“ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ถูกเตะตัดขาไม่ให้มีอำนาจตั้งแต่วันแรกที่เดินเข้าสู่สนามการเมือง ด้วยข้อกล่าวหาต่างๆ รวมทั้งข้อหา “ล้มเจ้า” และ มาตรา 112 แต่เขาก็ไม่หยุดเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการปฏิรูปสถาบันฯ เพราะเชื่อว่า จะเป็นหนทางรอดของวิกฤตศรัทธาของประชาชนที่มีต่อสถาบันฯ

หทัยรัตน์ พหลทัพ สัมภาษณ์

อติเทพ จันทร์เทศ ภาพ 

หมายเหตุ : ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ให้สัมภาษณ์ The Isaan Record ทางเฟซบุ๊กไลฟ์ขณะเดินทางมาเปิดตัวผู้สมัคร อบจ.ในหัวข้อ “การเมืองของคนรุ่นใหม่จะก้าวหน้าหรือถอยหลัง” เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2564 

The Isaan Record : ทำไมจึงออกมาเปิดเผยเรื่องวัคซีนพระราชทานใครได้ใครเสีย ตอนนั้นมีข้อมูลอะไร

ธนาธร : คนที่พูดเรื่องนี้ที่แรกผมเข้าใจว่า เป็นสำนักข่าวบีบีซีไทย แต่ไม่ได้พูดถึงผลดีผลเสียของข้อตกลงนั้น แล้วก็ไม่มีการพูดอะไรที่มากไปกว่าเรื่องบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ เหตุผลที่ต้องพูด เพราะคิดว่า การจัดหาวัคซีนสำคัญกับชีวิต รวมถึงความเป็นอยู่ของคนไทยมาก วัคซีนมาเร็ว มาช้า ย่อมส่งผลกระทบกับกระเป๋าสตังค์ของประชาชน ส่งผลต่อชีวิตของผู้คนหลายคน อย่าลืมว่า เราพูดถึงคนตายเป็นร้อยๆ ยิ่งจัดหาวัคซีนช้ายิ่งทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ช้า ก็จะมีคนสูญเสียมากขึ้น ก็จะมีคนไม่ใช่สูญเสียชีวิตอย่างเดียวหลายคน หลายคนเป็นหนี้เป็นสินมากขึ้น 

The Isaan Record : สิ่งหนึ่งที่คุณธนาธรพูด คือ อาจมีคนได้ประโยชน์จากการล็อกสเปคให้กับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ที่สถาบันกษัตริย์มีส่วนเกี่ยวข้อง  

ธนาธร : ต้องบอกว่า ผู้ถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ของสยามไบโอไซเอนซ์ คือ ในหลวงวชิราลงกรณ์ อันนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ ปัญหาคือบริษัทนี้ฯ ขาหนึ่งเป็นคู่สัญญากับบริษัทแอสตร้าเซเนก้า (AZ) พอ AZ ให้สัญญาการผลิตวัคซีนสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้กับสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่ง AZ คือ คู่สัญญากับรัฐบาลไทย 

เมื่อรัฐบาลไทยซื้อวัคซีนจาก AZ เท่ากับจ่ายเงินให้สยามไบโอไซเอนซ์ ที่ขาหนึ่งมีสัญญากับรัฐบาลไทย สัญญาตัวนี้ 600 ล้านบาท แล้วรัฐบาลก็ไปสนับสนุนบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ทำวิจัยที่เรียกว่า SBS เท่ากับว่า มีทั้งสัญญาตรงและสัญญาอ้อมกับรัฐบาลไทย

“มันมีความพยายามที่จะโปรโมทว่า วัคซีนนี้เป็นวัคซีนพระราชทาน การโปรโมตอย่างนี้อันตรายนะ รัฐบาลไม่ควรทำ เพราะถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาบริษัทไม่สามารถผลิตได้ตามเป้าหรือว่า วัคซีนที่ผลิตจาก SBS ไม่มีคุณภาพ มีอาการแพ้ มีคนบาดเจ็บล้มตายจากวัคซีนนี้ คุณประยุทธ์และรัฐบาลจะรับผิดชอบอย่างไร เพราะประชาชนก็จะตั้งคำถามกับสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกหรือไม่ นี่คือใจความหลักของการพูดของผมในวันนั้น”  

The Isaan Record : ดูเหมือนว่า ไม่ต้องการให้รัฐบาลโปรโมทว่า เป็นวัคซีนพระราชทาน มีนัยไหมว่า การที่สถาบันกษัตริย์มาทำธุรกิจเป็นเรื่องที่อาจจะไม่งามด้วย  

ธนาธร : อันนี้เป็นปัญหาอยู่พอสมควรเหมือนกัน ต้องบอกว่า ในความเป็นจริงบริษัททั่วไป ผู้ถือหุ้น กรรมการ พนักงาน ทะเลาะเบาะแว้งกันถือเป็นเรื่องปกติ คือ มันมีข้อพิพาทเกิดขึ้นตลอดเวลา ผู้ถือหุ้นไม่ว่า จะบริษัทอะไรก็ตามถือว่า เป็นผู้เล่นในระบบเศรษฐกิจแล้ว เราจะเห็นบริษัทต่างๆ ผู้ถือหุ้นบริษัทนี้ฟ้องกันเองหรืออะไรต่างๆ แบบนี้ 

ปัญหา คือ สถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะผู้เล่นในเศรษฐกิจและสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะองค์ประมุขของประเทศมันมีความกำกวมของสถานะตรงนี้อยู่ เพราะการเป็นผู้เล่นในเศรษฐกิจนั้นในเศรษฐกิจสมัยใหม่มันบอกว่า ผู้เล่นจะเป็นใครก็ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน คือ แฟร์ ถูกไหม ไม่ว่าจะเป็นต่างชาติมาลงทุนในประเทศไทย คนไทย คนรวย คนจน ถ้าลงทุนในธุรกิจอยู่ต่อหน้ากฎหมายต้องบังคับใช้อย่างเสมอกันเพื่อทำให้กลไกของตลาด หรือ Market Mechanism มันทำงานได้เต็มที่ มันต้อง Fair competition และ Free competition ถูกหรือไม่ 

ผมถามว่า ถ้าวันหนึ่งเกิดข้อพิพาทขึ้นมา มีคนไม่เห็นด้วยกับมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทใดบริษัทหนึ่งที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์เข้าไปเป็นผู้ถือหุ้น แล้วจะฟ้องสถาบันพระมหากษัตริย์เหมือนกับฟ้องผู้ถือหุ้นคนอื่นได้ไหม จะฟ้องคืนไม่ได้ คุณฟ้องสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้ ถูก ดังนั้นนี่คือความกำกวม เพราะพระมหากษัตริย์ฟ้องไม่ได้ในทางกฎหมาย แต่สถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นผู้เล่นในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งในระบบเศรษฐกิจถ้าแฟร์มันก็ต้องฟ้องร้องกันได้ทุกฝ่าย ใช่หรือไม่ ดังนั้นมันเกิดความกำกวมในจุดนี้ขึ้น  

“อาจจะต้องย้อนกลับไปถึงเรื่อง พ.ร.บ.ระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งถูกตราขึ้นในช่วงรัฐบาล คสช.ในช่วงที่ยังไม่มีการเลือกตั้ง ทำให้มีการถือหุ้นโดยตรงในบริษัทเอกชนของสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้น แต่ก่อนอย่างน้อยที่สุดมันมีสำนักงานทรัพย์สินฯ มากั้นกลางทำให้ถ้ามีอะไรผู้ถือหุ้นโดยตรงของบริษัทนั้นๆ ไม่ใช่พระมหากษัตริย์โดยตรง”  

The Isaan Record : ที่ผ่านมาในรัชกาลๆ ก่อนก็เคยลงทุนในบริษัทต่างๆ แล้วจะมีความแตกต่างอย่างไรกับรัชกาลนี้   

ธนาธร : ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมพูดเลยว่า มันเป็น Pre industrial Era ยุคก่อนอุตสาหกรรม แต่พอมันเป็นสมัยใหม่ พอมันมีสิ่งที่เรียกว่า บริษัทเอกชน ตลาดหลักทรัพย์ขึ้นมา มันมีกฎมีระเบียบ ซึ่งคุณต้องยอมรับกฎแบบนี้จึงจะทำมาค้าขายกับทั่วโลกได้ ถ้าคุณไม่ยอมรับกฎกติกาแบบนี้คุณก็ค้าขายกับทั่วโลกไม่ได้ 

“ความแตกต่างระหว่างยุคก็คือ การเข้าไปเชื่อมกับกฎกติกาสากลว่า คุณมีกฎกติกาสากลอยู่ที่คุณจะต้องยอมรับ ดังนั้นพอคุณเข้าไปลงทุนโดยตรง รูปแบบการลงทุนในสมัยก่อนมันจึงน้อยลงไป มันจึงเป็นการลงทุนผ่านบริษัทอื่นๆ เช่น ทุนลัดดาวัลย์ สยามสินธร อะไรพวกนี้ การลงทุนโดยตรงมีบ้าง ต้องบอกว่า ไม่ใช่ไม่มี ลงทุนโดยตรงโดยสถาบันบันพระมหากษัตริย์ก็มี แต่ส่วนใหญ่ก็จะผ่านสำนักงานทรัพย์สินฯ 

The Isaan Record : การออกมาพูดเรื่องนี้ถือเป็นสาเหตุทำให้ถูกดำเนินคดี 112 หลังจากชีวิตเปลี่ยนไปไหม แล้วจะหยุดพูดเรื่องสถาบันฯ ไหม 

ธนาธร : ผมคิดว่า ไม่ ผมคิดว่า ชีวิตไม่ได้เปลี่ยนไป เดินไปข้างหน้าทุกวันก็ยังทำงานอย่างสนุก แล้วก็ทำงานอย่างมีความหวัง 

ส่วนคำถามที่ว่า หลังจากถูกดำเนินคดี 112 แล้วผมหวาดกลัวหรือเปล่า ผมก็ใช้ชีวิตปกติ สนุกกับการทำงานทุกวัน ทำงานโดยไม่รู้สึกท้อแท้ แล้วก็ทำงานอย่างมีความหวัง 

“ผมเชื่อว่า นี่เป็นช่วงเวลาเป็นโอกาสที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง ที่จะสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นได้จริงในประเทศไทย ทุกวันมีแต่ความสนุกความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำงาน”  

The Isaan Record : การที่คุณธนาธรออกมาพูดเรื่องนี้อาจเป็นให้คนรุ่นใหม่กล้าพูดเรื่องสถาบันฯ มากขึ้น เห็นได้จากหลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ เคยคิดไหมว่า จะผลักดันให้คนรุ่นใหม่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองมากขนาดนี้ 

ธนาธร : ก็ไม่ได้คิดอะไรถึงขนาดนั้น เราคิดอย่างเดียวว่า สิ่งที่เราทำมันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ได้คิดอะไรเยอะขนาดนั้นว่า มันจะไปทำให้เกิดกระแส ผมคิดว่า สังคมไทยอยู่ในภาวะกำกวม คือ การคนที่คนมีบทบาทในสังคม คือ คนอายุเท่าผมขึ้นไป คนที่มีบทบาทมีอำนาจในสังคม ไม่กล้าที่จะยอมรับความจริง ไม่กล้าที่จะพูดความจริง ในขณะที่คนรุ่นใหม่ กลับพูดความจริงกันหมดแล้ว 

“ถ้าเราไม่ปฏิเสธตัวเองเกินไป ผมคิดว่า ข้อเท็จจริงที่ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันฯ กับประชาชนวันนี้ตกต่ำมากในรอบหลายสิบปีที่ผ่าน และการที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์นี้ได้เพื่อให้สถาบันฯ ยั่งยืนสถาพรและอยู่คู่สังคมได้ มีแต่การยอมรับความจริงว่า อาจจะมีบทบาทและอำนาจของสถาบันฯ บางประการที่ควรจะต้องมีการปฏิรูป เพื่อที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์นี้ให้เกิดขึ้นได้ ผมคิดว่ามันเป็นข้อเท็จจริงที่คนที่มีอำนาจ คนที่มีบทบาทในสังคมปัจจุบันไม่กล้าที่จะเผชิญหน้ามัน แสดงให้เห็นว่า สังคมไทยไม่มีวุฒิภาวะพอกับเรื่องนี้” 

ถ้าเราพูดด้วยความปรารถนาดี ด้วยความหวังว่า สังคมไทยกับสถาบันฯ จะอยู่คู่กันได้อย่างยั่งยืน สถาบันฯ กับประชาชนจะมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มันต้องเริ่มจากการยอมรับความจริงเพื่อจะนำไปสู่การตระหนักถึงปัญหา แล้วก็หาทางออกร่วมกันอย่างสันติ ไม่ต้องมีการเสียเลือดเสียเนื้อ ไม่ต้องมีการคุมขังจับกุม ข่มขู่ คนรุ่นใหม่ที่ออกมาตั้งคำถาม 

The Isaan Record : ตอนนี้คนที่พูดความจริงก็คือคนรุ่นใหม่ที่ส่วนใหญ่ถูกจับกุม ซึ่งตอนนี้ดูเหมือนกระแสการเคลื่อนไหวก็เริ่มหายไป 

ธนาธร : กระแสอาจจะหาย แต่ว่าคลื่นมันปะทะกันอยู่ตลอดเวลา ถ้าเรามองการเมืองไทยตอนนี้เป็นผิวน้ำ สิ่งที่คุณเห็นบนผิวน้ำ คือ อะไร จะยุบสภาเมื่อไร พรรคนี้ใครทะเลาะกับใคร 

สำหรับผมสิ่งที่ผมมองมากกว่านั้นไม่ใช่เรื่องยุบสภา ไม่ใช่เรื่องใครทะเลาะกับใคร แน่นอนว่า เรื่องนี้สำคัญมันเป็นการเมืองเฉพาะหน้า แต่ผมคิดว่า ปัญหาของยุคสมัยนั้นมัน คือ สิ่งที่อยู่ใต้ผิวน้ำมากกว่า คลื่นมันปะทะกันรุนแรงมาก เราวางอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งและอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมันปะทะกันรุนแรงมาก

“นี่คือโจทย์ใหญ่มากของสังคมไทยว่า เราจะเอาอย่างไร ตอนเลือกตั้ง ‘62 ประเทศไทยมีโจทย์ใหญ่ๆ ที่พรรคการเมืองทุกพรรคเสนอมาแก้ไขคือ 1.ความเหลื่อมล้ำ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนถ่างขึ้นทุกวัน 2.ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยต่อโลกาภวิวัฒน์ และ 3.เรื่องประชาธิปไตย คุณจะทำอย่างไรกับรัฐธรรมนูญ จะทำอย่างไรกับบทบาทของกองทัพ” 

แต่ผ่านมา 2 ปีครึ่งแล้ว แต่โจทย์เดิม 3 ข้อยังไม่ได้แก้ไข แต่มีโจทย์ใหม่เพิ่มขึ้นมา อย่างน้อย 3 เรื่องด้วยกัน คือ 1.โควิดที่จะต้องอยู่กับเราในระยะยาว จะปรับตัวอย่างไร 2.นโยบายทางการคลัง เพราะมีสัญญาณมาตั้งแต่ปี 62 แล้ว ทั้งเรื่องหนี้สาธารณะกับเรื่องสังคมสูงวัยที่จะมีคนแก่ชรามากขึ้น และปัญหาสุดท้าย คือ เสียงเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปสถาบันฯ 

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า หารือกับตัวแทนผู้สมัครการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2564 

The Isaan Record : มีข้อเสนออย่างไรกับการปฏิรูปสถาบัน 

ธนาธร : คงต้องทำหลายๆ อย่างพร้อมกัน อย่างแรก คือ ต้องรณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจว่า การปฏิรูปสถาบันฯ ไม่ใช่การล้มล้าง ฝ่าย IO (Information Operation) ก็พยายามจะโจมตีและทำให้คนเชื่อว่า การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์คือการล้มล้าง แต่ผมคิดว่าไม่ใช่ 

“การปฏิรูปสถาบันฯ สำหรับผม คือ การประนีประนอมเพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไป เพื่อให้ประชาธิปไตยมันเบ่งบาน และสถาบันฯ อยู่คู่กับสังคมไทยอยู่คู่กับประชาธิปไตยได้ เหมือนอย่างญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ ดังนั้นต้องรณรงค์ทำความเข้าใจในเรื่องนี้”  

จากนั้นคงต้องเทคแอคชั่น อย่างเช่น การเสนอร่างกฎหมาย ยกตัวอย่างเช่น การยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 มันเห็นได้ชัด ดังนั้นอาจจะต้องรณรงค์ในเชิงประเด็นหรือนำเสนอกฎหมายเข้าชื่อจากประชาชนในเชิงประเด็นที่มันเล็กและสามารถอธิบายได้มากกว่าคำโต ๆ อย่างคำว่าปฏิรูป 

The Isaan Record : คนที่ขอให้ยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 มักถูกข้อกล่าวหาว่า ต้องการล้มเจ้าหรือไม่ โดยเฉพาะคุณธนาธรก็ถูกกล่าวหาเป็นเบอร์ต้นๆ จะลบข้อกล่าวหาเหล่านี้ได้อย่างไร 

ธนาธร : จริงๆ ผมหวังกับสื่อมวลชนไทย ถ้าเป็นบีบีซีเขาจะมีรายการ Hard Talk ที่นำคนที่เห็นต่างกันในประเด็นที่สำคัญมานั่งถกเถียงกันจริงจังด้วยข้อมูล ด้วยเหตุผล แล้วให้ประชาชนตัดสินว่า จะเชื่อใคร สังคมไทยวันนี้ไม่มีพื้นที่ตรงกลางที่ปลอดภัยให้คุยกัน ครั้งสุดท้ายที่เห็น คือ รายการของคุณจอมขวัญ (หลาวเพ็ชร ทางไทยรัฐทีวี) 

การไม่มีพื้นที่ตรงกลางมันผลักสังคมออกไปสุดขั้ว คนที่อยู่ฝั่งนี้ก็จะรับฟังข้อมูลและเหตุผลของฝั่งนี้ แล้วคนที่อยู่ฝั่งนี้ก็จะรับฟังข้อมูลและเหตุผลของคนที่อยู่ฝั่งนี้ เพราะมันไม่มีพื้นที่ตรงกลาง มันแบ่งคนออก มันทำให้คน Radical (หัวรุนแรง) มากขึ้น ผมอยากเห็นพื้นที่ตรงกลางที่ทำให้ทุกฝ่ายเข้ามาใช้เหตุผลพูดคุยกัน เข้ามาใช้สติปัญญาเข้ามาใช้ข้อมูลมาพูดคุยกัน 

“ผมเชื่อว่า ถ้ามีพื้นที่ตรงกลางที่ใหญ่พอความสุดโต่งของทั้งสองฝั่งมันจะค่อยๆ กลับเข้ามา แล้วคุยกันด้วยเหตุผล การคุยกันอย่างน้อยที่สุด มันสันติ ไม่รุนแรง” 

ถึงอย่างไรผมก็โดน IO โจมตีว่า ล้มเจ้า ผมอยากให้มีพื้นที่ตรงนี้ ถ้ามีพื้นที่ปลอดภัยที่ทำให้คนคุยกันได้มากขึ้น ในเรื่องหนักๆ ในเรื่องที่คนกระอักกระอ่วน ถ้าพูดคุยกันบ่อยๆ  ก็จะเข้าใจกันมากขึ้น ถ้าผมได้มีโอกาสไปพูดคุยกับคนโน้นคนนี้ก็จะมีโอกาสอธิบายว่า ทำไมทิศทางนี้น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย 

The Isaan Record : ถ้าคุณธนาธรมีโอกาสนั่งต่อพระพักตร์ในหลวงรัชกาลที่ 10 จะพูดว่าอะไร จะขอให้มีการปฏิรูปไหม 

ธนาธร : ก็คงพูดแบบนั้น คือ ไม่ว่าจะพูดกับใครก็คงยืนยันพูดแบบเดียวกันว่า การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพื่อให้สถาบันฯ อยู่มั่นคงสถาพรควบคู่กับสังคมไทย ควบคู่กับประชาธิปไตยในระยะยาว  

The Isaan Record : การที่เดินทางมาอีสาน จริงๆ แล้วอีสานมีความหมายอย่างไรกับคุณธนาธรอย่างไร 

ธนาธร : ผมต้องบอกชัดๆ ว่า ผมเป็นผู้เป็นคนขึ้นมาได้ก็เพราะอีสานนี่แหละ เพราะผมไปค่ายอาสาพัฒนาครั้งแรกที่ยโสธร ผมเป็นคนเมืองเติบโตมาในป่าคอนกรีต ไม่เคยเข้าใจชาวนา ไม่เข้าใจชีวิตชนบท ไม่เคยเห็นความเหลื่อมล้ำจริงๆ ไม่เคยเจอกับชาวนาจริงๆ ตอนนั้นอายุ 18-19 ปี มาค่ายอาสาพัฒนามันทำให้เข้าใจว่า ชนบทมันเป็นแบบนี้นะ วิถีชีวิตเขาเป็นแบบนี้นะ ตอนนั้นนอนบ้านชาวบ้าน 

สำหรับผมมันเป็นบทเรียนชีวิตเรื่องความเหลื่อมล้ำต่ำสูงของผู้คนในสังคมบทเรียนแรก ถามว่ามันสำคัญอย่างไรกับการเลือกตั้งก็ต้องบอกว่า ภาคอีสานเป็นพื้นที่ๆ เราส่งผู้สมัครลงมากที่สุด ผู้สมัคร อบต.ของเราอยู่ในภาคอีสานมากที่สุด  

The Isaan Record : ควรลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำอย่างไร เพราะอีสานถือเป็นพื้นที่ๆ มีประชากรมากที่สุด แต่กลับได้รับประมาณนิดเดียว 

ธนาธร : ถ้าจะลดความเหลื่อมล้ำต้องทำ 3 อย่าง คือ 1.บริการสาธารณะต้องทำให้ดีเท่าเทียมกันทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นน้ำ การศึกษา คมนาคมต้องทำให้ดีให้ทุกคนเข้าถึงบริการสาธารณะที่ดี 2.ต้องมีสวัสดิการที่เข้มแข็งกว่านี้ 3.ต้องยกเลิกทุนผูกขาดที่สนับสนุนอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน อำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาธิปไตย คือ การผสมพันธุ์กันระหว่างนักการเมือง นายทุน ขุนศึก ศักดินา ที่ทำให้ทั้งสังคมและเศรษฐกิจมันเป็นแบบนี้ 

“ต้องทำ 3 อย่างนี้ ถึงจะลดความเหลื่อมล้ำในประเทศนี้ได้”  

The Isaan Record : ดูเหมือนว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่พูดบนเวที แต่รัฐบาลชุดนี้ไม่เคยฟังเลย  

ธนาธร : เขาฟังหรือไม่ฟังผมไม่รู้ แต่ผมคิดว่า เขาไม่ได้มาจากประชาชน เขามาจากการซื้อ ส.ส. เขามี ส.ว.แต่งตั้ง ปัญหาใหญ่ที่สุดของการสืบทอดอำนาจครั้งนี้ คือ ทรัพยากรและการตัดสินใจทุกอย่างมันไม่ได้เป็นไปตามความถูกต้อง แต่การตัดสินใจมันอยู่บนสมมติฐานที่ว่า จะทำอย่างไรที่จะให้ระบอบนี้มันจะมั่นคงต่อไป โดยไม่สนใจหลักนิติรัฐ นิติธรรม ผมยกตัวอย่างกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ตัดสินกรณีคุณปรีชา จันทร์โอชา คือ คุณไม่สนใจเสียงสังคม ข้อครหา ถูกต้องถูกผิดใดๆ เลย คิดแต่จะทำอย่างไรให้ระบอบมันอยู่ได้ 

อย่างกรณีของคุณเบญจา อะปัน ที่ถูกฟ้องคดี 112 ไม่ได้ประกันตัว มันหมายความว่า อะไร ทำไมไม่ได้ประกันตัว ศาลบอกว่า มีความเป็นไปได้ที่เขาจะหลบหนี ซึ่งความจริงเขาเดินทางไปมอบตัว ดังนั้นการใช้กฎหมาย การใช้งบประมาณ การคงการพัฒนาหรืออะไรต่างๆ มันคิดอยู่อย่างเดียวว่า ใช้ตรงนี้เพื่อรักษาระบอบไม่ได้ ใช้พวกนี้เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่ดีขึ้น ผมคิดว่านี่เป็นปัญหาใหญ่มากของการสืบทอดอำนาจ 

The Isaan Record : ความคิดนี้อาจจะสวนทางกับรัฐบาล จากการที่ดูชีวิตของคุณธนาธรตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง มาหลังเลือกตั้งก็โดนตัดสิทธิ์ ทางการเมือง ถูกยุบพรรค มองว่า กระบวนการเหล่านี้ต้องการสกัดไม่มีอำนาจหรือเปล่า เพราะล่าสุดก็ถูกกล่าวว่า ทำตัวเสมือนหนึ่งพรรคการเมือง

ธนาธร : มีคนไปฟ้อง กกต.ว่า พวกเราคณะก้าวหน้าทำผิดกฎหมายจากการส่งผู้สมัครลงในสนามเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งต้องบอกว่า กฎหมายเขียนชัดเจนว่า ประชาชนมีสิทธิ มีอิสระ หลักกฎหมายโดยทั่วไป คือ ถ้าจะไม่ให้ประชาชนทำอะไรต้องเขียนบอกไว้ ประชาชนถึงทำไม่ได้ แต่ไม่มีกฎหมายข้อไหนห้ามคนรวมตัวกัน แล้วสมัครเลือกตั้งท้องถิ่นหลายๆ แห่ง ไม่มี

“สิ่งที่เราทำๆ เพื่อความหวังดีต่อประเทศ เราเชื่อว่า เรามีความรู้ มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสร้างบ้านเมืองที่ดีกว่านี้ สร้างท้องถิ่นที่น่าอยู่กว่านี้ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากกว่านี้ แล้วเราอยากใช้ตรงนี้ทำเพื่อบอกประชาชนว่า อย่าเพิ่งหมดหวัง อย่าเพิ่งท้อแท้ อย่าเชื่อว่าประเทศไทยไปไกลกว่านี้ไม่ได้ อย่าเชื่อว่าประเทศไทยมาสุดทางแล้ว”  

The Isaan Record : เคยคิดหรือไม่ว่า ถ้าวันหนึ่งต้องถูกจำคุกทำอย่างไร   

อนาคตคงไม่รู้ ผมยังสนุกกับการทำงาน ยังมีความมุ่งมั่นตั้งใจเต็มเปี่ยมที่จะผลักดันที่จะสร้างสังคมไทยที่ดีกว่านี้ ดังนั้นอนาคตมันจะเป็นอย่างไร ไม่ได้คิดไกลขนาดนั้น ผมรู้สึกว่าผมทำทุกวันให้มันเต็มที่  

The Isaan Record : เคยบอกภรรยาและครอบครัวหรือไม่ว่า ถ้าวันหนึ่งต้องติดคุก ลูกๆ ต้องทำอย่างไรต่อ  

ธนาธร : เรื่องต้องทำอย่างไรต่อ ผมไม่ได้มีปัญหา เพราะภรรยาผมเป็นแม่ที่ดีอยู่แล้ว แล้วเขาก็เอาใจใส่ในการเติบโตของลูก เขาบริหารจัดการต่อได้ ไม่ต้องให้ผมบอกว่าถ้าผมติดคุกแล้วจะทำอย่างไร ผมบอกเขาอย่างเดียวว่า ถ้าผมติดคุก แล้วไม่ได้มีโอกาสมองดูการเติบโตของลูกก็เล่าเรื่องผมว่า ทำไมผมต้องทำสิ่งที่ผมทำให้ลูกฟังด้วยแล้วกัน นั่นคือ สิ่งที่ผมบอกภรรยา

The Isaan Record : เคยอยากหันหลังให้การเมืองแล้วกลับไปทำธุรกิจเหมือนเดิมไหม  

ธนาธร : เคยคิด แน่นอนที่สุดมันต้องคิดว่า “ถ้า” คือคำถามใหญ่ ถ้าวันนั้นไม่ทำแบบนี้ แน่นอนตัวเองคงไม่เกิดคดีความเยอะแยะขนาดนี้ แต่ถ้าวันนั้นไม่ทำแบบนี้ ผมคิดว่า แก่ตัวไปอาจจะเสียใจในช่วงเวลา ในวินาทีที่ประวัติศาสตร์มันเรียกร้องเรา เรากลับไม่ทำอะไรเลย ผมนึกไม่ออกว่าเราจะไปตอบลูกหลาน เราจะไปตอบคนรุ่นต่อไปอย่างไรว่า ช่วงเวลาที่หน้าสิ่วหน้าขวานแบบนั้นเราทำอะไร 

The Isaan Record : อยากฝากอะไรคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในขณะนี้แล้วถูกจับกุม ถูกปราบปราม  

ธนาธร : คงต้องเป็นช่วงเวลาที่ต้องยืนอยู่ให้กำลังใจกันและกัน ยืนอยู่เคียงข้างกัน อย่าทิ้งคนที่ออกมานำ เพราะถ้าเราทิ้งพวกเขาไปจะไม่มีใครออกมานำให้พวกเราอีก ถ้าไม่มีใครออกมานำก็จะไม่เกิดการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง สำหรับผมๆ เชื่อว่า การทำงานในสภาและการทำงานนอกสภา ด้วยการรณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจปัญหาสำคัญเท่าๆ กัน 

การทำงานในสภา คือ การท้าทายอำนาจที่เป็นจริง ไม่ว่าคุณจะเรียกร้องเรื่องการปฏิรูประบบราชการ การกระจายอำนาจ การปฏิรูปกองทัพ การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ท้ายที่สุดมันก็ต้องทำผ่านสภา ดังนั้นการเมืองในสภาก็สำคัญมันทิ้งไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันการส่งเสียงของสังคมให้กับผู้มีอำนาจรับรู้ว่า สังคมมันกลับไปเหมือนเดิมไม่ได้อีกแล้ว ก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน ผมคิดว่า มันต้องไปด้วยกัน ต้องยืนหยัดต่อสู้โดยเฉพาะคนที่รู้ว่า ต่อสู้แล้วต้องสูญเสียอิสรภาพ แต่ก็ยังยืนยันทำในสิ่งที่ทำ ไม่ว่าจะเป็นรุ้ง (ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล) ไม่ว่าจะเป็นเพนกวิ้น (พริษ ชิวารักษ์) อานนท์ (นำภา) เบญจา (อะปัน) คนกล้าหาญคนที่ต้องสรรเสริญ

image_pdfimage_print