The Isaan Record เรื่องและภาพ

การถูกเลือกปฏิบัติจากสังคมอย่างไม่เท่าเทียม เพียงเพราะมีเชื้อ HIV ในเลือดทำให้เด็กชายต้องหลบซ่อนตัวตั้งแต่รู้ว่า มีเชื้อนี้ในร่างกาย เพื่อปกป้องตัวเองให้เหลือพื้นที่ในสังคม เพื่อที่จะมีเพื่อนคบ เพื่อที่จะอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข 

แต่แล้วเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาเขาเริ่มรู้ว่า การมีเชื้อ HIV ในเลือด อาจส่งผลต่อความฝันของเขาที่จะเป็น “ผู้พิพากษา” 

ต่อจากนี้เป็นเรื่องราวของ “พี” (ชื่อสมมติ) วัย 22 นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่ไม่ขอเปิดเผยตัวตน แต่เขาเปิดใจให้สัมภาษณ์เผื่อว่า เรื่องราวของเขาจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่อการสมัครงานและการรับบุคคลเข้าทำงานที่ยังคงใช้ผลเลือด ซึ่งเป็นการกีดกันผู้มีเชื้อ HIV ในเลือดเป็นตัวกำหนด 

ภูมิหลังชีวิต

“พี” ค่อยๆ เล่าเรื่องราวของเขาอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้เขาจะรับเชื้อมาจากพ่อแม่ แต่ชีวิตของเขาก็ผู้อุปการะและคอยนำทางตั้งแต่อายุ 4 ขวบ 

“ตอนเด็กๆ ผมไม่ได้รู้เลยว่า ตัวเองมีเชื้อ เขาให้กินยาผมก็กิน” ยาจึงเป็นความทรงจำวัยเยาว์ที่เขารับรู้

การดูแลตัวเองตามคำแนะนำของพี่เลี้ยง ซึ่งเป็นผู้ดูแลเสมือนแม่ทำให้ “พี” ผ่านช่วงวันแห่งเยาว์วัยมาได้อย่างปลอดภัยและสามารถอยู่กับเชื้อนี้ได้เหมือนการเป็นไข้หวัดธรรมดาๆ  

ขณะเดียวกันเขายังเข้าใจเชื้อนี้อย่างถ่องแท้และเรียนรู้วิธีเพื่ออยู่กับ “มัน” 

สิ่งหนึ่งที่เขาได้เรียนรู้เช่นเดียวกันว่า คนในสังคมกลัวโรคนี้ เพราะการประโคมข่าวของความโหดร้ายของโรคนี้ที่เป็นแล้วตาย ไม่มียารักษา แต่พวกเขาส่วนใหญ่ไม่รู้ว่า ตอนนี้วิวัฒนาการด้านสาธารณสุขไม่ได้เป็นเหมือนเมื่อ 30 ปีที่แล้ว 

“พอออกจากบ้านพักผมจึงไม่กล้าบอกใครว่า เรามีเชื้อ เพราะว่าบางคนรับไม่ได้” 

กินยาต้องหลบเข้าห้องน้ำ 

ในเมื่อสังคมยังคงมีความตื่นกลัวตามการประโคมข่าว “พี” ในฐานะผู้ได้รับเชื้อนี้ตั้งแต่แบเบาะจึงต้องหาวิธีอยู่ร่วมกับสังคมให้ได้ โดยเฉพาะช่วงที่ต้องกินยาเพื่อกดเชื้อ HIV ไม่ให้เจริญเติบโต

“ถ้าผมออกไปข้างนอก แล้วอยู่กับเพื่อนก็กินจะยาไม่ได้ ทั้งที่ต้องกินแค่วันละเม็ดเอง เพื่อนอาจจะถามได้ว่า กินยาอะไร ดังนั้นผมต้องขอตัวเข้าห้องน้ำเพื่อจะไปกินยา เพราะไม่ได้บอกเพื่อนว่า เรามีเชื้อ กลัวเขารับไม่ได้ ผมไม่อยากเสียเพื่อนไป”พีเล่าด้วยเสียงราบเรียบ แต่เจือด้วยแววของความเศร้าหมอง 

ด้วยเหตุผลนี้เขาจึงเก็บงำความลับไว้บอกเฉพาะคนสำคัญๆ เท่านั้น 

“ผมไม่เคยบอกเพื่อนสนิทเลย แต่เคยบอกแฟนเก่า ซึ่งเขาเรียนหมอก็มีความเข้าใจเรื่องนี้และเขาก็รู้ว่า มันไม่ได้ติดง่ายๆ เพราะผมกินยามาตั้งแต่ตอนเด็กเลย แล้วตอนนี้ก็แทบจะหาเชื้อไม่เจอแล้ว เขาก็ไม่ได้มองเราแตกต่างจากเดิม” 

แต่แล้วคนในสังคมนี้ก็ย้อนแย้งกับวิวัฒนาการของเทคโนโลยีที่สามารถผลิตยามารักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV ซึ่งความย้อนแย้งนี้อาจดับฝันการเป็นผู้พิพากษาของเขาได้ เพราะความคลุมเครือในระเบียบของ กต.ทำให้อาจตีความได้ว่า HIV เป็นโรคติดต่อที่ไม่เหมาะสมจะเป็นผู้พิพากษา 

“ผมรู้สึกว่า เมืองไทยเน่าเฟะ จึงทำให้เริ่มสนใจกฎหมายและคิดว่า วันหนึ่งเราจะไปเปลี่ยนแปลงมัน”

เมื่อฝันอยากเป็นผู้พิพากษา 

การอยู่ในสังคมที่ไม่ยุติธรรมผลักดันให้เด็กหนุ่มต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการผดุงความยุติธรรม เขาเริ่มตัวเองสนใจการเมืองและติดตามข่าวสารบ้านเมืองตั้งแต่ชั้น ม.4 ซึ่งทำให้รู้ว่า สังคมไทยอยู่ในภาวะวิกฤต 

“ผมรู้สึกว่า เมืองไทยเน่าเฟะ จึงทำให้เริ่มสนใจกฎหมายและคิดว่า วันหนึ่งเราจะไปเปลี่ยนแปลงมัน ถ้าเรามีอำนาจ มีหน้าที่ตรงนั้น เราก็จะไม่ทำอย่างที่เราไม่ชอบก็เลยตั้งใจเรียนกฎหมาย ซึ่งก็หวังว่า จะได้ตัดสินคดีให้มันถูกต้อง เราอยากเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดี” 

ความต้องการเห็นสังคมดีขึ้นจึงเป็นจุดเริ่มที่เขาขยันอ่านหนังสือเพื่อเรียนให้จบกฎหมายแล้วสมัครเป็นผู้พิพากษาอย่างที่วางเป้าหมายไว้ แต่แล้วกลับพบว่า กระบวนการรับผู้พิพากษานั้นจะต้องตรวจเลือดหาเชื้อ HIV ซึ่งอาจจะทำให้ความฝันของเขาสะดุดลง 

ด่านแรก…เดินหน้าหรือถอยหลัง

เมื่อสนใจที่จะสมัครสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาเขาจึงศึกษาข้อมูลและสะดุดกับระเบียบเรื่องคุณสมบัติของผู้สมัครในเรื่องการไม่เป็นโรคที่คณะกรรมการตุลาการระบุไว้ในประกาศ 

นั่นหมายความว่า เขาอาจจะถูกกีดกัน?  

“มันกังวลตรงที่ว่า เฮ้ย ! เรามีความฝันนะ แล้วเราก็เต็มที่กับความฝันนี้มาก แต่มันก็มีบางอย่างที่ทำให้รู้สึกว่า เป็นอุปสรรค เป็นขวากหนามกับอนาคตเรา” 

ความกังวลเกิดขึ้นหลังจากรับทราบข้อมูลว่า การเกณฑ์ทหารจะต้องมีการตรวจเลือดและเจ้าหน้าที่อาจจะเขียนในใบรับรองว่า “เป็นโรคติดต่อไม่หาย” 

แน่นอนว่า โรคนี้จะต้องส่งผลกระทบต่อชีวิตและอนาคตเขามากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากการสมัครเข้าทำงานจะต้องยื่นใบรับรองการเป็นเกณฑ์ทหารต่อหน่วยงานที่จะสมัคร   

“ตอนที่ผมคิดถึงเรื่องนี้ก็ร้องไห้เหมือนกันนะ ถ้ามันเป็นอย่างนั้นจริง เราก็แบบทำอะไรไม่ได้เลย เพราะมีหลายคนที่เป็นผู้มีเชื้อแล้วโดนให้ออกหลังจากมีการตรวจเลือด ซึ่งมีการฟ้องร้องกันและเขาก็ชนะนะ แต่เขาก็ไม่ได้ทำงานอยู่ดี การชนะของเขามันก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อเรื่องนี้ด้วย”เขากล่าวด้วยน้ำเสียงอ่อย

โลกใบนี้ มันสร้างมาสำหรับทุกคน ไม่ควรมีใครต้องถูกกีดกัน สังคมมันก็จะน่าอยู่มากขึ้น เพราะโลกนี้มันมีที่ว่างสำหรับทุกคนอยู่แล้ว”

ตั้งคำถามกับระบบขององค์กร

การต้องอยู่กับความกังวลที่ยังไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ทำให้เขาตั้งคำถามถึงสิ่งที่เขาวาดหวังว่า จะได้ทำงานเพื่อผดุงความยุติธรรม 

“ผมเคยตั้งคำถามเรื่องนี้มานานมากแล้ว ทั้งที่ในรัฐธรรมนูญก็เขียนระบุไว้ว่า การจะรับคนเข้าทำงานต้องไม่แบ่งแยก ทุกคนต้องเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นชาย หญิง สัญชาติ ถ้ามันไม่ได้เป็นอุปสรรคของการทำงานก็ไม่ควรนำมาเป็นเกณฑ์กำหนดคนเข้าทำงาน”เขาตั้งคำถามเสียงดัง 

เขาจึงเสนอว่า หน่วยงานที่ยังคงมีความคิดแบบนี้จะต้องเปลี่ยนแปลงกฎกติกา เพื่อสร้างเป็นธรรมให้กับผู้คนในสังคม ไม่ควรมีการแบ่งแยก ทุกคนต้องเท่าเทียมกัน ไม่เฉพาะในสังคมตุลาการเท่านั้น แต่ควรเป็นทุกสังคม 

โลกใบนี้ มันสร้างมาสำหรับทุกคน ไม่ควรมีใครต้องถูกกีดกัน สังคมมันก็จะน่าอยู่มากขึ้น เพราะโลกนี้มันมีที่ว่างสำหรับทุกคนอยู่แล้ว”เขากล่าวทิ้งท้าย 

หมายเหตุ : The Isaan Record ร่วมกับเครือข่ายเยาวชนที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีประเทศไทย สนับสนุนโดยองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย

image_pdfimage_print