อนุสาวรีย์กบฏไท่ผิงเทียนกั๋ว ณ เมืองเมิ่งซาน มณฑลกวางซี  ที่มา Meumo

ภาพจำระหว่าง กบฏผู้มีบุญอีสานและกบฏไท่ผิงของจีน คือ มีการสร้างอนุสาวรีย์ที่เมืองเมิ่งโจว มณฑลกวางซี ส่วนการต่อสู้ที่อีสาน รัฐไทยกลับเรียกพวกเขาว่า “ผี” และ “กบฏ” ที่เป็นเพียงแค่การต่อต้านอำนาจรัฐ ไม่ใช่ผู้นำในการต่อกรกับอำนาจที่ไม่เป็นธรรมของรัฐเหมือนกับที่จีน บทความโดย กชภพ กรเพชรรัตน์

กชภพ กรเพชรรัตน์ เรื่อง

เราอาจจะรู้จักการอ้างตนว่า เป็น “ผู้มีบุญ” เพื่อเป็นผู้นำการต่อต้านอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรมของรัฐในชื่อ “กบฏผีบุญ” ที่เกิดขึ้นในภาคอีสานถึง 9 ครั้ง ซึ่งกลุ่มที่มีอิทธิพลสำคัญ คือ ขบวนการกลุ่มผู้มีบุญองค์มั่น ในสมัยรัชกาลที่ 5 ช่วงระหว่างปี 1901-1902 (2444-2445) โดยมีเป้าหมายที่จะยึดเมืองอุบลราชธานีศูนย์กลางอำนาจของไทยในอีสานตะวันออกแล้วตั้งรัฐขึ้นมาใหม่ เพื่อทวงสิทธิความยุติธรรม ในแง่ของการเมืองและความเท่าเทียมเศรษฐกิจท้องถิ่นที่เกิดจากรัฐรวมศูนย์เกือบ 50 ปี 

ก่อนเกิดกบฏผีบุญของกลุ่มองค์มั่น ประเทศมหาอำนาจอย่างจีนเผชิญหน้ากับ “กบฏผู้มีบุญ” ครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์จีน เพื่อต่อกรกับอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรมที่เป็นภัยต่อความมั่นคงให้กับรัฐบาลจีนในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และประวัติศาสตร์ก็ได้จดจำไว้ในชื่อว่า ขบวนการเคลื่อนไหวไท่ผิงเทียนกั๋ว (太平天國運動) 1853-1864 (2396-2407) 

บทความนี้จะวิเคราะห์ภาพความทรงจำประวัติศาสตร์การเมืองต่อกบฏผู้ท้าทายอำนาจรัฐในยุคร่วมสมัยที่มีความแตกต่างกับการมองการต่อต้านอำนาจรัฐของกบฏผีบุญที่เกิดขึ้นในประเทศไทย 

เรือเอชอีไอซี เนเมซิส ของอังกฤษทำลายเรือสำเภาของจีนระหว่างยุทธนาวีชุนปิครั้งที่สอง วันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1841 (2384) ที่มา Massachusetts Institute of Technology © 2010 Visualizing Cultures 

 

สถานการณ์เมืองจีนในสมัยราชวงศ์ชิง

ประเทศจีนสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่ภายใต้การนำของราชวงศ์ชิงของชาวแมนจู (1644-1911) มาร่วม 200 ปีก็ถึงคราวเสื่อมโทรมที่เป็นไปตามกฎการเสียอำนาจของวัฎจักรการผลัดเปลี่ยนราชวงศ์จีน แต่การเสื่อมอำนาจของราชวงศ์ชิงไม่ได้เกิดขึ้นจากปัญหากความขัดแย้งภายใน หากแต่มีมหาอำนาจตะวันตกเข้าไปแทรกแซงจีน ในช่วงทศวรรษที่ 1850 (2393) สมัยจักรพรรดิเซียนเฟิง (咸丰) จีนตกอยู่ในสถานภาพเสื่อมโทรม สังคมมีสภาพมืดมน เช่น การทุจริตของแวดวงการรัฐบาลที่ถูกแพร่กระจายไปทั่วสังคมจีนในสมัยนั้นถูกเพิกเฉยและไร้ซึ่งการแก้ไข ชีวิตของประชาชนและผู้ใช้แรงงาน ประสบกับปัญหาความลำบากยากจนจากอุทกภัย การขูดรีดจากเจ้าที่ดิน และภาษีที่ขูดรีดชาวนา ความอดอยาก 

ยิ่งไปกว่านั้นจีนได้พ่ายแพ้สงครามฝิ่นครั้งแรกเมื่อปี 1842 (2396) และครั้งที่ 2 เมื่อปี 1858 (2401) ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 และ 4 ของไทย ส่งผลให้ภาพลักษณ์มหาอำนาจของจีนถูกทำลายจากการพ่ายแพ้สงคราม ประเทศจีนจำต้องยอมจำนนต่อการบีบบังคับด้วยแสนยานุภาพทางการทหารของมหาอำนาจตะวันตก อันเป็นผลให้จีนต้องเปิดเมืองท่า ชำระค่าปฏิกรรมสงคราม และผลที่ตามมา คือ การที่ชาติตะวันตกเริ่มแทรกซึมไปในด้านการเมือง จนทำให้ระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตลอดทั้งรากฐานเศรษฐกิจจีนอ่อนแอ ทำให้จีนสูญเสียสถานะความเป็นมหาอำนาจในเอเชียที่เคยเป็นมาร่วมนับพันปี 

ภาพวาดหง ซิ่วเฉฺวียน ผู้นำกบฏไท่ผิง ที่มา Dr. Meierhofer

 

กำเนิดกบฏผู้มีบุญ

หนุ่มกวางตุ้งจากตระกูลชาวนาผู้มีนามว่า หง ซิ่วเฉฺวียน (洪秀全) ได้รับแนวคิดแบบคริสต์ศาสนา จากการเทศน์ของบาทหลวง ศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ จึงได้ตัดสินใจก่อตั้งสมาคมไหว้พระเจ้าขึ้น เพื่อเผยแพร่ว่าทุกคนควรมีสิทธิและฐานะเสมอภาคกันและเรียกร้องให้ประชาชนลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลภายใต้การนำของราชวงศ์ชิง ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในหุบเขาในเขตกวางซีทางตะวันตกของกวางโจว ที่ประกอบด้วย ชาวเหยา ชาวจ้วง และชาวจีนฮากกา 

หง ซิ่วเฉฺวียน อ้างตนว่าเป็นตัวแทนของพระเจ้าพร้อมที่จะทำลายราชวงศ์ชิงที่เป็นชาวแมนจู หง ซิ่วเฉฺวียนเดิมทีเคยมีความใฝ่ฝันที่จะสอบเข้าเป็นข้าราชการเพื่อทำงานให้กับราชวงศ์ชิงด้วยความหวังที่จะแก้ไขความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่น แต่หง ซิ่วเฉฺวียนประสบความล้มเหลวถึง 4 ครั้งในการสอบข้าราชการ เขาได้เริ่มศึกษาเทววิทยาของคริสต์ศาสนา ทำให้เขาเลื่อมใสในตัวหลักธรรมคำสอนและเริ่มต่อต้านหลักธรรมคำสอนของขงจื้อและเต๋า ตามบันทึกได้กล่าวว่า หลังจากที่ หง ซิ่วเฉฺวียนได้ล้มป่วยได้ถึงกับนิมิตรว่าตนเป็นบุตรของพระเจ้า และพระเยซู คือ พี่ชายคนโตของตนเอง 

สมาคมไหว้พระเจ้ามีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว มีสมาชิกเพิ่มขึ้นกว่า 1 หมื่นคนเมื่อปี 1849 (2392) กองทัพกบฏไท่ผิง ได้นำชาวนาก่อการปฎิวัติขึ้นที่หมู่บ้านจินเถียน อำเภอกุ้ยผิง และตั้งราชวงศ์ไท่ผิงเทียนกว๋อ อันแปลว่า อาณาจักรสวรรค์มหาสันติ กองทัพไท่ผิงได้สู้รบกับกองทัพชิง และจำนวนกองกำลังทหารมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นถึงหลายแสนคน เมื่อปี 1853(2396) กบฏไท่ผิงสามารถ ยึดเมืองหนานจิง และเปลี่ยนชื่อเป็นเทียนจิงเพื่อตั้งเป็นเมืองหลวง   

กบฏไท่ผิงมีแนวคิดในการสร้างสรรค์สังคมให้มีความเท่าเทียมกัน เป็นสังคมอุดมคติ ที่ทำให้ทุกคนมีความเสมอภาคในทุกด้าน เช่น การปฏิรูปที่ดินเพื่อให้ชาวบ้านทั่วไปมีที่ทำกิน ความเท่าเทียมของชายและหญิง การห้ามเสพฝิ่น หากพิจารณาแล้วมีความคล้ายคลึงกับแนวคิดสังคมนิยมค่อนข้างมาก จากปี 1850 (2393) ถึง 1856 (2399) นับเป็นช่วงรุ่งโรจน์ที่สุดของกลุ่มกบฏไท่ผิงเทียนกั๋ว นอกจากยึดนานกิงเป็นศูนย์กลางอำนาจได้แล้ว ยังได้ครอบครองดินแดนทั้งหมดของมณฑลเจียงซี อันฮุย และส่วนใหญ่ของมณฑลหูเป่ย 

แต่แล้วอุดมการณ์ของไท่ผิงเริ่มเปลี่ยนไปเมื่อ อุดมการณ์ของชนชั้นนำเริ่มเปลี่ยนไป เห็นแก่ผลประโยชน์ระยะสั้นของพวกพ้องเป็นใหญ่ ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในหมู่ชนชั้นนำ จนต้องถูกราชสำนักชิงปราบปราม และพ่ายแพ้แก่ราชสำนักในปี 1864 (2407)

แผนที่อาณาเขตภายใต้การควบคุมของอาณาจักรไท่ผิง (พื้นที่สีแดง) ที่มา Kalemooo

ความแตกต่างในการมองประวัติศาสตร์การต่อต้านอำนาจรัฐระหว่างจีนกับไทย

การลุกขึ้นต่อต้านอำนาจรัฐของขบวนการเคลื่อนไหวทั้งสองมีจุดร่วมที่เหมือนกันก็คือ ผู้นำต่างอ้างตนว่าเป็นผู้มีบุญหรือเป็นผู้วิเศษเป็นความหวังของผู้ถูกกดขี่ เช่น แนวคิดการแทนตัวเองเป็นพระศรีอริยเมตไตรยหรือพระศรีอาริย์ ที่มีความเชื่อว่าจะสามารถนำพาให้สังคมมีความเท่าเทียม ไม่มีเจ้าผู้ปกครอง และไม่มีการกดขี่ 

ในขณะที่กบฏไท่ผิงก็มีการอ้างตนว่า เป็นนักบุญตัวแทนของพระเจ้าตามแนวคริสต์ศาสนาผู้ปลดปล่อยประชาราษฎร์ ในแง่ของนโยบาย กบฏไท่ผิง มีการเน้นย้ำความเสมอภาค โดยเฉพาะการกระจายที่ดินให้กับชาวนาอย่างเป็นธรรม รายได้แบบคลังรวม การยกเลิกประเพณีการมัดเท้าของสตรี เป็นต้น 

ขบวนการต่อต้านรัฐทั้งสองมีวิธีการต่อสู้ที่คล้ายกัน คือ เป็นการปลุกระดมทางความคิด เพื่อให้คนเข้าร่วมต่อต้านอำนาจรวมศูนย์ของรัฐ โดยวิธีการหลักจะเป็นการปล่อยข่าวลือ คำพยากรณ์ กิจกรรมทางศาสนา แต่การลุกขึ้นต่อสู้ของกบฏไท่ผิงมีความแตกต่างจากลักษณะนโยบายและอุดมการณ์ในการสร้างสังคมอุดมคติที่ชัดเจนกว่าและมีระบบมากกว่ากบฏผีบุญในอีสานจึงทำให้ประสบความสำเร็จในการรวบรวมมวลชนต่อต้านราชสำนักชิงนานถึง 14 ปี  

Map
Description automatically generated
การยึดเมืองหนานจิงคืนของราชวงศ์ชิงเมื่อปี 1864 (2407) ที่มา Wu Youru

อย่างไรก็ตามการมองการก่อกบฏทั้ง 2 จากชนชั้นนำนั้นกลับมีความแตกต่างกัน ‘กลุ่มผู้มีบุญในอีสาน’ ถูกวาทกรรมลดคุณค่าจากภาครัฐกลายเป็นกลุ่มผีบ้าผีบุญ และพยายามทำให้ลืมเป้าประสงค์ที่สำคัญของกบฏผีบุญ ซึ่งตรงกันข้ามกับกบฏไท่ผิง แม้ว่าลักษณะการต่อสู้จะมีอุดมการณ์แบบเดียวกัน แต่ไม่ได้ถูกประวัติศาสตร์ลดคุณค่า กบฏไท่ผิงในประวัติศาสตร์จีนถูกจดจำในฐานะเป็นผู้นำการปฎิวัติเพื่อความเท่าเทียมกันทั้งในรัฐบาลจีนก๊กมินตั้ง (国民党) และรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ แต่รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับถูกจดจำว่า เป็นสาเหตุที่ทำให้ประเทศจีนในสมัยนั้นเสื่อมถอย

สรุป 

ภาพความทรงจำของกบฏไท่ผิง แม้ว่าจะทำให้มีผู้คนล้มตายหลายล้านคน แต่กบฏไท่ผิงกลับถูกจดจำในแง่ของการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมที่ราชวงศ์ชิงได้กดขี่ และถูกนำมาเป็นบทเรียนสำคัญที่เป็นต้นกำเนิดของการปฎิวัติซินไห่ ภายใต้แนวคิดไตรราษฎร์โดยซุนยัดเซน ที่ว่าด้วย “ประชาชาติ” (民族; people’s rule) คือ ความนิยมชาติ “ประชาสิทธิ์” (民權; people’s right) คือ ประชาธิปไตยและ “ประชาชีพ” (民生; people’s livelihood) คือ ความอยู่สุขสวัสดีของผองชน ที่กล่าวถึงสิทธิและความเท่าเทียมของประชาชนจีน และต่อมาพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ยังได้ยกย่องกบฏไท่ผิงในฐานะชาวนาผู้เป็นต้นกำเนิดของการปฎิรูปที่ดินเพื่อประชาชนอันสอดคล้องกับแนวคิดสังคมนิยมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน 

กำแพงเมืองหนานจิงในปัจจุบัน เครดิต กชภพ กรเพชรรัตน์

ภาพกบฏไท่ผิงสะท้อนให้เห็นถึงการกระทำที่สอดคล้องกับนโยบายและอุดมการณ์ของภาครัฐในยุคสมัยใหม่ ซึ่งในประเทศจีนไม่ได้ใช้คำว่า ขบฏกับไท่ผิงเทียนกว๋อ แต่เลือกใช้คำว่า ขบวนการเคลื่อนไหวไท่ผิงเทียนกว๋อ (太平天國運動) และยังมีการสร้างอนุสาวรีย์ที่เมืองเมิ่งโจว มณฑลกวางซี เพื่อรำลึกถึงกบฏครั้งนั้นอีกด้วย  

ในขณะที่กบฏผู้มีบุญในอีสานกลับถูกจดจำว่า เป็นเพียงแค่ “ผี” และ “กบฏ” ที่ทำลายการบริหารของส่วนกลาง เป็นปรปักษ์ต่ออุดมการณ์ชาติ และจะต้องถูกกำจัดให้หมดสิ้นไป ซึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้จดจำการเคลื่อนไหวของผู้มีบุญเป็นเพียงแค่กบฏต่อต้านอำนาจรัฐ ไม่ใช่ผู้นำในการต่อกรกับอำนาจที่ไม่เป็นธรรมของรัฐเหมือนกับที่จีนในปัจจุบันมองกบฏไท่ผิงผ่านประวัติศาสตร์

แหล่งอ้างอิง

ข้อมูลทางบรรณานุกรมของสำนักหอสมุดแห่งชาติ (2550). ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประวัติศาสตร์จีน.สำนักพิมพ์สุขภาพใจ บริษัท ตถาตา พับบลิคเคชั่น จำกัด. พิมพ์ครั้งที่ 1. 

รัตนากร ฉัตรวิลัย. (ม.ป.ป) .ความเชื่อที่ปรากฎในกบฏผีบุญ พ.ศ. 2444-2445 กรณีศึกษากลุ่มองค์มั่น.วารสารการเมือง การบริหาร และกฎหมาย.ปีที่3.ฉบับที่3.

พาฝัน หน่อแก้ว.(2021).‘กบฏผีบุญ’ วาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้นใหม่โดยรัฐไทย. (n.d.). Retrieved January 7, 2022, from https://themomentum.co/feature-pheeboon/

สุวิทย์ ธีรศาศวัต (2021). กบฏผู้มีบุญอีสาน ผู้นำตั้งตนเป็นผู้วิเศษ-พระศรีอริยเมตไตรย สู่จดหมายลูกโซ่ยุคแรกในไทย. Retrieved from https://www.silpa-mag.com/history/article_8986

Record, T. I. (2021, June 27). ซีรีส์ผีบุญในอีสาน (14) – ประวัติศาสตร์ผีบุญจากยุคกดขี่ถึงราษฎร’63. Retrieved from https://theisaanrecord.co/2021/06/16/phi-bun-rebellion-14/

Fairbank, J. K. (2005). China: A new history. Cambridge, MA: Harvard University Press.

เขียน ธีรวิทย์. (2547). วิวัฒนาการการปกครองจีน.โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิมพ์ครั้งที่ 3.

หมายเหตุ: The Isaan Record ยินดีรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยความคิดเห็นที่แสดงบนเว็บไซต์ The Isaan Record ถือเป็นมุมมองของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการและเครือข่าย

image_pdfimage_print