เครดิตภาพ : สุภัทรา ศรีทองคำ และ สุทิวัส คุ้มภัย ©มูลนิธิ 100 ต้นสน, 2564

ตอนที่แล้ว ผู้เขียนพาไปร่วมนิทรรศการศิลปะของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกิจ ที่จัดแสดง ณ มูลนิธิ 100 ต้นสน กรุงเทพฯ ตอนนี้ “A Minor History: ท้องพระโรงที่ว่างเปล่ากับผีที่หายไปในความมืด” ยังคงบอกเล่าความคิดของอภิชาติพงศ์ที่เสียดสีประวัติศาสตร์เดือนตุลาฯ ที่เป็นเหตุการณ์เข่นฆ่าประชาชน รวมถึงความคิดความเชื่อในเรื่องความตาย โลกนี้ โลกหน้า และสมาธิ ซึ่งผู้เขียน “กฤตภัทธ์ ฐานสันโดษ” ชมนิทรรศการแล้วเทียบเคียงกับแก่นหนังแต่ละเรื่องของเจ้ย

กฤตภัทธ์ ฐานสันโดษ เรื่อง

การใช้สื่อในการชวนเชื่อชวนให้นึกถึงการแสดง “บทกวีที่ไม่มีประธาน” (Unsubject Verses) เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2021 (2564) ส่วนหนึ่งของนิทรรศการ A Minor History เมฆ’ครึ่งฟ้า ซึ่งเริ่มด้วยการตั้งโต๊ะสีขาวยาวที่พับได้ จากนั้นเขาหยิบกล่องใส่กระดาษที่มาพร้อมกับ “บทกวีฟรี” ที่คล้ายกับการแจกแผ่นพับหรืออาหารให้ชิมฟรีซึ่งพบเห็นได้ทั่วไป จากนั้นเขาก็เริ่มร่ายกวีเย้ยฟ้า พร้อมๆ กับธีระวัฒน์ “คาเงะ” มุลวิไล ที่โปรยกระดาษคล้ายกับการแจกนามบัตรให้กู้เงินด่วนหรือรับสมัครงาน ก่อนที่ธีระวัฒน์จะลงไปริมสระและบรรจงวางกระดาษขาวลงบนผืนน้ำสีฟ้าที่สะท้อนฟ้าเบื้องบนราวกับให้ข้างบนรับรู้ถึงสารจากเบื้องล่าง การแสดงถูกแทรกด้วยเสียงดังคล้ายวัตถุถูกกระแทก เช่นเดียวกับในวิดิโอ A Minor History  และการแสดงจบลงเช่นเดียวกับในวิดิโอเมื่อป้าเจนนอนหลับลงอีกครั้งด้วยเสียงดนตรีเร้าอารมณ์คลั่งชาติ เหมือนกับเหล่านักแสดง  ใน Song of the City (2018) ที่ม่อยหลับลงท่ามกลางเสียง The Longest Day March จากโรงเรียนแถวๆ นั้น หมอเตยจาก Syndromes and a Century (2006) ผู้หลับใหลจากเครื่องช่วยนอนที่หมอลำแบงค์ เซลล์แมนผู้สาธิตให้หมอทดลองใช้อุปกรณ์แบบเดียวกับที่พวกทหารชั้นผู้น้อยใช้ใน Cemetery of Splendor (2015) เธอหลับใหลในสวนสาธารณะที่กำลังปรับปรุงขยายฐานของอนุสาวรีย์สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เช่นเดียวกับโต้งที่กำลังฝันกลางวัน ฝันที่ซ้อนฝันและเก่ง/อิฐที่พยายามจะนอนแต่นอนไม่หลับ เพราะมันคงร้อนเกินกว่าจะนอน

ครีมจากยางพารา

โฆษณาชวนเชื่อยังพบได้ใน Cemetery of Splendor (2015) เมื่อเก่ง สาวโสด ผู้เป็นร่างทรงให้กับรัฐบาลในการสื่อสารกับวิญญาณทหาร เธอยังเป็นตัวแทนจำหน่ายครีมจากยางพารา นี่แสดงให้เห็นถึงการเกิดขึ้นของความหลากหลายทางความเชื่อนอกเหนือจากพุทธเถรวาทที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ โดยเฉพาะความเชื่อทางศาสนาในชุมชนเมืองที่เปลี่ยนแปลงในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองและอย่างมากในทศวรรษที่ 1980 เช่น การสร้างศรัทธาด้วยพระเครื่อง การทำนายดวงชะตา การรักษาด้วยไสยเวทย์และสมุนไพรแผนโบราณ การทำบุญที่หวังผลในทันที (instantly effective merit-making) การนั่งสมาธิภาวนา รวมไปถึงการกำเนิดขึ้นของขบวนการพุทธศาสนาอื่นๆ เช่น สันติอโศกและธรรมกาย1

ครีมทาผิวและสมุนไพรดูจะเป็นสิ่งที่พบได้ในผลงานของอภิชาติพงษ์ วีระเศรษฐกุล เรื่อยมานับตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1990 ที่เขาเริ่มจับภาพของแรงงานพลัดถิ่นและความเชื่อเหนือธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงทางความเชื่อในสังคมเมืองเป็นสิ่งยืนยันถึงการดำรงอยู่ของลัทธิบูชาวิญญาณบรรพบุรุษที่ยังแฝงฝังในสังคมเมือง ซึ่งเป็นผลมาจากการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานและการเติบโตของสังคมเมืองอย่างรวดเร็วในทศวรรษดังกล่าว ซึ่งทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองที่มีลัทธิความเชื่อเยอะมากที่สุดในประเทศไทย การสร้างเมืองและการพัฒนาอุตสาหกรรมริเริ่มในกรุงเทพฯ และพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนส่วนอื่นๆ ในรัฐไทย ชุมชนเมืองแห่งนี้จึงกลายเป็นบ้านสำหรับแรงงานพลัดถิ่น คนชายขอบ และผู้คนที่เชื่อในทางศาสนาที่นอกเหนือจากพุทธเถรวาททางการ1

สนใจผีและการนั่งสมาธิ​

ความสนใจในผีและการนั่งสมาธิในอภิชาติพงษ์ดูจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อเขาทำโครงการ Primitive (2009) จนเกิดเป็น Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives (2010) ที่จุดเริ่มต้นมาจากหนังสือ คน ระลึกชาติ เขียนโดยพระศรีปริยัติเวที แห่งวัดป่าแสงอรุณ จังหวัดขอนแก่น และการเดินทางไปยังตำบลนาบัว อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม2 ที่ความทรงจำของเหตุการณ์ “เสียงปืนแตก” ยังคงหลอกหลอน เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1965 เกิดการปะทะกันด้วยอําวุธระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มคอมมิวนิสต์ ได้เพิ่มความรุนแรงและจำนวนครั้งที่ปะทะมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นผลให้ชาวอีสานในชนบทที่ได้รับผลกระทบเริ่มเข้าร่วมกับกลุ่มคอมมิวนิสต์มากขึ้น อันเนื่องมาจากความไม่พอใจที่มีต่อการกระทำของรัฐบาล3

อภิชาติพงษ์ยังเสนอใน Fireworks (Archives) (2014) ซึ่งเป็นการไปสำรวจอีสานอีกครั้งที่จังหวัดหนองคาย บ้านของเจนจิรา พงพัศ ไวด์เนอร์ นักแสดงคู่บุญของเขา เขาเก็บภาพของรูปปั้นในศาลาแก้วกู่ร่วมกับพลุประทัดที่ระเบิดแตกกระจายออก เช่น ภาพโครงกระดูกคู่นั่งกอดกัน โครงกระดูกที่มีสถานะไร้เพศชวนให้นึกถึงการจัดวางวิดีโอสองจอไว้ข้างกันใน A Minor History (2021) รวมถึงภาพพลทหารกอดกันใน Soldier Series – Embrace (2019) และโครงกระดูกกอดกันใน Cemetery of Splendor (2015) ที่ตั้งในสวนรกร้างของเทศบาลที่พยายามจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของอีสาน แต่ดันมาโดนน้ำท่วมเสียก่อน สวนแห่งนั้นยังมีมิติทับซ้อนเป็นพระราชวังของกษัตริย์โบราณ ผีกษัตริย์เหล่านั้นกำลังดูดพลังงานจากเหล่าทหารไปใช้สู้รบในสงครามอันเป็นนิรันดร์ จนทำให้ทหารไม่สามารถตื่นขึ้นมาจากความฝันได้

โดยที่ศาลาแก้วกู่ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1978 โดยปู่บุญเหลือ สุรีรัตน์ ภายใต้แนวคิดว่า “ทุกศาสนาสามารถอยู่รวมกันได้” หลังจากที่ปู่บุญเหลือลี้ภัยทางการเมืองจากฝั่งลาวมาสร้างวัดแห่งนี้พร้อมกับตั้งตนเป็นหลวงปู่ อภิชาติพงษ์ค่อนข้างมั่นใจว่าปู่บุญเหลือน่าจะเป็นเกย์ ปู่บุญเหลืออาจใช้ศาสนาเพื่อการไถ่บาป การเป็นเกย์และความยากจนจะถูกมองในแง่ลบ เช่นเดียวกับการเกิดในอีสาน น่าสนใจว่าในภูมิภาคนี้มีพระสงฆ์ผู้มีวิชาอาคมขั้นสูงเยอะมากที่สุดในประเทศ อาจเป็นเพราะอากาศที่ร้อน แห้งแล้ง ยากต่อการเก็บเกี่ยวทำการเกษตร จึงเป็นแรงผลักดันให้ผู้คนฝัน และพยายามสื่อสารกับสิ่งเหนือธรรมชาติ4

ความตาย โลกนี้ โลกหน้า 

เรื่องเล่าเหนือธรรมชาติ การขายตรง โฆษณาชวนเชื่อ (ในทศวรรษ 1950 เช่น รายการทางวิทยุยานเกราะ) และรายการพอดแคสต์ “ปฏิกิริยา” ส่วนหนึ่งในนิทรรศการ A Trace of Thunder (2021) สิ่งเหล่านี้ดูจะเชื่อมโยงกันแม้จะต่างยุคต่างสมัยและผิดที่ผิดเวลา อภิชาติพงษ์เริ่มนำเสนอเรื่องเหลือเชื่อ หรือตำนานในป่าคล้ายกับตำนานในหนังสือประวัติชีวิตของพระป่าสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต (ค.ศ. 1871-1949) เช่น การพบเสือสมิง ใน Tropical Malady (2004) รวมไปถึงเรื่องแนวเทวดา-นาค-ผี ซึ่งพบใน A Minor History (2021) เนื้อเรื่องเหนือธรรมชาติเหล่านี้อาจเรียกได้ว่าเป็น “จิตนิยม-ประวัติศาสตร์” ซึ่งการผลิตซ้ำเรื่องเล่าทางอิทธิปาฏิหาริย์ทางศาสนาผ่านสิ่งพิมพ์สมัยใหม่ที่ได้สร้างชุมชนเรื่องเล่าของสิ่งลี้ลับที่ยึดโยงกับอุดมคติทางศาสนาที่มีภารกิจเพื่อการเข้าสู่โลกในอุดมคติ เรื่องเล่าเหล่านี้กลายเป็นแบบฉบับการเล่าเรื่องทางจิตที่จะทรงอิทธิพลต่อมาในสังคมไทยทั้งในเรื่องเล่าของกลุ่มลัทธิพิธีสำนักเรียนต่างๆที่เน้นอิทธิปาฏิหารย์ เนื่องจากมันได้เปลี่ยนแปลงเรื่องเล่าเชิงประวัติศาสตร์บอกเล่ามาสู่การบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรที่จะถูกผลิตซ้ำได้ง่ายและแพร่หลายออกไปอย่างมาก5

ความน่าสนใจคือว่าสื่อที่มีเรื่องราวเหนือจริงและชวนเชื่อทางศาสนาที่ถูกผลิตออกในช่วงปลายทศวรรษ 1960 เช่น กฎแห่งกรรม ของ ท.เลียงพิบูลย์ และนิทานของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ มีเนื้อหาเป็นเรื่องเล่าเหนือธรรมชาติเรื่องเล่าอิงประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ และคัดง้างกับแนวคิดวัตถุนิยมประวัติศาสตร์” (Historical materialism) ของฝ่ายซ้ายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมองการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ผ่านความสัมพันธ์ในการผลิตของมนุษย์ที่แสดงออกมาในรูปของโลกทางวัตถุอันมีจุดมุ่งหมายนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงของสังคมและรูปแบบรัฐที่มีปลายทางอยู่ที่โลกในอุดมคติด้วยการต่อสู้ทางการเมือง เช่น ราวทศวรรษที่ 1950 จิตร ภูมิศักดิ์ชี้ให้เห็นว่า แนวคิดทางพุทธศาสนาแบบสิทธัตถะ มีลักษณะที่ประนีประนอมไม่ได้มุ่งปฏิวัติ แนวคิดจิตนิยมมุ่งไปที่การแก้กิเลสโดยการตัดกิเลสออกจากจิต มิใช่ “ความขัดแย้งของสภาพสังคม” “ภายใต้การผลิตแบบทุนนิยม” ทั้งยังประนีประนอมไม่แตกหักกับโครงสร้างเดิมทั้งยังเปิดโอกาสให้ชนชั้นนำกุมสภาพนำต่อไป5

เรื่องเล่าเหนือธรรมชาติของพระธุดงค์สายอีสานก็ถือเป็นแนวจิตนิยม17 ซึ่งมองว่าสสาร (material) ไม่ใช่ความจริงแท้ แต่จิตต่างหากที่จริงแท้เป็นสารัตถะ ความตายจึงเป็นทางผ่านจากโลกนี้ไปโลกหน้า ซึ่งตรงข้ามกับกลุ่มวัตถุนิยมที่เชื่อว่ามนุษย์ประกอบขึ้นจากสสารและวัตถุ เมื่อมนุษย์ตายไปจึงเป็นการสิ้นสุดของกระบวนการทางกายภาพ โลกหน้าไม่มีอยู่จริง6 แม้ว่าแนวจิตนิยมแบบหลวงปู่มั่น ซึ่งงานส่วนใหญ่ถูกถูกผลิตขึ้นช่วงปลายทศวรรษ 1960 จะไม่พบว่าเรื่องพระธุดงค์มีเนื้อหาที่มีลักษณะทางการเมือง-ชาตินิยมอย่างชัดเจน กระทั่งเรื่องราวของคอมมิวนิสต์ก็ไม่มีกล่าวถึงเลย ซึ่งต่างจากเรื่องเล่าจิตนิยมอื่นๆ ที่เกิดในช่วงเดียวกันซึ่งมีเนื้อหาเชิดชูสถาบันกษัตริย์5

แต่เรื่องเล่าจิตนิยมในช่วงนั้น เรื่องเล่าจากพุทธศาสนาที่ดูเหมือนจะมีสารัตถะที่อิสระจากตะวันตก และเป็นคนละด้านกับแนวคิดตะวักตกอย่างมาร์กซิส แต่ในสมัยกรีก Pyrrho นักปรัชญาผู้ติดสอยห้อยตามอเล็กซานเดอร์มหาราชไปยังอินเดียเมื่อประมาณ 300 ปีก่อนคริสต์ศักราช กลับเป็นที่มาแนวคิด Pyrrhonism7 ซึ่งเป็นต้นธารความคิดกังขาคติ-นิยม (Skepticism) ของปรัชญาตะวักตกสมัยใหม่ ดังนั้นแล้วพุทธศาสนาและแนวคิดปรัชญาตะวันตกจึงมีการแลกเปลี่ยนกันอยู่ตลอดเวลา เช่น การแบ่งแยกเป็นทวิภาวะระหว่างกายกับจิต เรื่องเล่าจิตนิยมแบบพุทธและแนวคิดวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ซึ่งได้อิทธิพลจากมาร์กซิสต์ดั้งเดิมจึงมีจุดร่วมกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง 

เครดิตภาพ : สุภัทรา ศรีทองคำ และ สุทิวัส คุ้มภัย ©มูลนิธิ 100 ต้นสน, 2564

ความจริงเป็นอิสระจากมนุษย์

จุดเชื่อมโยงกันระหว่างเรื่องเล่าจากสายหลวงปู่มั่นแบบจิตนิยมและแนวคิดวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ก็คือการเชื่อในสารัตถะ ซึ่งเชื่อว่าความจริงมีอยู่และมนุษย์เป็นผู้ยิ่งใหญ่ในการควบคุมหรือเข้าหาความจริงนั้น ความจริงเป็นอิสระจากมนุษย์ และมนุษย์ไม่มีเครื่องมือในการเข้าใจความจริงมากพอ เพราะมีข้อจำกัดจากเครื่องมือในการเข้าถึงความจริง กลุ่มนี้จึงสนใจที่จะพัฒนาเครื่องมือในการทำให้รู้ในสิ่งที่ไม่รู้ให้ได้ และเชื่อว่าภาพแทนและภาษาที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้นเป็นเหมือนกระจกสะท้อนเท่ากับความจริงทุกประการ เราอาจกล่าวได้ว่าแบบจิตนิยมและแนวคิดวัตถุนิยมประวัติศาสตร์เป็นกลุ่มสัจนิยมแบบญานวิทยา (epistemological realist) อันมุ่งเน้นเรื่องของการศึกษาหาความรู้ที่วางบนมนุษย์หรือผู้รู้เป็นศูนย์กลาง มนุษย์เป็นองค์ประธานของความรู้ และที่ผ่านมาตลอดกว่า 300-400 ปี นับตั้งแต่ยุคภูมิธรรม ศาสตร์วิชาความรู้ของโลกตะวันตกให้ความสำคัญกับการสร้างเครื่องมือในการหาความรู้ หรือญาณวิทยา หรือปรัชญา8
แต่ผลงานของอภิชาติพงษ์ ซึ่งหยิบยืมเรื่องเทวดา-นาค-ผีของพระวัดป่ามาตีความใหม่ เสนอให้กลับไปมองความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างมนุษย์และสิ่งอื่นๆ ที่นอกเหนือจากมนุษย์ในเรื่องเล่าของคนพื้นถิ่น ผลงานของอภิชาติพงษ์เปิดพื้นที่ของการเผชิญหน้ากับความแปลกประหลาดที่แฝงฝังในชีวิตประจำวัน ท้าทายความยิ่งใหญ่ของมนุษย์และแนวคิดสมัยใหม่ ผลงานของอภิชาติพงษ์ชวนให้เราคิดว่าวัตถุไม่ได้เกิดจากการประกอบสร้างของมนุษย์ การดำรงอยู่ของบางสิ่งในโลกนี้ไม่ขึ้นกับการรู้ของเรา ไม่ว่าเราจะตระหนักรู้ว่ามีสิ่งนั้นหรือไม่ การเผชิญหน้ากับความแปลกชี้ชวนให้เราตระหนักว่าเราไม่สามารถพัฒนาเครื่องมือในการสร้างองค์ความรู้ในสิ่งนั้นได้ นอกจากนี้ ความจริงเป็นอิสระจากมนุษย์ และไม่ได้เป็นเพราะว่าขาดแคลนเครื่องมือ แต่เป็นเพราะความจริงไม่อนุญาตให้มนุษย์รู้ได้ เราไม่มีทางรู้ทั้งหมดของความจริงได้8 ผลงานของอภิชาติพงษ์จึงท้าทายปรัชญาตะวันตกที่มองว่าเราสามารถเข้าถึงความจริงได้แบบองค์รวม

เทวดา นาค ผี 

“คุณคะ โขดหินกองนั้นมันรูปร่างแปลกๆ นะคะ” ราตรีถามขึ้น

“มันโดนกระแทกโดยนาคน่ะครับ” สุรชัยตอบ

เรื่องเทวดา-นาค-ผีถูกเล่าผ่านความปรารถนาของราตรี มันอาจเป็นฝันร้ายของป้าเจน หรือมันอาจจะเป็นเรื่องผีที่ใครสักคนแต่งขึ้น โขดหินกลางแม่น้ำโขงชวนให้นึกถึงพระธาตุเมืองลา วัดมหาธาตุ เมืองหนองคายที่ทลายลงเพราะแม่น้ำโขงเซาะตลิ่งจนพระธาตุจมอยู่ในลำน้ำโขง เมื่อ ค.ศ. 1847 บางคนเชื่อว่า พญานาคมีความต้องการที่จะนำกระดูกส่วนข้อเท้าพระพุทธเจ้าไปประดิษฐานไว้ภายในถ้ำนครใต้บาดาล ความเชื่อเรื่องพญานาคที่ปรากฏในอินเดียมีมาก่อนการกำเนิดของพุทธศาสนา นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงพญานาคในคัมภีร์อถรรพเวท พุทธศาสนาในยุคต้นมีการหลอมรวมกับความเชื่อเรื่องพญานาคที่มีอยู่ก่อนหน้านั้น อย่างไรก็ตาม ความเชื่อเรื่องพญานาคก็อาจมีอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาแต่เดิมแล้วเช่นกัน นิทานชาดกหลายเรื่องก็พูดถึงความสัมพันธ์ของพุทธกับนาค ได้แก่ บัณฑรชาดกที่เล่าถึงความพยายามของป้องกันตัวเองของนาคจากการกินโดยครุฑ ด้วยการกินก้อนหินเข้าไปให้ในท้องเพื่อถ่วงตัวเอง หากครุฑจับนาคไปก็จะบินไม่ได้ แต่ก็ถูกครุฑแก้ด้วยการให้นาคห้อยหัวจนนาคคลายหินออกมา

ในทางพุทธ นาคมีความมุ่งมั่นในการอุทิศตนเพื่อพุทธศาสนา แต่เลือกที่จะอยู่ในมหาสมุทรหรือใต้พิภพ ความสัมพันธ์ระหว่างครุฑกับนาคเป็นไปด้วยความโกรธแค้นอย่างไม่สิ้นสุด บนโลกมนุษย์ นาคจะท่องเที่ยวในแม่นำ้โขง คนพื้นถิ่นมักจะเห็นนาคและร่องรอยของมัน ในขณะที่ครุฑเป็นตราแผ่นดินของไทย นี่แสดงถึงลำดับชั้นอำนาจในการเมืองไทย กษัตริย์ไทยแห่งราชวงศ์จักรีตั้งชื่อตนเองว่ารามา ซึ่งเป็นร่างอวตารของพระวิษณุ (มีนาคเป็นพาหนะ) ชาติ (ครุฑ) กลายเป็นพาหนะของกษัตริย์ (พระเจ้าจากฟ้า) อำนาจศักดิ์สิทธิ์จากฟ้า (divine sovereign) จึงหมายถึงมีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ แต่สำหรับชนชาติลาว นาคเป็นถือเป็นสัญลักษณ์และเป็นผู้ปกป้องเวียงจันทร์12 นาคเป็นสัตว์ในตำนานความเชื่อของคนลุ่มแม่น้ำโขง ส่วนครุฑเป็นสัญลักษณ์อำนาจชั้นสูงของสยามประเทศที่พัฒนามาจากชุมชนโบราณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งคำว่า ครุฑยุดนาค เป็นคำที่อธิบายความสัมพันธ์ในเชิงสัญลักษณ์ระหว่างลาวกับไทยในมิติทางประวัติศาสตร์ได้ชัด10

ด้วยการเปรียบเทียบสัตว์ในตำนานเหล่านี้ ครุฑ (รัฐไทย) จึงเป็นอำนาจแบบพราหมณ์ชั้นสูงที่นำไปสู่การสร้างรูปแบบกษัตริย์แบบอินเดีย ในขณะที่นาค (ลาว) จะมีลักษณะอำนาจของสิ่งพื้นถิ่นที่อยู่ใต้ดินหรือริมแม่น้ำ ลักษณะความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบนาคจึงเป็นสิ่งที่ดอนน่า ฮาราเวย์11 (2016) ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ของความคิดที่ University of California เรียกว่า Chthulucene โดยเธอเอามาจาก Cthulhu สัตว์ประหลาดเหยียดเพศหญิงในนิยายของ Lovecraft และเธอยังเล่นกับความหมายของคำว่า chthonic ที่แปลว่ากำเนิดหรือติดดิน Chthulucene จึงเป็นเวลาที่เราได้พบว่าเราอาศัยร่วมกับพลังอื่นๆ ของอมนุษย์ เรายึดติดพึ่งพิงอยู่กลับพลังงานอื่นๆ ที่เคลื่อนผ่านเรา และหากไม่มีสิ่งอื่นๆ เราก็ไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้ เราแปลกแยกกับตนเองอยู่เสมอ เราต้องเป็นเช่นนั้น หรือไม่เราก็ตาย12 ผลงานของอภิชาติพงษ์จึงมิได้เป็นเพียงซุ่มเสียงจากอุษาคเนย์ หากแต่ยังยึดติดกับโลก/ดาวเคราะห์ (planetary) เนื่องจากผลงานของเขาเผยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และอมุษย์ อันได้แก่ สัตว์ ผี และผืนป่าพนาไพร นั่นเพราะโลกเป็นเรื่องของผืนดินและสายน้ำที่มิได้เพียงสะท้อนประเด็นทางวัฒนธรรมที่ถูกผลิตและไหลเวียน แต่ยังเป็นเรื่องของระบบนิเวศน์และผัสสารมณ์อีกด้วย13

“ก่อนมันจะตาย มันแหงนหน้ามองฟ้ายามเย็นเป็นเวลานาน” สุรชัยเล่าต่อ

“มันมองฟ้าทำไมคะ” ราตรีถามขึ้น 

“ไม่รู้สิครับ หรือคำตอบอยู่บนฟ้า ถ้าอยากรู้ต้องไปถามพญาแถน” สุรชัยตอบ

ถ้าหากการที่พญานาคเผลอกลืนศพที่มีแท่งปูนเข้าไป จนสุดท้ายนำมาซึ่งความตายของมันเอง หากก่อนตายพญานาคแหงนมองท้องฟ้า เช่นเดียวกับในชาดกที่นาคต้องกินหินเพื่อเอาชีวิตรอดจากครุฑผู้มาจากฟ้า การตั้งคำถามกับท้องฟ้า ไฟ ความสว่าง และความร้อน ดูจะเป็นสิ่งที่พบได้ในงานของอภิชาติพงษ์นับตั้งแต่ การเล่นประทัดหรือพลุ ใน Fireworks (2014) พารามีเซียมลอยบนท้องฟ้า รวมถึงการใช้สีฟ้า ใน Cemetery of Splendor (2015) ผ้าห่มสีฟ้าที่คลุมตัวป้าเจนใน ‎Blue (2018) เสียงสายฟ้าฟาดลงมาใน October Rumbles (2020) และ Night Colonies (2021) ผ้าม่านสีฟ้าในวิดิโอแนวตั้งใน A Minor History (2021) และเสียงฟ้าร้องที่ดับการอ่านกวีโดยเมฆ’ครึ่งฟ้า ในนิทรรศการเสียง โดย อัคริศเฉลิม กัลยาณมิตร ส่วนหนึ่งใน Trace of Thunder (2021)

ดวงอาทิตย์ในเดือนตุลาฯ 

ไฟสีแดงเป็นสิ่งพบได้ใน โปรแกรมพิเศษ SILENCE โดย Kick the Machine Documentary Collective จัดแสดงในวันที่ 6 – 10 ตุลาคม ค.ศ. 2021 ณ มูลนิธิ 100 ต้นสน เพื่อรำลึกถึงความรุนแรงในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1976 (2519) โดยในขณะที่ผู้ชมนั่งดูวิดีโอฟุตเทจการทารุณศพที่ตัดสลับกับโฆษณาในช่วงยุคทศวรรษ 1970 และข้อความภาษาไทยที่ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษแบบแปลกประหลาดบิดเพี้ยนและล้อเล่นกับภาษา การออกเสียงและตัวอักษร แสงสีแดงฉานจากดวงไฟก็ค่อยๆ สว่างกลืนทั้งห้อง ดวงอาทิตย์นี้พบได้ในฉากลิเกที่มีภูมิทัศน์ของแม่น้ำและดวงอาทิตย์สีแดงใน ‎Blue (2018) 

ดวงอาทิตย์ชวนให้นึกถึงการแย่งชิงแสงไฟ แสงไฟที่อาจเป็นต้นกำเนิดของเรื่องเล่า แสงไฟทำให้เกิดเงา เงาจึงเป็นด้านกลับของการตามหาความจริง จุดกำเนิดของเรื่องเล่าอาจย้อนไปถึงถ้ำของเพลโต14 แต่ดวงไฟก็อาจย้อนไปถึงเรือพระอาทิตย์ ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีมาตั้งแต่ยุคหินใหม่15 และได้รับการชำระอีกครั้งในยุคอียิปต์โบราณ เรือพระอาทิตย์เป็นของเทพ Re ซึ่งการเดินทางของเรือทำให้เกิดกลางวันและกลางคืน16

ดวงไฟในการแสดงชุด FEVER ROOM (2015) สร้างความรู้สึกราวกับเราได้อยู่ในถ้ำและกำลังดูแสงไฟที่คนออกจากถ้ำมาฉายเรื่องราวให้เราดู การกลับเข้าถ้ำแบบลุงบุญมีจึงอาจกล่าวได้ว่า เป็นการกลับไปทบทวนกระแสธารความคิดสมัยใหม่ของมนุษย์ที่ถูกสร้างมาอย่างน้อยตั้งแต่ยุคภูมิธรรม ความคิดยุคภูมิธรรมที่รื้อฟื้นเอาความคิดของกรีกโบราณมาเล่าใหม่ ความคิดของกรีกโบราณก็พัฒนามาจากอียิปต์โบราณและเอเชีย วัฒนธรรมแอฟริกาเหนือมีผลต่อแนวความคิดของยิวและเอกเทวนิยม ทั้งที่แต่เดิมดินแดนอียิปต์โบราณจะนับถือเทพเจ้าหลายพระองค์ (polytheism) เหมือนแถบเอเชียโบราณ16

กรอบคิดเอกเทวนิยมกับเอกราชาเป็นสิ่งที่ดำเนินไปด้วยกันได้เป็นอย่างดี เพราะสุดท้ายเทพที่มีมากมายก็แย่งกันพูดและจะต้องมีเทพเพียงองค์เดียวที่ยิ่งใหญ่ มีสิทธิจะพูดได้มากกว่าและเทพอื่นๆ ต้องเคารพและเชื่อฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาอมาร์นา (Amarna religion) แห่งราชวงศ์ที่ 18 ของฟาโรห์ Akhenaten (c. 1353–1336 BC) ซึ่งเน้นการปกครองและขยายอำนาจที่ผูกขาด ล้มล้างแนวคิดพหุเทวนิยมและสรรเสริญ Amun พระเจ้าแห่งฟากฟ้าเป็นราชาแห่งเทพผสานรวมเข้ากับเทพ Re เกิดเป็น Amun-Re นำมาซึ่งการทำลายเทพอื่นๆ การปฏิวัติทางศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัย Akhenaten เป็นพัฒนาการแรกเริ่มของแนวคิดแบบก่อนโสคราตีส (pre-Socratic) ของอารยธรรมกรีก รวมไปถึงการให้มนุษย์เป็นศูนย์กลางเชิงปรัชญา (philosophical anthropocentrism)16

ความตายของพญานาคเพราะกลืนศพที่มีแท่งอิฐเข้าไป ก่อนจะตายมันแหงนมองท้องฟ้า “ดิฉันขอบคุณที่เล่าตำนานนี้ให้ฟังนะคะ” “มันไม่ใช่ตำนานครับ คุณราตรี” นี่ไม่ใช่เรื่องเล่าหากแต่เป็นเรื่องจริง นี่ไม่ใช่ความฝันหากแต่เรากำลังตื่น การแหงนหน้าไปมองฟ้ามองแถนจึงเป็นการตั้งคำถามกับสภาวะเพศชายเป็นใหญ่ผ่านสัญลักษณ์ของเทพแห่งฟากฟ้าและดวงอาทิตย์ ซึ่งอาจได้รับอิทธิพลอีกส่วนจากตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียน (Proto-Indo-Europeans) ซึ่งเป็นที่มาของภาษาอังกฤษ ไปจนถึงภาษาสันสกฤต ภาษาฮินดี และภาษาเบงกอล โดยที่วัฒนธรรมของคนกลุ่มภาษาอินโด-ยูโรเปียน คือ การเลี้ยงวัว ม้า และสุนัข การทำเกษตรด้วยการไถพรวน และการบูชาเทพแห่งฟากฟ้า เช่น ในพระทโยส สวามีของพระแม่ปฤถวี หรือ พระธรณี ในศาสนาฮินดู หรือเทพซุสในตำนานกรีก และที่สำคัญ คือวัฒนธรรมการนับถือตระกูลฝั่งพ่อ (patrilineal kinship-system)16

ท้องฟ้า ครุฑ แถน

การบูชาเทพจากท้องฟ้า ครุฑ และแถน จึงเป็นการผสมกันของหลายๆแนวคิดจากหลายตระกูลภาษาในแผ่นดินใหญ่ของอุษาคเนย์ การเชื่อเรื่องครุฑได้จากกลุ่มพูดตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียน และการเชื่อเรื่องแถนเป็นความเชื่อในกลุ่มคนพูดตระกูลภาษาไท-กะได การบูชาเทพจากท้องฟ้าเกิดจากการผสมกลมกลืนจากหลากหลายกลุ่มเผ่าพันธุ์ในอุษาคเนย์มาอย่างน้อย 3,000 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกลุ่มวัฒนธรรมลาวได้เข้ามามีอิทธิพลเป็นกลุ่มวัฒนธรรมใหญ่ในดินแดนอีสาน ตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 11 เป็นต้นมา การค้นพบทางโบราณคดีในแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ ทั้งภาพเขียนสีที่แสดงให้เห็นถึงพิธีกรรมของผู้คนที่อยู่ในท่าทางที่คล้ายการเต้นหรือฟ้อนรำ ลวดลายคนเป่าแคนและฟ้อนลำบนขวานสำริดสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อทางศาสนาและพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ที่ผสมกัน (Magico-religious practice) ทำให้เกิดระบบสัญลักษณ์และการสื่อความหมาย โดยที่ผู้คนในแถบแผ่นดินใหญ่ของอุษาคเนย์เริ่มหยุดนิ่งตั้งหลักแหล่งเป็นชุมชนมาแล้วกว่า 5,000 ปีแล้ว17

การบูชาผีฟ้าหรือเทพจากท้องฟ้าผสมเข้าระบบกษัตริย์แบบอินเดียเริ่มเมื่อรับพราหมณ์และพุทธเข้ามาจึงทำให้เกิดการสร้างกรอบความคิดเกี่ยวกับอำนาจเหนือธรรมชาติจากกลุ่มวัฒนธรรมต่างๆ เช่น การเทียบแถนหลวงว่าเป็นองค์เดียวกันกับพระอินทร์ หรือในวรรณกรรมเรื่องขุนบรมราชาธิราช  ได้กล่าวถึงแถนหลวงส่งขุนบรมลงมาปกครองผู้คนยังโลกมนุษย์17  

การต่อสู้กับเทพท้องฟ้าพบได้ในตำนานผาแดงนาไอ่ ซึ่งกล่าวถึงพระโพธิสัตว์ผู้เสวยชาติเป็นพญาคันคาก และพญาแถนเป็นผู้ปกครองเทวโลกและมนุษยโลก วันหนึ่งพญาแทนไม่พอใจมนุษย์จึงสั่งให้ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล มนุษย์จึงไปขอร้องพญาคันคากให้พญาปลวกก่อจอมปลวกขึ้นไปจนถึงสวรรค์ และทำสงครามกับพญาแถนจนพญาแถนผ่ายแพ้ พญาแถนจึงให้คํามั่น หากมนุษย์ยิงบั้งไฟขึ้นไปเตือนเมื่อไรจะรีบบันดาลให้ฝนตกลงมาให้ทันที และถ้ากบเขียดร้องก็ถือเป็นสัญญาณว่าฝนได้ตกลงถึงพื้นแล้ว นี่แสดงให้เห็นว่า เมื่อพญาแถนรู้ว่า ตนเองกําลังสูญเสียอํานาจที่ยิ่งใหญ่นั้น พญาแถนไม่อาจทําใจยอมรับได้ พระยาแถนจึงแสดงอํานาจกดขี่ห่มเหงโดยการทําให้ฝนแล้ง เพื่อเป็นการลงโทษให้คนทั้งหลายได้สํานึกแล้วจะได้หันกลับมาภักดีต่อพระยาแถนเหมือนเดิม18 ประเพณีบั้งไฟพญานาคแสดงให้เห็นถึงการปะทะต่อรองอำนาจกับระบอบความเป็นเจ้า/ทาส ในอุษาคเนย์ สถานะความเป็นเจ้า เทวดา หรือโอรสสวรรค์จึงถูกท้าทายมาโดยตลอด

แต่ก็มีข้อน่าสังเกตว่าสิ่งที่หลุดลอยจากโลก ได้แก่ แถนในวัฒนธรรมบูชาผี หรือเทวดาในวัฒนธรรมพราหมณ์-พุทธ ซึ่งสัมพันธ์กับความเชื่อในคนอีสานที่ว่าเครื่องดนตรีได้รับสืบทอดมาจากเมืองฟ้า โดยที่การร้องรำทำเพลงของคนอีสานถือเป็นสิ่งของเทวดาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การใช้อำนาจศักดิ์สิทธิ์ (divine sovereignty) จึงเริ่มต้นผ่านพิธีทรงเจ้าเข้าผีของชาวอีสานที่เรียกว่า การเลี้ยงข่วง ที่มีการเป่าแคนเพื่อเชิญให้ผีฟ้าผีแถนลงมาประทับในร่างมนุษย์ แล้วจึงร่ายรำเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย17

แล้วความเป็นกษัตริย์หรือเทวดาที่หลุดพ้นจากมนุษย์เริ่มมีขึ้นเมื่อใด นี่อาจพ้นเกินความสามารถของผู้เขียน แต่อำนาจศักดิ์สิทธิ์ในการบูชาผีฟ้าก็เป็นเพียงแค่ชั่วคราว ถึงแม้ว่าผีแถนอาจเป็นเทพที่หลุดพ้นจากโลก (transcendent) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการบูชาแถนก็ไม่ได้เป็นการบูชาตลอดเวลา หากแต่เป็นบางช่วงของพิธีกรรม และบางช่วงของปี กล่าวอีกแบบ การบูชาแถนขึ้นกับเวลามากกว่าสถานที่  อำนาจอธิปปัตย์จึงจำกัดด้วยเวลา และไร้ศูนย์กลาง ผู้ที่รับเอาอำนาจจากสวรรค์ในช่วงพิธีกรรมก็มิได้ต่างจากคนอื่นๆในเผ่า19 

เดิมที่การบูชาเทพจากท้องฟ้าขึ้นกับเวลา กลายเป็นขึ้นกับตำแหน่งตั้งแต่เมื่อใด และกลายเป็นแนวคิดเทวราชาและต่อมากลายเป็นอำนาจอธิปปัตย์ได้อย่างไรก็เกินพ้นความสามารถของผู้เขียน และอาจไม่จำเป็นที่จะฟื้นฝอยหาตะเข็บต้นกำเนิด แม้ว่าจะมีข้อเสนอว่ารัฐแรกๆ ในอุษาคเนย์ ได้แก่ รัฐอังวะ/พม่า ฮั่น/จีน และสยามโบราณ การเกิดขึ้นของรัฐส่งผลให้เกิดการรวมศูนย์อำนาจ รวมทรัพยากรประชากร สถาปนากลไกรัฐด้านภาษี โดยเฉพาะที่ราบลุ่มมีแม่น้ำไหลผ่าน ผิดกับคนที่ถูกมองว่า “ไร้อารยะ” ที่อยู่ตามป่าเขาหรือที่ราบสูง20 

แต่ประวัติศาสตร์ก็มิได้เรียงเป็นเส้นตรงแบบวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์เป็นพื้นที่ของการปะทะสังสรรค์ของอำนาจและการเคลื่อนย้ายตำแหน่งและเวลาอยู่ตลอดเวลาต่างหาก เหมือนฉากใน Cemetery of Splendor (2015) เมื่อเก่ง ร่างทรงสาวโสดพยายามจะดูอดีตชาติของทหารที่นอนหลับ แต่ภรรยาของนายทหารผู้หลับไหลคนนั้นบอกกับเก่งว่า “ไปเบ่งอดีตเฮ็ดหยัง เบ่งปัจจุบันนี่แหละ ว่ามันเอาเมียน้อยไปซ่อนไว้ไส” กระบวนการสร้างสรรค์ ผลงานของอภิชาติพงษ์จึงเป็นการใคร่ครวญและค้นคว้าเพื่อศึกษาอดีตในปัจจุบันมากกว่าจะย้อนรำลึกเพื่อหวนหาแบบโรแมนติกส์ (retrospective rather than romanticize)21

ปัจจุบันจึงเป็นพื้นที่ที่อดีตและอนาคตเคลื่อนย้ายถ่ายเทไปมา มากกว่าจะถูกมองอย่างแยกขาดเป็นเส้นตรง ผลงานของอภิชาติพงษ์จึงต่อต้านวัตถุนิยมประวัติศาสตร์และเวลาแบบพุทธทางการ/อาณานิคม ผ่านการแยก “การร่วมเวลา” ออกจาก “การไล่เรียงลำดับเวลา” ซึ่งที่ผ่านมาการไล่เรียงลำดับเวลาคือวิธีการมองเวลาที่ครอบงำอยู่ และการถอดเอาการร่วมเวลาออกมาพิจารณาในตัวมันเอง ส่งผลให้เวลาถูกปลดปล่อยและมีสภาวะเป็นปลายเปิดมากกว่าที่จะเป็นการดำเนินไปตามเส้นทางที่แน่นอนซึ่งมีมนุษย์เป็นพระเอกของประวัติศาสตร์แต่เพียงผู้เดียว22

โปรดติดตามบทความส่วนที่สอง “A Minor History: ท้องพระโรงที่ว่างเปล่ากับผีที่หายไปในความมืด (1) ตอน 3 ” ได้เร็วๆ นี้

อ้างอิง

  1. Pattana Kitiarsa (2005). Beyond Syncretism: Hybridization of Popular Religion in Contemporary Thailand. Journal of Southeast Asian Studies / Volume 36 / Issue 03 / October 2005, pp 461 – 487 DOI: 10.1017/S0022463405000251, Published online: 08 September 2005
  2. ลุงบุญมีระลึกชาติ ณ เมืองคานส์ Archived 2010-05-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
  3. สุรศักดิ์ สาระจิต (2021). หมอลำต่อต้านคอมมิวนิสต์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย (ปลายทศวรรษ 2490 ถึงต้นทศวรรษ 2520)
  4. Apichatpong Weerasethakul (2014). Fireworks (Archives) http://www.kickthemachine.com/page80/page22/page33/index.html
  5. ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ (2562). ไทยปิฎก : ประวัติศาสตร์การเมืองสังคมร่วมสมัยของพุทธศาสนาไทย. 
  6. พระอารดินทร์ เขมธมฺโม (2549). การศึกษามโนทัศน์เรื่องความตายของกฤษณมูรติ
  7. Diogenes Laërtius Lives of the Eminent Philosophers Book IX, Chapter 9, Section 69
  8. เก่งกิจ กิติเรียงลาภ (2021). บรรยายวิชาการออนไลน์ “ภววิทยาวัตถุ (Object Oriented Ontology) (OOO)”. https://www.youtube.com/watch?v=HenxInaMtWw&t=2099s
  9. วิเชียร นามการ (2554). การศึกษาอิทธิพลความเชื่อเรื่องพญานาคที่มีผลต่อสังคมไทยปัจจุบัน
  10. กำพล จำปาพันธ์ (2558). นาคยุดครุฑ : “ลาว” การเมืองในประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย
  11. ดอนนา ฮาราเวย์ พยายามท้าทายตัวตนของมนุษย์ (figure of man) ในยุค Anthropocene ซึ่งเชื่อมโยงกับปมอิดิปุส เมื่อวัย 3-6 ปี เพศชายจะมีการหนีจากแม่และไปสร้างตัวตนกับพ่อเพื่อเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ตามปรารถนา เธอท้าทายระบอบการปกครองแบบชายเป็นใหญ่ นี่จึงเท่ากับเป็นการหวนคืนไปสู่ความเป็นเพศแม่ที่ร้ายกาจ เธอยังเสนอว่าเสนอให้เราย้อนกลับไปหา Gaia (เทพเจ้าแห่งดินของกรีก) ตามตำนานเธอเกิดจากความวุ่นวายและพายุหมุน เธอได้ให้กำเนิด Uranus ซึ่งเป็นทั้งลูกและสามี (เทพเจ้าท้องฟ้า) ฮาราเวย์ เสนอว่า ที่ผ่านมาเราถอนตัวจากเทพเจ้าแห่งแม่เพื่อมองท้องฟ้า หรือปมอิดิปุส เรากำลังพรากจากแม่เข้าสู่สังคมชายเป็นใหญ่ และสิ่งที่เราควรทำคือการกลับไปหา Gaia ซึ่งสิ่งที่น่ากลัว มิใช่สิ่งที่น่าอภิรมย์ เป็นทั้งการรบพุ่งที่เราต้องเข้าใจศัตรูของเราไปด้วย และความกราดเกรี้ยว เทพเจ้าผู้ดูแลโลกเป็นทั้งแม่ที่ใจร้าย และก็ทั้งใจดี ไม่ใช่ทั้งเป็นทรัพยากรและไม่ใช่สิ่งที่ต้องการการทะนุถนอม และไม่ใช่แม่ที่จะมาป้อนข้าวป้อนน้ำเรา และโลกของ Gaia เต็มไปด้วยความโหดร้าย มีการเกิดและการตาย ไม่ได้เป็นธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ไม่ต่างจากพระอุมาที่มีทั้งภาคใจดีและใจร้าย คำว่ายุคสมัยแห่งมนุษย์หรือ Anthropocene ก็ยังยึดโยงกับการเอามนุษย์เป็นศูนย์กลางทางปรัชญาและละเลยผู้กระทำการอื่นๆ นอกเหนือจากมนุษย์ นี่เองจึงนำไปสู่การหาคำอธิบายใหม่ที่เรียกว่า Chthulucene ซึ่งเป็นการล้อเลียน Cthulhu สัตว์ประหลาดในนิยายของ H.P. Lovecrafts ที่สำหรับฮาราเวย์เป็นตัวละครที่เหยียดเพศหญิงและเชื้อชาติ เธอสลับตัวอักษรให้ล้อไปกับคำว่า Chthon ซึ่งเป็นอีกคำของพระแม่ธรณี หรือความเชื่อกรีกเรียกว่า Gaia Ema จึงเป็นแม่ที่ทั้งใจร้ายและใจดี ทั้งหญิงแย่งสามีชาวบ้านและยังทำให้ความสัมพันธ์ของคู่รักที่รับเลี้ยง Polo ไปอยู่ด้วยไม่จืดชืด ฮาราเวย์เน้นย้ำถึงการสร้างญาติมิตรมากกว่าการสร้างลูก หรือ ‘make kin not babies’ ความเป็นญาติมิตรที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายในแนวราบมากกว่าจะเป็นความสัมพันธ์แนวดิ่งจากบนลงล่าง เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ได้ยึดติดหนาแน่นกันตลอดเวลา (attachment and detachment) คือเป็นทั้งการเชื่อมกันและพรากจากกันไปพร้อมๆ กัน เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่น่าเข้าไปหา เป็นความแตกต่างหลากหลายที่เราไม่มีวันเข้าใจได้ การสร้างญาติมิตรก็เป็นเรื่องยากมาก น่าหวาดระแวง หลอกหลอน ท้าทาย และไม่รู้สึกสนิทสนม คำว่า companion มาจาก cum panis ซึ่งแปลว่าขนมปัง สิ่งมีชีวิตจำเป็นต้องกิน เราต่างกินกันเอง การกลับไปหาแม่ไม่ต่างจากการที่เราต้องไปอยู่ในถังของเน่าที่ยุ่งเหยิง น่ารังเกียจ ไม่น่าไปอยู่ มีความเป็นความตาย เรากำลังถูกกัดกิน น่าสยดสยอง เต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต หรือนั่นก็คือ composed ที่แปลว่าปุ๋ยหมัก และแปลว่า การสร้างเรื่องเล่า decomposed ก็แปลว่าเน่าเปื่อย แต่หากแยกคำแล้วก็คือ de-composed ที่หมายถึงการรื้อสร้างเรื่องเล่าหรือการเล่าใหม่ โปรดอ่าน: MING PANHA. 2016. “Chthulucene” แนวคิดใหม่ในโลก posthuman ของ Donna Haraway. บันทึกงานเสวนาวิชาการ อ่านเอาเรื่อง (ครั้งที่ 5) 
  12. Andrew Alan Johnson (2020). Mekong Dreaming: Life and Death Along a Changing River
  13. Graiwoot Chulphongsathorn (2021). Apichatpong Weerasethakul’s planetary cinema
  14. หนังสือเล่มที่ 7 ใน “The Republic” ของเพลโตผู้เป็นรากฐานของแนวคิดปรัชญาการเมืองสมัยใหม่ ว่าด้วยพลเมืองที่ถูกล่ามไว้ในถ้ำ พวกเขาเรียนรู้ผ่านแสงและเงาบนผนังถ้ำ พวกเขาเข้าใจไปว่าภาพเหล่านั้นคือความจริง และมีเพียงชนชั้นนำที่มีความปรารถนาจะออกจากถ้ำเพื่อไปรับรู้ความจริงแบบอื่นๆ และพวกเขาจะกลายเป็นผู้มาควบคุมคนในถ้ำ
  15. วิวัฒนาการมนุษย์ได้ออกจากถ้ำ และเข้าสู่สังคมที่เริ่มหยุดนิ่ง (sedentary life)  ในช่วงยุคหินใหม่ (Neolithic) ย้อนไปราว 3,500 ปีก่อนคริสตกาล
  16. ธเนศ วงศ์ยานนาวา. On Monotheism ว่าด้วยเอกเทวนิยม เส้นทางของพระผู้เป็นเจ้าของจริง. 2019
  17. ยุทธพงศ์ มาตย์วิเศษ (2017). ยกอ้อ ยอคาย : พลวัตทัศนะเกี่ยวกับดนตรีและนาฏศิลป์ชาวอีสาน
  18. พระมหาสุระเวช วชิโร (2553). ศึกษาวิเคราะห์โลกทัศน์ทางพระพุทธศาสนาในวรรณกรรมพื้นบ้านอีสานเรื่องพระยาคันคาก
  19. David Graeber. Marshall Sahlins (2017). On Kings
  20. Khorapin Phuaphansawat (2018). History and Politics of the “Losers”: James C. Scott’s Perspective on Domination, Power, and Resistance
  21. NOIR ROW ART SPACE. (2021).Statement. EXCERPTS : CONTEMPORARY ART OUTLOOK ON UDONTHANI & RELATED BY NOIR ROW ART SPACE 2017 – 2020
  22. เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. (2020). ว่าด้วยเวลาอนาคต: วิพากษ์ประวัติศาสตร์ที่เป็นเส้นตรงและข้อถกเถียงระหว่าง Kojève กับ Althusser

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง A Minor History: ท้องพระโรงที่ว่างเปล่ากับผีที่หายไปในความมืด (1) 

image_pdfimage_print