1,867 องค์กรออกแถลงการณ์คัดค้านกฎหมายควบคุมองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร หลังผ่าน ครม. ส่วนเว็บไซต์ Chang.org มีผู้ร่วมลงชื่อค้านกฎหมายฉบับนี้กว่า 8 พันคน

เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2565 เครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชน ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง “ประชาชนต้องมีสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มทางสังคมเพื่อร่วมกำหนดอนาคตของตนเองในการพัฒนาประเทศ”

แถลงการณ์มีข้อความระบุว่า การเสนอร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ..ของรัฐบาลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา โดยอ้างว่า องค์กรไม่แสวงหากำไรและองค์กรภาคประชาชนทั่วประเทศที่ทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ ขาดธรรมาภิบาล ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย มีความเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน จึงต้องควบคุมเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ท่ามกลางเสียงคัดค้านของภาคประชาชนทั่วประเทศ ได้แสดงให้เห็นถึงความไม่สนใจใยดีต่อเหตุผลที่เครือข่ายภาคประชาชนพยายามนำเสนอเพื่อให้รัฐบาลได้พิจารณาทบทวนความคิดในการตรากฎหมายฉบับดังกล่าว

“กฎหมายฉบับนี้ไม่สอดคล้องกับเสรีภาพในการรวมกลุ่ม การชุมนุมสาธารณะ การแสดงออก และสิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร มีการใช้อำนาจรัฐเกินขอบเขต โดยเฉพาะอำนาจข้าราชการในการใช้ดุลพินิจว่า กิจการใดขัดต่อความสงบเรียบร้อย ขัดต่อความมั่นคงของรัฐได้ตามอำเภอใจ มีอำนาจสั่งห้ามไม่ให้มีการกระทำนั้นๆ ได้โดยไม่สามารถฟ้องร้องศาลปกครองได้”

ทั้งที่สิทธิเสรีภาพดังกล่าวนี้ได้ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญหลายฉบับ รวมทั้งฉบับปัจจุบัน ทั้งยังระบุในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ที่สามารถกำหนดทิศทางและนโยบายสาธารณะอย่างมีเป้าหมายและมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งต้องมีหลักประกันสิทธิเสรีภาพที่ปลอดจากความกลัว ปลอดจากความหิวโหย และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อันถือเป็นการสร้างสมดุลทางอำนาจระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมในการจัดสรรทรัพยากรของสังคมอย่างสมดุล เท่าเทียมและเป็นธรรม

“เป็นที่ประจักษ์ว่า ร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ… มีเจตนาและเนื้อหาต้องการควบคุม กำกับ และเข้าข่ายคุกคามการรวมกลุ่มของประชาชนในทุกรูปแบบ โดยอ้างเหตุผลว่าต้องการจัดระบบกลุ่มองค์กรทางสังคมในประเทศให้มีความสงบเรียบร้อยมากขึ้น”

แถลงการณ์ยังระบุอีกว่า ทั้งที่ในความจริงแล้วปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายหลายฉบับ ได้ทำหน้าที่กำกับดูแลและตรวจสอบการรวมกลุ่มทางสังคมเพื่อสาธารณประโยชน์อยู่แล้ว ทั้งองค์กรในรูปแบบจัดตั้งเป็นมูลนิธิ สมาคม และองค์กรที่ตั้งขึ้นมาโดยไม่ได้จดทะเบียนต่างๆ เช่น การรวมตัวรวมกลุ่มของชุมชน ประชาชน ที่ทำงานเพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิ ตลอดจนการจัดตั้งองค์กรภายใต้กฎหมายเฉพาะต่างๆ องค์กรเหล่านี้ก็ได้ปฏิบัติตามกฎหมายฉบับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดเสมอมา

นอกจากนี้ยังระบุอีกว่า ความพยายามของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ กำลังส่อเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์และกำลังใช้ระบบราชการอำนาจนิยมแบบเผด็จการทหาร ในการกำกับ ควบคุมภาคประชาชนให้ดำเนินกิจกรรมอยู่ภายใต้การรวมศูนย์อำนาจของตนเองเท่านั้น อันเป็นภัยคุกคามการรวมกลุ่มของประชาชน มากกว่ามองเห็นเป็นหุ้นส่วน ซึ่งเป็นปฏิปักษ์และบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมอย่างสิ้นเชิง และขัดต่อหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

“เราไม่ยอมรับและขอคัดค้านร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้อย่างถึงที่สุด จนกว่าจะมีการถอนร่างกฎหมายฉบับนี้ ตามเหตุผลที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น ทั้งนี้จะมีการนัดหมายองค์กร/เครือข่ายภาคประชาชนทั่วประเทศที่ได้มีการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันแล้ว 1,800 กว่าองค์กร ให้ออกมาคัดค้านรัฐบาลในเรื่องนี้ ก่อนที่จะมีการนำร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีครั้งต่อไป”

ขณะที่บนเว็บไซต์ change.org ได้ตั้งแคมเปญ “หยุด(ร่าง)กฎหมายควบคุมเสรีภาพการรวมกลุ่มของประชาชน” โดยมีผู้ร่วมลงชื่อกว่า 8,000 คน โดยสามารถร่วมลงชื่อได้ที่นี่

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง ถึงเวลาคนหนุนรัฐประหารค้านร่าง พ.ร.บ.คุมองค์กรไม่แสวงหากำไร

image_pdfimage_print