เครดิตภาพ : ประชาไท
กว่าหนึ่งปีของการต่อสู้คดี ม.112 จากการปราศรัยหน้าสำนักงาน SCB ทำให้ชีวิต “บอย พงศธรณ์ ตันเจริญ” เปลี่ยนไป แต่เขาก็ได้กำลังใจและความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมทางทำให้ผ่านปีแห่งการถูกฟ้องร้องมาได้ ซึ่งเขาได้บันทึกเรื่องราวระหว่างของการต่อสู้นี้ไว้
พงศธรณ์ ตันเจริญ เรื่อง
ผมเป็นนิสิตที่ทั้งเรียนกับทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามและมีอีกสถานะหนึ่งเพิ่มเติม คือ การเป็นผู้ต้องหาในความผิดมาตรา 112 จากการขึ้นพูดปราศรัยใน การชุมนุมที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ (SCB) เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564
เป็นเวลากว่า 1 ปีแล้วที่ผมถูกยัดเยียดให้เป็นเหมือนอาชญากรที่รัฐจับตามอง ซึ่งนั่นก็ทำให้ชีวิตผมพบกับความท้าทาย อุปสรรคและปัญหาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างทางของการสู้คดี สิ่งเหล่านี้ทำให้เส้นทางชีวิตของผมเปลี่ยนไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ
นี่เป็นเรื่องราวระหว่างทางที่ผมอยากบอกเล่าให้กับมิตรสหายและทุกท่านได้ทราบถึงสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างทางของการสู้คดีทางการเมือง
นับตั้งแต่ผมตัดสินใจก้าวออกมาเป็นนิสิตที่ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองตอนปี 1 ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตอีกก้าว คือ การที่ได้รับหมายเรียกจาก สน.เขวาใหญ่ จากการที่ผมร่วมกันจัดการชุมนุมกับเพื่อนๆ ภายในกลุ่มแนวร่วมนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
นั่นเป็นหมายเรียกในชีวิต ซึ่งนับจากนั้นก็มีหมายเรียกตามมาอีก ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญอีกระลอกของผม นั่นคือ การได้รับหมายเรียกจาก สน.พหลโยธิน ซึ่งทำให้ผมต้องเดินทางขึ้น-ลง กรุงเทพฯ เป็นว่าเล่น
หลังถูกดำเนินคดี ผมต้องถูกจัดแจงตารางชีวิตใหม่หมด ทั้งงานในรายวิชาเรียนและการติดต่อประสานไปยังอาจารย์เพื่อขอสอบย้อนหลังภายหลังจากกลับมาจากกรุงเทพฯ
ผมต้องเดินทางไปตามนัดคดีทุกครั้ง เนื่องจากเป็นคดีความมั่นคงร้ายแรง ซึ่งผมเองไม่อยากจะผิดนัด เพราะเกรงว่าจะกระทบต่อกระบวนการพิจารณาคดี แต่บางครั้งเจ้าหน้าที่กลับเลื่อนนัดผมอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุย โดยที่ผมเองไม่สามารถคาดเดาการเลื่อนนัดในแต่ละครั้งได้เลย ทำได้เพียงภาวนาว่า การมากรุงเทพฯ แต่ละครั้งขอให้กระบวนการมันเสร็จสิ้นภายในวันนั้นๆ เลย
ผมไม่ชอบการเดินทางมากรุงเทพฯ มันเป็นการเผาผลาญเวลาชีวิตของผมเป็นอย่างมาก เวลาที่ผมต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ทีไรผมมักจะคิดถึงบรรยากาศชีวิตที่ภูธร คิดถึงห้องเรียน คิดถึงมหาวิทยาลัยและคิดถึงการที่ได้อยู่ร่วมกันกับเพื่อนๆ
พงศธรณ์ ตันเจริญ (บอย) กลุ่มแนวร่วมนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พบอัยการเพื่อส่งฟ้องในคดี 112 ที่ศาลอาญารัชดา กทม. เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564
ส่วนตัวผมแล้ว ผมเป็นคนที่ค่อยไม่ชอบความแออัดและความเร่งรีบในเมืองกรุง ยิ่งตอนเดินทางไปศาลต้องเผื่อเวลาอย่างน้อย 1 -2 ชั่วโมงต่อการเดินทางหนึ่งครั้ง แต่ละครั้งก็มีค่าใช้จ่ายที่ต้องผมกับเพื่อนต้องช่วยกันหาเพื่อสำรองไว้สำหรับการต่อสู้คดีทางการเมืองให้ผมและเผื่อมีเพื่อนภายในกลุ่มถูกคดีทางการเมืองในอนาคต
ถ้าผมไม่มีเพื่อนจากกลุ่มแนวร่วมนิสิตฯ กลุ่มเพื่อนที่ธรรมศาสตร์และคนอื่นๆ ที่ช่วยเหลือผมตลอดการต่อสู้คดีทางการเมือง ชีวิตของผมคงจะลำบากมากกว่านี้
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผมนึกถึงนักต่อสู้คนอื่นๆ ที่อาจไม่มีต้นทุนในการต่อสู้คดี พวกเขาคงเจอกับความยากลำบากและความท้าทายในการสู้คดีพอสมควร
สำหรับคดี 112 เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมามีคนตกเป็นผู้ต้องหามากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
แม้ว่าจะมีผู้คนต้องเป็นจำเลยเป็นจำนวนมาก แต่การเคลื่อนไหว การตั้งคำถามต่อสถาบันกษัตริย์กลับไม่ได้ลดลง ผมสังเกตว่า ปฏิกิริยาของผู้คนในสังคมกลับรู้สึกเห็นใจและรู้สึกอยากช่วยเหลือผู้ต้องหาทางการเมืองที่ออกมาต่อสู้เคลื่อนไหวเพื่ออนาคตของบ้านเมืองทำให้ผมรู้สึกว่า สิ่งที่เราทำนั้นไม่สูญเปล่าและผู้คนในสังคมยังให้ความสนใจ ติดตาม สนับสนุนและเคลื่อนไหวตามแนวทางที่แต่ละคนถนัดแตกต่างกันออกไป
แม้ว่าเส้นทางการปฏิรูปทางการเมืองในประเทศไทยจะยังคงไปไม่ถึงเส้นชัย แต่ผู้คนในสังคมตาสว่างแล้ว ผู้คนรับรู้เรื่องราวและเข้าใจในสิ่งที่กลุ่มนักศึกษา กลุ่มต่างๆ ทั่วประเทศเคลื่อนไหว
ผมเชื่อว่า เวลาอยู่ข้างคนหนุ่มสาวเสมอและเมื่อเราได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อสังคมแล้ว เวลาจะยิ่งขยับเข้ามาหาเรามากขึ้นเท่านั้น ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังเผชิญหน้ากับการต่อสู้คดีทางการเมืองและทุกคนที่กำลังทำงานเพื่อผลักดันให้สังคมก้าวต่อไปข้างหน้า
หมายเหตุ: The Isaan Record ยินดีรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยความคิดเห็นที่แสดงบนเว็บไซต์ The Isaan Record ถือเป็นมุมมองของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการและเครือข่าย