เครดิตภาพ : ประชาไท

หนัง “Memoria” เตรียมลงจอในเมืองไทยกุมภาพันธ์นี้ The Isaan Record จึงนำบทสัมภาษณ์ เจ้ย – อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล มาให้อ่านรองท้องไปก่อน แต่เป็นมุมมองจากโคลอมเบียถึงอีสาน 

หทัยรัตน์ พหลทัพ เรื่อง

ปีใหม่ วันใหม่ อาจเป็นจุดเริ่มต้นชีวิตของใครหลายคน The Isaan Record จึงนำบทสนทนากับ “อภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล” หรือ เจ้ย ชาวขอนแก่นที่ประสบความสำเร็จในการทำหนังมากที่สุดคนหนึ่งในประเทศไทย 

หนังของเขาเกือบทุกเรื่องถูกฉายในเวทีนานาชาติ อาทิ รักที่ขอนแก่น ลุงบุญมีระลึกชาติ เป็นต้น เรื่องล่าสุด Memoria ก็คว้ารางวัล Jury Prize ในเทศกาลหนังเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส และหนังเรื่องนี้อยู่ระหว่างเดินทางเปิดตาผู้คนไปเกือบทั่วโลกและเตรียมเข้าฉายในประเทศไทยเดือนกุมภาพันธ์นี้  

The Isaan Record พูดคุยกับ “อภิชาติพงศ์” ผ่านโปรแกรม Zoom  

เราคุยกันช้าๆ รวมถึงถามไถ่ถึงความเป็นอยู่ของ The Isaan Record เพราะด้วยความที่เขารู้จักสื่อแห่งนี้จึงมองดูด้วยความเป็นห่วงของสื่อที่มีเป้าหมายหลักในท้องถิ่นอีสาน  

“ชื่นชมอีสานเรคคอร์ด ไม่รู้ว่ากี่ปีแล้ว คือ ตอนที่พี่ดูตั้งแต่แรกก็คิดว่า เอ้อ…จะไปได้กี่ปีเนี่ย ยินดีมากที่ได้มาร่วมพูดคุย”เขาเอ่ยปากแสดงความชื่นชมและนั่นจึงเป็นการเริ่มสนทนา 

“Long Live Cinema” อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล กล่าวหลังจากรับรางวัล Jury Prize ในเทศกาลหนังเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส เครดิตภาพ Kick The Machine

เบื้องหลัง Long Live Cinema 

นอกจากผลงานของเขาจะสะท้อนภาวะของสังคมที่เวียนวนรอบตัวแล้ว ความคิดและตัวตนยังสนใจสถานการณ์สังคมและการเมือง จนกลายเป็นไอดอลของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะหลังจากที่เขากล่าวปาฐกถกบนเวทีเมืองคานส์ว่า “Long Live Cinema” หลังรับรางวัลเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาได้สร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่จนนำไปเป็นวาทกรรมต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิบนท้องถนน 

“ไม่ได้โยงให้เป็นเรื่องการเมืองแน่นอน” เป็นคำกล่าวปฏิเสธของเจ้ย หลังจากที่เราถามว่า การพูดว่า Long Live Cinema มีความหมายอื่นซ่อนแฝงหรือมีนัยทางการเมืองหรือไม่

อภิชาติพงศ์​เล่าบรรยากาศบนเวทีเทศกาลหนังเมืองคานส์ว่า ปกติแล้วในเทศกาลหนังเมืองคานส์จะให้เลือกว่า จะพูดอะไรเกี่ยวกับหรือไม่ก็ได้ ก่อนหนังจะฉายเขาเลือกที่จะให้คนดูอินกับหนัง แทนการพูดคุยเกี่ยวกับหนัง 

แต่เมื่อดูหนังจบทุกคนปรบมือไม่หยุด ตอนนั้นผู้อำนวยการการจัดงานจึงยื่นไมค์โครโฟนมาให้แล้วบอกว่า “อภิชาตพงศ์ ฉันขอโทษที ฉันรู้ว่า เธอไม่อยากพูด แต่ว่า ต้องพูดแล้ว เพราะว่ามัน…มันเป็นเหตุการณ์พิเศษมาก”

เขาจึงเริ่มต้นด้วยการขอบคุณทีมงาน ขอบคุณอาชีพที่ทำให้มาเมืองคานส์ โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์โควิดที่มีความยากลำบาก แต่เมื่อได้นั่งในโรงหนังท่ามกลางคน 2,000 คน เป็นประสบการณ์ที่เขาจดจำไม่รู้ลืม 

“ในตอนนั้นคิดว่า พลังของภาพยนตร์มันมหัศจรรย์มาก เราเลยบอกว่า ขอให้ภาพยนตร์อยู่กับเราตลอดไปชั่วตลอดกาล Long Live Cinema” 

แต่เมื่อตัดภาพมาที่ประเทศไทย ประโยคสั้นๆ นี้กลับกลายเป็นพลังให้คนรุ่นใหม่ที่เคลื่อนไหวบนท้องถนนเกิดความฮึกเหิมขึ้น 

“มันก็เป็นช่วงที่คนต้องการยึดหาอะไรบางอย่างในช่วงที่บ้านเมืองค่อนข้างมืด ทั้งเรื่องของการเมือง เรื่องของโรคระบาด”

“เราเลยคิดว่า การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ทำให้ความหวังที่ใกล้เข้ามาอีกละ”อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เครดิตภาพ ประชาไท

หวังกับพลังของคนรุ่นใหม่ 

เมื่อถามถึงการให้สัมภาษณ์กับสื่อฝรั่งเศสต่อกระแสของคนรุ่นใหม่ ซึ่งอภิชาติพงศ์เคยตอบว่า คนรุ่นใหม่ถือเป็นความหวัง 

เขาตอบว่า ก่อนหน้านี้เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไปว่า ไม่มีความหวังกับประเทศนี้จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้อยากเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อถ่ายหนัง แต่พอมีเหตุการณ์ลุกฮือของคนรุ่นใหม่ที่คิดวา เป็นสิ่งที่หลายคนคิดอยู่ในใจแต่ไม่กล้าพูด 

“การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ทำให้เราคิดว่า เฮ้ย ! มันเป็นไปได้นะ เชื่อว่า ในอนาคตจะต้องมีภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นถึงเหตุการณ์ในวันนี้ 

เรากำลังคิดอยู่เลยว่าใครจะมาเล่นเป็นเพนกวิน ไผ่ ดาวดินในอนาคต”เขาพูดแล้วก็หัวเราะร่วน 

ผู้กำกับหนังยังหวังว่า สักวันจะมีคนทำหนังและแสดงเรื่องนี้ เพราะตอนนี้สังคมที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย แม้แต่เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 ก็ยังไม่มีหนังถ่ายทอดออกมาอย่างถูกต้องหรือที่ควรจะเป็นตามประวัติศาสตร์

“เราเลยคิดว่า การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ทำให้ความหวังที่ใกล้เข้ามาอีกละ”เขากล่าวด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม 

ผลตอบแทนคนรุ่นใหม่ คือ กระสุนปืนและคุก 

เราถามถึงสถานการณ์การเคลื่อนไหวของนักศึกษาในสายตาของผู้กำกับหนังที่เป็นประชาชนคนหนึ่งที่เห็นเยาวชนถูกห่ากระสุนสาดใส่และจับกุมคุม 

อภิชาติพงศ์​ หยุดคิด แล้วตอบว่า มันเป็นเรื่องหน้าเศร้า ซึ่งจะเห็นว่า แต่ละสถาบัน ทั้งทหาร ตำรวจ หันหน้าหนีกับเหตุการณ์ ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่า ไม่มีความชอบธรรม ดังนั้นควรเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันตำรวจเข้าไปด้วย 

นอกจากนี้เขายังส่งกำลังใจให้คนรุ่นใหม่ด้วยว่า อยากขอบคุณสิ่งที่พวกเขาทำเป็นการให้กำลังใจเรามากกว่า ถ้าทำอะไรได้ก็จะทำ เราเชื่อในสิ่งที่แต่ละคนทำ เพราะว่า เป็นสิ่งที่ในอดีตเราทำไม่ได้ ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง แต่สิ่งที่คนรุ่นใหม่ทำนั้นได้จุดประกายให้ผู้คนมากมาย 

“อยากส่งข้อความถึงผู้ปกครอง ถ้าเรียกตัวเองว่า เป็นผู้บริหารประเทศไม่ใช้อาวุธได้ไหม ไม่ล็อคคนเข้าคุกได้ไหม สิ่งที่คุณควรจะทำ คือ นั่งฟังอย่างมนุษย์ อันนี้เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้คนออกมาสู้บนถนน เพราะว่ารัฐเขาไม่ยอมใช้วิธีที่อารยะ รัฐควรนั่งฟังดีๆ จัดเวทีให้พวกเรา”อภิชาติพงศ์ เสนอทางออก  

Called Out กับราคาที่ต้องจ่าย 

อภิชาติพงศ์ไม่ใช่บุคคลที่มีชื่อเสียงเพียงคนเดียวที่ออกมาแสดงออกทางการเมือง แต่ยังมีหลายคนที่ออกมาสนับสนุนการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ ซึ่งการออกมาแสดงความคิดเห็นนั้นมักจะมีผลกระทบอีกด้านของผู้มีความคิดเห็นแตกต่างเสมอ 

เจ้ยบอกว่า การออกมาเรียกร้องครั้งนี้ยังไม่มีผลกระทบมากนัก แต่ผลกระทบเคยเกิดขึ้นเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เป็นช่วงการเรียกร้องทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดง 

“ราคาที่ต้องจ่ายเคยเกิดขึ้นตั้งแต่หนังเรื่องลุงบุญมีระลึกชาติ ได้รางวัล (รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ปาล์มทองคำ จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ครั้งที่ 64 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553) ตอนนั้นก็มีคนแช่งให้ไปตาย คือ เราต้องขอบคุณประสบการณ์พวกนั้นที่ทำให้เรารู้สึกเหมือนปลงว่า อยู่ในประเทศนี้”เขาเล่าเรื่องนี้พร้อมกับอมยิ้มเมื่อได้พูดถึงสิ่งที่อยู่ในความทรงจำ 

ครั้งนั้นทำให้เขาตระหนักรู้จากบทเรียนว่า เมื่อคนคิดต่างกันย่อมแสดงความเกลียดชังออกมาอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย แต่ยังเกิดขึ้นที่อเมริกา โคลอมเบีย โดยเขามองว่า เป็นความสวยงามของประชาธิปไตยอย่างหนึ่ง 

“นี่แหละ คือ สิ่งที่เราต้องการ เพราะการที่เขาไล่ให้เราไปตายหรือไล่ให้ออกนอกประเทศมันก็ถูกต้องแล้ว เพราะมันคือการแสดงวุฒิภาวะ แสดงความคิดของเขามา แสดงว่า ประเทศนี้มันทำให้เขาเป็นอย่างนี้ ทำให้คนอาฆาตหรือเกิดความรุนแรงทางคำพูดขึ้นมา”เขากล่าวอย่างเนิบๆ 

อภิชาติพงศ์​เล่าย้อนความหลังถึงเหตุการณ์ที่ถูกไล่ให้ไปตายว่า เกิดขึ้นช่วงปี 2553 ที่มีเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในใจกลางกรุงเทพฯ ตอนนั้นเขาให้สัมภาษณ์สื่อ

“เราไม่ได้โปรทักษิณเลยก็ถือว่า เป็นบุคคลต้องสงสัยในระดับหนึ่งเลยด้วยซ้ำ ตอนนั้นเราพยายามอธิบายว่า การใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมมากดเขา มันไม่ถูกต้อง ก็เลยถูกโจมตี ทำให้เราเกือบไม่ได้ไปคานส์เลยแหละ”

เครดิตภาพ Kick The Machine

หนัง “Memoria” จากโคลอมเบียถึงอีสาน 

เขาเล่าที่มาของการสร้างหนัง “Memoria” ว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร 2557 เพียง 1 ปี ซึ่งก่อนหน้านั้นมีเพื่อนบางคนถูกทหารเรียกไปปรับทัศนคติ หรือ Attitude Adjustment 

“เรารู้สึกว่า มันไม่ใช่ แต่ถามว่า เรากลัวไหม เรากลัวนะ เราจินตนาการว่า ถ้ามันเกิดกับเรา แล้วมันจะเป็นอย่างไร แน่นอน ทั้งกลัวทั้งโมโหว่า ถ้าเราจะทำหนัง เราจะไม่พูดเรื่องนี้ไม่ได้แล้ว มันต้องพูดเพราะมันน่าเกลียด เลยคิดว่า ถ้าบ้านเราพูดไม่ได้ก็จะลองไปทำสิ่งที่อยากทำที่  อเมริกาใต้”เจ้ยเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการสร้างหนังที่โคลอมเบีย  

เขาเล่าว่า หนัง Memoria ไม่ใช่หนังการเมือง เป็นหนังที่พูดถึงอารมณ์ส่วนบุคคลมากกว่า โดยมีนางเอกเดินเรื่อง ซึ่งเป็นหนังส่วนตัวของเราที่พยายามเชื่อมกับความรู้สึกหรือความสะเทือนใจที่เกิดขึ้นของตัวละครที่สูญเสียคนรักไป แล้วก็ได้ยินเสียงที่จู่โจมชีวิตเธอจนต้องตามเพื่อค้นว่า เสียงนั้นมาจากอะไร 

“มันเป็นเสียงระเบิดแบ๊ง ! ขึ้นมาในหัว แต่ว่ามันมันไม่ใช่เสียง มันคือความรู้สึก เหมือนเราคิดในใจ มันได้ยินในหู แต่ว่ามันอยู่ในสมอง ซึ่งมันก็ลิ้งค์กับเสียงระเบิดที่เกิดขึ้นหรืออาจเป็นเสียงแห่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโคลอมเบีย”เขาเล่าที่มาที่ไปของหนัง 

อภิชาติพงศ์ ​เล่าประวัติศาสตร์ทางการเมืองของโคลัมเบียช่วงเกิดความขัดแย้งแต่สามารถผ่านมาได้ว่า เมื่อปี 1920 มีการฆ่ากันตายจำนวนมาก ต่อมาช่วงปลาย 1950-1960 ซึ่งเป็นช่วงคอมมิวนิสต์ที่มาพร้อมกับอเมริกาเข้ามายุ่งเรื่องการเมือง ซึ่งไอเดียคอมมิวนิสต์น่าสนใจตรงที่ให้คุณค่าสำหรับคนถูกกด จึงทำให้พวกเขาหลงใหลไปทางนั้น แต่ 10 ปีที่ผ่านมาบรรยากาศเริ่มคลายไปค่อนข้างมาก 

“เมื่อรัฐบาลกด แล้วก็ฆ่าทิ้ง ชาวบ้านเลยสร้างกองกำลังทหารขึ้นมา มีหลายกองมาก แล้วรัฐบาลที่สนับสนุนโดยอเมริกาก็ปราบพวกเขาด้วยความรุนแรง ซึ่งตอนนั้นก็มีเรื่องยาเสพติดเข้ามาเกี่ยวด้วย เพราะเป็นแหล่งรายได้ของกองกำลังเพื่อใช้ซื้ออาวุธ​ สุดท้ายแล้วคนที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ก็เป็นชาวบ้านที่ตายกว่าสองแสนกว่าคน มันหนักหนาสาหัสมาก แต่เขาก็ก้าวมาได้ แล้วหันกลับไปมองว่า มันเกิดอะไรขึ้น”อภิชาติพงศ์ เล่าเกร็ดประวัติศาสตร์  

เขายังบอกด้วยว่า มีประสบการณ์เข้าร่วมนิทรรศการภาพถ่ายของช่างภาพคนหนึ่งที่เก็บภาพความรุนแรง พร้อมกับทำข้อมูลว่า มีรัฐไหนบ้างที่มีความรุนแรง คนตายกี่คน เสียชีวิตจากอะไร ซึ่งละเอียดมาก ทำให้รู้ว่า อยากให้ประเทศไทยมีแบบนี้บ้าง 

“บ้านเราขนาดเหตุการณ์ผ่านมาเพียง 30-40 ปี กลับไม่มีตัวเลขแน่ชัดเลยว่ามันเกิดอะไรขึ้น แม้แต่คนสั่งการยังไม่มีตัวตน”

Memoria สื่ออะไรถึงคนดู

หนังเรื่องนี้อภิชาติพงศ์บอกว่า สร้างขึ้นมาเพื่อตัวเอง ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่พยายามเค้นความหดหู่หรือว่าอะไรที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นหนังที่หนักระดับหนึ่ง แต่เชื่อว่า พอเรามีความซื่อสัตย์กับตัวเองแล้วเราก็ทำหนังในสิ่งที่ตัวเองอยากพูดด้วยการไม่เซ็นเซอร์มันก็จะเชื่อมกับใครบางคนได้ 

“แม้จะมีแค่หนึ่งในร้อยคนที่เข้าถึงมัน เราก็ดีใจแล้ว มันเป็นสิ่งที่คานส์สอนเรามา มันเป็นสิ่งที่หลายๆ เวทีภาพยนต์สอนเรามาว่า คุณไม่สามารถที่จะเอาใจทุกคนในโลกนี้ได้ เพราะฉะนั้นนี่คือ คนทำหนัง ถ้าคือคุณทำหนังส่วนตัวแล้วเนี่ยต้องท่องไว้เลยว่า เวลาคนด่าคุณ คุณต้องไม่คิดมาก เพราะมันเป็นสิ่งที่ศิลปินต้องมี” 

อภิชาติพงศ์กับการทำหนังอีสาน 

การที่เขาเติบโตในจังหวัดขอนแก่นจึงมีความผูกพัน อาทิ บรรยากาศรึมบึงแก่นนคร อนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ ไดโนเสาร์ เป็นต้น ส่วนหนองคายก็เป็นบ้านของนักแสดงที่เดินทางไปหาบ่อยครั้งจึงมีความหลงใหลในเรื่องแม่น้ำโขง 

“มันเป็นพื้นที่ๆ เราเติบโต แล้วมันก็เปลี่ยนแปลง มันมีชีวิต เราก็เลยกลับไปเฝ้าดู ไปอัพเดท ไม่รู้จบ” 

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

ฉายหนัง “รักที่ขอนแก่น” ณ ลอนดอน ระดมทุนเพื่อผู้มีบุญ เต็มทุกที่นั่ง

“เจ้ย-อภิชาติพงศ์” แนะเจรจาผู้ชุมนุมบนถนน แทนแจกกระสุน



image_pdfimage_print