“เครือข่าย ปชช.ลุ่มน้ำชีตอนล่างชุมนุมกระทุ้งผู้ว่าฯ ร้อยเอ็ด เร่งแก้ไขปัญหาหมักหมมเขื่อนน้ำชีนาน 13 ปี รองผู้ว่าฯ รับปากจัดประชุม 24 ก.พ.นี้
กชกร บัวล้ำล้ำ ภาพ
อัยการ ศรีดาวงศ์ เรื่อง
Citizen Reporter of The Isaan Record เรื่องและภาพ
ร้อยเอ็ด – เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 ที่บึงพลาญชัย เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง จังหวัดร้อยเอ็ดกว่า 300 คน ชุมนุมเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการ ในฐานะประธานอนุกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร ระดับจังหวัดร้อยเอ็ด ให้เร่งแก้ไขปัญหาที่หมักหมมมากว่า 13 ปี
การชุมนุมครั้งนี้มีการปราศรัยถึงผลกระทบและปัญหาที่ได้รับจากเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร ที่สร้างขึ้นภายใต้นโยบายโขง ชี มูลเดิม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากว่า 22 ปี นับจากปีที่เขื่อนสร้างเสร็จในปี พ.ศ.2543 และขบวนการเรียกร้องเยียวยาผลกระทบจากเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำชีที่เริ่มเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ปี 2552 เพื่อเรียกร้องการเยียวยาผลกระทบจากโครงการของรัฐ ซึ่งสะท้อนว่า การบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดจากโครงการสร้างเขื่อนคอนกรีตในแม่น้ำชีนั้นทำให้เกิดเป็นปัญหาน้ำท่วมขังซ้ำซากในเกือบทุกฤดูน้ำหลาก ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรจนเสียหายและไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้อย่างเต็มที่
หลังการปราศรัยถึงความผิดพลาดในการบริหารน้ำของภาครัฐกว่า 1 ชั่วโมง 30 นาที ชนาส ชัชวาลวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมทั้ง อนันตศักดิ์ แย้มชื่น ผู้อำนวยการสำนักโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลาง ได้เดินทางมารับหนังสือ พร้อมชี้แจงต่อผู้มาชุมนุม และออกหนังสือตอบรับเป็นลายลักษณ์อักษรว่า จะมีการจัดประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร ระดับจังหวัด ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีผู้อำนวยการสำนักโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลาง เป็นผู้เซ็นรับทราบ
จันทา จันทราทอง ตัวแทนเครือข่ายฯ อ่านแถลงการณ์ระบุข้อความว่า เครือข่ายฯ เป็นกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายโครงการโขง ชี มูลเดิม โดยการสร้างเขื่อนกันน้ำชี โดยเฉพาะเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย ลุ่มน้ำชี ส่งผลให้ชาวบ้านลุ่มน้ำชีได้รับผลกระทบดังนี้ 1.พื้นที่ทำการเกษตรถูกน้ำท่วมผิดปกตินาน 1 – 3 เดือน ทำให้ต้นข้าวเน่าตายเสียหายต่อเนื่องกันกว่า 10 ปี ก่อปัญหาด้านสภาพเศรษฐกิจทั้งภายในครัวเรือนและชุมชน 2.ระบบนิเวศเกิดการเปลี่ยนแปลง 3.เกิดการอพยพโยกย้ายแรงงานเข้าสู่ภาคเมืองมากขึ้น 4.เกิดการเปลี่ยนแปลงทางประเพณีและวัฒนธรรม เป็นต้น ที่ได้ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ์ให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอและข้อเรียกร้องของชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง เหมือนกับหลายๆ ปัญหาที่เกิดจากนโยบายของรัฐบาล
แถลงการณ์ยังระบุอีกว่า แม่น้ำชีตอนกลางและตอนล่างมีสภาพทางภูมิศาสตร์กายภาพที่หลากหลาย ในพื้นที่ทามจะเกิดน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก สำหรับชุมชนลุ่มน้ำซีในอดีตนั้น ภาวะน้ำท่วม ถือว่าเป็นปกติวิสัยและเป็นเรื่องธรรมชาติ ซึ่งคนในชุมชนจะต้องปรับวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ แม่น้ำชีมีความสำคัญต่อการผลิตของชุมชน ความอุดมสมบูรณ์ของดินในพื้นที่นาทามทำให้ทำนาได้ผลดี และพื้นที่ริมชี กุด หนองน้ำต่างๆ ก็ใช้เป็นสถานที่เลี้ยงสัตว์ เป็นแหล่งอาหารและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนสืบเนื่องตลอดมา เป็นการออมของชุมชนในระยะยาว ชุมชนลำน้ำซีมีวิถีชีวิตแบบ “เฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน” และเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากธรรมชาติเป็นหลัก
การกำหนดนโยบายของรัฐจากโครงการโขง – ชี – มูลเดิมถือว่า เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ของรัฐที่สร้างเขื่อนบนแม่น้ำชี 6 เขื่อน คือ เขื่อนชนบท เขื่อนคุยเชือก เขื่อนวังยาง เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร – พนมไพร เขื่อนธาตุน้อย แต่เดิมนั้นอยู่ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทาน เมื่อเริ่มแรกชาวบ้านได้รับข้อมูลว่า เป็นการสร้างฝายยาง ในลุ่มน้ำชี แต่เมื่อก่อสร้างเสร็จในปี 2543 กลับเป็นเขื่อนคอนกรีตขนาดใหญ่ มีประตูเปิดปิดทุกเขื่อน การตัดสินใจ ในการพัฒนาโครงการโดยไม่ได้ศึกษาถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศ วิถีชีวิต เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของชุมชน จึงเป็นการทำลายภูมิปัญญาและองค์ความรู้ในการจัดการน้ำแบบดั้งเดิมของคนในพื้นที่ไป ทั้งยังส่งผลให้เกิดปัญหาตามมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ในช่วงฤดูแล้งเขื่อนที่อยู่ลุ่มน้ำชีแต่ละตัวไม่ระบายน้ำออก พอเข้าช่วงฤดูฝนเขื่อนก็ไม่สามารถรองรับน้ำได้ จำเป็นต้องเร่งระบายน้ำออก จึงส่งผลกระทบกับพื้นที่ทำการเกษตรเป็นอย่างมากโดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วม
สถานการณ์น้ำท่วม 2 ฝั่ง แม่น้ำชีตอนกลาง ในพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดยโสธร เป็นปัญหาต่อเนื่องมานับ 10 ปี ตั้งแต่สร้างเขื่อนเสร็จ เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นลักษณะแอ่งกระทะ หรือที่ลุ่มน้ำท่วมถึงในช่วงฤดูน้ำหลาก จากอดีตที่เคยท่วมเพียง 1 – 15 วัน ต้นข้าวจึงไม่เสียหาย ชาวบ้านเรียกว่า “น้ำสระหัวข้าว” แต่ภายหลังการสร้างเขื่อนก็เกิดปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ทำการเกษตรนาน 1-3 เดือน ข้าวต้องจมอยู่ใต้น้ำเน่าเสียหายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในชุมชน ดังนี้
1. ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ทำกินและชุมชน การสร้างเขื่อนเป็นอุปสรรคต่อการไหลเวียนของน้ำ เกิดน้ำท่วมขัง เดิมน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากขึ้นช้าลงเร็ว ท่วมนานที่สุดไม่เกิน 10-15 วัน ไม่ทำให้ข้าวเสียหาย แต่จะเป็นตัวเร่งให้ข้าวเจริญเติบโต เพราะมีสารอาหารพัดพามากับน้ำและตกตะกอนในที่นาหลังน้ำลด ปัจจุบันน้ำท่วมขังนานกว่า 1 – 3 เดือน ทำให้ต้นข้าวเน่าเสียหาย รวมถึงชาวบ้านต้องสูญเสียพื้นที่ทำกินจากการที่ถูกน้ำท่วมตลอด 10 ปี นั่นย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการดำรงวิถีชีวิต และยังมีไมยราพยักษ์ พืชพันธุ์ใหม่เข้ามาแพร่ระบาดในพื้นที่ ถือว่าเป็นพืชที่อันตรายต่อพืชท้องถิ่น โดยไปขยายพันธุ์ปกคลุมทดแทนพืชในป่าทาม อีกทั้งยังทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ เช่น การสูญเสียพันธุ์ปลา
2. การเปลี่ยนแปลงวิถีชุมชน ในฤดูฝน ชาวบ้านเคยทำนาทาม ในปีที่น้ำหลากมากจะทำนาแซงตามที่ดอน โดยสูบน้ำเอาตามหนอง กุด แหล่งน้ำต่างๆ จะทำแค่พอยังชีพ ในฤดูหนาว จะมีการปลูกผักสวนครัวที่ริมฝั่งชี ตามพื้นที่ทามที่ใกล้แหล่งน้ำ และสามารถหากินตามพื้นที่ริมชีและพื้นที่ป่าทาม เช่น เก็บเห็ด เก็บหน่อไม้ หามันแซง แหย่ไข่มดแดง หาฟืน รวมทั้งเครื่องมือหาปลา ชาวบ้านจะหาปลาทั้งในลำน้ำซีและตามพื้นที่กุดและหนองน้ำ ปลาที่เหลือจากการทำอาหารก็สามารถนำไปแลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่น เช่น แลกข้าวกับเครือข่ายพันธมิตรที่อยู่พื้นที่นาดอน ส่วนนอกฤดูทำนา ชาวบ้านจะอพยพไปทำงานนอกพื้นที่ ซึ่งเป็นการอพยพแรงงานชั่วคราวนอกฤดูผลิตเท่านั้น จะเห็นได้ว่า ชุมชนสามารถที่จะกำหนดการดำเนินชีวิตของตนได้ ด้วยว่ามีปัจจัยแห่งการดำรงชีวิตอยู่เพียงพอ สามารถรู้ว่า ช่วงเวลาในแต่ละช่วงจะต้องทำอะไรบ้าง แต่สถานการณ์ปัจจุบัน ชาวบ้านจะอพยพแรงงานแบบถาวร จะกลับพื้นที่ก็แต่ในช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น ปีใหม่ และสงกรานต์ เท่านั้น และไม่สามารถเป็นเจ้าของปัจจัยการดำรงชีวิต เพราะขึ้นกับภายนอกเป็นผู้กำหนด เช่น นายจ้างหรือคนอื่นๆ เป็นต้น
3. ปัญหาหนี้สิน เมื่อพืชผลทางการเกษตรเสียหายจากที่น้ำท่วม ชาวบ้านจึงไม่มีรายได้ในการดำรงชีวิต เพราะไม่สามารถเก็บผลผลิตได้ และภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้นติดต่อกันถึง 10 ปี ทำให้ชาวนาต้องขาดทุน และก่อปัญหาหนี้สินในที่สุด เมื่อไม่มีเงินใช้หนี้ก็ต้องอพยพไปทำงานในเมือง และเขตอุตสาหกรรมในภูมิภาคต่างๆ เป็นปัญหาสังคมในชุมชนตามมา
4. การลดลงของสัตว์เลี้ยง จำนวนสัตว์เลี้ยงลดลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะ วัว ควาย เพราะการที่น้ำท่วมขังอย่างยาวนานทำให้พื้นที่ที่ชาวบ้านเคยใช้เลี้ยงสัตว์ลดน้อยลง จนชาวบ้านหลายพื้นที่ไม่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้ การเลี้ยงสัตว์ที่ถือเป็นการออมเงินของชาวบ้านภาคอีสานทางหนึ่งก็หมดสิ้นลง
5. วัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงไป ภาวะน้ำท่วมขังไม่ได้ทำให้ต้นข้าวเน่าตายเท่านั้น แม้แต่ประเพณี วัฒนธรรมก็ต้องพลอยได้รับผลกระทบด้วย ประเพณีที่สำคัญของผู้คนที่มีเชื้อสายลาวนั้น ใน 1 ปีมีอยู่ถึง 12 เดือน หรือ “ฮีต 12 คอง 14” เพื่อให้ชาวบ้านได้มีกิจกรรมร่วมกัน สร้างความสามัคคีในชุมชน แต่เมื่อน้ำท่วมขังนาน ประเพณีบางอย่างจึงต้องถูกยกเลิก และบางอย่างต้องเลื่อนระยะเวลาออกไป เช่น บุญกุ้มข้าวใหญ่ ซึ่งเป็นฮีตที่ 2 ต้องถูกยกเลิกไป เพราะข้าว อันเป็นปัจจัยสำคัญในการทำบุญในฮีตนี้ถูกน้ำท่วมเน่าตายไปจนหมด ชาวบ้านจึงไม่มีข้าวทำบุญ
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้กระทบต่อโครงสร้างของชุมชนโดยตรง เมื่อโครงสร้างของชุมชนถูกทำลาย การล่มสลายจึงเกิดขึ้นกับชุมชนในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิตและวัฒนธรรม ซึ่งตัวชี้วัดของความเปลี่ยนแปลงที่เห็นเป็นรูปธรรมและง่ายต่อความเข้าใจ คือ สภาวะน้ำท่วมที่ผิดแผกไปจากอดีตที่เคยมีเคยเป็น ภาวะน้ำท่วมอันเนื่องมาจากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำของรัฐแตกต่างจากการท่วมที่เป็นไปตามกลไกธรรมชาติอย่างในอดีตโดยสิ้นเชิง น้ำหลากที่เกิดจากธรรมชาติ ชาวลุ่มน้ำสามารถปรับตัวให้สอดคล้องอยู่ได้ สามารถคาดคะเนหรือคาดการณ์การมาของน้ำจนถึงขั้น “จับชีพจรน้ำ” ได้ แต่ภาวะน้ำท่วมอันเป็นผลมาจากโครงการพัฒนาของรัฐเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ชาวบ้านมิอาจปรับตัวให้กลมกลืนหรือยังชีพอย่างปกติสุขได้
การลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ์ของเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างจังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร เป็นอีกปรากฏการณ์เพื่ออยากให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอ คือ 1.ให้เยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพรและเขื่อนธาตุน้อย 2.ให้ดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูวิถีชีวิต อาชีพ เศรษฐกิจและระบบนิเวศ ซึ่งเป็นข้อเรียกเรียกของเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างมาตั้งแต่ปี 2552 เป็นระยะเวลา 12 ปีแล้ว จากข้อเรียกร้องทำให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการสร้างฝายร้อยเอ็ด ฝายยโสธร-พนมไพรและฝายธาตุน้อย ขึ้นมา และแต่งตั้งอนุกรรมการแก้ไขปัญหาขึ้นมาอีก 4 ชุด ประกอบด้วย 1.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด 2.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการเขื่อนยโสธร-พนมไพร จังหวัดยโสธร 3.แต่งตั้งอนุกรรมการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและด้านสังคมจากโครงการเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และฝายธาตุน้อย 4.แต่งตั้งอนุกรรมการศึกษาหลักเกณ์เพื่อกำหนดกรอบและแนวทางการชดเชยความเสียหายหรือเยียวยาให้กับราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนร้อยเอ็ด โครงการเขื่อนยโสธร-พนมไพร และโครงการเขื่อนธาตุน้อย ซึ่งที่ผ่านมาการดำเนินการของคณะอนุกรรมการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและด้านสังคมจากโครงการฝายร้อยเอ็ด ฝายยโสธร-พนมไพร และฝายธาตุน้อย หรือ (Post EIA) ได้ดำเนินการศึกษาแล้วภายใต้กรอบระยะเวลา 300 วัน เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมานั้น และได้มีข้อสรุปชัดเจนดังนี้คือ 1.สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีเขื่อนและโครงสร้างของเขื่อนกีดขวางเส้นทางน้ำ 2.เกิดจากการบริหารจัดการน้ำ 3.ลักษณะทางภูมิศาสตร์ เป็นต้น กระบวนการแก้ไขปัญหาจะต้องดำเนินการแก้ไขตามข้อเสนอข้อเรียกร้องของเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง
แถลงการณ์ยังระบุอีกว่า ผลการศึกษาภายหลังการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร เขื่อนธาตุน้อย ลุ่มน้ำชี ภายใต้โครงการโครงการโขง ชี มูล ได้ดำเนินการเสร็จแล้วและสรุปชัดเจนว่า สาเหตุของปัญหา 1.เขื่อนก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากและท่วมพื้นที่การเกษตรของพื่น้องกินระยะเวลายาวนาน 2.ปัญหาโครงสร้างของเขื่อน 3.การบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาด 4.การกำหนดนโยบายที่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่มีส่วนร่วม
“เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมหลังจากมีกระบวนการะบวนการตรวจสอบพื้นที่และประชุมคณะทำงานระดับอำเภอทั้ง 5 อำเภอแล้ว ทางเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีจึงเสนอให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดดำเนินการกำหนดวันประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาจากการสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ดอย่างเร่งด่วน เพื่อชดเชยเยียวยาให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ”
หลังจากอ่านแถลงการณ์เสร็จเป็นที่เรียบร้อยจึงได้ประกาศยุติการชุมนุมเมื่อเวลา 11.20 น. พร้อมทั้งมีการประกาศว่า หากไม่เป็นไปตามสัญญาจะยกระดับการชุมนุมขึ้นอีก