เครือข่าย HIV จวก “ทหาร-ตำรวจ” ล้าหลังบังคับตรวจหา HIV ด้าน “มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์” ฉะรัฐสูญเปล่าทุ่มงบปีละ 3-4 พันล้านหายาต้านเอดส์แต่แก้อคติไม่ได้ เร่งผลักดันกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติเชื่อคนไทย 69 ล้านได้ประโยชน์ ด้าน “อัยการ” อัดหน่วยงานรัฐ-รพ.-หมอละเมิดผู้มีเชื้อเสียเอง ชี้ช่องเอาผิดโทษจำคุก 6 เดือนพร้อมค่าปรับ
The Isaan Record ร่วมกับ เครือข่ายเยาวชนที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีประเทศไทย สนับสนุนโดย unicef ประเทศไทย จัดเสวนาคลับเฮาส์หัวข้อ “ตรวจหา HIV ก่อนทำงาน…กีดกันหรือป้องกัน?”
เมล์ อาสาสมัคร เครือข่ายเยาวชนที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีประเทศไทย กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลพบว่า สถานประกอบการบางแห่ง เช่น โรงแรม ยังมีการตรวจหาเอชไอวีอยู่ทำให้การถูกละเมิดก็ยังคงมีอยู่ เยาวชนบางคนเข้าไปทำงาน ไม่ทราบว่า เขาให้ตรวจอะไรบ้าง ไม่ได้ระบุว่าให้ตรวจเอชไอวี แต่มีการตรวจเลือดและให้เซ็นยินยอม เรียกว่าเป็นการตรวจเลือดแฝง พอรู้ว่า มีผลเลือดที่บวกก็ทำให้เขารู้สึกว่า แม้ไม่ได้ถูกบังคับให้ลาออก แต่ก็จะใช้วิธีการอื่นบังคับให้ออกแทน
“บางบริษัทจะมีคำอธิบายว่า ตรวจเพื่อดูแลรักษาเป็นพิเศษ แต่ในความเป็นจริง ไม่ควรละเมิดสิทธิ์ด้วยการตรวจหาเอชไอวี ซึ่งเป็นเรื่องผิดกฎหมายและเป็นการละเมิดสิทธิ์ส่วนบุคคล”อาสาสมัคร เครือข่ายเยาวชนที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีประเทศไทย กล่าว
เธอกล่าวต่อว่า ถ้าเปรียบเทียบคนยุคนี้กับยุคก่อนหน้านี้ ก็จะมีภาพจำเก่าๆ ว่า คนเป็นเอชไอวี คนเป็นเอดส์ต้องตายและน่ารังเกียจ แต่ตอนนี้คนมีเข้าใจมากขึ้น แต่ไม่ได้เข้าใจเต็มร้อย เพราะว่าอาจจะถูกปลูกฝังมาจากผู้ใหญ่ว่า คนเป็นเอดส์ต้องเป็นคนไม่ดี น่ารังเกียจ และต้องตายอย่างเดียว ในหนังสือสุขศึกษาที่เคยเรียนก็จะอธิบายว่า มันเป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรง แต่ไม่ได้เขียนว่าสามารถรักษาได้
“เอชไอวีเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว มันก็คล้ายๆโควิดในสมัยนี้ที่ทุกคนรู้สึกว่าน่ากลัว แต่ไม่ได้เรียนรู้ว่าจะอยู่กันอย่างไร เวลานี้มียาต้านเข้ามาช่วยรักษา ภาพจำของเด็กยุคนี้ก็อาจจะเบาบางลง แต่อาจจะยังมีภาพจำเก่าๆ เพราะถูกปลูกฝังมาอยู่ว่า ไม่ควรเข้าใกล้คนที่มีเชื้อเอชไอวี เพราะเป็นคนไม่ดี บางทีก็อาจถูกปลูกอีกว่าคนที่จะเป็นเอชไอวีได้ก็เป็นแค่กลุ่มชายรักชาย หญิงรักหญิง หรือเพศที่สาม แต่จริงๆ แล้วเอชไอวีมันอยู่รอบตัว ไม่ใช่เรื่องไกลตัว มันอยู่ใกล้ตัวที่ทุกคนต้องป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็ตาม”เมล์ กล่าว
รัฐสร้างความกลัวเอดส์ 30 ปีที่ลบไม่ออก
ขณะที่อภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า ในฐานะเคยเป็นผู้ป่วยเอดส์ที่เคยเฉียดตาย แต่ได้รับการรักษาและเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี แล้วก็เป็นคนที่มีคู่ที่ไม่ได้ติดเชื้อเอชไอวีด้วยก็ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันได้เป็นเรื่องธรรมดา
“เมื่อ 30 ปีที่แล้วรัฐหยิบยื่นความกลัวให้กับสังคม ให้ทุกคนกลัวเอดส์ ความกลัวจึงบดบังความเข้าใจและมีอคติที่มีต่อเอชไอวี และคนที่ติดเชื้อเพราะรัฐบอกว่า ติดเชื้อแล้วตาย น่าเกลียด น่ากลัวอย่าไปติด ถ้ามีวิธีคิดแบบนี้ การลดการตีตราและการถูกเลือกปฏิบัติ หรือการถูกรังเกียจกีดกันยังไม่จบง่าย ๆ”อภิวัฒน์ กล่าว
“ถ้าเรายุติความเหลื่อมล้ำไม่ได้ เพราะว่าการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานยังคงมีอยู่และทำแบบแนบเนียนมากยิ่งขึ้น” อภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย
เขายังกล่าวถึงการตรวจเอชไอวีก่อนเข้าทำงานว่า ที่ผ่านมามีการปล่อยปละละเลยให้เกิดการละเมิดสิทธิ์ ซึ่งคนเหล่านี้อยู่ในระบบทั้งหมดเกือบ 5 แสนคนอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเกือบ 4 แสนคนที่ได้รับการรักษา ถ้ามีการบังคับตรวจเอชไอวีต่อไป หากพบว่า ติดเชื้อเอชไอวีสิ่งที่มันซ้ำเติมเขาไปนอกจากการไม่ได้งานทำ คือ อาจทำให้เขาดับฝันของตัวเอง สิ้นหวังกับตัวเอง ไม่รู้จะเอาอย่างไรกับชีวิต
“การตรวจหาเชื้อมันไม่ได้ช่วยอะไรเลย นอกจากการกีดกันและปิดโอกาสคนๆ นั้น วันที่ 1 ธ.ค.เราพูดถึงการยุติความเหลื่อมล้ำ ยุติเอดส์ คงยากที่เราจะยุติเอดส์ได้ ถ้าเรายุติความเหลื่อมล้ำไม่ได้ เพราะว่าการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานยังคงมีอยู่และทำแบบแนบเนียนมากยิ่งขึ้น”ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าว
ทหาร ตำรวจล้าหลังตรวจเลือดหาเอชไอวี
อภิวัฒน์ ยังกล่าวถึงกรณีหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงานไม่รับคนที่ติดเชื้อเอชไอวีเข้าทำงาน ยกตัวอย่างทหาร หรือตำรวจที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม คิดว่าการมีวิธีคิดหรือนโยบายแบบนี้ ค่อนข้างล้าหลัง ไม่ทันต่อยุคสมัย ในขณะที่เอดส์รักษาได้มาเป็นชาติแล้ว แต่เขายังอยู่ที่เดิม ถ้าหน่วยงานของรัฐทำเสียเอง จึงไม่ควรจะมีเรื่องนี้หรือมีการออกนโยบายแบบนี้เพื่อการกีดกันและการรังเกียจเพื่อผลักคนจำนวนหนึ่งเข้าไปอยู่มุมมืด
ขณะที่สุภัทรา นาคะผิว ผอ.มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ กล่าวว่า ไทยเจอคนที่ป่วยด้วยโรคเอดส์รายแรกเมื่อปี 2527 และเป็นกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย พูดง่ายๆ คือเขาก็เป็นชายรักชายจึงทำให้เรื่องของเอชไอวีติดภาพลักษณ์ว่ามันเป็นเรื่องของคนบางกลุ่ม ต่อมาก็เป็นช่วงพีคสุดๆ เมื่อปี 2533 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยเปิดเป็นประเทศท่องเที่ยว มีเรื่องของการบริการเข้ามาอย่างมาก ปีนั้นปีเดียวเราเจอคนติดเชื้อรายใหม่ 1.3 แสนคน ทำให้สังคมมองอีกว่ามันอยู่ในกลุ่มของคนที่ขายบริการทางเพศ ตั้งแต่ปี 2527 ถึงปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขให้ข้อมูลว่า เรามีผู้ติดเชื้อสะสมประมาณ 1.2 ล้านคน ซึ่งจะมีช่วงหนึ่งที่เสียชีวิตเยอะมากเพราะเข้าไม่ถึงการรักษา เพราะยามีราคาแพง
“ร่าง พ.ร.บ.นี้มี 62 มาตรา ระบุถึงกลไกต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วยคุ้มครองดูแล ไม่ว่าจะเป็นการรับรองสิทธิของคนทุกคนที่จะต้องปลอดพ้นจากการเลือกปฏิบัติ” สุภัทรา นาคะผิว ผอ.มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์
ดันกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติ
สุภัทรา กล่าวว่า ปัจจุบันตัวเลขที่กระทรวงสาธารณสุขใช้ในการทำงาน รวมทั้งภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องใช้เป็นตัวเลขในการทำงานในเรื่องเอชไอวี เอดส์ในประเทศไทย เราคาดว่า มีคนที่ติดเชื้อเอชไอวีที่มีชีวิตอยู่ประมาณ 5.1 แสนคน สาเหตุที่ใช้ตัวเลขคาดประมาณเพราะเอาเข้าจริง ๆ แล้วก็ไม่ทราบว่าคนติดเชื้อจริงๆ มีเท่าไร แต่ใช้วิธีคำนวณตามที่นักวิชาการใช้ทั่วโลก เป็นที่ยอมรับกันว่า เราไม่สามารถเอาทุกคนมาตรวจหาเชื้อเอชไอวีได้ นอกจากนั้นเรามีการรายงานตัวเลขของคนที่ติดเชื้อรายใหม่ในปี 2563 จำนวน 6,600 กว่าคน ซึ่งถือว่าลดลงเยอะ ถ้าเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา แต่หากหารด้วย 365 วันผู้ติดเชื้อเฉลี่ยต่อวันก็ยังสูงอยู่ และเรายังมีคนที่เสียชีวิตอันเนื่องมาจากเอดส์ปีที่ผ่านมาจำนวน 1.4 หมื่นคน
“มีการสำรวจขประชาชนกว่า 3 หมื่นคนทั่วประเทศเมื่อปี 2557 ของกระทรวงสาธารณสุพบว่า คนไทย 58.6% ไม่ยินดีที่จะอยู่ร่วมกับคนที่มีเชื้อเอชไอวี พูดง่าย ๆ คือใน 100 คน มีเกือบ 59 คน ไม่โอเคในการที่จะอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อ ด้วยเหตุผลว่ายังมีความกลัว ความกังวลในการอยูร่วม จึงเป็นโจทย์ว่า รัฐบาลที่ลงทุนปีละประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท จัดหายาต้านไวรัสเอชไอวีเพื่อที่จะแจกจ่ายให้กับผู้ติดเชื้อทั้งหลายได้กิน และมีสุขภาพแข็งแรงขึ้น สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ แต่เขาไม่สามารถจะทำงาน เรียนหนังสือ ไม่สามารถในการจะมีส่วนร่วมในการสร้างเศรษฐกิจสังคม มันจึงเป็นการลงทุนที่สูญเปล่ามาก”สุภัทรา กล่าว
สุภัทรา กล่าวต่อว่า หลังจากเราได้ทำงานร่วมกับหลายกลุ่มจึงพบว่าปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลมันเป็นปัญหาร่วมกันของทุกกลุ่ม ไม่เฉพาะเรื่องเอชไอวี แต่มันมีหลายมติมาก ดังนั้นเราจึงตั้งต้นว่าเราจะทำร่างกฎหมายเพื่อจะออกเป็นมาตรการที่รับรองสิทธิของการไม่ถูกเลือกปฏิบัติต่อบุคคลของบุคคลต่างๆ รวมทั้งผู้ติดเชื้อเอชไอวี เราใช้เวลา 1 ปี ในการยกร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลภาคประชาชน โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน 10 เครือข่าย จากนั้นไปยื่นขอเสนอกฎหมายโดยประชาชนต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 12 พ.ย.2562 และทุกเครือข่ายได้ช่วยกันรวบรวมกว่า 1.2 หมื่นรายชื่อยื่นต่อประธานรัฐสภาไปแล้วเมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบรายชื่อ 45 วัน ก่อนส่งให้นายกรัฐมนตรีรับรองก่อนเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาต่อไป
“ร่าง พ.ร.บ.นี้มี 62 มาตรา ระบุถึงกลไกต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วยคุ้มครองดูแล ไม่ว่าจะเป็นการรับรองสิทธิของคนทุกคนที่จะต้องปลอดพ้นจากการเลือกปฏิบัติ ทั้งทางตรงและทางอ้อมหรือการคุกคามต่างๆ ที่สำคัญจะมีกลไกคณะกรรมการช่วยเหลือคุ้มครองสิทธิ์ของบุคคลซึ่งถูกเลือกปฏิบัติ (คชป.) ให้สามารถมาร้องเรียนได้โดยไม่ต้องไปศาล”เธอกล่าวและว่า คณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่กึ่งศาลเพื่อวินิจฉัยว่า เป็นกรณีที่เกิดขึ้นเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่และออกคำสั่ง มาตรการให้หยุดการกระทำหรือชดเชย เยียวยาได้ หากเป็นหน่วยงานของรัฐก็มีผลผูกพันให้ต้องปฏิบัติตามทันที แต่หากเป็นหน่วยงานเอกชนก็สามารถโต้แย้งได้ผ่านศาลปกครอง รวมทั้งมีจะมีสภาส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศอยู่ในกฎหมายนี้ด้วย เป็นต้น
ผู้ผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ยังกล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันก็มีการขับเคลื่อนโดยการไปผลักดันให้กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพกระทรวงยุติธรรม จัดทำร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลเช่นเดียวกัน เนื่องจากเมื่อภาคประชาชนเสนอร่างกฎหมายมันต้องมีร่างของภาคหน่วยงานรัฐประกบ ซึ่งกรมคุ้มครองฯ ก็ได้ดำเนินการจัดทำร่างฯ ดังกล่าว เสร็จแล้ว เปิดเวลารับฟังความเห็นแล้ว 7 ครั้ง และอยู่ในขั้นตอนการรอเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม หากผ่านตรงนี้ก็จะส่งต่อไปที่รมวยุติธรรมเพื่อเสนอต่อ ครม.ต่อไป เป็นความคืบหน้าของการเสนอกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติของภาคประชาชน โดยสาระสำคัญของกฎหมายนี้คุ้มครองทุกคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มชายขอบ แต่เป็นทุกคนทั้ง 69 ล้านคนจะได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายนี้ เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ
“ตอนนี้พบว่า ผู้ที่ละเมิดผู้มีเชื้อหรือผู้ที่ถูกบังคับตรวจกลับกลายเป็นแพทย์ที่มีหน้าที่รักษาความลับของคนไข้” ณรงค์ ศรีระสันต์ อัยการพิเศษฝ่ายแผนช่วยเหลือทางกฎหมาย
ฝ่าฝืนตรวจเลือดโดยไม่ยินยอมคุก 6 เดือน
ขณะที่ ณรงค์ ศรีระสันต์ อัยการพิเศษฝ่ายแผนช่วยเหลือทางกฎหมายกล่าวว่า ปัญหาที่พบตอนนี้ คือ ผู้ประกอบธุรกิจไม่รู้ว่าการตรวจเลือดหาเอชไอวีเป็นการละเมิด การตีตรา หรือการบังคับตรวจเอชไอวี มิหนำซ้ำผู้ที่ละเมิดผู้มีเชื้อหรือผู้ที่ถูกบังคับตรวจกลับกลายเป็นแพทย์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ เขาส่งเลือดใครให้ตรวจก็ตรวจ โดยตัวเองได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าตรวจแล็ปหรือค่ารับรองผล ตัวเองเป็นแพทย์ที่มีหน้าที่รักษาความลับของคนไข้ ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร พ.ร.บ.สาธารณสุข และมารยาทของแพทยสภา กลับแจ้งผลตรวจเหล่านี้ไปที่ฝ่ายบุคคล โดยที่ฝ่ายบุคคลไม่มีสิทธิ์รู้เลย
“คนที่ถูกละเมิดเองไม่เคยใช้สิทธิ์ของตัวเองในการดำเนินการกับบุคคลเหล่านี้เลย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบุคคล แพทย์ หรือห้องแล็ปเอกชนต่างๆ ที่ไปตรวจและเผยแพร่ ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปและมีโทษปรับอีกด้วย เราต้องทำความเข้าใจกับบุคคลเหล่านี้”ณรงค์ กล่าว
ทั้งนี้เขาเสนอแนวทางการลดการตีตราว่าต้องสร้างความรู้ ความเข้าใจ เพื่อลดการตีตรา ส่วนกลไกการคุ้มครองสิทธิ์นั้นเชื่อว่า ถ้าเข้ามาสู่กระบวนการของอัยการ อย่างน้อยเราก็มีกลไกกระบวนการทางกฎหมายที่เราเชื่อว่ามิติทางกฎหมายเรายังพอรับมือได้
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
“เครือข่าย HIV” วอนปรับทัศนคติลดเหลื่อมล้ำยุติปัญหาเอดส์