เปิดตัว “ราษฎรโขง ชี มูน” ผนึกกำลังเครือข่ายเยาวชนภาคอีสาน ขับเคลื่อนประเด็นข้อเรียกร้องการเมือง-สังคมยกระดับการต่อสู้คนอีสาน  “ถนอม ชาภักดี” แนะใช้ศิลปวัฒนธรรมเป็นซอฟท์พาวเวอร์ปลุกพลัง-ขยายฐานการต่อสู้  ด้านนักวิชาการ ม.อุบลฯ ชี้คนหนุ่มสาวต้องปฏิวัติตัวเองให้ประเทศออกจากความมืดมน 

ขอนแก่น – เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2565 บริเวณบึงสีฐาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น กลุ่มราษฎรโขง ชี มูน พร้อมชาวบ้านและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองจากหลายจังหวัดในภาคอีสานจัดกิจกรรมเสวนาทางวิชาการและเปิดตัวแกนนำราษฎรโขง ชี มูน  ประกอบด้วยแกนนำ จากกลุ่มดึงดิน จ.อุดรธานี กลุ่มขอนแก่นพอกันที กลุ่มดาวดิน ภาคีนักเรียน KKC กลุ่มโคราชมูฟเมนท์ กลุ่มอุบลปลดแอก กลุ่มคบเพลิง คณะราษฎรชัยภูมิ กลุ่มกอผือรื้อเผด็จการ และกลุ่มอุดรพอกันที ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียน นักศึกษา และคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม โดยทุกคนมีแนวคิดร่วมกันในการรวมกลุ่มในชื่อราษฎรโขงชีมูล เพื่อให้มีพลัง มีอำนาจต่อรองกับนโยบายในระดับประเทศ

เอเชีย รัฐมหาวิรุฬห์กร ตัวแทนกลุ่มดึงดินจาก จ.อุดรธานี กล่าวว่า กลุ่มดึงดินเป็นกลุ่มที่หน้าใหม่มากๆ ด้วยการทำกิจกรรมจิตอาสา  เช่น มอบของให้คนไร้บ้าน ลงพื้นที่เรื่องเหมืองแร่โพแทช บ่อขยะ เป็นต้น ส่วนการเข้าร่วมกับราษฎรโขง ชี มูน ส่วนตัวรู้สึกว่า การขับเคลื่อนในนามแนวร่วมที่ใหญ่ขึ้นมันทรงพลัง มีอิทธิพลมาก เราสามารถใช้อำนาจนี้ในการต่อรองกับรัฐได้มากกว่าการขับเคลื่อนอยู่กลุ่มเดียว 

ขณะที่วีรภัทร ศิริสุนทร ตัวแทนกลุ่มดาวดิน จ.ขอนแก่น กล่าวว่า เราขับเคลื่อนหลากหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นสิทธิชุมชน ประเด็นชาวบ้านหรือการเมืองภาพใหญ่ อย่าง การแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือการขับไล่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ส่วนการเข้าร่วมกลุ่มราษฎรโขงชีมูลเดิมทีเราเคลื่อนไหวทางการเมืองมาอยู่แล้ว เราอยากจะมารวมกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อเคลื่อนไหวเพื่อขับเคลื่อนการแก้รัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้ง 

เปเปอร์ ตัวแทนจากกลุ่มโคราชมูฟเมนท์ กล่าวว่า กลุ่มโคราชมูฟเมนท์คือกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เราเคลื่อนไหวทั้งประเด็นการเมืองภาพใหญ่และส่วนท้องถิ่น เรารวมตัวกันโดยมีเป้าหมายว่าเราอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เราอยากให้เกิดการกระจายอำนาจ ให้ท้องถิ่นจัดการตัวเองได้ เราจึงเคลื่อนไหวทั้งการไล่ พล.อ.ประยุทธ์ การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และปฏิรูปสถาบัน ส่วนประเด็นในท้องถิ่นตอนนี้ก็มีการเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องปัญหาบ่อขยะ โรงไฟฟ้าชีวะมวล เหมืองแร่โพแทส เป็นต้น ตลอดไปจนถึงปัญหาคนเมือง ในเรื่องฟุตบาธ ถนนที่ชำรุด ใช้การไม่ค่อยได้ เราก็ส่งเสียงขับเคลื่อนยื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่มีอำนาจจัดการ ส่วนการเข้าร่วมกับราษฎร โขง ชี มูลนั้น กลุ่มของเราเพิ่งเกิดขึ้นมาในช่วงกระแสเคลื่อนไหวทางการเมืองขึ้นสู่จุคพีคเกิดขึ้นกลุ่มการเมืองเกิดขึ้นมาจำนวนมาก ทำให้ได้รู้จักกับทุกคนในที่นี้ และมีการพูดคุยกันว่าเราอยากรวมตัวสร้างเครือข่ายอีสานขึ้นมา เพื่อการเคลื่อนไหวที่เข้มแข็ง มีอำนาจต่อรองกับรัฐที่มากขึ้น จึงเข้ามาอยู่ในกลุ่มนี้ 

จิรัชญา หาญณรงค์ ตัวแทนกลุ่มขบวนการอีสานใหม่ กล่าวว่า ขบวนการอีสานใหม่เป็นการรวมตัวกันของนักกิจกรรม ทางสังคม นักศึกษาและชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐ เดิมทีขบวนฯ ต่อสู้ในเรื่องสิทธิชุมชน ในเรื่องที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการสร้างเหมือง เขื่อน ปิโตรเลียม โพแทส หรือโครงการของรัฐอื่นๆ ที่เข้ามาในพื้นที่ แต่ชุมชนไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม เราจึงเข้าไปขับเคลื่อนในเรื่องสิทธิชุมชน ต่อมามีการสรุปบทเรียนว่าการสู้แค่เรื่องเดียว มันไม่สามารถเปลี่ยนแปลงปัญหาได้จริง เราจึงขยับมาสู้ในประเด็นการเมืองโครงสร้าง และเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราเข้าร่วมกับกลุ่มราษฏร โขง ชี มูล เพราะการต่อสู้มันไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ด้วยคนๆ หรือคนกลุ่มเดียว จึงร่วมกับกลุ่มราษฎรโขง ชี มูล เพื่อต่อสู้ในประเด็นรัฐธรรมนูญและการกระจายอำนาจต่อไป

บรรยากาศประชาชนหอบเสื่อมานั่งฟังการทำกิจกรรมทางการเมืองของกลุ่มราษฎรโขงชีมูล

จากนั้น ดร.ถนอม ชาภักดี นักวิจารณ์และนักปฏิบัติการด้านศิลปะ กล่าวว่า การใช้ชื่อราษฎรโขงชีมูนเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เช่นกัน คำว่าราษฎรมาจากรากศัพท์ภาษาสันสกฤตหมายถึงคนที่อยู่ในแว่นแคว้น อยู่ในเขตพื้นที่ ประเด็นคือในฐานะราษฎรเราอยู่แบบไหน อยู่อย่างไร ตนขอทิ้งโจทย์ให้พวกเราคิดกัน ตนคิดว่า ก่อนที่รัฐไทยจะเข้าไปอาณานิคมภายในพื้นที่ที่ราบสูง เราไม่ได้มีลักษณะโครงสร้างศิลปะ หรือภาษาแบบนี้ แต่หลังจากที่มีการอาณานิคมภายในแล้ว ในช่วง ร.4-5 ประเด็นแรก เขาได้ทำลายโครงสร้างภาษาก่อน ประเด็นที่สอง คือ การทำลายโครงสร้างศิลปะ และประเด็นที่สาม คือ การทำลายโครงสร้างวัฒนธรรม จะเห็นว่านับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ประมาณ 100 กว่าปี โครงสร้างทางภาษา ศิลปะ วัฒนธรรมของลุ่มน้ำโขง ชี มูน ถูกทำลายหมดไม่เหลืออะไรเลย 

“เรื่องนี้จึงควรต้องคู่ขนานไปกับการเคลื่อนไหวประเด็นความสำคัญร่วมสมัยในปัจจุบัน ผมเห็นการพลิกฟื้นของประเทศเล็กๆในอดีตสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย มีกลุ่มศิลปินกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นกลุ่มละครพยายามเรียกร้องความเป็นเอกราชด้วยการใช้ศิลปะเป็นตัวขับเคลื่อน หลักการใหญ่ๆ ของการขับเคลื่อนเพื่อให้มีอำนาจในการปกครองตนเองของสโลวีเนียก็คือพยายามพลิกฟื้นสิ่งที่เคยถูกเจ้าอาณานิคมพยายามทำลายทิ้งไป” ดร.ถนอม กล่าว 

นักปฏิบัติการทางศิลปะ กล่าวอีกว่า สิ่งที่สามารถรื้อฟื้น คือ 1.ภาษา วันนี้มีน้อยคนที่อ่านอักษรธรรมน้อยที่เป็นตัวภาษาเขียนที่เคยใช้ในพื้นที่ที่ราบสูงแถบลุ่มน้ำ โขง ชี มูนได้  2.การฟื้นเรื่องแนวความคิดระหว่างความเชื่อกับศิลปะและกระบวนการฟื้นฟูความเป็นหมู่บ้าน เพราะทุกวันนี้เราเรียกแต่ชุมชนๆ ที่เป็นคำใหม่ใช้หลังจากโครงสร้างของหมู่บ้านล่มสลายไปและต้องได้รับการฟื้นขึ้นมา 3.การนำเรื่องราวบริบทของเจ้าอาณานิคมเอามาหล่อเลี้ยง เอาศิลปวัฒนธรรมมาหล่อเลี้ยงเป็นเรื่องตลก ตนคิดว่ายุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวของราษฎร โขง ชี มูน ถูกต้องแล้ว เพียงแต่ต้องเสริมการเคลื่อนไหวระหว่างประเด็นปัญหาสังคมร่วมสมัย กับการพลิกฟื้นบริบทของโขง ชี มูนขึ้นมาอย่างไร 

ถนอม ชาภักดี นักปฏิบัติการทางศิลปะ

“ถ้าเราวางยุทธศาสตร์ให้แข็งแกร่ง ผมคิดว่าการเคลื่อนไหวทางศิลปวัฒนธรรมเป็นซอฟท์พาวเวอร์สำคัญที่สามารถทิ่มแทงได้ ผมเห็นชัดเจน ยกตัวอย่าง กรณี ขอนแก่น มินิเฟสโต หรือการคุ้ยเรื่องกบฏผีบุญขึ้นมาแล้วเอาแนวทางการปฏิบัติการทางศิลปะเข้ามาเสริมหรือการพูดถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นใน โขง ชี มูน ในทุกพื้นที่แผ่นดินที่ราบสูงสามารถมีเรื่องราวที่สามารถขุดคุ้ยหรือพลิกฟื้นมาพูดคุยกัน ประเด็นสำคัญผมคิดว่าจะทำอย่างไรจะขับเคลื่อนการเคลื่อนไหวคู่ขนานไปโดยใช้กระบวนการทางศิลปวัฒนธรรมเข้าไปด้วย เรื่องสนุกๆ พิณ แคน ทำเลย การทำงานทางศิลปวัฒนธรรมเป็นสิ่งเดียวที่เราสามารถเปิดพื้นที่ให้ผู้คนเข้ามาร่วมกันได้โดยไม่เคอะเขิน” ถนอมกล่าว

ถนอม กล่าวอีกว่า การเคลื่อนไหวต้องมีชีวิต ต้องผ่านกระบวนการทางศิลปวัฒนธรรม ถึงเวลาแล้วที่เราต้องมาขัดเกลาและปรับปรุงขบวนการเคลื่อนไหวใหม่จะวางทิศทางอย่างไรควบคู่กับการต่อสู้ในปัญหาอำนาจเผด็จการ  เช่น ทำไมจึงต้องกราบไหว้อนุสาวรีย์เผด็จการ ทั้งๆ ที่รู้ว่าจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้คอร์รัปชั่นยุคแรกๆ ส่วนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็เกิดขึ้นในพื้นที่โขง ชี มูน เป็นพื้นที่แรกๆ ทั้งขอนแก่น สารคาม ชัยภูมิ  แต่ก็ถูกกดขี่ไม่ให้มีเสรีภาพ  ทำไมเสรีไทยอีสานจึงไม่ถูกพูดถึงเหมือนเสรีไทยที่อื่น ทำไมครู ครอง จันดาวงศ์ มอบที่ดินเพื่อสร้างสนามบินให้เสรีไทย แต่ถูกฆ่าตายในที่ดินตัวเอง เป็นต้น 

ขณะที่ธีระพล อันมัย อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี กล่าวว่า ตั้งแต่การชุมนุมของ นปช. คนเสื้อแดงที่ถูกปราบปราม ตลอดจนไปจนการเคลื่อนไหวสมัชชาคนจน หรือหลายกลุ่มในภาคอีสานที่ผ่านมา ภาคอีสานถูกโครงการพัฒนาของภาครัฐคุกคามทำลายวิถีชีวิตละเมิดสิทธิชุมชนของชาวบ้านมาโดยตลอด ทุกสายน้ำในพื้นที่ราบลุ่มที่ราบสูงถูกคุกคาม  ตลอดไทม์ไลน์ 120 กว่าปีหลังการปฏิรูปการครองในสมัย ร.5 คนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือลุ่มน้ำโขง ชี มูน ถูกกระทำมาโดยตลอด หากแบ่งความรุนแรงของการถูกกระทำก็คือก่อนที่เราจะเป็นสยาม เราถูกกระทำในฐานะที่เราไม่ใช่คน เขาไม่ได้คิดว่าเราเป็นคน เราคือข้า คือไพร่ ทาสที่เขาจะทำอะไรก็ได้ 

“พอเปลี่ยนแปลงการปกครอง พอเราเป็นคน เราก็มีปัญหาว่าไม่มีสิทธิ์มีเสียงสิทธิขั้นพื้นฐาน เราพยายามจะแสดงออกถึงสิทธิ์ เขาก็ปราบปราม เข่น ฆ่า จับกุมคุมขัง พอเข้าสู่ยุคประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงเริ่มลืมตาอ้าปากพื้นที่ที่ราบสูงก็ถูกโครงการพัฒนาของรัฐมาแย่งชิงทรัพยากร จนเกิดขบวนการต่อสู้ของชาวบ้านอย่างยาวนานมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งปัญหาดิน น้ำ ป่าของคนในลุ่มน้ำ โขง ชี มูน ยังเป็นปัญหาหลักและปัญหาใหญ่ที่สุด คือปัญหาทางการเมือง ระบบการเมืองที่ไม่เอื้อให้คนจำนวน 1 ใน 3 ของประเทศได้รับในสิ่งที่ควรจะได้ เราเสียภาษีจำนวนมาก แต่สิ่งที่ได้มาน้อยมาก”ธีระพล กล่าว 

ธีระพล อันมัย อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

ธีระพล กล่าวอีกว่า ถ้าพูดถึงทางออกในโลกปัจจุบันเราไม่สามารถถือปืนไปต่อสู้กันได้ แต่วิธีการที่จะต่อรองกับอำนาจส่วนกลางได้ เราอาจจะไม่ต้องจับปืนไปต่อสู้ เพราะถึงเรามีปืนเขาก็มีงบซื้ออาวุธมากกว่า แต่จะทำอย่างไรให้เขารู้สึกว่า เรามีเสียงหรือทำให้ให้เขารู้สึกอายหรือทำให้เขารู้สึกดิ้นตาย เช่น เพลงประเทศกูมี ที่ทำให้องคาพยพของคณะรัฐประหารและรัฐบาลดิ้นตาย ที่สำคัญไม่ใช่การด่าประยุทธ์ แต่ไม่พูดถึงเรื่องการปฏิรูปสถาบัน นักปฏิวัติต้องมีวินัยของนักสู้อย่าอ่อนแอ คนหนุ่มสาวจะต้องปฏิวัติตัวเองก่อน เป็นนักสู้ที่กล้าแกร่งและมีระเบียบวินัยในตัวเองด้วย ตนนับถือจากจำนวนคดีที่เกิดขึ้นกับพวกเรา ทำให้คนรุ่นตนกลายเป็นขี้ขลาดตาขาวไปเลย แต่มันจะดีกว่าถ้าเรานิ่งกว่านี้ พูดคุยทำงานให้แหลมคม สั่งสมกำลังและแนวร่วมให้มากกว่านี้จะเป็นเรื่องดีมาก 

ธีระพล กล่าวอีกว่า ขณะนี้พวกเราเป็นนักอุดมคติ ซึ่งหาได้ยากในยุคสมัยหนึ่ง แต่สมัยนี้เกิดขึ้นเต็มไปหมด อย่าง ครูใหญ่ อรรถพล บัวพัฒน์ ไผ่ ดาวดิน หรือทุกคนที่อยู่ที่นี่ ซึ่งแต่ละคนอายุยังน้อย เราคิดเผื่อว่าอีกอีก 10 ปีข้างหน้า บางคนจะอายุ 30-40 กว่าปี หมายความว่าเรากำลังก่อรูปก่อร่างสร้างสาธารณรัฐของโขง ชี มูน จะทำให้มันเป็นอย่างไร เราต้องเริ่มจากการพูดคุยกันให้ดี ต้องหาหัวใจของนักปฏิวัติที่ดีว่าต้องเป็นอย่างไร และเป้าหมายคืออะไร ถ้าขยับกันทุกจังหวัดคิดว่า ประเทศนี้มันจะไม่ออกมาเจอแสงก็ให้มันมืดมนต่อไป 

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง ตำรวจ สภ.ขอนแก่นเกาะติดราษฎรโขงชีมูนเปิดตัวเครือข่ายฯ

image_pdfimage_print