“หัวใจของร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติฯ จะทำให้ทั้งคนละเมิดและคนถูกละเมิดสิทธิเข้าใจกันมาก โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อเอชไอวี เพราะมีมาตราเกี่ยวกับการเยียวยา การดูแลกันเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น” อภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย

The Isaan Record เรื่องและภาพ

เป็นเวลาหลายทศวรรษที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีถูกตีตราด้วย “ความกลัว” จึงทำให้หลายหน่วยงาน ทั้งรัฐและเอกชนอ้างเป็นเหตุผลในการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อก่อนจะกีดกันไม่ให้สมัครงาน รวมถึงสมัครเรียน ทั้งที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ 

ถือเป็นโชคดีที่มีภาคประชาชนพยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ที่ไม่ได้เพียงแก้ไขปัญหานี้เท่านั้น แต่จะยังลดการกีดกันกลุ่มเปราะบางอื่นๆ ด้วย 

แต่ต้องจับตาว่า กฎหมายฉบับนี้จะถูกบังคับใช้เมื่อใด เพราะกว่าจะถึงวันนั้นก็อีกหลายด่าน ทีมงาน The Isaan Record พูดคุยกับ อภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ถึงที่มาที่ไปของร่างกฎหมายฉบับนี้ รวมถึงความหวังที่อยู่ปลายอุโมงค์ในการขจัดการเลือกปฏิบัติในสังคม 

The Isaan Record: ทำไมต้องมีกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ..ผู้มีเชื้อ HIV จะได้รับประโยชน์อย่างไรจากกฎหมายฉบับนี้ 

อภิวัฒน์: เป็นกฎหมายลูกที่เชื่อมต่อกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลในทุกมิติ โดยเฉพาะกลุ่มผู้เปราะบางต่างๆ ผู้ติดเชื้อเอชไอวีก็รวมอยู่ในนี้ด้วย 

“เจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ เป็นไปเพื่อการเคารพสิทธิมนุษยชน เคารพในสิทธิเนื้อตัวร่างกาย เพราะเราอยู่กับระบบของการละเมิดจนชิน ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ถือเป็นการละเมิดแบบเนียนๆ มาโดยตลอด บางคนก็ไม่รู้ว่า ตัวเองถูกละเมิด” 

The Isaan Record: ก่อนหน้านี้ผู้มีเชื้อ HIV ถูกละเมิดอย่างไรบ้าง

อภิวัฒน์: มีหลายกรณี ทั้งถูกละเมิดจากการสมัครงาน ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมีการบังคับตรวจสุขภาพและหนึ่งในนั้นกำหนดว่า ต้องมีการตรวจหาเอชไอวี แล้วนำผลนั้นส่งให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลโดยไม่ผ่านเจ้าตัว   

นอกจากนี้ยังมีการละเมิดด้วยการปฏิเสธไม่รับผู้มีเชื้อเอชไอวีเข้าทำงาน รวมถึงการสมัครเรียน ซึ่งถือเป็นการละเมิด กีดกันโอกาสของเยาวชนหรือของคนที่ต้องการศึกษาเล่าเรียน ทั้งที่การเรียน คือ ความมั่นคงของชีวิต ถือเป็นประตูบานแรกของการที่จะไปมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่กลับถูกกีดกัน

The Isaan Record: มีอาชีพไหนบ้างที่ยังใช้นโยบายกีดกันการรับเข้าทำงานด้วยการตรวจเลือดหาเอชไอวีอยู่ 

อภิวัฒน์: มีหลายองค์กร โดยเฉพาะหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียใจที่หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม อย่าง ตำรวจ ทหาร ยังมีการตรวจเลือดก่อนรับสมัคร ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเสียเอง รวมถึงหน่วยงานกระบวนการยุติธรรมบางส่วน โดยเฉพาะตุลาการก็ยังมีลักษณะของการกีดกันด้วยการละเมิดและบังคับให้ตรวจเอชไอวี 

“การกีดดันแบบนี้ทำให้เด็กและเยาวชนที่อยู่กับเชื้อเอชไอวีแล้วมีความฝันอยากจะก้าวเข้าสู่อาชีพเหล่านี้หมดหวัง”

แม้ว่า สถานประกอบการโรงแรมหลายแห่งจะเลิกตรวจเอชไอวีแล้ว แต่หลายแห่งยังตรวจอยู่ สถานประกอบการทำอาหาร โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ที่มีสาขามากมาย ก็ยังมีการละเมิดด้วยการบังคับให้ตรวจเอชไอวีก่อนเข้าทำงานทั้งสิ้น หรือแม้แต่การเลื่อนตำแหน่งก็ต้องตรวจสุขภาพ ซึ่งมีการรวมตรวจหาเอชไอวีเข้าไปด้วย 

“นี่มันทำให้โอกาสของการที่จะทำให้คนที่ติดเชื้อเอชไอวี ไม่ว่า จะช่วงไหนก็ตามแล้วแต่เข้าไม่ถึงสิทธิในการทำงาน แม้ว่า บางคนหายแล้วบางอยู่ระหว่างรักษาที่ไม่มีโอกาสที่จะไปแพร่เชื้อให้ใครอีก มันจึงไม่มีเหตุผลเลยที่จะไม่รับคนนั้นเข้าไปทำงาน หลายที่อ้างว่า อยากรู้ผลเลือดของพนักงาน คำถามผมมีนิดเดียว รู้ไปเพื่ออะไร ในเมื่อคุณไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องการรู้เพื่อกีดกันใช่หรือไม่”  

ผมอยากจะถามว่า เราจะดูความสามารถหรือดูแค่ผลเลือด มันกลายเป็นคำถามที่ทุกคนต้องช่วยกันหาคำตอบ หลายคนอาจจะบอกว่า เอาทั้ง 2 อย่าง แต่จริงๆ แล้ว มีคนจำนวนมากเดินเข้าไปทำงาน วันนี้ไม่ติดเชื้อเอชไอวี กลับถูกบังคับตรวจเอชไอวี แต่พอผ่านไปในสถานประกอบการเอกชนหรือรัฐก็ตาม เขาเกิดติดเชื้อขึ้นมา มันสะท้อนให้เห็นว่า การตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีก่อนเข้าทำงาน ไม่ใช่เรื่องการป้องกันเอชไอวีในอนาคต เป็นคนละเรื่อง ซึ่งสถานประกอบการทั้งรัฐ – เอกชนต้องพิจารณา และต้องเปลี่ยนแปลง 

“การตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีก่อนเข้าทำงาน ไม่ใช่เรื่องการป้องกันเอชไอวีในอนาคต มันเป็นคนละเรื่อง สถานประกอบการทั้งรัฐ – เอกชนต้องพิจารณา และต้องเปลี่ยนแปลง”อภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย 

The Isaan Record: เคยมีประกาศว่า ไม่ให้สถานประกอบการ คลินิค หรือโรงพยาบาลต่างๆ ตรวจเชื้อเอชไอวี แต่ทำไมยังคงมีอยู่ 

อภิวัฒน์: กระทรวงสาธารณสุขเคยออกประกาศว่า สถานประกอบการทั้งรัฐและเอกชน รวมถึงคลินิก แล็บต่างๆ  ไม่สามารถรับจ้างตรวจเอชไอวีและส่งผลเลือดไปให้บุคคลอื่นได้ ถือว่า ผิดหลักวิชาชีพมากทีเดียว ซึ่งช่วงหนึ่งดูเหมือนดีขึ้น หลายแห่งไม่ทำแล้ว แต่หลายแห่งก็ไม่เปลี่ยนแปลง ตอนนั้นห้องแล็บเอกชนหลายแห่งก็หยุดไปพักหนึ่ง แต่ก็กลับมาแอบรับจ้างตรวจอีก 

“ถือเป็นเรื่องน่าเสียดายที่สถานประกอบการเอกชนบางที่ยังละเมิดสิทธิผู้ป่วย ละเมิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของคนมาตรวจ ดังนั้นต้องมีกลไก หรือรณรงค์เรื่องนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะย้ำเตือนกับสถานประกอบการที่ไปรับจ้างตรวจเอชไอวีว่า ทำไม่ได้ ผิดวิชาชีพ เราต้องหยุดวงจรนี้ให้ได้”

The Isaan Record: มีความหวังกับการหยุดวงจรนี้มากน้อยแค่ไหน

อภิวัฒน์: ผมมีความหวังเสมอ คือ ก็ต้องทำงานรณรงค์ต่อไป คิดว่าหัวใจหลักของเรื่องนี้ คือ ความเข้าใจในการที่จะสื่อสารพูดคุย ดังนั้นคนที่ถูกละเมิดก็ควรต้องไม่ยอมให้เกิดการละเมิด ไม่ยอมจำนน เพราะมีช่องทางในการร้องเรียนและมีหน่วยงานให้คำปรึกษาอยู่ เมื่อมีคนร้องหนึ่งคนหรือว่าใครร้องขึ้นมาก็จะมีระบบในการจัดการและปกป้องสิทธิของผู้ร้องเพื่อแก้ไขปัญหานี้ รวมถึงการพูดคุยกับสถานประกอบการและห้องแล็บที่เป็นผู้ละเมิดด้วย 

“การทำแบบนี้ก็น่าจะช่วยทำให้สถานการณ์ค่อยๆ ดีขึ้น ถ้าจะให้ดี หน่วยงานรัฐต้องเป็นตัวอย่างที่ดี ต้องกล้าหาญที่จะบอกว่า กระทรวง ทบวง กรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีนโยบายละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือนโยบายของการกีดกันบังคับตรวจเอชไอวีก่อนมาเป็นข้าราชการ เพราะสำนักงานข้าราชการพลเรือน (กพ.) เลิกนานแล้ว” 

The Isaan Record: เมื่อเดือนตุลาคม กสม.แถลงข่าวว่า มีคนร้องเรียน 5-6 คน หลังถูกละเมิดด้วยการตรวจเลือด ตรงนี้มันจะสามารถช่วยขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ไหม 

อภิวัฒน์: การที่ กสม.ออกมาพูดผมคิดว่า เป็นสิ่งที่ดีมาก แต่การออกมาพูดหรือการออกมาแถลงตามข่าวในการละเมิดสิทธิของคนที่ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งกสม.จะต้องไม่ใช่แค่รายงานปรากฏการณ์เท่านั้น แต่ต้องแอคชั่น 

“เราไม่ต้องการเสือกระดาษ เราต้องการกระบวนการที่จะบรรลุเป้าหมาย ดังนั้นต้องชื่อชม กสม.และผมคิดว่า จะต้องหาหนทางและช่องทางในการที่จะแก้ไขเพื่อยุติปัญหานี้”

The Isaan Record: ร่างกฎหมายฉบับนี้มีมาตราไหนที่จะลงโทษผู้ละเมิดหรือไม่ปฏิบัติตามบ้าง  

อภิวัฒน์: กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายเชิงบวก ไม่ใช่บวกเฉพาะแค่คนถูกละเมิดเท่านั้น แต่บวกสำหรับคนละเมิดด้วย เพราะต้องการสร้างความเข้าใจเพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้ สร้างบรรยากาศใหม่ เพราะฉะนั้น พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติฯ จึงไม่ได้มุ่งที่จะไปจัดการกับคนละเมิดอย่างเดียว แต่มีจุดประสงค์เพื่อการส่งเสริมความเข้าใจด้วย 

“หัวใจของกฎหมายฉบับนี้เป็นเรื่องการทำให้ทั้งคนละเมิดและคนถูกละเมิดเข้าใจกันมากยิ่งขึ้น อีกทั้งมีการเยียวยา ดูแลกันเพื่อการเปลี่ยนแปลงใหม่ที่ดีขึ้น” 

“หัวใจหลักของเรื่องนี้ คือ ความเข้าใจในการที่จะสื่อสารพูดคุย คนที่ถูกละเมิดก็ควรต้องไม่ยอมให้เกิดการละเมิด ไม่ยอมจำนน”อภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย 

The Isaan Record: ตอนนี้กระบวนการของกฎหมายอยู่ในขั้นตอนไหน

อภิวัฒน์: ขณะนี้ได้รายชื่อครบหนึ่งหมื่นรายชื่อจากเครือข่ายต่างๆ แล้ว แต่ยังไม่ได้ยื่นเสนอกฎหมาย ด้วยปัจจัยสภาพทางการเมืองของรัฐบาลจึงต้องทำให้พิจารณาอย่างรอบคอบ ในขณะเดียวกันก็ทำความเข้าใจกับพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน เพื่อให้สนับสนุนกฎหมาย ได้มีกระบวนการแบบนั้น นอกจากนี้ก็พยายามคุยกับคนที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นต้น 

“กฎหมายฉบับนี้ต้องใช้เวลา ต้องอาศัยทางฟากฝั่งทางการเมืองหรือผู้กำหนดนโยบายเพื่อให้เข้าใจสิ่งเหล่านี้”  

แม้ว่า ขณะนี้อาจจะยังไม่มีกระบวนการคัดค้าน แต่ถ้ามองดูในภาพรวมของกฎหมายอาจมองว่า เกี่ยวข้องกับการเงิน ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดว่า ถ้าเป็นกฎหมายการเงินต้องส่งให้นายกรัฐมนตรีรับรอง จากบทเรียนการเสนอกฎหมายหลายฉบับจากภาคประชาชน เมื่อต้องส่งให้นายกฯ ดูก็ไม่เคยรับรองเลย 

“เรื่องนี้เป็นภาพหนึ่งที่เราหวั่นไหว เพราะมันเป็นกฎหมายการเงิน ซึ่งที่ผ่านมามันสะท้อนให้เห็นว่า ระบบการเมืองไทยไม่ค่อยเห็นหัวประชาชน พอเสนอกฎหมายเกี่ยวข้องกับการเงินก็จะถูกนายกรัฐมนตรีปัดตกไปหมด” 

The Isaan Record: แสดงว่าก็ทำใจแล้ว เพราะมีบทเรียนมาแล้วว่า การเสนอกฎหมายจากภาคประชาชนอาจจะไม่ได้รับการพิจารณา 

อภิวัฒน์: เราจึงต้องเรียกร้องไปยังผู้กำหนดนโยบาย พรรคการเมืองต่างๆ รวมถึงนายกรัฐมนตรีด้วยว่า อะไรที่มันเป็นกฎหมายของภาคประชาชนควรจะเคารพ เพราะประชาชนร่วมลงลายมือชื่อตั้งเป็นหมื่นๆ ชื่อ 

“เราหวังว่า ถ้ากระบวนการประชาธิปไตยเกิดขึ้น สภาผู้แทนราษฎรมันดี เป็นโอกาสดีที่จะผลักดันต่อ ส่วนมันจะเกิดขึ้นเมื่อใดนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง” 

The Isaan Record: คาดว่าภายในกี่ปีจึงจะผลักดัน พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกมาบังคับใช้ได้จริง 

อภิวัฒน์: ในฐานะเป็นผู้ริเริ่มก็อยากให้เกิดเร็วที่สุด แต่ว่ามันไปเจอคอขวดส่วนบนซึ่งเป็นกติกาใหญ่ของบ้านนี้เมืองนี้ เราก็เห็นโจทย์อยู่ แต่ว่ามันก็ต้องสู้ แล้วก็ต้องถามความเห็นไปเรื่อยๆ ว่าจะเอาแบบไหนอย่างไร เราในฐานะประชาชนเราได้ทำหน้าที่ของเราอย่างเต็มที่แล้ว ทำไปตามกรอบที่มันมีอยู่ ขณะเดียวกันส่วนที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร 

The Isaan Record: ถ้ากฎหมายนี้ผ่าน แล้วถูกบังคับใช้ แต่ในเชิงปฏิบัติถ้าทัศนคติคนไม่เปลี่ยน ผู้ประกอบการไม่เปลี่ยนจะมีกระบวนการดำเนินการอย่างไร 

อภิวัฒน์: กฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในการจัดการตัวระบบและนโยบาย ส่วนเรื่องทัศนคตินั้นผมคิดว่า ต้องอาศัยกระบวนการสร้างความเข้าใจ ปรับสิ่งแวดล้อมใหม่ สร้างบรรยากาศใหม่ สื่อสารกันใหม่ เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องการสื่อสาร ส่งเสริมเรื่องความเข้าใจ ทำให้ประชาชนเห็นความเสี่ยง ทำให้ประชาชนได้เรียนรู้ 

“ผมคิดว่า บรรยากาศมันดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะอัตราการตายจากเอดส์น้อยลง เรามีระบบหลักประกันสุขภาพ ใครติดเชื้อก็เข้าสู่ระบบการรักษาทันที แต่หัวใจอันหนึ่งที่มันยังไม่ไปไหนมาไหน คือ ผู้กำหนดนโยบาย ไม่ว่า รัฐหรือเอกชน เราต้องส่งเสริมเรื่องความเข้าใจ ไม่ใช่ส่งเสริมความกลัว ความกลัวนั่นแหล่ะมันคืออคติตัวร้ายที่ทำให้คนไปละเมิดโดยที่ไม่รู้ตัว ดังนั้นต้องเปลี่ยน” 

วิกฤตการแพร่ระบาดของโควิดก็เป็นอีกรูปธรรมหนึ่งที่ใช้การขู่ให้คนกลัวว่า ทำให้เกิดภาวะตื่นกลัว เอชไอวีก็เหมือนกันรัฐทำให้ทุกคนกลัวจึงจะระวัง 

“ความกลัวไม่ได้แก้ปัญหา แต่ต้องส่งเสริมข้อมูล ข้อเท็จจริง แล้วก็ทำให้คนเข้าใจจะได้ลดอาการกลัวลง แล้วคนมันจะได้เปิดรับสิ่งใหม่เข้ามา จากนั้นบรรยากาศก็จะค่อยๆ ดีขึ้น” 

หมายเหตุ : The Isaan Record ร่วมกับเครือข่ายเยาวชนที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีประเทศไทย และ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย สนับสนุนโดยองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย

image_pdfimage_print