หมายเหตุ : เนื่องจากการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างเข้มข้น ทางกองบรรณาธิการจึงมีการแก้ไข/เซ็นเซอร์บางส่วน
การจากไปของศาสตราจารย์ชาร์ลส เอฟ. คายส์ เมื่อนานมานี้ทำให้ภาคอีสานต้องเสียมิตรสหายที่เก่าแก่ที่สุดคนหนึ่งไป คายส์ลงพื้นที่ทำวิจัยภาคสนามที่จังหวัดมหาสารคาม เมื่อช่วงต้นทศวรรษที่ 1960 และเขียนหนังสือ ซึ่งเป็นงานตีพิมพ์งานสำคัญชิ้นแรกของเขาและเป็นจุดเริ่มต้นของหนังสือภาษาอังกฤษเกี่ยวกับภาคอีสานที่นับว่าทรงคุณค่าที่สุดชิ้นหนึ่ง
The Isaan Record ขอหยิบงานชิ้นนี้มาเผยแพร่ ซึ่งถือเป็นงานเขียนชิ้นสุดท้ายในชีวิตของศาสตราจารย์ชาร์ลส เอฟ. คายส์ จากคำนำของหนังสือ Coup, King, Crisis: A Critical Interregnum in Thailand ตีพิมพ์เมื่อปลายปี 2020 คายส์ระบุว่า มุมมองของหนังสือเล่มนี้ดูจะไม่มีความหวังต่ออนาคตของประเทศไทยมากนัก แต่ทว่ายังดูมีความหวังอยู่ เพราะเขา “เชื่อว่าเสียงของผู้ที่เห็นต่าง โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ในกรุงเทพมหานครรวมถึงต่างจังหวัดกำลังมีความแข็งแกร่งมากขึ้นเรื่อยๆ” และในข้อความที่อาจถือเป็นความปรารถนาก่อนสิ้นลมของเขาต่ออนาคตของกระบวนการประชาธิปไตยในไทย คายส์กล่าวเอาไว้อีกด้วยว่า การตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์กองทัพและสถาบันฯ ที่เพิ่มสูงขึ้น “จะส่งผลให้มีคนไทยตั้งคำถามต่อระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น”
บทความนี้เผยแพร่โดยได้รับอนุญาตจากมหาวิทยาลัยเยล จากหนังสือ Coup, King, Crisis: A Critical Interregnum in Thailand (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเยล), 2020; ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ บรรณาธิการ คำนำโดย ชาร์ลส คายส์. ISBN: 978-1732610200
คำนำ
โดย ศาสตราจารย์ชาร์ลส เอฟ. คายส์
หนังสือเล่มนี้ (Coup, King, Crisis: A Critical Interregnum in Thailand) นำประมวลคุณลักษณะเฉพาะของการเมืองไทยนับตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เมื่อกองทัพก่อรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ในขณะนั้นไทยกำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ การรัฐประหารเมื่อ 2557 เป็นการรัฐประหารครั้งที่ 12 นับตั้งแต่การปฏิวัติสยามเมื่อปี 2475 ซึ่งระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นครั้งแรก การรัฐประหารครั้งนี้ รวมถึงการรัฐประหารครั้งก่อนหน้าเมื่อปี 2549 ซึ่งเป็นการรัฐประหาร 2 ครั้งล่าสุดของประเทศไทยต่างมีเป้าหมายเพื่อกำจัดบทบาทของสมาชิกครอบครัวชินวัตร (ทักษิณและยิ่งลักษณ์) รวมถึงผู้สนับสนุนทางการเมืองของพวกเขาให้สูญสิ้นไปจากระบอบการเมืองไทย
ทักษิณ ชินวัตร อดีตนักธุรกิจจากจังหวัดเชียงใหม่ ก้าวขึ้นเป็นบุคคลสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย หลังจากนำพรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งทั่วไปอย่างยิ่งใหญ่เมื่อปี 2544 และยังสามารถนำพรรคเดิมให้คว้าชัยได้อีกครั้งอย่างถล่มทลายจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2548 ความสำเร็จของทักษิณโดยหลักแล้วเป็นผลมาจากการชูนโยบายประชานิยม อันรวมถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและเล็กที่เกิดจากกลุ่มชนชั้นกลางใหม่ในต่างจังหวัดเป็นส่วนมาก โดยเฉพาะทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงการขยายระบบสาธารณูปโภค ส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทของประเทศ
ระหว่างการดำเนินนโยบายเหล่านี้ ทักษิณได้สร้างความบาดหมางขึ้นระหว่างกลุ่มชนชั้นนำเก่า อันรวมถึงเหล่านายทหารระดับสูงของกองทัพไทย มิใช่เพียงเพราะความพยายามผลักดันนโยบายให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะการเสริมสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองและครอบครัวอีกด้วย ทั้งจากการประกาศสงครามยาเสพติด ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากและการออกนโยบายที่แข็งกร้าวเพื่อปราบปรามสถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากการรัฐประหารเมื่อปี 2549 ทักษิณถูกโค่นลงจากตำแหน่งและถูกบีบให้ต้องหลบหนีออกจากประเทศ
ปกหนังสือ Coup, King, Crisis: A Critical Interregnum in Thailand ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ บรรณาธิการ เขียนคำนำ โดย ชาร์ลส เอฟ.คายส์, เอกสารวิชาการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของเยล #68, 2020, 379 หน้า ; ปกอ่อน 28 เหรียญสหรัฐฯ , E-book 18 เหรียญสหรัฐฯ ; ISBN 978-1-7326102-0-0
จากนั้นได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต่อมาปี 2554 ได้มีการเลือกตั้งทั่วไป ในการเลือกตั้งครั้งดังกล่าวพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคที่ถูกมองว่า สืบทอดมาจากพรรคไทยรักไทยสามารถกวาดที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เกินกึ่งหนึ่ง นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศไทยจึงกลายมาเป็นยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของทักษิณและผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทยในขณะนั้น กองทัพไทยที่ได้รับเสียงสนับสนุนจากชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมากในช่วงเวลาดังกล่าว จึงเข้าแทรกแซงทางการเมืองอีกครั้งด้วยการก่อการรัฐประหารขึ้นเมื่อปี 2557
ผู้เขียนเชื่อว่า เฟเดริโก เฟร์รารา ได้โต้แย้งอย่างมีเหตุผลว่า การรัฐประหารเมื่อปี 2557 ไม่ใช่การรัฐประหารที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างชนชั้น เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 นั้นได้ก่อให้เกิดกลุ่มชนชั้นกลางใหม่ขึ้นในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย รวมไปถึงผู้ที่อพยพย้ายถิ่นฐานจากภาคเหล่านี้ไปอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งให้การสนับสนุนพรรคการเมืองแบบประชานิยมอันริเริ่มขึ้นโดยทักษิณ เฟร์รารา มองว่า ความขัดแย้งดังกล่าวถือเป็น “การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งการยอมรับ” โดยชาวกรุงเทพฯ ที่ถูกกดขี่แบ่งแยก รวมไปถึงเครือญาติของพวกเขาที่อยู่ในต่างจังหวัด เฟร์รารา กล่าวต่อไปอีกว่า “ขณะที่บรรดาผู้สนับสนุนอุดมคติความเสมอภาคเท่าเทียมของชาติไทยอาจมีประวัติศาสตร์อยู่ข้างพวกเขา ในห้วงเวลานี้ เหล่าผู้สนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์ยังคงยึดครองอำนาจอยู่เหนือทั้งการคลัง เหล่าทัพ และระบบตุลาการของประเทศเอาไว้”
ด้านไทเรลล์ เฮเบอร์คอร์น โต้แย้งว่า เนื่องด้วยฝ่ายรัฐบาลทหารเพิกเฉย หรือเหยียบย่ำกดขี่สิทธิตามรัฐธรรมนูญของผู้คัดค้านการรัฐประหารเมื่อปี 2557 จึงก่อให้เกิดกระแสเรียกร้องความยุติธรรมที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ ข้อความนี้ได้รับการสนับสนุนจาก เดวิด สเตร็คฟัสส์ ผู้ให้ข้อคิดเห็นเอาไว้ว่า “รัฐบาลทหารไทยไม่มีทั้งความน่าสะพรึงกลัวหรืออำมหิต แต่กลับเต็มไปด้วยความไร้สาระอย่างน่าขันและสับสนอลหม่านอย่างหาที่สุดมิได้ รัฐบาลทหารไม่เพียงแต่ยึดอำนาจไปเป็นของตนเองเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ชักนำสังคมไทยเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ที่แทบไร้ซึ่งโอกาสในการสื่อสารและอีกไม่นานอาจถูกทำให้กลายเป็นอัมพาต”
ความเป็นอัมพาตดังกล่าวยังเป็นผลพวงส่วนหนึ่งมาจากความถดถอยทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงทศวรรษเริ่มแรกของศตวรรษที่ 21 ดังเช่นที่บรรยายเอาไว้ในข้อเขียนของ กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ นอกจากนั้นสภาวะนี้ยังเป็นผลมาจากการที่กองทัพเริ่มหันหน้าเข้ากลมเกลียวกับองค์กรเอกชน ดังเช่นที่แจกแจงเอาไว้ในข้อเขียนของสมชัย ภัทรธนานันท์ ทางด้านข้อเขียนของซาราห์ บิชอป ยังชี้ให้เห็นอีกด้วยว่า โดยหลักแล้ว สภาวการณ์ดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่กองทัพไทยเข้าครอบงำระบบตุลาการของประเทศ
เหนือสิ่งอื่นใด คำถามสำคัญเกี่ยวกับอนาคตของประเทศไทยนั้นถูกมุ่งหมายไปยังบทบาทของพระมหากษัตริย์ เหตุการณ์รัฐประหารเมื่อปี 2557 นั้นเกิดขึ้นเพียงไม่นานก่อนการเปลี่ยนผ่านของรัชสมัย หลังจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 สิริรวมระยะเวลาที่ทรงครองราชย์รวม 70 ปี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชจึงได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทั้งนี้ผู้เขียนหลายคนของหนังสือเห็นว่า การเปลี่ยนผ่านของรัชสมัยนั้นเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่ขับเคลื่อนให้เกิดการรัฐประหารครั้งดังกล่าวขึ้น เนื่องด้วย พระมหากษัตริย์องค์ใหม่และกองทัพไทยมิต้องการเห็นการคัดค้านวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ต่อการสืบทอดราชบัลลังก์ ดังเช่นที่ระบุเอาไว้ในบทนำ ซึ่งเขียนโดย ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ว่า “การที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว หันไปพึ่งพากองทัพเพื่อสร้างความมั่นใจว่า การสืบทอดพระราชบัลลังก์ของพระองค์จะดำเนินไปได้อย่างราบรื่นนั้น ส่งผลให้กองทัพมีบทบาทอำนาจเพิ่มขึ้นในกิจการของรัฐไทย”
อุปสรรคสำคัญของผู้ก่อการรัฐประหารนั้นได้แก่การที่ XXXXXXXXX ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นไม่แข็งแกร่งเทียบเท่ากับ XXXXXXXXXX พอล แฮนด์ลีย์ และชาญวิทย์ เกษตรสิริ รวมทั้งเควิน เฮวิสัน ต่างบรรยายถึงปัจจัยหลากหลายประการที่สั่นคลอนความราบรื่นของสืบทอดพระราชบัลลังก์ ซึ่งโดยมากแล้วสืบเนื่องมาจากเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพระชายาในพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ อดีตพระวรชายาที่ทรงอภิเษกสมรสเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2544 ท่านผู้หญิงทรงเป็นพระมารดาแห่งพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ พระราชโอรสเพียงองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้รับการรับรองบรรดาศักดิ์อย่างเป็นทางการและถือเป็นองค์รัชทายาทโดยสันนิษฐาน แม้พระราชบิดาจะทรงเคยมีพระโอรสกับชายาพระองค์อื่นก่อนหน้านี้ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็มิได้ช่วยส่งผลดีต่อพระมารดาของพระองค์ ดังเช่นที่เฮวิสันหยิบยกขึ้นมาในข้อเขียนของเขาว่า วิกฤตครั้งใหม่ของสถาบันได้ก่อตัวขึ้นหลังจากมีข่าวปรากฏว่า ครอบครัวและผู้ใกล้ชิดของท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ถูกกวาดล้างเมื่อปี 2557 ซึ่ง “XXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXX ส่งผลให้ชีวิตของครอบครัวและมิตรสหายของท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ต้องพังพินาศ [XXXXXXXXXXXXXXXXX]”
หลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อปี 2562 เพียงไม่นานก็ปรากฎข่าวว่าทรงเข้าพิธีราชาภิเษกสมรสกับสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ [อดีตพนักงานต้อนรับสายการบิน] ก่อนหน้านั้นพระอัครมเหสีทรงเคยรับราชการในหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ และได้รับการติดยศเป็นพลอากาศเอก ต่อมา สินีนาฏ พิลาสกัลยาณี ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระสนมและได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นเจ้าคุณพระ อันถือเป็นยศศักดิ์ของพระสนมเอก เพียงสามเดือนถัดจากนั้นเจ้าคุณพระสินีนาฎถูกปลดจากตำแหน่งและถูกถอดยศศักดิ์จนหมดสิ้น อย่างไรก็ดีในอีกหนึ่งปีให้หลังเจ้าคุณพระทรงได้รับคืนยศศักดิ์ทั้งหมดดังเดิมตามพระบรมราชโองการที่เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งระบุว่าทรง “XXXXXXXXXXXXXXX”
ในระหว่างที่ยังทรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช แม้กระทั่งหลังจากที่ทรงเสวยราชสมบัติแล้ว พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงประทับอยู่ในประเทศเยอรมนีเสียเป็นส่วนใหญ่และทรงมีพระราชวังอยู่ที่นั่นด้วย ประเด็นนี้แฮนด์ลีย์เน้นย้ำว่า “แม้จะทรงประทับอยู่นอกประเทศไทยบ่อยครั้ง พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มิใช่ผู้ปกครองเพียงแต่ในนาม” โดยทรงโอนถ่ายอำนาจในการควบคุมสำนักพระราชวัง กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ รวมไปถึงสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ให้มาอยู่ภายใต้การควบคุมของพระองค์โดยตรง ข้อเขียนของแฮนด์ลีย์ระบุเอาไว้ว่า “พระราชบัญญัติใหม่ปี 2560 ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเชื่อว่า ทรัพย์สินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์นั้นถือเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์” เฮวิสัน สรุปว่า “สำหรับผู้ที่มีความหวังว่าประเทศไทยในศตวรรษที่ 21 จะมีความเปิดกว้างและเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้นแล้ว การขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์ที่เคยผ่านการฝึกฝนในกองทัพและมีพระราชประสงค์ตั้งมั่นจะขยายฐานพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ย่อมถือเป็นความน่าผิดหวัง” ดังที่เห็นได้ชัดจากเอกสารหลักฐานจำนวนมาก (แม้ส่วนใหญ่จะไม่ใช่ภาษาไทย) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันเป็นกษัตริย์ XXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXX กระแสความไม่พอใจดังกล่าวก็มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
ในห้วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา กลุ่มพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งได้ประกาศจุดยืนที่ขัดต่อค่านิยมดั้งเดิมที่มองว่าชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์นั้นมีความเกี่ยวพันอย่างไม่อาจแยกขาดจากกันได้ เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง ตั้งข้อสังเกตว่า “การเสื่อมอำนาจของมหาเถรสมาคมในช่วงหลังพุทธศักราช 2500 ได้ช่วยเปิดพื้นที่ที่ค่อนข้างเสรีให้ขบวนการทางพุทธศาสนาที่ไม่ยึดถือขนบดั้งเดิมมีโอกาสได้เติบโตขึ้น” โดยกลุ่มที่เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนที่สุด ได้แก่ วัดพระธรรมกาย ซึ่งปรากฏเป็นนิกายที่มีแนวคิดขัดแย้งกับขนบเก่า อย่างไรก็ดีความพยายามของกองทัพในการปราบปรามวัดพระธรรมกายกลับไม่ประสบความสำเร็จ แต่ถึงแม้ความล้มเหลวดังกล่าวอาจสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดความเคลื่อนไหวจากผู้เห็นต่างในกลุ่มอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น สำหรับช่วงเวลาปัจจุบัน พระสงฆ์ส่วนมากก็ยังคงให้ความยอมรับนับถืออำนาจของมหาเถรสมาคมเช่นเดิม
พอล เชมเบอร์ส โต้แย้งในข้อเขียนของเขาว่า “ช่วงอนาคตอันใกล้นี้ กองทัพไทยจะยังคงเป็นผู้กุมอำนาจหลักในการบริหารปกครองประเทศต่อไป โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันฯ แม้รัฐบาลทหารจะถูกแปรสภาพอย่างซ่อนเร้นให้กลายเป็นรัฐบาลที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้พิทักษ์แล้วก็ตาม” บทสรุปดังกล่าวยังตรงกับข้อคิดเห็นของผู้เขียนอีกหลายคนในหนังสือ เช่นเดียวกับที่เคลาดิโอ โซปรันเซ็ตติ ระบุว่า “นับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557 ประยุทธ์ได้เสริมสร้างความแข็งแกร่งของการควบรวมอำนาจนี้ ด้วยการส่งเสริมเสาหลักสามประการ อันประกอบไปด้วยความอนุรักษ์นิยมแบบตกขอบ การต่อต้านการทุจริตคอรัปชัน และหลักธรรมาภิบาล”
ผู้เขียนส่วนใหญ่ในหนังสือเล่มนี้แสดงทรรศนะเชิงลบถึงความเป็นไปได้ในการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงขึ้นในประเทศไทย เหตุผลอ้างอิงโดยหลักของพวกเขามาจากการที่กองทัพไทยเรืองอำนาจเหนือรัฐเสียจนแทบไม่เหลือโอกาสให้ผู้เห็นต่างได้ส่งเสียง ไม่ว่าจะเป็นจากประชาชนในต่างจังหวัด จากกลุ่มคนรุ่นใหม่หรือจากผู้นิยมประชาธิปไตยรุ่นเก่า เพื่อโน้มน้าวให้กองทัพยอมถอนตัวหรือแม้แต่ลดอำนาจในการปกครองของตนลง อย่างไรก็ตามมุมมองของผู้เขียน (Charles F. Keyes) ไม่ได้มืดมนมากขนาดนั้น ผู้เขียนเชื่อว่า เสียงของผู้ที่เห็นต่าง โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดกำลังมีความแข็งแกร่งมากขึ้นเรื่อยๆ และท้ายสุดความเปลี่ยนแปลงเชิงประชากรศาสตร์จะไม่ส่งผลดีต่อการกุมอำนาจของรัฐบาลทหาร นอกเหนือไปจากนั้นผู้เขียนยังเชื่อด้วยว่า XXXXXXXXXXXXXXXXXX ของสถาบันฯ แม้จะได้รับแรงหนุนจากอิทธิพลและอำนาจของฝั่งกองทัพ จะส่งผลให้มีคนไทยตั้งคำถามต่อระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น
ชาร์ลส เอฟ. คายส์
ศาสตราจารย์กิตติคุณ สาขาวิชามานุษยวิทยา และวิชาการระหว่างประเทศ
มหาวิทยาลัยวอชิงตัน
หมายเหตุ : มีการปรับแต่งภาพปกเพื่อให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น
อ่านฉบับภาษาอังกฤษที่นี่ Charles Keyes dying wish for democratic Thailand