ชัยเกษม นิติศิริ อดีต รมว.ยุติธรรม เรียกร้องปล่อยนักโทษทางความคิด หยุดทำรัฐประหาร จี้สถาบันตุลาการคืนความยุติธรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง   

อติเทพ จันทร์เทศ ภาพ

หมายเหตุ : ชัยเกษม นิติศิริ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้านการตรวจสอบกระบวนการยุติธรรมและอำนาจรัฐ พรรคเพื่อไทย กล่าวในการประชุมสามัญพรรคเพื่อไทยที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 

ย้อนเหตุการณ์ในวันยึดอำนาจ 2557 

จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ก่อนที่จะมีการรัฐประหารในวันนั้น ผมได้ถูกผู้นำเหล่าทัพเชิญตัวผมไปในฐานะที่เป็นตัวแทนของรัฐบาล ได้มีการพยายามพูดคุย เกลี้ยกล่อมบอกว่า เพื่อความสงบเรียบร้อย ขอให้รัฐบาลลาออก ซึ่งผมก็ได้ชี้แจงไปว่า รัฐบาลลาออกไม่ได้ เพราะถ้ารัฐบาลลาออกนั่นก็หมายความว่า รัฐบาลทำผิดกฎหมาย ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้รัฐบาลต้องอยู่รักษาการ จะปล่อยให้ประเทศว่างไม่มีรัฐบาลไม่ได้ รัฐบาลต้องอยู่รักษาการจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ 

แต่คำตอบของผมคงไม่เป็นตามเป้าหมายที่ พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา ต้องการ พล.อ.ประยุทธ์เลยถามผมอีกครั้งหนึ่งว่า ตกลงจะยอมลาออกไหม ผมตอบว่า ลาออกไม่ได้ครับ พล.อ.ประยุทธ์จึงบอกว่างั้นผมขอยึดอำนาจการปกครองตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป 

หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศยึดอำนาจก็มีกลุ่มทหารในเครื่องแบบพร้อมกับอาวุธครบมือกรูเข้ามาควบคุมตัวผมเอาปืนจี้และจับคณะพรรคเพื่อไทยทุกคนที่ถูกหลอกให้ไปร่วมประชุมด้วย 

ก่อนจะควบคุมตัวแล้วก็แยกย้ายไปกักขังไว้ในค่ายทหารหลายแห่ง ผมและพวกอีก 4 คน ถูกคุมเข้ม คือ มัดมือ ปิดตา นำขึ้นรถตู้และนำไปกักขังที่ค่ายทหารแห่งหนึ่งในจังหวัดปราจีนบุรี 

จากวันนั้นถึงวันนี้ ตั้งแต่วันที่ พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจทำรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเมื่อปี 2557 หลังจากที่กดดันรัฐบาลเพื่อไทย กระทำผิดกฎหมายไม่สำเร็จ เท่ากับว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ละเมิดหลักนิติธรรมตั้งแต่วันแรกที่มีการยึดอำนาจ 

หลังจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ก็ออกคำสั่งและประกาศอีกเป็นจำนวนมาก ใช้บังคับเป็นกฎหมายที่ทำลายหลักนิติธรรม ทำลายกลไกการตรวจสอบถ่วงดุล ใช้กฎหมายบ้านเมืองให้เป็นเครื่องมือทำลายล้างบุคคลที่คิดต่างจากรัฐบาล โดยเฉพาะกับการประท้วงของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากความล้มเหลวในการจัดการโรคระบาดที่ผิดพลาดและจากวิกฤตเศรษฐกิจ  

แทนที่รัฐบาลจะรับฟังข้อเรียกร้องของประชาชนกลับมีการสั่งการให้ใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าปะทะจับกุม แล้วก็ดำเนินคดีกับประชาชน ปรากฏภาพการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุเกิดขึ้นอยู่เสมอ 

การที่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือปราบปรามราวกับไม่ได้เห็นประชาชนเป็นพี่น้องร่วมชาติของตัวเองทำให้ผมได้เกิดหวั่นวิตกว่า หากประชาชนหมดสิ้นศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมแล้ว บ้านเมืองจะอยู่ได้อย่างไร 

ชัยเกษม นิติศิริ อธิบายบนเวทีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีพรรคเพื่อไทยถึงเหตุการณ์ในวันยึดอำนาจ 2557 โดยมีภาพคณะทหารที่ทำการยึดอำนาจเมื่อปี 2564 ประกอบ

เรียกร้องปล่อยตัวนักโทษทางความคิด 

หากประสบการณ์ในการรับราชการและรับใช้แผ่นดินของผม ตั้งแต่เป็นอัยการผู้ช่วยจนเป็นอัยการสูงสุด และเป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม จะมีคุณค่าใดๆ ให้กับประเทศชาติบ้านเมืองในเวลานี้บ้าง ผมก็ขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษทางความคิด ที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาลรัฐบาลทุกคน  

ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการฟื้นฟูหลักนิติธรรม นิติรัฐอีกครั้งหนึ่ง คืนว่าที่ครู ว่าที่แพทย์ ว่าที่นักวิทยาศาสตร์ ว่าที่นักกฎหมาย คืนอนาคตให้กับลูกหลาน คืนชีวิตให้กับประชาชนที่คนเหล่านี้เป็นกำลังของชาติในภายภาคหน้า 

สิ่งที่ผมพูดมาทั้งหมดนี้ไม่ได้มีความเกลียดชังใดๆ กับสถาบันตุลาการ ไม่ได้ขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมทำอะไรที่เกินกว่าอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เกินจรรยาบรรณหรือปณิธานที่มีไว้ว่า จะอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน 

เราทุกคนทราบในหลักการว่า ในคดีอาญานั้นผู้ต้องหาหรือจำเลยยังถือว่า เป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาจนถึงที่สุด ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานที่ใช้กับประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน ประชาชนจะกลับมามีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมได้ทำหน้าที่ๆ ทำให้ประชาชนเชื่อได้ว่า เป็นความยุติธรรมที่แท้จริง 

กฎหมายกับความเป็นธรรม 

กฎหมายที่จะนำมาใช้บังคับกับประชาชนต้องเป็นเป็นกฎหมายที่ได้รับการยอมรับจากความเห็นชอบของประชาชนโดยตรงหรือจากตัวแทนของประชาชนผู้เกี่ยวข้องกับการใช้กฎหมายต้องคำนึงถึงเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่ได้ออกไว้เพื่อให้มีความเป็นธรรมว่า มีความเป็นธรรมเกิดขึ้นกับบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ไม่ใช่ใช้อำนาจตามอำเภอใจจึงจะทำให้ประเทศอยู่ในสภาพที่เป็นนิติรัฐได้  

หลักนิติรัฐ นิติธรรม ยังเกี่ยวข้องกับวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ เพราะหากประเทศใดออกกฎหมายตามอำเภอใจ บังคับใช้กฎหมายตามอำเภอใจ ไม่มีมาตรฐาน เอาแน่เอานอนไม่ได้ ย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและเปิดช่องให้มีการทุจริตคอร์รัปชั่นที่รุนแรง ไร้ยางอาย ไม่เห็นหัวประชาชน อย่างที่เราเห็นกันเป็นข่าวทุกวันนี้ 

จี้คืนนิติรัฐ นิติธรรม สื่อสังคม

สิ่งที่สำคัญที่จะทำให้บ้านเมืองนี้กลับมาเป็นประเทศที่ปกครองด้วยหลักนิติรัฐ นิติธรรมได้นั้น คือ 

ประการแรก ผู้ปกครองหรือผู้บริหารประเทศต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยกลไกของรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมและให้ความเห็นชอบ 

ประการที่สอง กฎหมายจะต้องมาจากความเห็นชอบของประชาชนผ่านรัฐสภา ซึ่งเป็นผู้แทนของปวงชน ที่มาของบุคคลในองค์กรอิสระนั้น จะต้องมีความยึดโยงกับอำนาจของประชาชน เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีความเป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐก็จะต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช่เพื่อพวกพ้อง เพื่อบริวารของผู้ปกครองเสียเอง  

ถ้าหากเราดูในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 นั้นก็จะเห็นว่า แม้กำหนดให้การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม แต่ปราฏว่า บทบัญญัติหลายมาตราก็ขัดต่อหลักนิติธรรมเสียเอง เช่น มีการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ให้มาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี การนิรโทษกรรม การรับรองประกาศ คำสั่งและการกระทำของผู้กระทำการรัฐประหารให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย 

รัฐประหารคือผลไม้พิษ 

ประการที่สาม คือ สถาบันยุติธรรมจะต้องไม่ยอมรับการรัฐประหาร โดยอ้างว่า เป็นรัฏฐาธิปัตย์ อำนาจจากการรัฐประหาร คือ ผลจากต้นไม้พิษ เพราะฉะนั้นก็เป็นผลไม้พิษ แม้ต่อมาจะแปลงร่างอย่างไรก็ยังคงต้องเป็นผลไม้พิษ 

ผมเคยเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันการรัฐประหาร โดยเสนอให้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนว่า การรัฐประหารมีความผิดฐานเป็นกบฏและที่สำคัญก็คือไม่ก่อให้เกิดอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือไม่กำหนดอายุความ แม้รัฐธรรมนูญจะถูกยกเลิกไป ก็ให้ถือเป็นประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเพื่อให้หลักการดังกล่าวนั้นยังคงอยู่ สามารถจะใช้ลงโทษผู้กระการรัฐประหารได้ แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะถูกยกเลิกไป แต่ว่าก็เป็นที่น่าเสียดายที่รัฐธรรมนูญฉบับที่พรรคเพื่อไทยเสนอนั้นไม่ได้รับการพิจารณาในรัฐสภา  

ความยุติธรรมแก้ไขความขัดแย้ง 

ผมยังคงเชื่อมั่นว่า กระบวนการยุติธรรมยังสามารถที่จะเป็นที่พึ่งที่หวังสุดท้ายของประชาชนได้ เมื่อเรารื้อฟื้นหลักนิติรัฐ นิติธรรมให้กลับคืนสู่ประเทศไทยอย่างสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง ด้วยกระบวนการบัญญัติกฎหมายที่ชอบธรรม การใช้อำนาจของฝ่ายบริหารในการบังคับใช้กฎหมายที่ชอบธรรม และการใช้อำนาจฝ่ายตุลาการที่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใดนะครับ คนรุ่นใด จะเป็นคนรุ่นใหม่ หรือคนรุ่นผม เราก็ต่างแสวงหาความยุติธรรมเพื่อความสงบสุขของชีวิต 

ความยุติธรรมเท่านั้นที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของบ้านเมือง ความยุติธรรมเท่านั้นที่จะทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้ 

ความยุติธรรมเท่านั้นที่จะสร้างความหวัง สร้างชีวิตที่ดีกว่าให้กับประชาชนได้ ประเทศไทยจะต้องไม่มีนักโทษทางความคิด ไม่มีทหารมายึดอำนาจจากรัฐบาลของประชาชนและจะไม่มีประชาชนที่ถูกกลั่นแกล้งด้วยกฎหมายอีกต่อไป 

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

“อุ๊งอิ๊ง”- แพทองธาร ประกาศเดินตามรอยพ่อ

หนุ่มศรีสะเกษแชร์ภาพคล้าย ร.10 ได้ประกันด้วยหลักทรัพย์ 2 แสนบาท

image_pdfimage_print