คนจนเหมือนกัน” แกวางบุหรี่ 5 มวนไว้แล้วก็เดินออกจากห้องผมไป ผมมองตามไปเห็นเขานั่งขาไขว่ห้างจิบโอยั๊วะอย่างสบายใจเหมือนคนปกติ เมื่อเขาทำเช่นนี้บ่อยๆ คุณภักดีน้าชายถามผมว่า “นายบอกซีเง็กซื้อบุหรี่ให้หรือ เพื่อนๆ ผู้ต้องหาเขาเข้าใจเช่นนั้นระวังหน่อยนะ”
ผมตอบว่า “ไม่เลย ผมปฏิเสธเขาก็ทิ้งไว้ตรงนี้ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร” น้าชายบอกว่า “ถ้างั้นก็แล้วไป”
หลังจากนั้นผมก็หลบๆ ซีเง็กไปบ้างเพราะเกรงว่าคนอื่นจะเข้าใจเราผิดๆ แต่น่าเห็นใจ เมื่อทุกคนมึนชากับแกมากขึ้นก็ยิ่งทำให้ประสาทแกกำเริบมากขึ้น อาละวาดหนักกว่าเดิม จากการตะโกนด่าวันละครั้งสองครั้ง เพิ่มเป็นสิบครั้งต่อวัน เผลอๆ กลางคืนดึกๆ ลุกขึ้นตะโกนด่าเสียงดังลั่นจนบางครั้งผู้ต้องหาอื่นที่ทนไม่ไหวลุกขึ้นมาด่าซีเง็ก
ผมเกรงเรื่องจะไปกันใหญ่เพราะคนในห้องขังมันก็เครียดกันทั้งนั้น จึงไปเรียกซีเง็กมาบอกแกว่า พอแล้วซีเง็ก ไปคุยกันที่ห้องอั๊วเขาก็เดินตามผมมา ผมนั่งคุยกับเขาประมาณชั่วโมง เพื่อให้แกสบายใจขึ้น จากนั้นผมบอกแกว่า “นอนเถอะอั๊ว ง่วงแล้ว” “ลื๊อพักผ่อนนะอาวิทิต” ซีเง็กบอกก่อนจะเดินจากไป
วันรุ่งขึ้นผมคุยกับพรรคพวกในกลุ่มพวกเรา รวมทั้งคุณนิพนธ์ ชัยชาญ ปลัดคำนึง พรมสาขาฯว่า หากปล่อยเรื่องนี้นานไปอาจจะมีผู้ต้องหาคนใดคนหนึ่งทนไม่ไหวแล้วเกิดทำร้ายคนบ้าเข้าจะเป็นปัญหา ควรจะเขียนคำร้องให้เจ้าหน้าที่รับผิดชอบนำตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลโรคจิตเสียที ก่อนที่จะมีใครบ้าเพิ่ม พรรคพวกเห็นด้วย ผมเป็นคนร่างคำร้องร่วมกันเซ็นชื่อยื่นต่อสิบเวรฯ หลังจากนั้นประมาณสัปดาห์เศษ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็นำตัวซีเง็กไปรักษาและควบคุมไว้ที่โรงพยาบาลศรีธัญญา ตั้งอยู่ที่ไหนผมไม่ทราบ ก่อนจะออกจากห้องขังเขามาหาผมบอกลาว่า “ลื้อรักษาตัวด้วย อั๊วไปแล้วยังห่วงลื้อๆ เป็นคนดี” เขาบอก ผมอึ้งไปกับน้ำใจของคนที่เป็นโรคประสาทเขายังมีใจให้กับคนอื่น
ในระหว่างถูกคุมขังเมื่อปี 2505 ทางผู้ต้องขังคอมมิวนิสต์ในเรือนจำชั่วคราวลาดยาวได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อคัดค้านการขังผู้ต้องหาที่ไม่ต้องขออนุญาตศาลตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 12 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทางพวกเราหลายคนในเรือนจำชั่วคราวปทุมวันก็ร่วมลงชื่อร้องเรียนด้วย ผมและพรรคพวกผู้ต้องขังมีโอกาสออกไปศาลอาญาครั้งแรกได้มีโอกาสพบผู้ต้องขังลาดยาวหลายคน แต่ละท่านมาทำความรู้จักให้กำลังใจผมในฐานะลูกชายครูครองทำให้มีกำลังใจมากโขทีเดียว
ยื่นร้องคัดค้านการกักขังไม่ชอบต่อศาลอาญา
การยื่นคำร้องต่อศาลอาญาโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 90 ประมวลกฎหมายอาญานั้น เป็นการดิ้นรนต่อสู้กับอำนาจเผด็จการที่ไม่เป็นธรรมทางหนึ่งของผู้ต้องหาคอมมิวนิสต์ แม้จะไม่หวังผลในการต่อสู้ครั้งนี้มากนัก แต่ก็เป็นการนำความไม่เป็นธรรมต่อการกักขังผู้ต้องหาคอมมิวนิสต์ตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 12 ที่ให้อำนาจพนักงานสอบสวนควบคุมผู้ต้องหาโดยไม่ต้องขออำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาทั่วไป สู่การพิจารณาของศาลยุติธรรมและนำข่าวความไม่เป็นธรรมเหล่านี้สู่พื้นที่สื่อ ซึ่งถือว่าเป็นการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมรูปแบบหนึ่ง ผลการต่อสู้ครั้งนี้ เมื่อยื่นคำร้องครั้งแรก ศาลอาญามีคำสั่งไม่รับคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ยกคำร้องยืนตามศาลชั้นต้น ผู้ร้องฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งให้รับคำร้องพิจารณา สำนวนต้องกลับมาไต่สวนในศาลชั้นต้นใหม่
เมื่อศาลชั้นต้นไต่สวนเสร็จ มีคำสั่งยกคำร้องโดยให้เหตุผลว่า “พนักงานสอบสวนมีอำนาจควบคุมตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 12 ชอบด้วยกฎหมาย” ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ยกคำร้อง ผู้ร้องฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งกลับว่า
“แม้พนักงานสอบสวนมีอำนาจควบคุมผู้ต้องหาตามประกาศคณะปฏิวัติ โดยไม่ต้องขออนุญาตศาลได้ก็จริงแต่พนักงานสอบสวนก็ต้องควบคุมผู้ต้องหาตามความจำเป็นตามพฤติกรรมแห่งคดีเท่านั้นพนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจในการควบคุมผู้ต้องหาโดยไม่สอบสวนเพื่อดำเนินคดีแต่อย่างใด จึงให้ศาลชั้นต้นพิจารณาไต่สวนแยกเป็นกรณีคดีไป”
เมื่อมีคำสั่งศาลฎีกาเช่นนี้แล้ว ศาลชั้นต้นก็ต้องเริ่มดำเนินการไต่สวนเป็นคดีๆ ไป ในช่วงนี้พนักงานสอบสวนสันติบาลก็เริ่มจะวุ่นวายกันใหญ่ มีการปล่อยผู้ต้องหาคอมมิวนิสต์ที่ควบคุมไว้โดยไม่มีการสอบสวนออกไปมากมายหลายคนเหลือส่วนที่ได้สอบไปบ้างเพื่อรอไปแถลงต่อศาล ผู้ต้องหาที่ได้รับอิสรภาพในการนี้หลายคนที่ไม่ได้ร่วมร้องเรียน แต่ก็ได้อานิสงไปด้วยและก็เริ่มมีการนำคดีขึ้นสู่การฟ้องร้องและพิจารณาของศาลเป็นลำดับ
การต่อสู้ของผู้ต้องหาคอมมิวนิสต์ดังกล่าวมา แม้ไม่หวังผลในด้านอิสรภาพมากนัก แต่ก็เป็นการเรียกร้องผลักดันคดีความขึ้นสู่กระบวนการยุติธรรม ทั้งๆ ที่พนักงานสอบสวนต้องนำคดีคอมมิวนิสต์ขึ้นสู่ศาลทหาร (ในเวลาไม่ปกติ) กระทรวงกลาโหม ตามประกาศคณะปฏิวัติ และห้ามผู้ต้องหาคดีดังกล่าวใช้สิทธิ์ในการแต่งตั้งทนายแก้คดี หลายคดีที่ต้องสังเวยคำสั่งอัมหิตนี้ติดคุกคนละ 12 ปี คดีที่มีการปล่อยตัวอย่างน้อยก็ติดฟรีมาคนละ 3 ปีขึ้น