เครือข่ายสื่อและนักวิชาการ 65 คน ออกจดหมายเปิดผนึกกังวลร่าง พ.ร.บ.ควบคุมสื่อ หวั่นเปิดทางเกี๊ยะเซี๊ยะรัฐ เหตุขอเงินตั้งองค์กรวิชาชีพสื่อ 25 ล้านบาท จี้หยุดกระบวนการก่อนรับฟังความคิดเห็นรอบด้าน

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565 เครือข่ายสื่อเสรี ภาคีนักเรียนสื่อ และสมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย ( Thai Media for Democracy Alliance – DemAll) ออกจดหมายเปิดผนึกแสดงความห่วงใยต่อสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.มาตรฐานวิชาชีพสื่อฯ

จดหมายระบุว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติผ่านร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ… เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 ระบุเหตุผลในบันทึกหลักการและเหตุผลว่า “สมควรกำหนดให้มีองค์กรเพื่อทำหน้าที่คุ้มครองเสรีภาพของบุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติรับรอง และกำหนดให้มีการส่งเสริมจริยธรรมสื่อมวลชนเพื่อให้การทำหน้าที่ตามมาตรฐานวิชาชีพเป็นไปอย่างเหมาะสม”

ทางเครือข่ายเห็นว่า เนื้อหาของร่างกฎหมายดังกล่าวยังมีข้อกังวลอยู่หลายประการจึงขอให้รัฐสภา ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องชะลอกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายออกไปก่อน จนกว่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับข้อมูลและมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น

“ขอให้องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนในฐานะผู้ที่มีส่วนร่วมในการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึงและรอบด้าน” 

นอกจากนี้ยังได้แสดงความกังวลต่อเนื้อหาในร่างกฎหมายที่จะนำไปสู่การกำจัดเสรีภาพของสื่อมวลชน โดยเฉพาะมาตรา 5 แม้จะรับรองเสรีภาพในการเสนอข้อมูลข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็น “ตามจริยธรรมสื่อมวลชน” แต่ก็มีข้อยกเว้นว่า “ต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” ซึ่งที่ผ่านมาคำว่า “หน้าที่ของปวงชนชาวไทย” และ “ศีลธรรมอันดีของประชาชน” มักถูกรัฐตีความอย่างกว้างขวางเพื่อใช้ในทางจำกัดเสรีภาพตลอดมา จึงทำให้เกิดข้อกังวลว่าจะกระทบต่อสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย

“ข้อห่วงใยเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน โดยเฉพาะมาตราที่ 8 และ 9 ที่กำหนดแหล่งรายได้ของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนว่า มาจาก 7 ช่องทาง โดยเฉพาะเงินที่ได้รับการจัดสรรจากคณะกรรมการบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ไม่ต่ำกว่าปีละ 25 ล้านบาท ขณะที่หลักการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนต้องเป็นผู้ตรวจสอบการดำเนินการของภาครัฐ เช่นนี้แล้ว สภาวิชาชีพสื่อมวลชนจะการันตีความเป็นอิสระจากภาครัฐได้อย่างไร หากมีแหล่งรายได้มาจากรัฐเสียเอง” 

จดหมายเปิดผนึกยังระบุอีกว่า สำหรับสัดส่วนของคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนที่มาจากการสรรหาก็ไม่เอื้อต่อการมีส่วนร่วม เพราะมาจากกลุ่มบุคคลในวงจำกัด จึงทำให้โครงสร้างของคณะกรรมการสรรหาไม่ได้ยึดโยงกับทั้งสื่อมวลชนและประชาชน แต่กลับมีอำนาจในการคัดเลือกคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนซึ่งจะมีบทบาทหน้าที่สำคัญ อาทิ เป็นตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนของประเทศ, กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมสื่อมวลชน, พิจารณาการขอจดแจ้งและเพิกถอนการจดแจ้งขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นบทบาทให้คุณให้โทษต่อสมาชิกและวงการสื่อมวลชน

เมื่อคัดเลือกมาแล้วก็ไม่มีกลไกเอื้อให้สมาชิกมีส่วนร่วมหรือตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งที่มีวาระดำรงตำแหน่งได้ถึง 4 ปี และเป็นติดต่อกันได้ 2 สมัย รวม 8 ปี ทำให้เกิดข้อกังวลว่า กลุ่มบุคคลที่ผ่านการคัดเลือกโดยวงจำกัดเช่นนี้จะสามารถเข้ามาทำหน้าที่ในการส่งเสริมจริยธรรมวิชาชีพและปกป้องเสรีภาพสื่อมวลชน ควบคู่กับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ได้จริงหรือไม่ 

“กลไกการกำกับดูแลสื่อมวลชนจะออกมาเป็นอย่างไรเป็นเรื่องที่ต้องการฉันทามติจากสังคม ไม่ใช่เฉพาะจากแวดวงสื่อมวลชนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นอกจากนี้ สื่อมวลชนในสังคมประชาธิปไตยถูกคาดหวังให้ตรวจสอบการทำงานและการใช้อำนาจของภาครัฐ จึงควรปิดช่องทางที่ภาครัฐจะเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่ ทั้งนี้ เพื่อความเป็นอิสระของวงการสื่อมวลชน และเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศที่แท้จริง”

ทั้งนี้มีรายชื่อนักวิชาการด้านสื่อมวลชนที่น่าสนใจร่วมลงชื่อ อาทิ รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ อดีตคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,  ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ธรรมศาสตร์, ดร.พรรษาสิริ กุหลาบ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อริน เจียจันทร์พงษ์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ม.ศิลปากร, อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เป็นต้น

ผู้สนใจสามารถร่วมลงชื่อผ่านลิงก์ด้านล่าง

https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSd_mADWZm1xBMFfjBfuOJWtozge5OMVfmdIKQDGC_qY0nIDxA/viewform 

image_pdfimage_print