“เครือข่าย HIV” จี้รัฐมองคนเท่ากัน เลิกกีดกันผู้มีเชื้อ วอนปรับทัศนคติลดเหลื่อมล้ำยุติปัญหาเอดส์ ด้าน “หมอขอนแก่น” เชื่อในอนาคตมียารักษาเอดส์ให้หายขาด แนะเร่งเติมความรู้ผลักดันเข้ารับสิทธิ์ตรวจหาเชื้อหวังลดจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ 

ขอนแก่น – เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา The Isaan Record ร่วมกับเครือข่ายเยาวชนที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีประเทศไทย สนับสนุนโดยองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทยจัดวงสนทนาจิบกาแฟที่ร้าน Zaap Records จ.ขอนแก่น หัวข้อ “จากเพื่อนถึงเพื่อน เมื่อเพื่อนมีเชื้อ HIV” โดยมีเยาวชนเข้าร่วมกว่า 30 คน 

ปังปอนด์ เยาวชนผู้รณรงค์สร้างความเข้าใจเรื่อง HIV กล่าวว่า เหตุผลที่มาร่วมขับเคลื่อนเรื่อง HIV เนื่องจากเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีเองและสึกว่า ถูกกีดกัน ทั้งการทำงาน การใช้ชีวิต ทั้งที่เราสามารถทำทุกอย่างในสังคมได้เช่นเดียวกับคนอื่นๆ และทำงานรณรงค์มาแล้ว 6 ปี แต่ติดเชื้อมา 10 ปีแล้ว 

เขาบอกว่าอีกว่า จากประสบการณ์ทำงานณรงค์ก็ได้รับข้อมูลจากน้อง ๆ ทั้งเรื่องการสมัครงานและเรียนหนังสือที่มักจะถูกกดดันหรือถูกให้ตรวจเลือดหาเชื้อ HIV อยู่บ่อยครั้งทำให้รู้สึกไม่สบายใจและมีผลต่อการทำงานหรือเมื่อมีการประเมิณรายปีของคนที่เป็นพนักงานประจำ บางที่ก็ยังมีการให้ตรวจเชื้อเอชไอวีอยู่เป็นหัวข้อหลักๆ  

“จากการเก็บข้อมูลจะพบว่า ใน 100 เคสจะเจอเรื่องเหล่านี้ถึง 80 เคส มีทั้งคนที่เจอมากับตัวและกังวลว่า หากไปสมัครงานแล้วจะเจอเรื่องแบบนี้หรือไม่”ปังปอนด์ กล่าวและว่า 

ปังปอนด์ กล่าวอีกว่า หลังจากรับเรื่องร้องเรียนก็ส่งต่อไปยังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ซึ่งหลายคนก็ได้รับสิทธิ์การเป็นพนักงานคืนและมีชีวิตเป็นปกติขึ้น 

“สิ่งที่อยากจะฝากไปยังผู้ติดเชื้อ HIV คือ มันไม่ได้ดับความฝันของเรา เราอยากให้ทุกคนมองตัวเองในแง่บวกมากขึ้นว่า HIV ไม่ใช่ศัตรูของเรา แต่เป็นเพื่อนของเรา ต้องเริ่มต้นที่ตัวเราก่อนว่า เราจะทำความเข้าใจเรื่องนี้อย่างไรบ้าง ถ้าเกิดปัญหาอะไรขึ้นก็มาปรึกษาทางเครือข่ายได้”ปังปอนด์กล่าว  

“ทุกหน่วยงานต้องมองคนให้เท่ากันก่อนเพื่อลดการกีดกัน แต่ปัญหา คือ การมองคนให้เท่ากันเป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่เคยทำได้เลย”ปังปอนด์ เยาวชนผู้รณรงค์สร้างความเข้าใจเรื่อง HIV 

หนทางลดการกีดกัน คือ ต้องมองคนให้เท่ากัน 

ทั้งนี้เขายังมีข้อเสนอถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเพื่อลดการกีดกันผู้มีเชื้อ HIV ว่า ทุกหน่วยงานต้องมองคนให้เท่ากันก่อน การมองคนให้เท่ากันเป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่เคยทำได้เลย ทั้งที่เราจ่ายภาษีให้รัฐบาลทำงาน นอกจากนี้ต้องจัดสรรปันส่วนความเท่าเทียมในเชิงของกฎหมายให้เท่ากันด้วย เช่น การกีดกันไม่ให้สมัครงาน ไม่ให้เรียนหนังสือ เป็นต้น 

“ในเรื่องการรับสมัครงานแต่ละหน่วยงานก็ไม่เหมือนกัน ทหาร ตำรวจ ก็ยังคงให้มีการตรวจเลือด ทั้งที่ กพ.ยกเลิกไปแล้ว”ปังปอนด์ กล่าว 

บรรยากาศการจิบกาแฟในสวนฟังเสวนาหัวข้อ “จากเพื่อนถึงเพื่อน เมื่อเพื่อนมีเชื้อ HIV” เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 ที่ร้าน Zaap Records จ.ขอนแก่น 

ยุติความเหลื่อมล้ำ ยุติเอดส์

ทางด้าน อุษาสินี ริ้วทอง คนทำงานด้านเพศวิถี เอดส์ และการพัฒนาเยาวชน กล่าวว่า วันเอดส์โรค 1 ธันวาคมปีนี้ เราพูดถึงเรื่องยุติความเหลื่อมล้ำจึงจะสามารถยุติปัญหาเรื่องเอดส์ได้ กลายเป็นว่า มันก็ชี้ปัญหาสำคัญในเรื่องเอดส์ว่า มีความเหลื่อมล้ำทั้งเรื่องเศรษฐกิจ โอกาสในการศึกษา ความเหลื่อมล้ำเรื่องเพศมันเป็นโครงสร้างทางสังคมที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยวิธีการใดหรือเครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่ง 

เธอกล่าวอีกว่า การสร้างความเข้าใจหรือการจัดบริการต่างๆ ต้องมีการจัดสรรทรัพยากรให้เอื้อต่อการทำงานเชิงรุกมากขึ้น ตลอดจนการให้การศึกษา มีการลงทุนในเรื่องการทำงานเรื่องเพศเรื่องเอดส์ให้มันเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง พร้อมทั้งมีกลไกในการปกป้องคุ้มครองการละเมิดสิทธิ์ที่จะเกิดขึ้นด้วย 

“ตอนนี้ยังมีผู้ติดเชื้อ HIV วันละ 15 คนต่อวัน คนส่วนหนึ่งก็ยังไม่รู้ว่า ตัวเองติดเชื้อ” อุษาสินี ริ้วทอง คนทำงานด้านเพศวิถี เอดส์ และการพัฒนาเยาวชน

อุษาสินี กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาสภาพแวดล้อมทางการเมืองการปกครองทำให้ภาคประชาสังคมอ่อนแอและทรัพยากรต่างๆ ถูกลดความสำคัญลงทำให้กิจกรรมต่างๆ ที่ควรจะต่อเนื่อง ทั้งเรื่องการให้การศึกษา การจัดกิจกรรมที่เป็นมิตร การให้ถุงยางอนามัยที่ควรให้ทุกคน ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มชายรักชาย 

“ตอนนี้ยังมีผู้ติดเชื้อ HIV วันละ 15 คนต่อวัน คนส่วนหนึ่งก็ยังไม่รู้ว่า ตัวเองติดเชื้อ เพราะยังเข้าไม่ถึงการตรวจจึงต้องมีการลงทุนในเรื่องการจัดสรรทรัพยากรให้เกิดการรับรู้ข้อมูลข่าวสารในเรื่องนี้ด้วย” ผู้ทำงานด้านเพศวิถี เอดส์ และการพัฒนาเยาวชน กล่าว 

การรักษา HIV สร้างความท้าทายวงการแพทย์ 

รศ.นพ.ภพ โกศลารักษ์ คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ เพราะไวรัสมันหลบซ่อนอยู่ในเซลล์ของร่างกาย ซึ่งเซลล์พวกนี้เหมือนจำศีลอยู่เฉยๆ มันก็ไม่ตาย ถ้าไม่ได้กินยารักษา 

“ถ้าเปรียบเทียบสมัยก่อนกับตอนนี้ การเข้าถึงยารักษาต่างกันมาก เพราะตอนนี้ทุกคนเข้าถึงได้ แต่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว การดูแล HIV คล้ายๆ กับวัคซีนโควิดตอนนี้ คือ จะหาวัคซีนหายาอย่างไรมาให้เด็กภาคอีสาน เป็นงานนอกเหนือจากการรักษา งานดูแล HIV จึงพลิกบทบาททางการแพทย์ค่อนข้างมาก”รศ.นพ.ภพ กล่าว

“ตอนนี้แทบไม่มีเด็กที่มีเชื้อ HIV ใหม่ๆ เลย เพราะการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกป้องกันได้ดี” รศ.นพ.ภพ โกศลารักษ์ คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น

เขายังกล่าวอีกว่า ส่วนการเข้าถึงยานั้นสถานการณ์ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตคงจะมียาที่กินเดือนแค่ละครั้งหรือแม้กระทั่งฉีดทุกๆ 3 เดือน หรือฝังเป็นปีเหมือนยาคุมกำเนิด 

“ตอนนี้แทบไม่มีเด็กที่มีเชื้อ HIV ใหม่ๆ เลย เพราะการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกป้องกันได้ดี”อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น กล่าว 

บรรยากาศการแลกเปลี่ยนพูดคุยของเยาวชนที่เข้าร่วมจิบกาแฟและฟังเสวนา 

สำหรับข้อแนะนำในการดูแลวัยรุ่นที่มีเชื้อเอชไอวีนั้น รศ.นพ.ภพ แนะนำว่า ครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญและให้คำนึงว่า การกินยาเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งในอนาคตมันจะดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะอาจจะมีเทคโนโลยีบางอย่างที่ทำให้หายขาดได้ 

“แม้จะมียารักษาโรคนี้ได้ แต่ชีวิตหลังติดเชื้อก็ยากลำบาก ดังนั้นอย่าประมาทการป้องกันการใช้ถุงยางอนามัยยังเป็นเรื่องสำคัญ จึงแนะนำให้ตรวจเหมือนตรวจร่างกายประจำปี เพราะคนแพร่เชื้อในสังคมตอนนี้ คือ ไม่รู้ว่าตัวเองมีเชื้อ” รศ.นพ.ภพ กล่าว  

สำหรับข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทำให้การติดเชื้อเป็นศูนย์นั้น เขากล่าวว่า ถ้าทำได้ก็เป็นเรื่องดี แต่เป็นเรื่องที่ยากมาก เช่น การจะค้นหาผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีใหม่อย่างไร เพราะคนที่แพร่เชื้ออยู่ตอนนี้ไม่ใช่คนที่กินยาอยู่ หรือคนที่รู้ตัวแล้วรักษา ในบริบทนี้จึงต้องทำงานหนักมากและเป็นงานในเรื่องการเปลี่ยนทัศนคติ 

“ทางออกของการลดเชื้อ คือ ต้องให้ข้อมูลอย่างต่อเนื่องและมองว่าการตรวจเป็นเรื่องปกติ เหมือนเราตรวจร่างกาย เจอแล้วไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด มีการรักษาและสามารถป้องกันคนใกล้ชิดหรือคู่ของเราได้ด้วย กระบวนการนี้เป็นเรื่องใหญ่ แต่ถ้าเราไม่ทำเลยก็จะเหมือนเดิม”

image_pdfimage_print