วารสารชายคาเรื่องสั้นเดินทางมาถึงปีที่ 11 ภายใต้ชายคา สำนักพิมพ์เขียน ปีนี้มีธีม “ห่าตำปอด เชื้อไข้ร่วมสมัย” ซึ่งคัดสรรเรื่องสั้นมาทั้งหมด 16 เรื่องที่มีความหลากหลายและคุณภาพคับแก้ว ซึ่งดูแลคุณภาพโดย มาโนช พรหมสิงห์
ธีร์ อันมัย เรื่อง/ภาพ
บทบรรณาธิการ
‘ห่ากินเมือง’
‘ห่าลง’
‘ไอ้ห่า’
‘ห่า’ เป็นได้ทั้งโรคระบาด คร่าชีวิตผู้คนให้ตายดั่งใบไม้ร่วง
‘ห่า’ เป็นได้ทั้งพวกละโมบโลภมาก กินมูมมาม หมดบ้าน หมดภาชน์ข้าว หมดเมือง หมดประเทศ กินกระทั่งหิน ดิน ความเป็นอยู่ …ประชาธิปไตย
‘ห่า’ เป็นได้ทั้งพวกเลวทรามต่ำช้ำ สร้างความเดือดร้อนให้ทุกหย่อมหญ้า ฆ่าได้แม้แต่ผู้คน แล้วยืดอกเป็นคนดีไปทั่ว
‘ห่าตำปอด’ ‘ห่าซิแตกแดกปอด’ ‘ห่าลากไส้ลากพุง’ ‘ห่าแดกดาก’ กระทั่ง ‘ห่าก้อม’…
‘ห่า’ จึงนำความตาย ความสูญสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งชีวิตและประเทศชาติ
กระนั้น เรายังเชื่อว่า ชีวิตใหม่ซึ่งไม่ใช่ ‘ห่า’ จะบังเกิดขึ้นบนแผ่นดินใหม่
ความเชื่อมั่นนี้ อยู่ในหัวใจทุกดวง ซึ่งหยิ่งทะนงในความดี ความงาม ความจริง
ตราบนิรันดร์
(ที่มา : มาโนช พรหมสิงห์ บรรณาธิการ.2564.คำนำ ชายคาเรื่องสั้น 16 : ห่าตำปอด เชื้อไข้ร่วมสมัย.สำนักพิมพ์เขียน)
มาโนช พรหมสิงห์ บรรณาธิการวารสารชายคาเรื่องสั้น
จากใจบรรณาธิการ
มาโนช พรหมสิงห์ บรรณาธิการแห่งสำนักพิมพ์เขียนได้นำพาวารสารชายคาเรื่องสั้นเดินทางมาถึงปีที่ 11 และหนังสือชายคาเรื่องสั้นลำดับที่ 16 ‘ห่าตำปอด เชื้อไข้ร่วมสมัย’ กำลังจะออกจากโรงพิมพ์ในต้นเดือนธันวาคม 2021 นี้ โดยเขาได้เปิดใจถึงความคืบหน้าล่าสุดของชายคาเรื่องสั้นว่า มีความก้าวหน้ามากขึ้น มีผลงานที่มีคุณภาพส่งเข้ามาประกวดมากขึ้น มีหน้าใหม่มากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีความหลากหลายมากขึ้นและที่สำคัญมันยังเป็นพื้นที่สำหรับเสียงชายขอบ
ในฐานะบรรณาธิการเขาเผยว่า การพิจารณาต้นฉบับนั้นตัดสินจากตัวบทของงานมากกว่า เฟ้นหาผลงานที่มีศิลปะการนำเสนอที่สูงขึ้น แปลกใหม่และแหลมคมมากขึ้น
ส่วนความหลากหลายทางเพศของผู้เขียนนั้นเขากล่าวว่า พยายามเฟ้นหาอย่างเต็มที่และมีแนวโน้มที่กลุ่มคนหลากหลายทางเพศจะส่งผลงานเข้าร่วมประกวดมากขึ้น แต่ในที่สุดก็ตัดสินกันด้วยคุณภาพของผลงานเป็นหลัก
“นักเขียนหญิงมีฝีมือไม่ต่างจากนักเขียนชายและค่อนข้างได้เปรียบในแง่ของความละเอียดอ่อน มีความลึกซึ้งมากกว่านักเขียนชายด้วยซ้ำ แต่เท่าที่ผ่านมายังมีนักเขียนหญิงส่งผลงานมาน้อย แต่ที่ส่งก็มีหน่วยก้านที่ดี ถ้าไม่ละความพยายาม ฝึกการเขียน สั่งสมประสบการณ์การเขียน อ่านอย่างสม่ำเสมอ ก็มีโอกาสที่จะพัฒนางานเขียนที่ดีได้”
จากประสบการณ์บรรณาธิการ 11 ปีพบว่า มีนักเขียนที่เคยมีผลงานตีพิมพ์ในชายคาเรื่องสั้นเล่มก่อนแต่ไม่ผ่านในเล่มถัดมานั้นมาโนชอธิบายว่า ไม่ใช่ว่าผลงานของนักเขียนเก่าไม่ดี เพียงแต่มุมมอง กลวิธีการนำเสนอยังไม่เปลี่ยนไปจากเดิม ขณะเดียวกันชายคาเรื่องสั้นก็อยากเปิดพื้นที่ให้นักเขียนหน้าใหม่ รุ่นใหม่ๆ ที่มีมุมมองใหม่ๆ และหลากหลาย
“ชายคาเรื่องสั้นไม่ใช่หนังสือที่ผูกขาดโดยนักเขียนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด เราวัดกันที่คุณภาพงาน ต้องการงานสร้างสรรค์แปลกใหม่ทั้งรูปแบบ เนื้อหา ที่ผ่านมาก็จะพบว่า นักเขียนหน้าเก่าบางคนก็ผ่านการตีพิมพ์ต่อเนื่อง นั่นก็หมายความว่า นักเขียนก็ไม่ได้หยุดนิ่ง
เราอยากให้ตรงนี้เป็นพื้นที่เปล่งเสียงที่หลากหลาย เสียงของคนชายขอบ พยายามเลือกเฟ้นจากงานที่มาจากหลากหลายภูมิภาค แม้แต่การใช้ภาษาถิ่นในงานเขียน หลังๆ เราจะไม่มีคำแปล ปล่อยให้ภาษาถิ่นทำงานในงานเขียนอย่างเต็มที่”
มาโนชกล่าวถึงชายคาเรื่องสั้น 16 ห่าตำปอด เชื้อไข้ร่วมสมัยว่า เป็นความก้าวหน้าอีกก้าวหนึ่งอนาคตของชายคาเรื่องสั้น ซึ่งมีความหลากหลายขึ้น มีนักเขียนที่กล้าประกาศตัวเองว่า เป็น LGBTQ+ และลักษณะของเรื่องก็มีแนว LGBTQ+ (ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีอย่างสม่ำเสมออยู่แล้ว) เขียนถึงคนข้ามเพศ เป็นเรื่องที่เราอยากอ่าน ถือเป็นเรื่องสั้น Y ที่มีคุณภาพ
นักเขียนและวรรณกรรมกับการเมือง
มาโนชกล่าวว่า ชายคาเรื่องสั้นเป็นเวทีวรรณกรรมเดียวในตอนนี้ที่แสดงความรู้สึกไม่พอใจต่อระบบการเมืองการปกครองปัจจุบันอย่างซื้อตรงที่สุด มันอาจจะถูกมองว่า มันกลายเป็นสนามเรื่องสั้นการเมือง ก็ทุกอย่างมันเป็นการเมืองอยู่แล้ว เพราะมันสะท้อนความเป็นอยู่ของประชาชน แต่งานวรรณกรรมมันก็ต้องมีศิลปะการนำเสนอ ต้องอาศัยศิลปะการเขียนที่สูงขึ้น ซับซ้อนมากขึ้น
ในสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบันมาโนชเผยว่า นักเขียนและงานวรรณกรรมมีหน้าที่สำคัญ 3-4 ประการ นั่นคือ
หนึ่ง ทำหน้าที่บันทึกเหตุการณ์ บันทึกประวัติศาสตร์ของช่วงเวลานี้ ให้งานเขียนได้สะท้อนมันออกมาได้มากที่สุด แม้จะไม่คงทนถาวร แต่มันก็จะต้องถูกบันทึกไว้ในงานเขียน ความจริง ความงามจะคงอยู่คู่งานวรรณกรรม
สอง แสดงความทะนงองอาจของการต่อสู้กับความไม่ชอบธรรมให้ปรากฏผ่านงานวรรณกรรมเพื่อให้ราษฎรทั้งหลายได้มีเสรีภาพ อิสรภาพและภราดรภาพ ต้องต่อสู้อย่างหยิ่งทะนงต่อความอยุติธรรมให้สมกับความเป็นวรรณกรรม
สาม เชิดชูความดี ความงาม ความจริงให้ปรากฏอยู่ตลอดไป ต่อให้มันเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาหนึ่งก็ตาม
สี่ วรรณกรรมสามารถเป็นพื้นที่การแสดงออกของคนทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่เด็กมัธยมจนถึงคนรุ่นลายคราม มันเป็นความหลากหลายกลมกลืนที่น่าภาคภูมิใจด้วยซ้ำ
“ในฐานะคนทำหนังสือ ชายคาเรื่องสั้นได้ทำหน้าที่ทั้ง 4 ประการนี้อย่างเต็มที่ แต่นั่นมันก็ไม่ได้ทำให้คนเป็นบรรณาธิการคิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่อะไร บรรณาธิกรต้องเรียนรู้อีกมากมาย อย่าหยิ่งทะนง ต้องเรียนรู้ให้มาก คนที่ยิ่งใหญ่กว่าคือ นักเขียน นักอ่านต่างหาก รวมทั้งคนที่สนับสนุนหรือเป็นส่วนหนึ่งขององคาพยพที่เรียกว่าชายคาเรื่องสั้น”
ในฐานะบรรณาธิการ มาโนชกล่าวว่า ทั้งเรื่องสั้น บทกวี (ประกาย ปรัชญา เป็นบรรณาธิการ) ล้วนให้แง่คิด มุมมองใหม่ๆ ทำให้บรรณาธิการได้เรียนรู้โลกที่กว้างขึ้น ได้เห็นชีวิตในแง่มุมใหม่ๆ เจริญเติบโตไปพร้อมกับนักเขียนที่ส่งผลงานเข้ามา แม้ว่าบางผลงานนั้นจะไม่ผ่านการพิจารณา แต่ก็เป็นเสียงที่บรรณาธิการได้ยินได้ฟังและเป็นประโยชน์
“บรรณาธิการอย่างผมเป็นคนโง่เสมอ ต้องเรียนรู้ตลอดจากงานเขียน จากการอ่านงานของคนอื่น”
ส่วนอนาคตของชายคาเรื่องสั้นนั้น มาโนชกล่าวว่า จะต้องประชุมหรือหารือกับกองบรรณาธิการ ที่ปรึกษาว่า จะเอาอย่างไรต่อไป
“ส่วนตัวผมเองนั้นปรารถนาอยากให้ชายคาเรื่องสั้นอยู่นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เราก็ดำเนินการด้วยทุนอันจำกัดจำเขี่ย ถูกตัดทอนจากแหล่งทุน แต่เราก็จะทำให้ได้ไกลที่สุด ถึงวันหนึ่งมันอาจจะยุติลง เรามาได้ไกลขนาดนี้ ( 11 ปี 16 เล่ม) ก็ถือเป็นความภูมิใจของคนทำงาน คนเขียน คนอ่าน คนสนับสนุนและทุกองคาพยพที่ประกอบเป็นชายคาเรื่องสั้นตั้งแต่ยุคเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน” มาโนชกล่าวทิ้งท้าย
สำหรับคนที่ต้องการสั่งซื้อหนังสือชายคาเรื่องสั้น สามารถเข้าไปติดตามหรือสั่งซื้อหนังสือได้ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘ชายคาเรื่องสั้น’