เครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์ จ.ขอนแก่น ยื่นหนังสือคัดค้านการไล่รื้อที่ดินของ รฟท.เพื่อสร้างแฟลตให้คนจน ชี้ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชาวบ้าน จี้เร่งตรวจโควิดเชิงรุกก่อนลามทั่วชุมชนแออัด ส่วนเครือข่ายริมทางโคราชยื่นหนังสือถึง รมว.คมนาคมแก้ปัญหาผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง

ขอนแก่น – เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 (วานนี้) เครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์ จ.ขอนแก่น และ สมาชิกเครือข่ายสลัม 4 ภาค เข้ายื่นหนังสือที่ศาลากลางถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อคัดค้านแนวการใช้ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยสร้างแฟลตให้ผู้มีรายได้น้อยอยู่อาศัย โดยไม่ถามประชาชน ซึ่งการยื่นหนังสือในครั้งนี้มีเจ้าหน้าที่หน้าห้องของรองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นออกมารับหนังสือแทน 

หนังสือฉบับดังกล่าวระบุว่า ตามที่มีการบันทึกความร่วมมือระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2564 และการแถลงข่าวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2564 ที่จะนำที่ดินของ รฟท. สร้างเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยกลุ่มต่างๆ นั้น ทางเครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายชุมชนคนเมืองที่ได้รับผลกระทบจากรถไฟ (ชมฟ.) และเครือข่ายริมรางเมืองย่าโม ซึ่งมีสมาชิกชุมชนส่วนใหญ่อยู่ในที่ดินของ รฟท. มีความกังวล และไม่เห็นด้วยที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จะมีนโยบายทางเดียวที่จะแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย

จากกรณีดังกล่าว เครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์ จ.ขอนแก่น จึงมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ดังนี้

1.ต้องไม่ใช้แนวทางการสร้างแฟลตตามบันทึกข้อตกลง ( 8 ตุลาคม 2564 ) ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทยและการเคหะแห่งชาติ มาเป็นแนวทางเดียวในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนแออัดบนที่ดินการรถไฟฯ

2.ให้การรถไฟฯ นำมติคณะกรรมการรถไฟฯ วันที่ 13 กันยายน 2543 ที่ใช้แก้ไขปัญหาชุมชนแออัดของเครือข่ายสลัม 4 ภาค มาเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชนแออัดบนที่ดินการรถไฟทั่วประเทศ( 39,848 หลังคาเรือน )

3.ให้ใช้แนวทางการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยที่หลากหลาย โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับวิถีอาชีพ การดำรงชีวิตของชุมชนผู้มีรายได้น้อย โดยรูปแบบการอยู่อาศัยอาจเป็นรูปแบบบ้านมั่นคงแนวราบ บ้านแถว อาคารสูง หรืออาคารสูงผสมอาคารแนวราบ ทั้งนี้ต้องให้ชุมชนแออัดเจ้าของปัญหามีส่วนกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาและรูปแบบที่อาศัยด้วย โดยผ่านกลไกคณะกรรมการการแก้ไขปัญหา ทั้งในระดับการรถไฟฯ กระทรวงคมนาคม รวมถึงกระทรวง พม. ในอนาคตด้วย

ในหนังสือยังระบุอีกว่า เนื่องจากกลุ่มผู้มีรายได้น้อยในประเทศไทยมีความหลากหลาย ทั้งวิถีชีวิต ความเป็นอยู่และรายได้ที่แตกต่างกัน แต่ทาง พม. กำลังจะใช้การแก้ปัญหารูปแบบเดียวกับกลุ่มคนที่หลากหลาย ซึ่งเป็นวิธีคิดที่อันตราย หากมีการย้ายกลุ่มคนเหล่านั้นขึ้นแฟลต แล้วไม่สามารถดำรงชีพและทำมาหากินไม่เหมือนเดิม 

“เรื่องเหล่านี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในครั้งเมื่อ กคช. ดำเนินการสร้างแฟลตแก้ปัญหาชุมชนแออัดมาตั้งแต่ปี 2516 แต่ปัจจุบันยังคงมีชุมชนแออัดคงอยู่นั้นเป็นรูปธรรมแสดงให้เห็นที่ชัดเจนแล้วว่าการสร้างแฟลตแล้วนำเอาคนที่มีความหลากหลายทางวิถีชีวิตไม่สามารถแก้ปัญหาได้”หนังสือระบุ 

เครือข่ายริมทางโคราชยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาให้แก้ปัญหาผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564

จากการสำรวจชุมชนในที่ดินของ รฟท. พบว่า มี 36 จังหวัด 397 ชุมชน 39,848 หลังคาเรือน (เฉพาะเป็นจำนวนชุมชนแออัดผู้มีรายได้น้อยเท่านั้น) ได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าว 

พิชิต สิทธิชัย ประธานเครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์ขอนแก่น กล่าวว่า ทางเครือข่ายได้ยื่นหนังสือ 2 เรื่อง เรื่องแรก คือ คัดค้านแนวความคิดใช้ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยสร้างแฟลตให้ผู้มีรายได้น้อยอยู่โดยไม่ถามประชาชน 

“เข้าใจว่า รัฐต้องการพัฒนาเมืองและเราไม่ได้ขัดขวาง แต่การพัฒนาเมืองนั้นต้องทำให้เราอยู่ได้ด้วย คนจนเป็นแรงงานในการสร้างเมือง แต่พอพัฒนาเมืองแล้วทำไมไม่มีที่ให้คนจนอยู่ด้วยและการทำที่อยู่อาศัยเราควรถามเราก่อนว่าสามารถอยู่ได้หรือไม่ใช่แค่ต้องการอพยพคนให้ขึ้นไปอยู่บนแฟลตเท่านั้น ซึ่งมันไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเรา” ประธานเครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์ขอนแก่น กล่าว   

พิชิต กล่าวว่า สำหรับเรื่องที่สองนั้นได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เพื่อขอให้มีคำสั่งเร่งด่วนในการส่งเจ้าหน้าที่หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องลงไปตรวจ ATK เชิงรุกเพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ชุมชนริมทางรถไฟและชุมชนแออัดในเมือง เนื่องจากปัจจุบันมีประชาชนในชุมชนจำนวนมาติดเชื้อและมีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว จึงอยากให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจอย่างเร่งด่วน อีกทั้งก่อนหน้านี้เคยมีชาวบ้านไปแจ้งขอให้เจ้าหน้าที่มาตรวจหลายครั้งแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับการเหลียวแลแต่อย่างใด 

ส่วนที่จังหวัดนครราชสีมาวันเดียวกันเครือข่ายริมรางเมืองย่าโมก็ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาเพื่อส่งไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในการแก้ไขผู้ได้ผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงอย่างเร่งด่วน 

image_pdfimage_print