ตลอดปี 2564 มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นที่อีสานและเกี่ยวกับพี่น้องอีสานนอกพื้นที่ ทีมงาน The Isaan Record พยายามบันทึกเรื่องราวและบันทึกภาพถ่ายเท่าที่กำลังพอมี โดยได้คัดสรรภาพที่มีนัยสำคัญต่อปรากฎการณ์ทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรม 

อย่างน้อยเพื่อเป็นการบันทึกทางประวัติศาสตร์ว่า หนึ่งปีที่ผ่านมามีเรื่องราวอะไรน่าย้อนรำลึกและนึกถึงบ้าง 

หมายเหตุ : การเรียงลำดับภาพไม่ได้มีนัยสำคัญว่า ภาพใดมีความสำคัญมากหรือความสำคัญน้อยกว่ากัน 

1.สิ้น “พรศักดิ์ ส่องแสง” 

18 ตุลาคม 2564 ศิลปิน-แฟนเพลงร่วมอาลัยการเสียชีวิตของ “พรศักดิ์ ส่องแสง” จากโรคหัวใจล้มเหลวที่ จ.หนองบัวลำภู อย่างเนืองแน่น ส่วน “เฉลิมพล มาลาคำ” แต่งกลอนลำ “พรศักดิ์ไม่ได้ปิดตำนานหมอลำ แต่เป็นตำนาน” 

2. “ขับไล่ประวิตร” 

รองผู้การ ตร.ขอนแก่น ยึดไมค์ผู้ชุมนุมก่อนปะทะวุ่น หลังชุมนุมไล่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2564 ขณะลงพื้นที่ จ.ขอนแก่น ส่งผลให้เกิดการปะทะระหว่างตำรวจควบคุมฝูงชนและนักศึกษาที่มาชุมนุมบริเวณลานสฤษดิ์ ธนะรัชต์ 

3. “สำรวจชีวิตผู้คนท่ามกลางโควิดระลอก 3”

พิษการระบาดของโควิดระลอก 3 ทำให้ผู้คนล้มหายตายดั่งใบไร้ร่วง เหลือทิ้งไว้ความเสียหายที่ประเมินค่ามิได้ TheIsaanRecord สำรวจชีวิตผู้คนเมืองขอนแก่นยามค่ำคืนช่วงเดือนมิถุนายน 2564 เพื่อให้รู้ว่า พวกเขาใช้ชีวิตอย่างไร ในวันคืนที่ฝนฉ่ำเต็มฟ้าและผู้คนยังไร้วี่แววการได้รับวัคซีน 

4. “สาดสีคณะนิติฯ” 

นักศึกษาส่วนหนึ่งทำกิจกรรมเผาหุ่น สาดสี ปิดถนน บริเวณด้านหน้าคณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น และยื่นหนังสือถึงผู้บริหารให้ตรวจสอบจริยธรรมและจรรยาบรรณกรณีอาจารย์ภายในคณะฯ ขู่ฟ้องนักศึกษา หลังมีการวิพากษ์วิจารณ์การเปลี่ยนรูปแบบการสอนจนกลายเป็นกระแสดาม่าในโซเชียลมีเดีย ขณะเดียวกันได้เรียกร้องให้ผู้บริหารยืนข้างประชาธิปไตย

5. “รำลึก 6 ตุลาฯ” 

นักศึกษา ม.ขอนแก่น จัดกิจกรรมแขวนศพจำลองและประตูแดง หน้าคณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น เพื่อรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 ซึ่งเป็นการการล้อมปราบนักศึกษาครั้งใหญ่ พร้อมแสดงละครสะท้อนการเมืองและเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้มาตรา 112 ที่เป็นสาเหตุให้มีการจับกุมนักศึกษาและมีผู้มีความคิดต่างทางการเมืองเป็นจำนวนมาก 

6. “ตายอย่างไร้ที่ดินทำกิน” 

สุเนตร แท่นทอง ภรรยา สมพิตร แท่นทอง เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 หลังสามีถูกจำคุกได้ 21 วัน โดยสามีของเธอถูกศาลฎีกาตัดสิน จำคุก 10 เดือน 20 วัน พร้อมกับโทษปรับอีก 100,000 บาท 

สมพิตร คือหนึ่งในหนึ่งใน 14 ชาวบ้านที่ตกเป็นจำเลยฐานบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทองและบุกรุกป่า จังหวัดชัยภูมิ ตามนโยบายทวงคืนฝืนป่ายุค คสช.

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://bit.ly/3vFAnIo 

7. ป้องกันค่ายศรีฯ 

เจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (คฝ.) และ สารวัตรทหาร (สห.) กว่า 200 นาย ควบคุมการชุมนุมของกลุ่มแดงก้าวหน้า’63 และแดงใหม่ จัดกิจกรรม “CAR MOB” บริเวณด้านหน้าค่ายศรีพัชรินทร์ เพื่อขับไล่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2564 ซึ่งกิจกรรมได้เริ่มจากบึงแก่นสิ้นสุดที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น โดยมีประชาชนนำรถรถยนต์ส่วนตัวและมอเตอร์ไซต์มาร่วมอย่างคับคั่ง 

8.สั่งเก็บป้าย ร.10 

เจ้าหน้าที่สั่งเก็บป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ ร.10 ในสถานที่สำคัญๆ ในจังหวัดขอนแก่น ออกเกือบทั้งหมด ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากเหตุวางเพลิงหน้าโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 

9. ลูกสาวหล่าทักษิณ 

พรรคเพื่อไทยเลือกจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปีที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อ 28 ตุลาคม 2564 โดยปรับทัพใหม่ด้วยการส่ง แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวคนสุดท้องของ ทักษิณ ชินวัตร นั่งประธานด้านนวัตกรรมพรรคฯ เพื่อดึงคนรุ่นใหม่เข้าวงการการเมืองและมีเป้าหมายเพื่อพาทักษิณกลับบ้าน  

10.ก้าวไกลประกาศปักธงในอีสาน 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ประกาศขณะจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปีพรรคก้าวไกลที่ จ.ขอนแก่น เมื่อ 16 ตุลาคม 2564 พิธาฯ ประกาศกวาด ส.ส. 116 ที่นั่งทั่วอีสาน พร้อมเดินหน้านโยบายแก้ปัญหาพืชผล น้ำท่วม น้ำแล้ง เพื่อเอาชนะใจคนอีสาน 

11. ไผ่ ทะลุฟ้า 

จตุภัทร์​ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน แกนนำกลุ่มราษฎร เริ่มกิจกรรม “เดินทะลุฟ้า คืนอำนาจให้ประชาชน” จากนครราชสีมาถึงอนุสาวรีประชาธิปไตย กรุงเทพฯ เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 ถึงวันที่ 7 มีนาคม 2564 รวมระยะทาง 247.5 กิโลเมตร

ย้อนดูบทสัมภาษณ์ “ไผ่ ดาวดิน” หลังพ้นการจองจำด้วยมาตรา 112 ครั้งแรก “คุกขังเขาได้เพียงร่างแต่หัวใจเขายังโบยบิน”

วิดีโอ “เดินทางไกลกับ ไผ่ ดาวดิน” ที่เป็นการเดินทางเพื่อไปชุมนุม 19 กันยาฯ 2563

image_pdfimage_print