ก่อนค่ำคืนพระจันทรเ์สี้ยวก่อนลอยกระทง “ตะวัน วัตุยา” ได้แสดงศิลปะด้วยการวาดภาพสด (Live Painting) เพื่อสะท้อนความเจ็บปวดของยุคสมัยที่เหล่าเยาวชนถูกจับติดคุกรายวัน แถมถูกไล่ล่าโดยรัฐ แต่การแสดงออกแห่งเสรีภาพทางศิลปะของเขากลับถูกกล่าวหาว่า ขัดกฎหมายต้องลบข้อความทางศิลปะออก

ถนอม ชาภักดี เรื่อง

บทความนี้เป็นซีรี่ส์ต่อเนื่องจากชุดสุนทรียสามัญชน : การวิพากษ์วิจารณ์และการต่อต้านทางศิลปะ ซึ่งผ่านมาแล้วสองตอน โดยปูพรมให้เห็นถึงปฏิบัติการทางศิลปะที่จัดการโดยนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อต่อต้านความไม่ชอบธรรมและต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพประชาธิปไตยจากอานาจการครอบงำของเงื้อมเงาเผด็จการฟาสซิสต์ที่ซ่อนรูปอยู่ในองค์กร สถาบันต่างๆ ในประเทศไทยที่พยายามกระชับรวมศูนย์อำนาจ ผูกขาด การปกครองไว้แต่เพียงผู้เดียว 

การปฏิบัติการทางศิลปะจากผู้ชุมนุมเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพที่มีมาตลอด 2 ปีจนถึงปัจจุบันนี้ ด้วยการนำเสนอรูปแบบวิธีการอย่างหลากหลาย เช่น กราฟิติบนถนน การแสดงล้อเลียน ดนตรี ศิลปะการแสดงสด จากนักปฏิบัติการทางศิลปะอิสระกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Free Arts, B–Floor, ทะลุฟ้า, ประชาชนเบียร์,ราษฎร์ดรัม, ราษฎร์สะเก๊ต, เครือข่ายกวีสามัญสสำนึก , LGBTQ+ ,art’n, เฟมินิสต์ปลดแอก, เฟมินิสต์บันเทิงศิลป์ เป็นต้น 

การปฏิบัติการทางศิลปะจากกลุ่มเหล่านี้ล้วนถูกจับจ้องมองหมายจากกลไกอำนาจรัฐไม่เว้นระยะห่างแม้วินาทีเดียว บรรณาการที่เหล่านักปฏิบัติการทางศิลปะได้รับ คือ หมายเรียก หมายจับไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งๆ ที่ การแสดงออกของนักปฏิบัติการทางศิลปะเหล่านั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองที่จะเรียกร้อง คัดค้าน นำเสนอกับสภาวะการคุกคามและความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นจากกลไกอำนาจรัฐในยุคการเปลี่ยนผ่านกระชับอำนาจนำแห่งยุคสมัยอันมืดมิดโควิดการเมืองห่าตำปอด 

ล่าสุดเหตุการณ์การลบบริบทการนำเสนอวาดภาพสด (Live Painting) โดย ตะวัน วัตุยา ศิลปินผู้อยู่เคียงข้างนักต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยมายาวนาน นิทรรศการล่าสุดของเขาที่หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากรชุด Keep in the Dark ที่ตะวันได้สะท้อนบริบทภาพลักษณ์ของนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแห่งยุคสมัย ในช่วงที่ผ่านมา เขาได้ถอดจิตวิญญาณขบถของเยาวชนคนรุ่นใหม่ลงในรูปลักษณ์รอยพู่กันที่เขาตวัดปัดป้ายอย่างฉับไวเพื่อรักษาบริบทของพื้นที่ ผู้คน กลิ่นอายของวันคืนที่รุมเร้า ตะวันเดินตากแดดอันร้อนระอุไปพร้อมขบวนของทะลุฟ้าบนเส้นทางสายมิตรภาพสู่มหานครและวันก่อนทีจะสลายหมู่บ้านทะลุฟ้าข้างทำเนียบรัฐบาล เขาได้ไปบันทึกรูปลักษณ์ของนักสู้ทะลุฟ้าด้วยหยาดเหงื่อคราบไคลกากขี้เกลือที่ผิวกาย ดั่งหมุดหมายของการยื้อแย่งต่อรองกับอำนาจอยุติธรรม 

ตำรวจเข้าังเกตการณ์ในกิจกรรมศิลปะที่ผนังกำแพงตึกฝั่งตรงข้าม WTF Gallery and Cafe เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564

ค่ำคืนของวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม Cross Cultural Foundation (CrCF) ได้จัดปฏิบัติการทางศิลปะวาดสดขึ้นที่ผนังกำแพงตึกฝั่งตรงข้าม WTF Gallery and Cafe เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของเยาวรุ่นผู้ประสบความรุนแรงในกระบวนการจับกุมของเจ้าหน้าที่ในที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นเด็ก เยาวชนและผู้ที่มารับหน้าที่ถ่ายทอดบริบท Beauty as Truth ความงาม คือ ความจริงและความงามเสมือนดั่งความทรงจำอันรวด ร้าว คือ ตะวัน วัตุยา ( Tawan Wattuya ) ศิลปินผู้มองเห็นจิตวิญญาณของเยาวชนผู้คนขบถแห่งยุคสมัย รับรู้ และเข้าใจถึงเรือนร่างอันเจ็บปวดเมื่อถูกโบยตี ภาพใบหน้าและดวงตาแห่งความรวดร้าว ขมขื่น แห่งความอยุติธรรมและความเหลื่อมล้ำในสังคม  

ซอยสุขุมวิท 51 ที่ตั้งของ WTF Gallery Café โดยปฏิบัติการวาดภาพสดครั้งนี้จะใช้กำแพงตึกฝั่งตรงข้ามของ  WTF เป็นพื้นที่รองรับบริบทของการแสดงออกจากการตวัดปัดป้ายปลายพู่กันของ ตะวัน วัตุยา โดยมีต้นแบบ คือ เยาวชน 4 คนที่ถูกกระทำจากกลไกอำนาจรัฐที่ล้นเกินจนสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงในเหตุการณ์ สามเหลี่ยมดินแดงที่เดือดดาลมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564  

ทะลุแก๊ซ (ThaluGaz) นักสู้เยาวชนนิรนามที่เปิดเพดานภาคสนามของการต่อรองกับอำนาจเผด็จการ ฟาสซิสม์ด้วยพลุไฟ และลูกกระทบ แต่ผลที่ได้รับกลับมาจากอ านาจอำมหิตคือ กระสุนยาง แก๊ซน้ำตา การจับกุม กระทืบ คุมขังและบาดแผลที่ยากจะเลือนหายจากวันเวลาที่ล่วงเลยมา….เยาวชนนิรนามจะเล่าขานเหตุการณ์ในวันนั้นเพื่อให้ตะวันสลักริ้วรอยลงบนผนังกำแพงตึกที่ขาวหม่น 

บ่ายแก่ๆ ตะวันเดินมาพร้อมกับอุปกรณ์ เช่น กระป๋องน้ำ กระป๋องสี ถุงพู่กัน เขาเดินสำรวจพื้นที่แผ่นผนังและตำแหน่งที่จะลงภาพของคนต้นแบบ…ไฟส่องฉาย….พลันที่ดวงอาทิตย์ลับเหลี่ยมตึกย่านสุขุมวิท – ทองหล่อ…. ตะวันดวงใหม่ได้ฉาดฉายกลางซอยสุขุมวิท 51 พร้อมกับเสียงเพลงดนตรีคลาสสิคจากเครื่อง Viola ที่บรรเลงเพลงสงครามจากทัศนา นาควัชระ ดั่งเสียงซอลาวสืบเส้นเมื่อศึกผีบุญ แต่สำหรับค่ำนี้มีเสียง Viola ไล่ สายผสานกับเสียงรถราที่เข้าออกในซอย ในขณะที่ปฏิบัติการวาดสดที่ต้องหยุดเพื่อหลบรถที่เข้า – ออกทำบรรยากาศของ Live Painting ในค่ำคืนก่อนวันลอยกระทงระอุขึ้นมาเรื่อยๆ  

ไม่ทราบว่าเสียง Viola ฝรั่งบรรเลงขาดหายไปตั้งแต่เมื่อไหร่ รู้แต่ว่า คนต้นแบบคนที่3 คนที่ 4 ได้ประทับรอยลงบนผนังกำแพงตึกเสร็จสิ้นและตะวันก็ได้กล่าวเชิญให้เยาวชนนิรนามทั้ง 4 มาเขียนคำความเคียงคู่กับภาพลักษณ์ของตัวเอง เราจึงได้เห็นคำที่ออกมาจากเยาวรุ่นเหล่านี้ เช่น ประชาชน, No God No Ki-g Only Human ในขณะที่ผู้มาร่วมงานต่างปรบมือให้กำลังใจแก่เยาวชนนิรนามและศิลปินที่มา สร้างมิติใหม่ในการปฏิบัติการทางศิลปะกลางซอย…… 

แต่สถานการณ์ในค่ำนั้นก็ไม่ได้คลาดสายตาเจ้าหน้าที่ที่มาสังเกตการณ์ตั้งแต่จรดปลายพู่กันแรกลงบนพื้นกำแพงตึก กลไกของรัฐเหล่านั้นปล่อยให้ปฏิบัติการทางศิลปะลื่นไหลเคลื่อนไหวไปจนจบ แล้วค่อยมาสะกิด แสดงฤทธิ์เดชแห่งอำนาจ 

ผู้ร่วมกิจกรรมศิลปะต้องช่วยกันลบข้อความที่ตำรวจระบุว่า เป็นข้อความหมิ่นเหม่ต่อการผิดกฎหมายออก

ซอยที่คับแคบและอึดอัดเริ่มยัดทะนานด้วยกลไกของรัฐที่ดาหน้าเข้ามาทั้งในและนอกเครื่องแบบ รถสายตรวจ หลายสิบคัน เปิดไฟว๊าบๆ ปิดซอย ราวกับเกิดเหตุการณ์อาชญากรรมกลางซอย ในนามของขององค์กรผู้จัด  Cross Cultural Foundation (CrCF) ได้ผสานวัฒนธรรมการต่อรองเจรจากับกลไกของรัฐเพื่อลดอุณหภูมิ ความระอุร้อนก่อนวันเพ็ญลอยกระทงและเพื่อดำรงภาพแห่งความทรงจำในวันอันเจ็บปวดให้คงอยู่ 

สิ่งที่ปรากฏในช่วงสายๆ ของวันรุ่งขึ้น (19 พฤศจิกายน ) ก็คือร่องรอยคำความและอักขระบนฝาผนังได้ถูกลบ กลบด้วยสีขาวสะอาดอ่อง เหลือไว้แต่เพียงภาพใบหน้าของเยาวรุ่นนิรนามผู้อาบด้วยแสงจันทร์ในคืนวันลอย กระทง แต่ริ้วรอยแห่งความขมขื่นและเจ็บปวดของเยาวรุ่นแห่งทะลุแก๊ซเหล่านั้นยังฝังลึกและถูกกลบลบทิ้ง เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นในคืนพระจันทร์เสี้ยว 

ความนัยแห่งปรากฎการณ์ปฏิบัติการศิลปะวาดภาพสดของ ตะวัน วัตุยา ในค่ำคืนก่อนวันเพ็ญลอยกระทง หย่อมย่านทองหล่อศูนย์กลางมหานครแห่งนี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของเรื่องราวเหตุการณ์เดือดดาลดินแดงที่มีชีวิตของเด็ก เยาวรุ่น เยาวชนอีกร้อยพันคนที่ไม่ถูกนับว่า เป็นสนามของนักต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพ  ประชาธิปไตย หลายคนมองด้วยสายตาว่า เป็นความรุนแรง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อข้ามคืนวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมานั้นรุนแรงยิ่งกว่าเพราะเพียงถ้อยคำวลีความของนักเยาวรุ่นนิรนามสลักไว้ไม่ถึงชั่วโมงก็ถูกลบกลบชีวิต ไปแล้ว ….. และไม่มีใครพูดถึงนักต่อสู้นิรนามที่บาดเจ็บล้มตายติดคุก ติดตะรางอีกเลย 

นี่คือพยานแห่งความรุนแรงก็คือกลไกของรัฐที่พยายามทุกช่องทางที่จะไม่ให้มีการบันทึกเรื่องราวความทรงจำของประชาชนพลเมือง องค์กรที่เกี่ยวข้องที่จัดงานครั้งนี้ได้เห็นแล้วว่าความรุนแรงไม่ได้มาจากประชาชนคนนิร นาม…แล้วจะปกป้องการปฏิบัติการทางศิลปะไม่ให้ถูกลบกลบทิ้งได้อย่างไร ?? 

ขอเชิดชูความกล้าหาญ กล้าแสดงออกของเยาวรุ่นนิรนามและนักปฏิบัติการทางศิลปะที่ต่อสู้เพื่อ สิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตยทุกคน…..

เผด็จการจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ ปฏิบัติการทางศิลปะจงเจริญ

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฏบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด 

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

สุนทรียสามัญชน : การวิจารณ์และการต่อต้านทางศิลปะ (1)

สุนทรียสามัญชน : การวิจารณ์และการต่อต้านทางศิลปะ (2)

image_pdfimage_print