ถ้าจะทำความเข้าใจกระแสดูถูกเหยียดหยามคนอีสานผ่านคลับเฮาส์ให้มากขึ้น “วิทยากร โสวัตร” ชวนดูสิ่งที่รัฐสยามกระทำกับอาณานิยมภายในที่มีทั้งฉกฉวย ปราบปราม และทำให้ต้อยต่ำ เพื่อให้ง่ายต่อการปกครอง แม้ตอนนี้จะคนลาวอีสานจะสร้างชื่อเสียงให้กับชาติเป็นจำนวน แต่การถูกเหยียดหยามก็ยังไม่หาย 

วิทยากร โสวัตร เรื่อง

ถ้าผมขึ้นต้นบทความด้วยการบอกว่า ในกรณีดราม่าดูถูกเหยียดหยามคนอีสานในคลับเฮาส์นั้น ผมไม่รู้สึกอะไรมากนัก คุณผู้อ่านอาจโกรธผมก็ได้ แต่ผมมีเหตุผล – –

คือถ้าเราไม่หลอกตัวเองจนเกินไป ตั้งแต่มีการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น มุมมองของชนชั้นนำในกรุงเทพฯ มองคนนอกเหนือจากตัวเองคืออนารยชน ไม่ต่างจากที่ประเทศตะวันตกล่าเมืองขึ้นมองคนในประเทศที่ตัวเองไปล่าว่า อนารยะบางทีถึงขั้นไม่ใช่คนด้วยซ้ำ พูดให้เบาที่สุดก็คือเขาไม่ได้มีความคิดว่าคนอื่นนั้นมีความเป็นคนเท่ากับเขา มีคุณค่าเท่ากับเขา และด้วยเหตุนี้ก็จึงใช้เป็นเงื่อนไขในการเข้าไปปกครอง – ประวัติศาสตร์บอกเราแบบนี้นะครับ

และก็ไม่แน่ว่า บางทีชนชั้นนำไทยอาจรับวิธีคิดแบบฝรั่งนักล่าอาณานิคมแบบนั้นมาใช้กับคนในประเทศในกำกับของตัวเองก็เป็นได้ งานวิจัยหลายชิ้นก็ชี้แบบนี้ว่า สยามปกครองเมืองต่างๆ ในลักษณะอาณานิคมภายใน ที่โดดเด่นที่สุดก็เห็นจะเป็นงานศึกษาของ ไชยันต์ รัชชกูล เรื่องอาณานิคมสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การก่อรูปรัฐไทยสมัยใหม่ และถ้าจะพูดไปแล้ว ช่วงเริ่มต้นของการก่อรูปรัฐไทยสมัยใหม่นี้ ทางการรัฐไทย (สยาม) ฆ่าคนบนแผ่นดินอีสานไปไม่ใช่น้อยๆ ขนทรัพยากรไปไม่ใช่น้อยๆ จนถึงปัจจุบันนี้ด้วย แล้วทิ้งเศษมาให้พอกันตาย

เพราะอะไร?

ก็เพราะว่า อีสานติดกับลาว คนส่วนใหญ่ในอีสานก็มีวัฒนธรรมลาวแบบเดียวกับลาวในประเทศลาว บางส่วนติดกับเขมร ซึ่งประเทศข้างเคียงเหล่านี้ ศูนย์กลางอำนาจไทยก็ดูถูกเหยียดหยามว่า ต่ำกว่าตน และก็ด้วยเหตุนี้แหละ คนอีสานไม่ว่า จะเป็นคนเชื้อชาติตระกูลไหนบนแผ่นดินที่ราบสูงนี้ จึงอยากเป็นอีสาน เป็นคนอีสานตามที่ถูกเรียกหรือถูกกำหนดให้จากศูนย์กลางอำนาจ อยากเป็นคนไทย เป็นไทยอีสาน ไม่อยากเป็นลาว เขมร แล้วเพราะไทยดูถูก

ถ้ามองเผินๆ ก็เหมือนเราดูถูกหรือปฏิเสธหรือพูดให้เบาหน่อยก็คือเราไม่กล้ายอมรับในตัวตนแห่งชาติพันธุ์ตัวเอง แต่ถ้ามองให้ลึกกว่านั้น ก็คือเราถูกทำให้รังเกียจตัวเอง และไอ้ช่องว่างของการถูกทำให้รังเกียจตัวเองกับการอยากเป็นไทยนี่แหละ ที่เป็นช่องว่างที่รัฐไทยไม่เคยถมให้เต็มเลยและใช้เป็นเงื่อนไขในการกดขี่ขูดรีดเอาเปรียบ

ถ้าเราไม่โกหกตัวเองนะ คนอีสานอายุ 35 ขึ้นไป กล้าพูดลาว พูดเขมร พูดภาษาบ้านเกิดตัวเอง ตอนไหนเมื่อเข้าไปภาคกลางหรือกรุงเทพฯ (ผมไม่เรียกภาษาอีสานนะครับ เพราะผมยังยืนยันว่า ภาษาอีสานไม่มี คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า ภาษาลาว คือ ภาษาอีสาน แต่ถ้าพูดเขมร (ทั้งที่ เขาไม่เรียกภาษาอีสาน ทั้งๆ ที่คนพูดก็อยู่อีสาน (สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ) นี่มันก็จะกลายเป็นเหยียดในเหยียดกันอีกที ตกหลุมพรางศูนย์กลางอำนาจกรุงเทพฯอีก) จี้ลงไปกว่านั้นก็ได้ว่า เรากล้าพูดภาษาของเราที่กรุงเทพฯ แบบมั่นใจตอนไหน ปี พ.ศ.อะไร?

คิดดูดีๆ นะครับว่า เสี่ยว คำที่หมายถึงมิตรภาพอันศักดิ์สิทธิ์ กลายเป็น บักเสี่ยว ซึ่งเป็นคำล้อเลียนของคนพูดไทยตอนไหนและคำๆ นี้ได้รับการปลดแอกจากการใช้ล้อเลียนเหยียดหยามเล่นสนุกสนานตอนไหน?

นี่ยังไม่นับว่า เราถูกกดทับแม้กระทั่งการสะกดคำออกเสียง ไม่เชื่อคุณก็ลองออกเสียงคำว่า เสี่ยว ดูสิ มันตรงกับเสียงของคนลาวอีสานบ้านเราหรือเปล่า เราออกเสียงว่า เซียว บอแมนตี้ เป็นหยัง คือ ให่เฮาเขียนคำนี่ว่า เสี่ยว เพราะไอ้คำว่า เสี่ยว (ถ้าเอาตามเสียง) มันแปลว่า หลุด หลุย นี่เราถูกบีบ ถูกบดบังคับกันถึงขั้นนี้นะ

หรือถ้าใครเคยบวชเรียนในช่วงก่อนปี 2530 ซึ่งตอนนั้นสำนักเรียนดีๆ มันอยู่กรุงเทพฯ ไม่ว่าจะทางปริยัติธรรม (บาลี) และปริยัติสามัญ เราจะมีคำล้อแกมท้ากันว่า หาวัดอยู่ในกรุงเทพฯ นี่ยากกว่าหาเงินหมื่น (สมัยนั้นข้าวเกวียนหรือตันละสองพันกว่าบาทนะครับ) ที่เจ็บกว่านั้น หลายวัดขึ้นป้าย “ไม่รับเณรลาว/เณรอีสาน” 

ผมว่า นี่เป็นเหตุหนึ่งที่ทางมหาวิทยาลัยสงฆ์ในช่วงนั้นขยายวิทยาเขตมาอีสานเป็นแห่งแรกๆ และมีหลายวิทยาเขตมากที่สุด (เพราะคนอีสานยากจน เลยต้องบวชเรียนเยอะ) และผมมั่นใจว่า คุณูประการนี้เป็นของอดีตพระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) ท่านคงเห็นปัญหานี้และอดสะเทือนใจไม่ได้ อีกอย่างวัดมหาธาตุของท่านก็รองรับลูกหลานอีสานไม่ได้หมด

พูดถึงหลวงพ่ออาจนี่ ผมแค้นใจมากที่มีพวกนักบวชเก่า สึกมาได้ดิบได้ดี แล้วดันไปยกหางเผด็จการ รู้ทั้งรู้ว่าพวกมันทำร้ายหลวงพ่อผู้ให้โอกาสการศึกษาขนาดไหน ไร้สำนึกสิ้นดี

และในช่วงปี 30 กว่าๆ นี่แหละที่ พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ มีเพลง ลาว ออกมา (ผมไม่แน่ใจว่า อยู่อัลบั้มไหน) แต่นี่เป็นหลักฐานชี้ชัดว่า คนอีสานนั้นโดนดูถูกเหยียดหยามขนาดไหน

เพลงลาว – พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ

แล้วเมื่อความจริงมันเป็นเช่นนี้ มุมหนึ่งไอ้ที่คนพูดในคลับเฮาส์นั้น มันก็สะท้อนความจริงนะครับ ความจริงที่เป็นมรดกทางทัศนคติที่เขามองคนอีสานแบบนั้น คือ อยู่ๆ มันไม่ได้มีหรือเกิดความรู้สึกนึกคิดนี้ขึ้นมาลอยๆ หรอก

คำถามที่สำคัญก็ คือ ทั้งๆ ที่สังคมไทยมันมาถึงยุคที่คนอีสานประสบความสำเร็จ โด่งดัง ร่ำรวยเต็มบ้านเต็มเมือง คนอีสานรุ่นหลังกล้าพูดภาษาบ้านเกิดตัวเอง (ก็จะมีแต่คนลาวอีสานนี่แหละ บอกว่า ตัวเองพูดอีสาน) อย่างมั่นอกมั่นใจ ออกสื่อ แล้วทำไมความคิดความรู้สึกดูถูกเหยียดหยามแบบนี้ยังมีอยู่

ผมว่า มันมีเหตุผลในตัวของมันเองและมันสัมพันธ์กับการเมืองที่ผูกโยงอยู่กับ “เสียง” นั่นคือการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

ชัยชนะของพรรคความหวังใหม่ คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนอีสานรู้และรู้สึกได้ถึง “พลังเสียง” ของตัวเอง และเราก็ต้องยอมรับว่าฐานเสียงหลักของพรรคไทยรักไทยภายหลังรัฐธรรมนูญ 40 คือ ภาคอีสานซึ่งเป็นฐานเสียงเก่าของพรรคความหวังใหม่ พันธสัญญาต่างๆ ที่พรรคความหวังใหม่ได้ให้ไว้ และบางอย่างก็เริ่มไปแล้ว แล้วถูกยกเลิกโดยรัฐบาลชวน มันกลับมาได้ในยุคพรรคไทยรักไทย และได้มากกว่าเดิมด้วยในรูปของการทำตามนโยบายที่หาเสียง

คนอีสานที่ทุกข์ยากมายาวนาน บ้านแตกสาแหรกขาด กลายเป็นแรงงานอพยพเพราะนโยบายของรัฐที่ผ่านมา กลับกลายเป็น “คนชั้นกลางใหม่” ประชาธิปไตยครึ่งใบที่ทำให้คนอีสานไร้โอกาสในยุคเปรม กลับกลายเป็นประชาธิปไตยกินได้ด้วยรัฐธรรมนูญจากประชามติ 40

ส่วนเรื่องศิลปวัฒนธรรมนั้น ต่อสู้ปูทางมาก่อนแล้ว เราจะเห็นได้จากคณะหมอลำ วงดนตรีลูกทุ่งอีสาน มีฐานคนฟังในพื้นที่เหนียวแน่นไม่ต้องง้อส่วนกลาง และยังรุกคืบขยายพื้นที่ไปครอบคลุมทั่วประเทศอย่างกรณีพรศักดิ์ ส่องแสง นั้นชัดเจนที่สุด ต่อเนื่องมาถึงครูสลา คุณวุฒิ นี่ยังไม่นับกรณีวัฒนธรรมทางอาหาร  แต่ทุกอย่างมันมาบูมสุดๆ ก็ตอนเข้าสู่ยุคโซเซียลนี่เอง

จังหวะมันพอดีจริงๆ ที่รัฐธรรมนูญ 40 ถูกแปรให้เป็นรูปธรรมเป็นรัฐธรรมนูญที่กินได้ คนอีสานกลายเป็นคนชั้นกลางใหม่ พร้อมๆ กับการมาของยุคโซเซียล ตรงนี้แหละที่ทำให้ปัจเจกชนเห็นศักยภาพที่แท้จริงของตัวเอง กล่าวเฉพาะคนอีสาน ที่ศักยภาพนั้นถูกกดไว้ด้วยโครงสร้างรัฐส่วนกลาง ก็ได้สำแดงเดชจนถึงวันนี้

ตรรกะเดียวกับการเมือง จำนวนคนอีสาน คือ 1 ใน 3 ของประเทศ ถ้าพรรคการเมืองไหนยึดอีสานได้ก็ คือ ยึดประเทศได้ ดังนั้นปรากฏการณ์เพลงและศิลปินที่ติดชาร์จสูงสุดที่มีแต่ศิลปินอีสานนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลก 

นี่ผมอยากให้มีคนสำรวจมากว่า ช่องยูทูบ ที่ทำเงินสร้างรายได้ สร้างเน็ตไอดอลต่างๆ นั้น จำนวนช่องของคนอีสานมีมากน้อยแค่ไหนเมื่อเทียบกันทั้งประเทศ

กลับไปที่คำถามเดิม ทั้งๆ ที่สังคมไทยมันมาถึงยุคที่คนอีสานประสบความสำเร็จ โด่งดัง ร่ำรวยเต็มบ้านเต็มเมือง คนอีสานรุ่นหลังกล้าพูดภาษาบ้านเกิดอย่างมั่นอกมั่นใจ ออกสื่อ เป็นเน็ตไอดอล เป็นซุปเปอร์สตาร์มากมาย แล้วทำไมความคิดความรู้สึกดูถูกเหยียดหยามแบบนี้ยังมีอยู่

ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ตรงๆ ผมจะชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงกับการเมือง ว่า ความรู้สึกนึกคิดของคนในคลับเฮาส์เหล่านี้ มันคือมายด์เซ็ตเดียวกับชนชั้นนำไทยในยุคก่อนและกลุ่มคนเดียวกันนี้เองที่พยายามทำลายพลังและการพัฒนาของประชาชนมาทุกยุคทุกสมัย 

กลุ่มคนเดียวกันนี้เองที่ทำลายกติกาประชาชน ทำลายรัฐธรรมนูญ 40 ที่ทำให้ประชาธิปไตยกินได้ จากข้าวเปลือกตันละ 12,000-15,000 เหลือตันละ 4,000-5,000 ก็เพราะคนกลุ่มนี้แหละ

รายงานของธนาคารโลกเมื่อ 15 ปีที่แล้วบอกว่า คนอีสานคิดเป็น 34% ของประชากร แต่งบได้เพียง 6% ของงบประมาณแผ่นดินหรือคิดเป็นสัดส่วนต่อหัวระหว่างคนกรุงเทพฯ กับคนอีสานที่ 1/25 หมายถึงคนกรุงเทพฯ ได้เงิน 25 บาท คนอีสานได้ 1 บาท (เด็กกรุงเทพฯ ได้ 250 บาท เด็กอีสานได้ 10 บาท ถ้าแปรเงินไปเป็นอาหารเพื่อเสริมสร้างร่างกายและสมอง นี่มันบอกถึงอะไร ถ้าไม่ใช่ว่าเขายังเห็นคนอีสานไม่ใช่คนหรือไม่ใช่คนเท่าเขา) และก็คนกลุ่มเดียวกันนี้แหละที่ทำลายเสรีภาพของสื่อและโซเชียลด้วยการออกกฎหมายบ้าๆ บอๆ มาจำกัดสิทธิ์ประชาชน แล้วรักษาอำนาจตัวเองและพวก

ดังนั้นมีทางเดียวที่เราจะทำลายทัศนคติเลวๆ อันเป็นมรดกจากการรวมศูนย์นี้ได้ คือการผลักดันให้มีประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญของประชาชนให้ได้ และพัฒนาไปสู่การลดอำนาจรัฐให้น้อยลง เพื่อให้เราได้จัดสรรทรัพยากรของเราให้เต็มที่ ไม่ใช่เอารายได้และทรัพยากรส่วนใหญ่ป้อนส่วนกลางอยู่อย่างนี้

เฉพาะหน้านี้ คือ การเลือกตั้งครั้งหน้า คนอีสานจักต้องลุกขึ้นมาสั่งสอนพวกมัน – พวกซากเดนเผด็จการและพรรคพวกแนวร่วมของพวกมัน ถ้าไม่แล้ว เราก็จะถูกเขาเหยียดหยามดูถูกอยู่แบบนี้ จะเป็นได้ก็แค่ผีรอส่วนบุญจากพวกเขาเท่านั้น

หมายเหตุ : ชื่อบทความเป็นวรรคหนึ่งในบทกวี อีศาน ของ นายผี

image_pdfimage_print