ผู้มีเชื้อ HIV จำนวนไม่น้อยต้องตกงาน เพราะสถานประกอบการบางแห่งละเมิดสิทธิด้วยการตรวจเลือดหา HIV เพื่อกีดกันและตีตรา แต่ยังมีอีกหลายคนเดินหน้าร้องเรียนและตามหาฝันเพื่อทำให้เห็นว่า “โลกนี้มีพื้นที่เพียงพอสำหรับทุกคน ไม่ควรมีใครถูกกีดกัน”   

The Isaan Record เรื่องและภาพ 

“ผมรู้สึกว่า โลกนี้มันมีพื้นที่สำหรับทุกคน ไม่ควรมีใครถูกกีดกันออกสังคม” 

เป็นความรู้สึกของเด็กหนุ่ม ว่าที่บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งกล่าวด้วยความอัดอั้น เมื่อรู้ว่า หลังเรียนจบเขาอาจจะไม่ได้เป็นผู้พิพากษาดังที่ใจวาดหวัง 

เพียงเพราะปราการด่านแรกของการเข้าทำงานในองค์กรนี้มีถ้อยคำในระเบียบคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยโรคอันมีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นข้าราชการ พ.ศ.2545 โดยเฉพาะ ข้อ 3 (6) ที่ระบุว่า “โรคติดต่อที่เป็นเหตุให้ไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการตุลาการ”

เพราะข้อความในระเบียบดังกล่าวมีความคลุมเครือ ตีความได้กว้าง นั่นจึงสร้างความกังวลให้เขาไม่น้อย เพราะอาจตีความได้ว่า HIV เป็นโรคติดต่อที่ไม่เหมาะสมจะเป็นตุลาการ 

เขาจึงเก็บงำความสงสัยนี้ไว้อย่างทุกข์ทน 

ว่าที่บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง

หนูต้องลาออกจากงาน เพราะไม่อยากตรวจเลือด

เรื่องราวของว่าที่นักกฎหมาย ไม่แตกต่างจากเด็กสาวที่ฝันอยากเป็นเซฟ แต่ระหว่างทำงานที่ร้านอาหารชื่อดังแห่งหนึ่งที่มีสาขาทั่วประเทศกลับทำให้เธอต้องเจอประสบการณ์อันเลวร้าย

“ตอนหนูเป็นพนักงานพาร์ทไทม์ เขาก็ไม่ตรวจเลือดเพื่อหา HIV นะคะ กระทั่งผู้จัดการเห็นแววว่า หนูทำงานดี ควรได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นพนักงานประจำ แต่จะต้องตรวจเลือด” 

ถือเป็นเหตุผลที่เด็กสาวนามสมมุติ “แอน” ต้องชิงลาออก โดยไม่แจ้งเหตุผลที่แท้จริงกับหัวหน้างาน 

หลังลาออกเธอจึงตัดสินใจร้องเรียนไปยังเว็บไซต์ “น้องปกป้อง” ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รับเรื่องราวร้องทุกข์และคุ้มครองการละเมิดสิทธิด้านเอดส์ ของกระทรวงสาธารณสุข 

หลังการร้องเรียนก็มีเจ้าหน้าที่ติดต่อขอข้อมูล ทว่าเรื่องราวของเธอยังไม่มีผลถึงขั้นนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เพราะปัจจุบันยังคงมีหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนใช้เป็นเหตุผลนี้ในการรับสมัครงานและเลื่อนตำแหน่งของพนักงานอยู่ 

“หนูก็ได้แต่หวังว่า วันหนึ่งหนูจะได้งานเป็นเซฟ ทำงานด้านอาหารอย่างที่ฝันไว้ เพราะหนูคิดว่า ตอนนี้เชื้อ HIV มันไม่ได้ติดกันทางอาหาร อีกอย่างการกินยาเป็นประจำก็ทำให้เชื้อลดลงแล้ว”เธอกล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น 

อย่ารู้ผลเลือดเพื่อกีดกันผู้มีเชื้อ HIV 

แม้ว่า กระทรวงสาธารณสุขจะออกประกาศไม่ให้สถานประกอบการ ทั้งรัฐและเอกชน รวมถึงคลินิก ห้องแล็บต่างๆ ห้ามรับจ้างตรวจเลือดหาเชื้อ HIV แล้วส่งผลไปยังบุคคลที่ไม่ใช่เจ้าของเลือด เพราะถือเป็นการขัดกับหลักประกอบโรคศิลป์และขัดหลักสิทธิมนุษยชน แต่กลับพบว่า ปัจจุบันมีสถานพยาบาลจำนวนมากไม่ปฏิบัติตาม 

ข้อมูลจากโครงการเอดส์แห่งสหประชาชน (UNAIDS) ระบุว่า เกินกว่าครึ่งของคนไทยยังคงมีทัศนคติที่อาจนำไปสู่การเลือกปฏิบัติ 

อภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย 

“สถานประกอบการหลายแห่งอ้างว่า อยากรู้ผลเลือดของพนักงาน คำถามผมมีนิดเดียว รู้ไปเพื่ออะไร ในเมื่อคุณไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข รู้เพื่อการกีดกันใช่หรือไม่”เป็นคำถามจาก อภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย 

จากการทำงานด้านนี้มากว่า 20 ปี “อภิวัฒน์” เห็นพัฒนาการในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผู้มีเชื้อเอชไอวีต่อสังคม แม้จะเป็นเรื่องยากแต่ไม่ใช่ว่า “จะทำไม่ได้” 

เพราะปัจจุบันสำนักงานข้าราชการพลเรือน (กพ.) ยกเลิกวิธีตรวจเลือดเพื่อหา HIV สำหรับผู้สมัครเป็นข้าราชการ รวมถึงสำนักงานอัยการก็ยกเลิกกระบวนการนี้แล้ว แต่ยังมีหน่วยงานรัฐอีกหลายหน่วยงาน อาทิ ศาล ตำรวจ ทหาร เป็นต้น ที่ยังคงมีกระบวนการนี้อย่างเข้มข้น 

นอกจากนี้ยังพบว่า สถานประกอบการร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม ยังคงมีการกีดกันด้วยการตรวจเลือด

“ผมเข้าใจว่า การรับคนเข้าทำงานต้องดูว่า เขาทำงานมีประสิทธิภาพหรือไม่ ไม่ใช่ดูแค่ผลเลือด เพราะการตรวจหาเชื้อ HIV ก่อนเข้าทำงาน ไม่ใช่เรื่องการป้องกันในอนาคต มันเป็นคนละเรื่อง”ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ยืนยันหนักแน่น

แม้จะมีผู้ร้องเรียนถึงการละเมิดอย่างต่อเนื่อง แต่ดูเหมือนว่า สถานประกอบการจำนวนไม่น้อยก็ยังมีการกีดกันและการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานข้อนี้อยู่ 

ผู้ถูกละเมิดได้ร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงาน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560 – สิงหาคม 2561 มีผู้ร้องเรียนจำนวน 6 คนว่า ถูกกีดกันด้วยการตรวจสุขภาพและตรวจหาเชื้อ HIV ก่อนรับเข้าทำงาน

ณรงค์ ศรีระสันต์ อัยการพิเศษฝ่ายแผนช่วยเหลือทางกฎหมาย 

กีดกันผู้มีเชื้อ HIV ทำไม่ได้ แต่ยังฝ่าฝืน 

แม้จะมีมติคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับการให้โอกาสผู้มีเชื้อ HIV คนพิการ ผู้เสพและผู้ติดยาเข้าทำงาน รวมถึงศึกษาต่อในหน่วยงานของรัฐออกมาบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2550 ทว่าในความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น 

“การตรวจหาเชื้อ HIV เพื่อรับเข้าทำงานและการสอบเข้าเรียนในปัจจุบันนี้มันทำไม่ได้แล้ว เพราะมันเป็นการเลือกปฏิบัติหรือตีตรา” ณรงค์ ศรีระสันต์ อัยการพิเศษฝ่ายแผนช่วยเหลือทางกฎหมาย กล่าวและเห็นว่า การผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติ พ.ศ….ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและการสร้างความเข้าใจให้กับผู้คน โดยเฉพาะผู้ประกอบการจะไม่ละเมิดสิทธิผู้มีเชื้อ HIV ด้วยการตรวจเลือดก่อนสมัครงานอีก 

โลกนี้มีพื้นที่สำหรับทุกคน 

“ผมรู้สึกว่า โลกนี้มันมีพื้นที่สำหรับทุกคน ไม่ควรมีใครถูกกีดกันออกสังคม” ถือเป็นการเน้นย้ำจากความรู้สึกของผู้มีเชื้อ HIV ที่เฝ้ารอว่า อนาคตของเขาจะถูกลดการกีดกันหรือไม่ 

ข้อกังวลนี้ ถูกไขโดย สรวิศ ลิมปรังษี ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา ในฐานะโฆษกศาลยุติธรรมที่อธิบายว่า ยืนยันว่า ขั้นตอนการรับสมัครผู้ช่วยผู้พิพากษาไม่มีการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อ HIV แต่เป็นการตรวจสุขภาพของคณะกรรมการแพทย์หลังจากสอบผ่านแล้ว ส่วนจะตรวจเจอเชื้ออะไรก็เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่แพทย์พบ เช่น ปัจจุบันอาจจะพบเชื้อโควิด เป็นต้น 

“ยืนยันว่า ผู้มีเชื้อ HIV ที่สอบผ่านข้อเขียนหรือขั้นตอนต่างๆ แล้วไม่เป็นประเด็นในการตัดสิทธิ์การเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา”โฆษกศาลยุติธรรม กล่าว

ทั้งนี้โฆษกศาลยุติธรรม ยังยอมรับว่า ระเบียบคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยโรคอันมีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นข้าราชการ พ.ศ.2545 โดยเฉพาะ ข้อ 3 (6) ที่ระบุ “โรคติดต่อที่เป็นเหตุให้ไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการตุลาการ” เป็นข้อความที่ตีความได้กว้าง แต่ กต.ใช้หลักเดียวกับข้าราชการพลเรือนและสำนักงานอัยการที่ไม่มีการตรวจหาเชื้อนี้มานานแล้ว 

แม้ความกังวลของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ผู้ฝันอยากจะเป็น “ผู้พิพากษา” จะถูกไขข้อข้องใจแล้ว แต่สำหรับหญิงสาวชื่อ “แอน” ผู้มีประสบการณ์อันเลวร้ายจนต้องตกงาน เพราะถูกกีดกันยังฝังใจ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ผู้ติดเชื้อ HIV อีกจำนวนไม่น้อยต้องเผชิญเพียงแต่เรื่องราวของพวกเขาไม่ถูกเปิดเผยออกมาก็เท่านั้น 

คงถึงเวลาที่ต้องทบทวนแล้วว่า “พวกเราจะอยู่แบบนี้จริงๆ หรือ” 

หมายเหตุ : The Isaan Record ร่วมกับเครือข่ายเยาวชนที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีประเทศไทย สนับสนุนโดยองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย 

ดูเพิ่มเติม ซีรีส์ชุดหยุดการตีตราผู้มีเชื้อ HIV (1) – เมื่อผลเลือดเสี่ยงปิดกั้นการเป็นผู้พิพากษา

image_pdfimage_print