การเรียกร้องประชาธิปไตยก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 16 จะสำเร็จไม่ได้ หากไม่มีพลังนักศึกษาจากทั่วประเทศออกมารวมพลังกันต่อสู้กับผู้เผด็จการ ในช่วงนั้นนิสิตจากมหาสารคามก็มีบทบาทไม่น้อยเลยทีเดียว “พงศธรณ์ ตันเจริญ” ค้นเจอบันทึกการต่อสู้ของนักศึกษาอีสาน
พงศธรณ์ ตันเจริญ
มหาวิทยาลัยมหาสารคามในอดีตเมื่อครั้งยังเป็นวิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคามเคยมีกลุ่มของนิสิตที่มีความคิดหัวก้าวหน้า ซึ่งเคลื่อนไหวทางการเมืองเรียกร้องประชาธิปไตยในยุคที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน หรือ ยุค 14 ตุลาฯ 2516
แม้ที่ตั้งของวิทยาลัยจะห่างไกลจากเมืองกรุงฯ แต่การรับรู้ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเมืองหลวงและประสานการต่อสู้ระหว่างนิสิต นักศึกษาในกรุงเทพฯ กับอีสานนั้นก็ไม่ได้ขาดสาย
วันนี้จะพาผู้อ่านย้อนดูเรื่องราวอันสำคัญของนิสิตในฐานะที่เป็นปัญญาชนที่ลุกขึ้นมาเป็นกระบอกเสียง ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมและสังคมที่เท่าเทียม ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารจอมพล ถนอม กิตติขจร และพรรคพวก
ในช่วงทศวรรษ 2510 กลุ่มนิสิต นักศึกษากลายเป็นกลุ่มที่เติบโตขึ้นมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจไทยในเวลานั้น คนหนุ่มสาวเหล่านี้เติบโตมาท่ามกลางสภาพปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ในเวลานั้น ประเทศไทยมุ่งเน้นการผลิตแบบรวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพฯ
ทรัพยากรและแรงงานจากต่างจังหวัดต่างหลั่งไหลเข้ามาอยู่ที่กรุงเทพฯ ผู้คนจากต่างจังหวัดต่างแสวงหาโอกาสที่จะพัฒนาชีวิตของตนเองที่ดีกว่านี้ ด้วยการเข้าไปเป็นกรรมกรในโรงงาน จำต้องทิ้งไร่ทิ้งนาหันหน้าสู่เมืองกรุง ปัญหานี้นำมาสู่ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย ระหว่างชนบทกับเมือง ระหว่างภาคเกษตรกรรมกับภาคอุตสาหกรรม
นิสิต นักศึกษาและนักเรียน เริ่มตั้งคำถามกับการปกครองที่ไม่เอื้ออำนวยให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองจากการสืบทอดอำนาจของคณะทหารจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สู่ จอมพลถนอม กิตติขจร และมีท่าทีว่า จะส่งไม้ต่อไปยังจอมพลประพาส จารุเสถียร
ในระหว่างช่วงปี พ.ศ. 2512-2515 เยาวชน-คนหนุ่มสาว-รุ่นใหม่ ได้ก้าวเข้ามามีบทบาททางสังคมอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
จากการเข้าร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี พ.ศ. 2512 ออกค่ายอาสาพัฒนาชนบท วิพากษ์วิจารณ์สังคม มีบทบาทเป็นพลังผลักดันให้เกิดนโยบายต่างประเทศที่ไม่ฝักใฝ่เฉพาะฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ต่อต้านการครอบงําทางเศรษฐกิจจากสหรัฐอเมริกา ต่อต้านความหรูหราฟุ่มเฟือย มีความกังวลและห่วงใยการขาดดุลการชําระเงิน กระทั่งการเสนอแนวทางในการรักษาทรัพยากรและสภาพแวดล้อม ศิลปะและวรรณกรรมเพื่อชีวิต
เยาวชน-คนหนุ่มสาว-รุ่นใหม่ รวมตัวกันต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นและการเข้ามาตั้งฐานทัพของสหรัฐอเมริกา เหล่าเยาวชนรวมตัวกันเป็นกลุ่มอิสระตามสถาบันการศึกษาต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นระดับมหาวิทยาลัย ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด
ไม่ว่าจะเป็นระดับวิทยาลัยการศึกษาหรือวิทยาลัยครูเรื่อยลงไปจนถึงระดับโรงเรียนมัธยมและก็เกิดองค์กร เช่น ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (2513) และศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย
ผมจึงขอประมวลเหตุการณ์การเคลื่อนไหวของนิสิต วิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคาม จากหนังสือวารสาร อ.ม.ธ. ฉบับพิเศษ 14 ตุลาคม วันมหาปิติ ดังนี้
วันที่ 8 ตุลาคม 2516
มีข่าวว่า มีนิสิต นักศึกษา ประชาชน ถูกจับ เนื่องจากการเรียกร้องรัฐธรรมนูญและตั้งข้อหาให้ว่าเป็นกบฏ แต่ยังไม่ทราบว่าส่วนกลาง (ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย) นั้นมีปฏิกิริยาอย่างไร
วันที่ 9 ตุลาคม 2516
กลุ่มนิสิต (ในขณะนั้นเป็นวิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคาม) ได้ตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่งเพื่อจะดำเนินการ พร้อมกันนี้ก็คอยรับฟังข่าวจากศูนย์ฯ ผ่าน ว.ศ. ประสานมิตร แต่ก็ยังเงียบอยู่ ขณะนั้นพร้อมที่จะดำเนินการได้แล้ว
วันที่ 10 ตุลาคม 2516
นิสิติกลุ่มนั้นได้วางแผนหาอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการอภิปราย ซึ่งจะจัดขึ้นในบริเวณวิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคาม ทว่าข่าวคราวของนักศึกษาก็รู้ไปถึงท่านผู้ใหญ่ แล้วท่านก็เรียกพบและทำการสอบสวน พยายามให้นิสิตเห็นแก่วิทยาลัย เพราะจะมีผลกระทบกระเทือนเกี่ยวกับร.9 ที่จะเสด็จมาที่นั้นเพื่อพระราชทานปริญญาบัตรในเดือนพฤศจิกายนนี้ ทางวิทยาลัยจึงพยายามที่จะหน่วงเหนี่ยวไว้มิให้อภิปราย แต่นิสิตกลุ่มนั้นทนไม่ได้ จึงวางแผนทำงานเคลื่อนไหวทันทีในคืนวันนี้เอง มีการเตรียมคณะกรรมการต่าง ๆ และเขียนโปสเตอร์ที่จะติดให้ทั่ววิทยาลัยและเตรียมอภิปรายในวันรุ่งขึ้น
การชุมนุมประท้วงของนิสิต วิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคาม เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2516 จากหนังสือวารสาร อ.ม.ธ. ฉบับพิเศษ 14 ตุลาคม วันมหาปิติ
วันที่ 11 ตุลาคม 2516
นิสิตรวมตัวกันตั้งแต่ 6 โมงเช้า และเริ่มมีการอภิปรายโจมตีพฤติการณ์ต่างๆ ของรัฐบาลชุดก่อนตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นมาตอนนี้เองนายกองค์การนิสิตจึงเข้าด้วย และก็รัฐบาลชุดก่อนขอเข้าไปเป็นตัวแทนที่ศูนย์ฯในส่วนกลาง โดยให้คำมั่นสัญญาว่า จะส่งข่าวมาเป็นระยะๆ พร้อมกันนี้เองก็ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ ๑ และได้เดินขบวนไปยังศูนย์กลางชุมชนในมหาสารคามและเปิดอภิปรายโจมตีรัฐบาลชุดเก่าอยู่จนค่ำจึงกลับวิทยาลัยแล้วเปิดอภิปรายอีกตลอดคืน มีประชาชนให้ความสนใจมาฟังการอภิปรายที่วิทยาลัยอย่างล้นหลามในระหว่างนั้นมีนักข่าวถ่ายภาพและทำข่าว ทางตำรวจก็สั่งตำรวจมารักษาการณ์ตลอดเวลา
วันที่ 12 ตุลาคม 2516
ตัวแทนนิสิตที่เข้ากรุงเทพฯ ยังมิได้ส่งข่าวมาให้ทราบแม้แต่โทรศัพท์ทางไกลก็ถูกตัดไม่ให้มีการติดต่อได้เลย ทำให้นิสิตตัดสินใจไม่ถูกว่าจะทำอย่างไรต่อไปดี จึงตัดสินใจเดินขบวนไปยังชุมชนในเมืองมหาสารคามอีกและเปิดอภิปรายโจมตีรัฐบาลชุดเก่า และได้ปลูกฝังความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยให้ประชาชนทราบรวมทั้งการรับผิดชอบต่อสังคม นิสิตเปิดอภิปรายตลอดทั้งวัน และประชาชนก็ให้ความสนใจกันอย่างเนื่องแน่นทั้งวันเช่นกันประชาชนต่างเห็นใจนิสิตได้ให้อาหาร เครื่องดื่ม กระดาษโรเนียว รวมทั้งเงินและสิ่งของอื่นๆ ช่วยเหลือนิสิตอยู่ที่นั้นตลอดเวลาจนค่ำ จึงได้เดินกลับวิทยาลัยและปิดอภิปรายที่วิทยาลัย ประจวบกับมีนักศึกษาภาคค่ำมาเรียน นิสิตจึงปิดตึกเรียนและนักศึกษาภาคค่ำก็ได้มาร่วมมืออภิปรายและก็ได้แจกแถลงการณ์ไปด้วย
นอกจากนี้ยังมีแถลงการณ์ของแนวร่วมนักศึกษาประชาชนที่ตัวแทนนิสิตลักลอบนำออกมาจากส่วนกลาง อัดสำเนาแจกผู้ที่มาร่วมฟังและทำการอภิปรายทั้งคืน มีนักศึกษาจากวิทยาลัยครูและวิทยาลัยพลศึกษาตลอดจนนักเรียนจากโรงเรียนในจังหวัดมหาสารคามมาร่วมด้วยเป็นบางส่วน โดยเฉพาะวิทยาลัยครู มหาสารคาม ซึ่งอาจารย์ผู้ใหญ่ไม่สนับสนุนและไม่ให้สิทธิเสรีภาพของเด็กเท่าที่ควร
วันที่ 13 ตุลาคม 2516
นิสิตเปิดอภิปรายตลอดทั้งวันและในตอนกลางคืนได้เดินขบวนไปที่หอนาฬิกาเมืองมหาสารคามและเปิดอภิปรายที่นั้นอีกทั้งคืน และมีแถลงการณ์แจกประชาชนที่มาฟังอภิปรายด้วย นอกจากประชาชนจะสนับสนุนโดยการมาฟังแล้วก็ยังมีศรัทธาแรงใจโดยให้ผลไม้และอาหารอื่น ๆ มาร่วมด้วยและส่วนหนึ่งก็ได้ติดต่อรถยนต์จำนวน 5 คน เพื่อเข้าสู่กรุงเทพฯ โดยจะเข้าร่วมการต่อสู้ที่ส่วนกลางกรุงเทพฯในวันรุ่งขึ้น เรารอข่าวจากตัวแทนเราโดยเฉพาะนายกองค์การนิสิตที่เข้ากรุงเทพฯแต่ก็ไม่ได้ข่าวอะไร มีแต่โทรเลขสั้น ๆ ว่าสถานการณ์ไม่ดีเท่านั้น แต่สถานการณ์ที่เป็นจริงยังไม่ทราบแน่ และเราได้ส่งตัวแทนเข้ากรุงเทพฯอีกหลายคนเพื่อนำเอาข่าวที่เชื่อถือได้มาแจ้งให้พวกเราที่อยู่มหาสารคามทราบทุกระยะ โดยทยอยกลับทีละคน เพราะกระบอกเสียงของรัฐบาลนั้นเชื่อถือไม่ได้เลย
บรรยากาศการประท้วงของนิสิต วิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคาม ก่อนวันที่ 14 ตุลาคม 2516 จากหนังสือวารสาร อ.ม.ธ. ฉบับพิเศษ 14 ตุลาคม วันมหาปิติ
วันที่ 14 ตุลาคม 2516
นักเรียน นักศึกษา ประชาชนได้ข่าวร้ายที่น่าสลดใจยิ่ง ว่าผู้ที่มีอุดมการเช่นเดียวกันในกรุงเทพฯได้ต่อสู้จนถึงที่สุดและมีการนองเลือดเกิดขึ้น นิสิตพร้อมที่จะเข้ากรุงเทพฯแต่ถูกตำรวจควบคุมกักกันรถมิให้รับนิสิตนักศึกษาเข้าไป พอดีกับตัวแทนนิสิตที่เข้ากรุงเทพฯบางคนกลับมาและเล่าเหตุการณ์ที่เป็นจริงให้ฟัง ทำให้ทุกคนต้องหลั่งน้ำตากับการสูญเสียเพื่อได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ
เอกสารที่จะแจกให้กับประชาชนของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยก็ถูกลักลอบนำมาอีกโดยตัวแทนที่กลับมาได้พิมพ์และอัดสำเนา แจกจ่ายให้กับประชาชน นิสิต นักศึกษาในจังหวัดมหาสารคามเป็นจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ ไม่ต่ำกว่า 50,000 แผ่นและส่งตัวแทนออกไปแจกใบปลิวทั่วภาคอีสาน บางรายถูกตำรวจค้นและถูกยึดไว้และทำลายเอกสารไปบ้างแต่งานของนิสิตมิได้ล้มเหลวจังหวัดต่างๆ
ระยะนี้เกือบทุกจังหวัดยึดวิทยาลัยมหาสารคามเป็นศูนย์กลางและได้ส่งตัวแทนของแต่ละจังหวัดไปที่นั่นนิสิต วิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคามได้แจ้งนโยบายตลอดจนเอกสารต่างๆ ให้ไปอัดสำเนาแจกทางเจ้าหน้าที่ก็คึกคักเป็นพิเศษมีการเตรียมพร้อมอาวุธเต็มเมืองไปหมดเอกสารหลายชิ้นถูกยึดและทำลายแต่ว่าตำรวจยังไม่จับนิสิตเลยทั้งๆที่ยึดเอกสารได้แล้ว พร้อมทั้งพยายามออกข่าวเพื่อแก้แถลงการณ์และเอกสารต่างๆของนิสิตอยู่ตลอดเวลานักศึกษาได้วางแผนกันเพื่อจะยึดสถานีวิทยุและระยะนี้นิสิตออกข้างนอกไม่ได้ถูกเพ่งเล็งอยู่ตลอดเวลางานแจกเอกสารแถลงการณ์เป็นไปด้วยความลำบากไม่มีอิสระเหมือนแต่ก่อนเจ้าหน้าที่เฝ้ายามสังเกตอยู่ตลอดเวลาขนาดนี้ก็พยายามติดต่อกับนายกองค์การนิสิต วิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคาม อยู่ที่ศูนย์กลางนิสิต นักศึกษาอยู่ตลอดเวลาและให้ทยอยกันกลับเพื่อนำเอาข้อมูลต่างๆ มาเล่าให้ฟังการติดต่อตอนนี้ล่าช้ามากเพราะกว่าจะกลับมาก็ห่างกัน 3 ถึง 5 ชั่วโมงต่อคนเพื่อจะได้ข่าวอันแท้จริงและนักศึกษายังเปิดอภิปรายกันอยู่ตลอดเวลา
วันที่ 15 ตุลาคม 2516
ข่าวคราวที่นักเรียนนิสิตนักศึกษาและประชาชนได้รับจากตัวแทนทยอยกลับนั้นทำให้รู้สึกสลดใจเป็นอย่างมากที่นิสิตนักศึกษานักเรียนและประชาชนตกเป็นเหยื่อของฆาตกรโหดป้าคลั่งของรัฐบาลชุดเก่านิสิตพยายามจะเข้าไปส่วนกลางแต่ก็เข้าไม่ได้ตัวแทนของนิสิตบางคนถูกจับไว้ที่โคราชบ้างเพราะตำรวจจับได้ว่า เป็นนิสิตข่าวคราวจากด้านอื่นไม่มีเลย
นอกจากได้รับจากตัวแทนที่กลับมาเท่านั้นเองซึ่งได้ข้อมูลความจริงมานอกจากจะอภิปรายก็มีแต่แถลงการณ์นิสิตพยายามทำได้ในขณะนี้จังหวัดต่างๆ ทั่วไปทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เตรียมพร้อมและจะด้วยความเผลอเรอหรืออย่างไรไม่ทราบข่าวการยึดสถานีวิทยุทหารอากาศมหาสารคามก็รั่วไหลทางสถานีวิทยุได้เตรียมป้องกันอย่างแข็งขัน โดยขอกำลังทหารจากสกลนครมา ขณะนี้นักเรียนจากต่างจังหวัดมารวมกันที่วิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคามสถานนการณ์ยิ่งเลวลงทุกขณะ เกือบควบคุมสถานการณ์ไว้ไม่อยู่เหตุที่ควบคุมสถานการณ์ไว้ได้เพราะตัวแทนที่ส่งไปกรุงเทพฯได้กลับมาเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ในส่วนกลางที่คลี่คลายลง ซึ่งทำให้ยับยั้งความฮึกเหิมของนักเรียนลงได้ก็พลอยดีใจไปด้วยและควบคุมสถานการณ์ไว้ได้จนค่ำและนายกองค์การนิสิตก็กลับมาเล่าเหตุการณ์ให้ฟังในตอนค่ำพอดีและทราบว่าทางกรุงเทพฯเหตุการณ์สงบดีแล้วนิสิตจึงค่อยๆ สลายตัวกัน
วันที่ 16 ตุลาคม 2516
ทางวิทยาลัยประกาศปิดเป็นเวลา 3 วัน นิสิตที่วิทยาลัยได้ไปรับบริจาคโลหิตและเงินเพื่อส่งไปช่วยเหลือวีรชนของชาติ
วันที่ 17 ตุลาคม 2516
นิสิตได้เคลื่อนหน่วยรับบริจาคไปที่จังหวัดร้อยเอ็ดและมีนักเรียนจากโรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัยมาช่วยร่วมบริจาคด้วยกันและได้รับความร่วมมือจากจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นอย่างดีและได้ชี้แจงเกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมืองที่เป็นจริงให้ทราบและปลูกฝังการปกครองระบอบประชาธิปไตยพร้อมทั้งให้ตระหนักถึงรัฐธรรมนูญที่ได้มานี้ต้องรักษาไว้อย่างมั่นคงสืบไป
บรรณานุกรม
องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (2516). “วันมหาปิติ” วารสาร อ.ม.ธ. ฉบับพิเศษ ๑๔ ตุลาคม , น. 107-111.