กว่า 5 ปีที่เครือข่ายเยาวชนที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีประเทศไทยถูกตั้งขึ้น ตอนแรกมีสมาชิกเพียง 20 กว่าคน เพราะเครือข่ายนี้เป็นชุมชนที่เสริมสร้างกำลังใจให้กันและกันเพื่อลดการตีตราตัวเองจากการมีเชื้อ HIV จึงทำให้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นกว่า 300 คน

“ตอนเด็กๆ หนูเข้ารักษา HIV ที่โรงพยาบาล อยู่มาวันหนึ่ง หมอก็บอกยายว่า พรุ่งนี้เด็กคนนี้จะไม่รอด ยายเลยบอกญาติๆ คนก็มาอำลาเต็มเลย แต่พอถึงวันที่หมอบอกว่า หนูจะตาย หนูกลับไม่เป็นอะไรและยังอยู่มาได้จนถึงตอนนี้” 

เป็นเสียงของ “แป้ง” (ชื่อสมมุติ) เยาวชนในเครือข่ายเยาวชนที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีประเทศไทย (TNY+) สะท้อนประสบการณ์การรักษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งทางภาคเหนือ 

หลังจากผ่านช่วงการต่อสู้เพื่อให้เข้าถึงการรักษาใหม่ๆ แป้งก็ผ่านความเจ็บป่วยในวัยเด็ก จนมีชีวิตที่แข็งแรงเข้าสู่วัยรุ่น แต่ชีวิตก็ยังไม่ราบรื่น ยังมีอุปสรรคในเรื่องการถูกตีตราจากสังคมและผู้คนรอบข้าง โดยเธอถูกเพื่อนรังเกียจและไม่ยอมคบทำให้รู้สึกน้อยใจในโชคชะตา ทว่าเธอก็ผ่านมาได้และกลายเป็นผู้ให้คำปรึกษากับผู้มีเชื้อ HIV ในวัยเดียวกัน 

“เราเก็บสะสมความรู้สึกรู้แย่ๆ รู้สึกไม่ดีมานาน กระทั่งเริ่มมีเพื่อนจากในคลินิกที่รับยาด้วยกันและได้เข้าร่วมอบรมต่างๆ จนเรารู้สึกว่า เราสามารถพัฒนาศักยภาพตัวเองได้”แป้ง กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น 

โอม (ชื่อสมมุติ) กำลังวาดภาพที่แสดงความเป็นตัวเองในการอยู่ร่วมกับเชื้อ HIV และการอยู่ร่วมกับเครือข่ายมา 5 ปี

5 ปีสร้างเครือข่าย TNY+

เมื่อ 5 ปีที่แล้วตัวแทนเยาวชนผู้มีเชื้อ HIV จาก 7 พื้นที่ได้หารือกันแล้วสร้างเครือข่ายเพื่อดูแลกันเองภายใต้ชื่อ “เยาวชนที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีประเทศไทย (TNY+)” จากวันนั้นมีสมาชิกผู้ก่อการเพียง 20 กว่าคน ขณะนี้ขยายสมาชิกมากกว่า 300 คนทั่วประเทศ 

“ตอนนั้นเราเพียงแค่คิดว่า อยากสร้างเครือข่ายที่ดูแลสุขภาพให้กับเยาวชนผู้มีเชื้อ HIV พวกเขาจะได้ไม่ตีตราตัวเองและเข้าถึงระบบการรักษา รวมถึงให้คำปรึกษาเพื่อให้ทุกคนผ่านช่วงเวลาเลวร้ายของชีวิตให้ได้ ผ่านมา 5 ปีเรารู้เลยว่า เครือข่ายนี้เป็นพื้นที่ให้ผู้คนมาเจอกันและเติมกำลังใจซึ่งกันและกัน” โอม (ชื่อสมมุติ) ย้อนมองภาพของเครือข่ายฯ จากห้วงเวลาที่ผ่านมา 5 ปี 

ก่อนที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกของเครือข่าย “โอม” มีประสบการณ์การถูกตีตราไม่แตกต่างจาก “แป้ง” 

อสม.ผู้พลิกชีวิต

ตั้งแต่พ่อแม่เสียชีวิตจาก HIV ย่าก็เป็นเพียงผู้ปกครองคนเดียวที่เขามี แต่การอยู่ในสังคมชนบทก็ไม่เอื้อกับการใช้ชีวิตของเขา เพราะผู้คนไม่เข้าใจเชื้อนี้ เขาจึงถูกรังเกียจและเกือบไม่ได้เรียนหนังสือ 

“มีอยู่วันหนึ่งครูที่โรงเรียนชั้นประถมบอกผมว่า ให้ไปบอกย่าให้มาทำใบลาออกซะ เพราะว่าถ้าป่วยแบบนี้ก็ไม่ต้องมาเรียน ไปรักษาตัวให้หายก่อน”

และนั่นก็เป็นจุดเปลี่ยนชื่อของชีวิตเขา เพราะหลังจากนั้นก็มีอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ในหมู่บ้านมาชักชวนให้เข้าร่วมอบรมเรื่องสุขภาพและส่งเสริมให้เขาร่วมประชุมต่างๆ ต่อมาทำให้เขาได้เข้าสู่ระบบการศึกษา พร้อมกับได้เรียนรู้วิธีการดูแลตัวเองให้แข็งแรงด้วยการเข้าสู่ระบบการรักษาที่ถูกต้อง  

“ทุกวันนี้ผมก็ยังขอบคุณ HIV อยู่ เพราะว่าถ้าผมไม่เป็น ผมคงไม่มีโอกาสได้ทำทุกอย่างที่คนอื่นเขาไม่ได้ทำ”เป็นสิ่งที่ “โอม” สรุปบทเรียนตัวเองจากการอยู่ร่วมกับเชื้อ HIV

ชุติมา สายแสงจันทร์ เจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาเด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และที่ปรึกษา TNY+ 

ก้าวข้ามการตีตราก้วยครอบครัว

ชุติมา สายแสงจันทร์ เจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาเด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และที่ปรึกษา TNY+ กล่าวว่า ​​เด็กมีเชื้อเอชไอวีบางคนเติบโตท่ามกลางความไม่เข้าใจของคนรอบข้าง ถูกตีตราว่า ไม่แข็งแรง  จะป่วยง่ายหรือจะนำเชื้อไปติดต่อคนอื่น ถูกเลือกปฏิบัติ ส่งผลให้เด็กๆ ซึมซับความคิดเหล่านี้ แล้วก็ตีตราตัวเองเป็นแบบนั้น รู้สึกตัวเองไม่มีคุณค่า

ที่ผ่านมาเราทำงานร่วมกับแกนนำเยาวชน TNY+ เพื่อช่วยเด็กและเยาวชนมีเชื้อเอชไอวีและครอบครัว ได้เข้าใจข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเอชไอวี และเข้าใจที่มาที่ไปของการตีตรานี้  หาวิธีในการจัดการ เสริมพลัง ก็ค่อยๆช่วยให้พวกเขาผ่านไปได้

สอดคล้องกับเรื่องราวของ “ออย” ผู้มีเชื้อ HIV สมาชิกเครือข่ายฯ ที่บอกว่า ครอบครัวคอยสนับสนุนให้กำลังใจจนทำให้เธอก้าวข้ามเวลาของการถูกรังแกและการดูถูกในสังคมได้ 

“ยายบอกเสมอว่า ถ้าคนอื่นไม่รักไม่เป็นไร แต่ยายรักคนเดียวก็พอ”ถือเป็นสิ่งที่ทำให้ออยเข้มแข็งจนสามารถก้าวข้ามการถูกตีตราจากสังคมและสามารถให้คำปรึกษาเยาวชนในเครือข่ายฯ ได้ 

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

ซีรีส์ชุดหยุดการตีตราผู้มีเชื้อ HIV (2) – ชะตาชีวิตไม่ได้ลิขิตด้วยผล HIV

เจาะร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติฯ หนทางขจัดการละเมิดผู้มีเชื้อ HIV

image_pdfimage_print