ไม่เพียงรัฐประหารจะทำลายประชาธิปไตยในภาพรวมแล้ว แต่เกือบ 8 ปีหลังรัฐประหารยังทำลายการปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างยากจะกู้คืน เพราะรัฐบาลภายใต้ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผันอำนาจกระจุกไว้แค่ส่วนกลาง อ.ปฐวี ปฐวี โชติอนันต์ ถอดบทเรียนจากการหารือกับผู้นำท้องถิ่นในอีสาน

ปฐวี โชติอนันต์ เรื่อง 

ณ ตอนนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง อบจ. เทศบาล และ อบต. ได้ผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในพื้นที่กันหมดแล้ว ยกเว้นแต่กรุงเทพมหานครและพัทยาที่ยังไม่รู้ว่า รัฐจะให้มีการจัดการเลือกตั้งผู้ว่า กรุงเทพฯ และนายกเทศบาลเมืองพัทยาเมื่อใด 

นับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ได้มีคำสั่งให้ผู้บริหารท้องถิ่นเดิมดำรงอยู่ในตำแหน่งมาตลอด ผู้บริหารท้องถิ่นอยู่ในตำแหน่งยาวนานถึง 8-9 ปี สิ่งเหล่านี้ส่งผลอย่างมากต่อการกระจายอำนาจและการพัฒนาประชาธิปไตยในท้องถิ่น

เมื่อมีการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นเกิดขึ้นในระดับต่างๆ วงการวิชาการมีการจัดงานเสวนาเพื่อวิเคราะห์ถึงความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงการรัฐประหาร รวมถึงอนาคตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนมาก ผู้เขียนเองได้มีโอกาสเข้าร่วมงานเสวนาหนึ่งที่รู้สึกและคิดว่า มีความน่าสนใจอย่างมากจึงอยากนำมาแบ่งปันให้ผู้อ่านได้ทราบกัน คือ งานเสวนาในหัวข้อการกระจายอำนาจในการปกครองส่วนท้องถิ่น: กรอบความคิด ประสบการณ์ และอนาคต จัดโดยคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่นและการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ สภาผู้แทนราษฎร สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดศรีสะเกษ วิทยาลัยกฎหมายและการปกครอง มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ และมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ 

ความน่าสนใจของงานเสวนานี้ คือ การเชิญผู้บริหารท้องถิ่น ได้แก่ นายก อบจ.ศรีสะเกษ นายกเทศมนตรีเมืองศรีสะเกษและนายกเทศมนตรีตำบลหนองใหญ่มาเล่าและวิเคราะห์ถึงการปกครองท้องถิ่นและการกระจายอำนาจของประเทศไทยที่ผ่านมา มุมมองของผู้บริหารท้องถิ่นเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของการปกครองท้องถิ่นและการกระจายอำนาจของประเทศไทยทั้งในระดับทฤษฎี ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและท้องถิ่น รวมถึงปัญหาการปฏิบัติงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่พวกเขาต้องเผชิญภายหลังจากที่ได้รับเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้

ประการที่หนึ่ง ผู้บริหารท้องถิ่นทั้ง 3 คนเห็นตรงกันว่า การกระจายของประเทศไทยที่ผ่านมามีปัญหาอย่างมาก กล่าวคือ คำว่าการกระจายอำนาจที่เกิดขึ้นในสังคมไทยนั้นเป็นคำที่สวยหรูแต่จับต้องไม่ได้ ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ นับตั้งแต่ปี 2540 ที่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ ซึ่งบัญญัติในเรื่องการปกครองท้องถิ่นและการกระจายอำนาจเป็นครั้งแรก และเมื่อปี 2542 มีการออกพระราชบัญญัติกําหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่สิ่งที่พบ คือ รัฐบอกว่าจะมีการโอนภารกิจการสร้างถนนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแล รัฐโอนภารกิจส่วนหนึ่งในการสร้างถนนมาให้ท้องถิ่นจริง แต่รัฐก็ไปตั้งทางหลวงชนบทขึ้นมาดูแลด้วย ดังนั้นภารกิจในการดูแลเรื่องการสร้างถนนนั้นมีทั้ง อบจ. เทศบาล อบต. และทางหลวงชนบท 

การนับคะแนนการเลือกต้ังท้องถิ่น

สิ่งที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น คือ การทำงานที่ทับซ้อนกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกรมทางหลวงชนบท นอกจากนี้การดูแลถนนในท้องถิ่นไม่มีเอกภาพและไม่มีทิศทางเดียวกัน เนื่องจากรัฐให้อำนาจกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละระดับดูแลถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบของตน เกิดปรากฏการณ์ต่างคนต่างทำ อบต.ที่มีเงินน้อยก็ทำเสร็จช้าและส่วนทางหลวงชนบทถ้าไม่มีอะไรทำก็จะพยายามที่จะเอางบประมาณลงมาสร้างถนนในเขตพื้นที่ที่ตนดูแล อย่างไรก็ตาม การบริหารงานในท้องถิ่นเพื่อให้มีทิศทางไปในแนวทางเดียวกัน การทำถนนควรที่จะมอบให้ อบจ.เป็นผู้ดูแลภาพรวมทั้งจังหวัดดีกว่าที่จะแบ่งงานกันทำและทำให้เกิดการทับซ้อนแบบที่เป็นอยู่

นอกจากเรื่องการถ่ายโอนภารกิจในการดูแลถนนในท้องถิ่นแล้ว รัฐได้พยายามถ่ายโอนภารกิจเรื่องการดูแลโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข สังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ มาให้กับทาง อบจ.ดูแล แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ อบจ.ที่ต้องรับมาดูแลนั้นได้ขอให้มีการจัดสรรงบประมาณการดูแลงานในส่วนนี้เพิ่มมากขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ วุฒิสมาชิก (ส.ว.) ได้มีการคัดค้านไม่ยอมให้มีการถ่ายโอนภารกิจเกิดขึ้น ในมุมมองของผู้บริหาร อบจ.มองว่า การถ่ายโอนในลักษณะที่เป็นอยู่นั้นเป็นภาระให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากกว่า แต่ถ้ามีการถ่ายโอนมาก็ต้องรับ แม้เงินจะไม่พอเพราะส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมีทัศนะดูถูกท้องถิ่นว่า ไม่มีน้ำยา บริหารงานไม่ได้

ประการที่สอง การกระจายอำนาจของรัฐไทยโดยเฉพาะในช่วง 7 ปีที่ คสช. อยู่ในอำนาจ (2557-2562) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดถึงเรื่องการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น มีการแต่งตั้งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ดูแลเรื่องการกระจายอำนาจ แต่เมื่อมีการจัดการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่นเดิมหายไปเกือบหมด โดยเฉพาะการเลือกตั้งนายก อบต.ในจังหวัดศรีสะเกษกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นนายกฯ หน้าใหม่ ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดจาก 7 ปี ที่ประเทศถูกปกครองในระบอบเผด็จการ การกระจายอำนาจไม่ได้เกิดขึ้นเลย ผู้บริหารท้องถิ่นไม่มีอำนาจในการบริหารงาน งบประมาณถูกตัดทุกอย่าง เมื่อเกิดปัญหาต่างๆ ในพื้นที่จะเอาเงินงบประมาณอะไรไปช่วยเหลือประชาชน พอมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ประชาชนเห็นว่า ผู้บริหารท้องถิ่นไม่ทำงานเขาก็เลยไม่เลือก

ประการที่สาม มีกฎหมายที่หยุมหยิมและการตรวจสอบจำนวนมาก เวลาที่นักวิชาการมาพูดหรืออบรมเรื่องการกระจายอำนาจ ส่วนใหญ่มักจะบอกว่า ให้ผู้บริหารท้องถิ่นคิดนอกกรอบ คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ การคิดนอกกรอบหรือการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ยาก เพราะติดกรอบข้อกฎหมายเรื่องการใช้เงินที่รัฐวางไว้ รวมถึงมีองค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช. สตง. ที่จ้องจะจับผิดการทำงานของผู้บริหารท้องถิ่น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ผู้บริหารท้องถิ่นต้องการจ้างรถรับส่งเด็กนักเรียนแต่ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีระเบียบรองรับ ต้องการที่จะตัดชุดให้เด็กเล็กในศูนย์พัฒนาเด็กก็ทำไม่ได้ เพราะติดข้อระเบียบของจังหวัด จำเป็นต้องทำเรื่องไปยกเลิกข้อระเบียบถึงจะทำได้หรือผู้บริหารท้องถิ่นในศรีสะเกษมีความพยายามที่จะให้ทุนกับนักเรียนในท้องถิ่นได้ไปเรียนในมหาวิทยาลัย เมื่อเรียนจบกลับมาแล้วจะได้มาทำงานในท้องถิ่น แต่สิ่งที่เกิดขึ้น /คือ การกระทำดังกล่าวผิดระเบียบต้องถูกเรียกเงินคืน ผู้บริหารท้องถิ่นก็ต้องควักเงินของตนเองออกไปแทน 

ประการที่สี่ ที่ผ่านมามักจะมีข่าวว่า มีการทุจริตคอร์รัปชันในท้องถิ่นจำนวนมาก การทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นที่ถูกเปิดเผยออกมานั้นส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการตีความตามสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่าการทำผิดระเบียบของผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการทุจริตคอร์รัปชัน บางทีผู้บริหารท้องถิ่นไม่รู้ระเบียบเพราะเพิ่งเข้ามาใหม่หรืออยากทำงานช่วยเหลือประชาชนให้สำเร็จจึงดำเนินเรื่องเพื่อทำงานไปก่อน แต่พอถูกตรวจสอบภายหลังพบว่า การกระทำนั้นผิดระเบียบว่า เป็นการคอร์รัปชัน สิ่งเหล่านี้บั่นทอนกำลังใจของคนที่เขาอาสามาทำงานเพื่อท้องถิ่น การทำงานที่ต้องการช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤตต้องล่าช้าออกไป เพราะต้องมานั่งไล่ระเบียบว่า ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง ถ้าทำไปแล้วผิดระเบียบก็ถูกฟ้อง ถ้าไม่ทำก็โดนชาวบ้านว่า

ประการที่ห้า การขอเงินอุดหนุนเฉพาะกิจของท้องถิ่นตอนนี้มีลักษณะมือใครยาวสาวได้สาวเอา 2 ปีที่ผ่านมา รัฐให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเก็บภาษีที่ดินและโรงเรือนได้เพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ เมื่อดูตัวเลขการจัดเก็บภาษีของเทศบาลเมืองศรีสะเกษจะพบว่า เงินจากการจัดเก็บภาษีหายไปกว่า 40 ล้านบาท นโยบายที่รัฐออกมาให้ลดการจัดเก็บภาษีนั้นรัฐไม่ได้เงินชดเชยอะไรกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผลที่ตามมา คือ ผู้บริหารท้องถิ่นก็ต้องวิ่งหานักการเมืองเพื่อเอาเงินมาพัฒนาพื้นที่ ถ้าผู้บริหารท้องถิ่นไม่ทำแบบนั้นเลือกตั้งรอบใหม่ที่จะมาถึงในอีก 3-4 ปีข้างหน้า มีโอกาสสอบตกสูงมาก เนื่องจากชาวบ้านแจ้งปัญหาเข้ามาให้ผู้บริหารท้องถิ่นรับทราบกันตลอด แต่ถ้าผู้บริหารท้องถิ่นไม่มีเงินที่ใช้ในการแก้ไขปัญหา ชาวบ้านเขาก็ไม่พอใจ คราวหน้าเขาก็จะไม่เลือก ไปเลือกคนที่ช่วยเขาได้มากกว่า ยิ่งไปกว่านั้น บางครั้งชาวบ้านเขาไม่สนว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ เช่น ถนนของกรมทางหลวงชนบทพัง ไฟฟ้าบนถนนไม่ติดหรือน้ำประปาไม่ไหล งานเหล่านี้เป็นความรับผิดชอบของส่วนภูมิภาค แต่ชาวบ้านเขาไม่เข้าใจหรอกว่าใครรับผิดชอบ ถ้าปัญหาเกิดขึ้นในท้องถิ่นเขาก็โทรหาผู้บริหารท้องถิ่นก่อน เพราะเขารู้สึกว่า เป็นที่พึ่งของเขาได้

ประการที่หก การเลือกตั้งท้องถิ่น อบต. และการรับรองนายก อบต.และสมาชิก อบต. เกิดขึ้นหลังจากที่มีการตั้งงบประมาณในการบริหารงานท้องถิ่นไปแล้ว ปัญหาสำคัญคือ ถ้า อบต.ไหนมีปลัด อบต.ทำแผนงบประมาณไว้ก่อน อบต.นั้นก็สามารถที่จะใช้เงินตามแผนที่ตั้งไว้ได้ทันที แต่ถ้าปลัด อบต.ไม่ได้ตั้งแผนไว้ ผู้บริหารท้องถิ่นที่เข้ามาทำงานต้องเสียเวลาไปฟรีๆ 1 ปี เพราะไม่มีเงินใช้ จากการสำรวจ อบต.ในจังหวัดจังหวัดศรีสะเกษ พบว่า มี อบต.เพียงไม่กี่แห่งในจังหวัดที่ทำแผนส่งไป แต่ถ้าลองดูในระดับประเทศน่าจะมีเป็นพันแห่งแน่นอน

ประการสุดท้าย การที่มีระเบียบจำนวนมากส่งผลให้ผู้บริหารท้องถิ่นโดยเฉพาะผู้บริหารหน้าใหม่ๆ ต้องพึ่งพาปลัดท้องถิ่นอย่างมาก เนื่องจากปลัดเหล่านี้อยู่มาก่อน มีประสบการณ์มาก การทำงานอะไรต้องเกรงใจเขาให้เขาช่วยดู ผลที่ตามมา คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไหนมีปลัดดีก็โชคดีไป มีปลัดไม่ดีก็พากันลง…

ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นมุมมองที่สะท้อนมาจากผู้บริหารท้องถิ่นส่วนหนึ่งในจังหวัดศรีสะเกษที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาทำงานรับใช้พี่น้องในท้องถิ่น สิ่งที่เราเห็นได้ชัดจากมุมมองดังกล่าว คือ ภายหลังการเปลี่ยนจากระบอบรัฐประหารกลับมาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่คุณภาพต่ำหรือนักวิชาการบางท่านเรียกว่าระบอบกึ่งเผด็จการ เพราะนายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกของ ส.ว. 250 คน ที่มาจากการการแต่งของ คสช. การปกครองท้องถิ่นและการกระจายอำนาจที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมีปัญหาอย่างมากเพราะถูกรัฐราชการที่รวมศูนย์อำนาจควบคุมไว้ การกระจายอำนาจที่เกิดขึ้นไม่มีความต่อเนื่อง มีกฎระเบียบจำนวนมากและองค์กรอิสระที่คอยจำกัดการทำงานของผู้บริหารท้องถิ่น สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้บริหารท้องถิ่นต้องดิ้นรนในการสร้างสัมพันธ์กับนักการเมืองในระดับชาติหรือหาวิธีการอย่างไรก็ได้ให้มีเงินและงบประมาณลงมาพัฒนาและแก้ไขปัญหาในพื้นที่เพื่อทำให้ประชาชนในพื้นที่พอใจและอยากเลือกเขาเหล่านั้นกลับมาบริหารท้องถิ่นครั้ง

ปีนี้เป็นวาระครบรอบ 130 ปี ที่มีการปฏิรูประบบราชการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง เป็นวาระครบรอบ 125 ปี การเกิดขึ้นของการปกครองท้องถิ่นในประเทศไทยและเป็นวาระครบรอบ 90 ปี การเปลี่ยนแปลงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย จึงอยากเชิญชวนท่านผู้อ่านทุกท่านลองกลับมาสนใจเรื่องการปกครองท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ ช่วยกันแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น ติดตามความเคลื่อนไหวในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งช่วยกันส่งเสียงเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มอำนาจให้กับประชาชนและลดอำนาจของรัฐรวมศูนย์เพื่อนำพาประเทศออกจากการปกครองแบบเผด็จการที่เรากำลังเผชิญอยู่

หมายเหตุ: The Isaan Record ยินดีรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยความคิดเห็นที่แสดงบนเว็บไซต์ The Isaan Record ถือเป็นมุมมองของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการและเครือข่าย

image_pdfimage_print