บริษัทรับเหมาก่อสร้างกำลังรื้อบ้านตามริมรางรถไฟบริเวณถนนเลียบนคร จ.นครราชสีมา เพื่อวางเสาไฟฟ้าของโครงการรถไฟความเร็วสูง เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565
ภายในปี 2579 ประเทศไทยจะมีรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูงระยะทางกว่า 4 พันกิโลเมตร แต่ก็ต้องแลกกับการไล่รื้อชุมชนริมทางรถไฟทั้งหมด 338 ชุมชน หรือจะมีผู้เดือนร้อนเกือบ 5 หมื่นครัวเรือน ใน 36 จังหวัด โดยเฉพาะชุมชนแออัดริมรางรถไฟ จังหวัดนครราชสีมา ที่เริ่มถูกบริษัทรับเหมาก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-หนองคาย เข้าไล่รื้อตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว ทั้งที่อยู่ในช่วงการระบาดของโควิด
แม้นวาด กุญชร ณ อยุธยา เรื่องและภาพ
ช่วงระหว่างปี 2530-2541 ชุมชนแออัดในเมืองจำนวนมากประสบปัญหาถูกไล่รื้อ เนื่องจากความต้องการใช้ที่ดินในเมืองพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัว ชุมชนแออัดที่ถูกไล่รื้อได้รับความช่วยเหลือจากการเคหะแห่งชาติที่ซื้อที่ดินเปล่ามาพัฒนา แล้วจัดผังแบ่งแปลงให้ชุมชนมาผ่อนซื้อที่ดินกับการเคหะฯ และต้องกู้เงินเพื่อปลูกบ้านด้วยตัวเอง ข้อถกเถียงในขณะนั้นคือ การดำเนินการของการเคหะฯ ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนจนเมืองและมีความล่าช้าไม่ทันกับสถานการณ์ไล่รื้อที่ลุกลามอย่างกว้างขวาง
กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานกับชุมชนแออัดในเวลานั้นจึงเรียกร้องให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ เพื่อนำเงินมาซื้อที่ดินตามที่ชาวบ้านต้องการ ทำให้เกิดเป็นโครงการสำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง (พชม.) ภายใต้การเคหะแห่งชาติ เมื่อปี 2535 ก่อนที่จะแยกตัวออกมาเป็น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) (องค์การมหาชน) ภายใต้สังกัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในปัจจุบัน แนวทางหลักในการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดที่ถูกไล่รื้อหลังจากนั้น คือส่งเสริมให้ชาวบ้านตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อใช้แทนหลักฐานหรือหลักทรัพย์ในการกู้ยืมเงินจาก พชม. หรือ พอช. นำไปซื้อที่ดินรองรับ
ทว่าชาวชุมชนแออัดในเมืองก็ไม่สามารถเลือกซื้อที่ดินในเมืองตามความต้องการของตัวเองได้ เพราะที่ดินมีราคาแพงเกินกว่าชาวบ้านจะซื้อไหว การเลือกซื้อที่ดินจึงมีเงื่อนไขตามความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ของชุมชน นั่นก็คือที่ดินที่อยู่ในเขตชานเมือง เพราะมีราคาถูก จึงเกิดปัญหาที่ตามมา คือที่ดินชานเมืองอยู่ห่างไกลจากแหล่งอาชีพของคนในชุมชนแออัด ซึ่งเป็นทั้งแรงงานและผู้ประกอบการรายย่อยในเมือง ชาวบ้านจึงไม่สมัครใจย้ายไปอยู่ชุมชนใหม่ชานเมือง แม้แต่ผู้ที่ถูกไล่รื้อยังสละสิทธิในโครงการชุมชนใหม่ แล้วกลับมาหาที่ดินว่างเปล่าในเมืองแปลงใหม่เพื่ออยู่อาศัยเช่นเดิม
สภาพชุมชนริมทางรถไฟ จ.นครราชสีมา
เมื่อปี 2543 มีการสำรวจข้อมูลชุมชนแออัด ชุมชนบุกรุกและชุมชนรายได้น้อย ในเมืองทั่วประเทศ รัฐบาลพบว่า มีชุมชนดังกล่าว 5,500 ชุมชน 1,500,000 ครัวเรือน มีจำนวนประชากร 6,750,000 คน และในปีนั้นเกิดความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของชุมชนคนจนเมืองที่อยู่อาศัยบนที่การรถไฟแห่งประเทศไทย 61 ชุมชน และเครือข่ายสลัม 4 ภาคที่รวมตัวกันหน้ากระทรวงคมนาคมในการขอเช่าที่ดินจากการรถไฟฯ แรงกดดันจากการชุมนุมทำให้คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทยมีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2543 เห็นชอบข้อตกลงที่กระทรวงคมนาคมมีกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค รวม 4 ข้อ ดังนี้
1.กรณีชุมชนที่อาศัยในพื้นที่การรถไฟฯ ในบริเวณที่ห่างจากรางรถไฟเกิน 40 เมตร และที่ดินที่การรถไฟฯ เลิกใช้ในกิจการเดินรถและยังไม่อยู่ในแผนแม่บทที่จะใช้ประโยชน์ให้ชุมชนได้ทำสัญญาเช่า เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยระยะยาว 30 ปี โดยให้การรถไฟฯ และชาวชุมชนร่วมกันจัดผังการใช้ประโยชน์ที่ดินก่อนจะมีการทำสัญญาเช่า
2.กรณีชุมชนอาศัยอยู่ในพื้นที่ริมทางรถไฟในรัศมี 40 เมตร จากศูนย์กลางรางรถไฟ ให้ชุมชนได้ทำสัญญาเช่าเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ระยะเวลาครั้งละ 3 ปี เมื่อครบสัญญาเช่าให้ต่อสัญญาได้อีกครั้งละ 3 ปี จนกว่าการรถไฟฯ จะมีโครงการใช้พื้นที่เพื่อประโยชน์ในการเดินรถ ซึ่งผ่านความเห็นชอบคณะรัฐมนตรีหรือมีแผนดำเนินการที่ชัดเจนแล้วจึงไม่ต่อสัญญา และการรถไฟฯ จะหาที่รองรับที่ห่างจากเดิมภายในรัศมี 5 กิโลเมตร ในระหว่างการเช่า การรถไฟฯ จะอนุญาตให้หน่วยงานเข้ามาบริการและพัฒนาชุมชนได้ เช่นการไฟฟ้าและการประปาสามารถปักเสาพาดสายและวางท่อเข้าชุมชนได้ ให้การเคหะแห่งชาติหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวกับการพัฒนาชุมชนเข้าปรับปรุงชุมชนได้ ทั้งนี้ชุมชนต้องร่วมมือกับการรถไฟฯ ในการจัดการพื้นที่ให้อยู่ในสภาพที่เรียบร้อย
3.กรณีชุมชนที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่การรถไฟฯ ซึ่งมีรัศมี 20 เมตร ถ้าการรถไฟฯ เห็นว่าไม่เหมาะสมในการใช้เป็นที่อยู่อาศัยระยะยาว ให้การรถไฟฯ จัดหาที่รองรับให้เช่าภายในรัศมี 5 กิโลเมตรจากที่อยู่อาศัยเดิม โดยมีคณะกรรมการร่วมดำเนินการจัดหาพื้นที่รองรับ
4.ให้ตัวแทน ‘เครือข่ายสลัม 4 ภาค’ มีส่วนร่วมกับการรถไฟฯ ในการยกร่างสัญญาเช่าที่ดินและพิจารณากำหนดอัตราค่าเช่าที่เหมาะสมและเป็นธรรม’
ต่อมารัฐบาลมีนโยบายแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชุมชนบุกรุกให้มีที่อยู่อาศัยมั่นคง ภายใต้โครงการบ้านมั่นคง เมื่อปี 2546 เพื่อพัฒนาความมั่นคงในการอยู่อาศัยในชุมชนแออัด และให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยมอบหมายให้ พอช. ร่วมกับขบวนองค์กรชุมชนขับเคลื่อนโครงการบ้านมั่นคงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดย พอช. ทำโครงการบ้านมั่นคง โดยใช้แนวคิดเดียวกันของเครือข่ายสลัม 4 ภาค คือ ให้ชาวบ้านปรับปรุงบ้านและมีความมั่นคงด้วยการเช่าที่ดินระยะยาว จนเป็นบรรทัดฐานเดียวกันว่าหน่วยงานที่ให้ชุมชนเช่าที่ดินทำโครงการบ้านมั่นคงต้องเป็นสัญญาเช่า 30 ปี (บุญเลิศ วิเศษปรีชา, 2019)
สภาพความเป็นอยู่ของชุมชนสองข้างทางรถไฟระหว่างน้ำท่วม แม้จะเป็นชุมชนมากว่า 40 ปี แต่ไม่มีไฟฟ้า น้ำประปา และระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน
นโยบายหารายได้แก้ปัญหาหนี้สินของการรถไฟฯ
เป็นที่รับรู้กันมาตลอดว่า การรถไฟฯ ประสบปัญหาขาดทุนมายาวนาน ยอดขาดทุนสะสมตั้งแต่ปี 2550-2560 มีจำนวน 158,606 ล้านบาท และต้องกู้เงินมาดำเนินงานทุกปี ณ วันที่ 30 ก.ย. 2561 มีจำนวนหนี้สินสะสมถึง 104,581 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาหนี้หนี้สินของการรถไฟฯ เมื่อปี 2560 รัฐบาลมีแผนการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย 20 ปี (2560-2579) โดยการขยายและพัฒนาแผนขยายทางรถไฟ รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง รวมระยะทาง 4,077.74 กิโลเมตร และเส้นทางรถไฟที่จะเชื่อมสามสนามบิน โครงข่ายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในทั่วทุกภาค โดยจะมีการพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง (Transit-Oriented Development TOD) 177 เมือง การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (การพัฒนาพื้นที่ย่านสถานี) แต่โครงการเหล่านี้จะผลกระทบต่อชุมชนคนจนเมืองที่ปัจจุบันอยู่อาศัยบนที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย 338 ชุมชน มีประชากร 43,209 ครัวเรือน ในพื้นที่ 36 จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ยากจน มีรายได้น้อย เป็นกลุ่มคนเปราะบาง ไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย และมีความเสี่ยงจะถูกไล่รื้อโดยรัฐบาลไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการรองรับผู้ได้รับผลกระทบ เช่นเดียวกับ ชุมชนแออัดริมรางรถไฟในเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ที่เริ่มถูกบริษัทรับเหมาก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-หนองคาย เข้าพื้นที่ไล่รื้อชุมชนมาตั้งแต่ต้นปี 2564 ในสถานการณ์ที่ชุมชนกำลังเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 อย่างยากลำบาก
ชุมชนแออัดริมรางรถไฟในเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ไม่ต่างจากชุมชนคนจนเมืองที่ดำรงวิถีชีวิตอยู่ทั่วไปในเมืองทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เป็นชุมชนดั้งเดิมที่เข้ามาบุกเบิกแผ้วถางที่ดินรกร้างว่างเปล่าบริเวณริมรางรถไฟเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย และสร้างโอกาสในการทำมาหากิน อยู่ในเมืองมายาวนานกว่า 60 ปี โดยชุมชนไม่มีระบบสาธารณูปโภคที่ดี และไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยตามกลไกตลาด เนื่องจากส่วนมากเคลื่อนย้ายมาจากชุมชนในชนบท ขาดโอกาสทางการศึกษา ประสบกับปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ มีรายได้ต่ำ ไม่มีงานที่มั่นคง เป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่มีระบบประกันสังคมรองรับ นอกจากนี้ยังต้องเผชิญหน้ากับปัญหาการถูกไล่รื้อมาเป็นระยะหลายครั้ง เนื่องจากการรถไฟแห่งประเทศไทยไม่มีนโยบายเปิดให้ประชาชนเช่าที่ดินของการรถไฟฯ เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย การขอเช่าที่ดินของชุมชนในระยะเวลาที่ผ่านมาจึงล้มเหลวมาโดยตลอด
หากย้อนกลับไปในช่วงหลังปี 2540 เมื่อการรถไฟฯ เริ่มดำเนินนโยบายนำที่ดินของการรถไฟฯ ในย่านเมืองเปิดประมูลให้เอกชนเช่าเพื่อชดเชยการขาดทุนของการรถไฟฯ แทบทุกชุมชนในเขตเมืองได้รวมตัวกันอย่างหลวมๆ พยายามเรียกร้องขอเช่าที่ดินจากการรถไฟฯ เนื่องจากต้องการมีที่อยู่อาศัยหรือแหล่งทำมาหากินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่การรถไฟฯ ได้นำที่ดินออกประมูลให้เฉพาะเอกชนได้เช่าเท่านั้น ส่วนชุมชนทั้งหมดในจังหวัดนครราชสีมาถูกกีดกันไม่มีสิทธิได้เช่าที่ดินกับการรถไฟฯ ทำให้ตกอยู่ในสถานะผู้บุกรุกต่อไป และกลายเป็นชุมชนเปราะบาง ที่อยู่อาศัยไม่มีความมั่นคง ยากจน ไม่มีทะเบียนบ้าน ขาดโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ตกขอบจากสิทธิ สวัสดิการและบริการของรัฐในด้านต่างๆ ที่ควรได้รับตามสมควร เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา ถนนสัญจร ร่องระบายน้ำ ในขณะที่ทำเลที่ดินรถไฟในเมืองส่วนใหญ่ถูกเช่าระยะยาวในราคาถูกโดยเอกชนและมีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างหลายรูปแบบเพื่อนำมาให้คนจนหรือผู้มีรายได้น้อยในเมืองเช่าช่วงต่อ
สมาชิกเครือข่ายริมรางเมืองย่าโมเรียกร้องให้มติบอร์ดรถไฟปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของพีมูฟ
การพัฒนาที่ดินของการรถไฟฯ ที่ผ่านมา จึงลำเอียงมุ่งเน้นแต่ผลประโยชน์จากการแปลงพื้นที่ของเมืองเป็นสินค้า โดยละเลยชีวิตและสิทธิของคนจนเมืองหรือผู้มีรายได้น้อยที่ควรได้รับโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจในระดับครัวเรือนอย่างเสมอภาคและเป็นธรรมในพื้นที่เมือง
มาถึงปัจจุบันการรถไฟฯ มีโครงการพัฒนาระบบรางไปทั่วประเทศ และมีนโยบายที่จะนำที่ดินของการรถไฟฯ เปิดประมูลระลอกใหญ่อีกครั้ง โดยเริ่มไล่รื้อชุมชนในเขตนอกเมืองตามเส้นทางก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพ-หนองคาย และโครงการรถไฟรางคู่ สายตะวันออกเฉียงเหนือ ออกไปจนเกือบหมดแล้ว ชุมชนเปราะบางในเมืองโคราช รวม 1 กลุ่ม 7 ชุมชน ที่กำลังจะถูกไล่รื้อ จึงรวมตัวกันจัดตั้ง “เครือข่ายริมรางเมืองย่าโม” ขึ้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 เพื่อสร้างพลังในการเจรจาต่อรองขอเช่าที่ดินอยู่อาศัยรองรับผู้ได้รับผลกระทบจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ดำเนินงานในการติดตามและเร่งรัดให้การรถไฟฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยให้กับชุมชนสมาชิกในเครือข่ายที่ได้รับผลกระทบ
สมาชิกเครือข่ายริมรางเมืองย่าโม 1 กลุ่ม 7 ชุมชน ได้แก่ 1. กลุ่มถนนเลียบนคร 2. ชุมชนประสพสุข 3. ชุมชนสองข้างทางรถไฟ 4. ชุมชนหลังจวนผู้ว่าฯ 5. ชุมชนราชนิกูล 1 6. ชุมชนราชนิกูล 3 7. ชุมชนเบญจรงค์ 8. ชุมชนทุ่งสว่าง – ศาลาลอย รวม 166 ครัวเรือน มีสมาชิกรวม 544 คน มีประเด็นปัญหาร่วมที่เป็นเงื่อนไขในการยึดโยงสมาชิกที่สำคัญคือ ปัญหาที่อยู่อาศัย และได้จัดทำข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาถูกไล่รื้อที่อยู่อาศัยเข้าสู่กลไก คณะทำงานพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนที่อยู่ในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย มีผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นประธาน และ คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน โดยใช้แนวทางของเครือข่ายสลัม 4 ภาค และชุมชน 61 ชุมชน ตาม มติคณะกรรมการการรถไฟฯ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2543
ปัจจุบันการขับเคลื่อนกระบวนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้ได้รับผลกระทบ 166 ครัวเรือน ของเครือข่ายฯ อยู่ในขั้นตอนการขอทำสัญญาเช่าที่ดินแปลงใหม่กับการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณแปลงที่ดินหน้าโรงเรียนบ้านพะไล ตำบลหัวทะเล อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ห่างจากชุมชนเดิมประมาณ 8-10 กิโลเมตร พื้นที่ประมาณ 7 ไร่ เป็นพื้นที่ท้องช้าง อัตราค่าเช่าตารางเมตรละ 23 บาท/ปี (อัตราก้าวหน้าปีละ 1%) สัญญาเช่า 30 ปี โดยการประชุม คณะทำงานพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนที่อยู่ในที่ดินของการรถไฟฯ มีมติเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2564 และมติวันที่ 2 ธันวาคม 2564 ให้นำเรื่องการเช่าที่ดินแปลงพะไลเข้าสู่การประชุมของคณะกรรมการการรถไฟฯ (บอร์ดรถไฟ) เพื่ออนุมัติให้มีการทำสัญญาเช่า และเข้าดำเนินโครงการบ้านมั่นคงเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย 166 หลังคาเรือน ภายในเดือนมีนาคม 2565
สำหรับโครงการบ้านมั่นคงเครือข่ายริมรางเมืองย่าโม พอช. ได้อนุมัติให้การสนับสนุนโครงการฯ ในช่วงเดือนตุลาคม 2564 ด้วยงบประมาณ 12.823 ล้านบาท แบ่งหมวดเป็นงบประมาณสนับสนุนด้านการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในชุมชน ครัวเรือนละ 45,000 บาท และ งบสนับสนุนก่อสร้างที่อยู่อาศัย ครัวเรือนละ 30,000 บาท รวมครัวเรือนละ 75,000 บาท แปลงที่ดินสามารถแบ่งแปลงให้ 166 ครัวเรือนได้แปลงละ 5X9 เมตร/1 ครัวเรือน
ความเข้มแข็งในการรวมกลุ่มขับเคลื่อนกันอย่างแข็งขันของสมาชิกเครือข่ายริมรางเมืองย่าโม ทำให้แนวทางการแก้ปัญหาไล่รื้อชุมชนริมรางรถไฟ จังหวัดนครราชสีมา ที่มีกระบวนการขับเคลื่อนด้วยหลักการ “เปลี่ยนการไล่รื้อเป็นจัดหาที่อยู่อาศัยมั่นคง” มาเป็นเวลาประมาณ 9 เดือน กลายเป็นหนึ่งในตัวอย่างพื้นที่นำร่องของชุมชน 8 จังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และชุมชนริมรางทั่วประเทศที่กำลังได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาระบบรางและโครงการพัฒนาที่ดินของการรถไฟฯ ในขณะนี้เช่นกัน
ทว่าด้วยงบประมาณสนับสนุนจากโครงการบ้านมั่นคงในการก่อตั้งที่อยู่อาศัยใหม่ รวมครัวเรือนละ 75,000 บาท ไม่เพียงพอสำหรับชุมชนเปราะบาง 166 ครัวเรือน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างหนักมาต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบ 2 ปี และจะต้องย้ายที่อยู่อาศัยจากที่เดิมไปสร้างชุมชนยังที่ดินแปลงใหม่ ทำให้ 147 ครัวเรือน ต้องเตรียมความพร้อมที่จะต้องยอมรับภาระหนี้ในการกู้เงินมาเพิ่มเพื่อสร้างบ้านผ่านระบบสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของ พอช. เป็นยอดเงินที่จะต้องกู้ตั้งแต่ 20,000-300,000 บาท/ครัวเรือน ขณะที่ 19 ครัวเรือน ไม่มีรายได้พอจะกู้เงินเพิ่มมาสร้างบ้านได้ (สินเชื่อวงเงินไม่เกิน 300,000 บาท ดอกเบี้ยคงที่ 4%/ปี เงื่อนไข ผู้กู้ต้องมีเงินในบัญชีออมทรัพย์ 10% ของยอดเงินที่จะกู้)
ทั้งนี้จากการสำรวจข้อมูลพื้นฐานครัวเรือนและรายได้ของสมาชิกเครือข่ายฯ 166 ครัวเรือน 544 คน ซึ่งเป็นคนจนเมืองและมีรายได้น้อย ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง เก็บของเก่า และค้าขาย แทบทั้งหมดเป็นแรงงานนอกระบบในเมือง มีเศรษฐกิจนอกระบบที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย อีกทั้งยังมีกลุ่มเปราะบางทางสังคม ได้แก่ ผู้สูงอายุ 116 คน ผู้พิการ 18 คน ป่วยเรื้อรังและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ 34 คน พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว 9 คน เด็กกำพร้า 5 คน รวม 182 คน โดยในช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 รายได้โดยเฉลี่ย 166 ครัวเรือนมีไม่ถึง 120,000 บาท/ปี รวมถึงมีสามชุมชน ได้แก่ ชุมชนประสพสุข ชุมชนสองข้างทางรถไฟ ชุมชนหลังจวน ไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้ มีครัวเรือนบางหลังเท่านั้นที่ต่อไฟพ่วงมาจากบ้านอื่น ทำให้เสียค่าน้ำ-ไฟแพงกว่าราคาตามปกติมากกว่า 3 เท่า
เครือข่ายริมรางเมืองย่าโม จ.นครราชสีมา เข้าร่วมการชุมนุมกับเครือข่ายริมรางจังหวัดอื่นๆ และพีมูฟที่หน้าทำเนียบ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565
มาในช่วงการระบาดของโควิด-19 ครัวเรือนที่สมาชิกมีอาชีพรับจ้างประมาณ 70 ครัวเรือน ตกงาน ครัวเรือนที่มีอาชีพค้าขายและเก็บของเก่ารายได้ลดลงไม่น้อยกว่า 40-50% ครัวเรือนจำนวนมากมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น และครัวเรือนจำนวนมากอาศัยประทังชีวิตด้วยของและอาหารบริจาค แต่แรงบีบคั้นทางเศรษฐกิจในช่วงการรระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ก็ยังไม่เท่ากับปัญหาหนักหน่วงซ้ำซ้อนที่ทุกคนจะต้องย้ายที่อยู่อาศัยไปสร้างบ้านทั้งหลังบนที่ดินใหม่ที่ห่างไกลจากทำเลเดิมราว 8-10 กิโลเมตร ซึ่งอาจทำให้อาชีพ รายได้ หรือเศรษฐกิจในครัวเรือนหยุดชะงักต่อเนื่องไปอีกนานนับปี
“ชุมชนจัดการตนเอง” แนวทางการพัฒนาของชุมชนริมราง
คำถามใหญ่ของเครือข่ายฯ คือ การเปลี่ยนแปลงชีวิตครั้งใหญ่ในครั้งนี้ จะทำอย่างไรให้รายได้หรือเศรษฐกิจในครัวเรือนสามารถเดินหน้าได้ สมาชิกในชุมชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นกว่าเดิม โดยคนจนเมืองต้องร่วมกันคิดเองทำเองและยืนได้เองอย่างมีศักดิ์ศรีและมั่งคง เพื่อไม่ให้การย้ายชุมชนประสพปัญหาเหมือนในอดีตที่มักถูกหน่วยงานรัฐเรียกว่า “ย้ายสลัมจากที่หนึ่งไปไว้อีกที่หนึ่ง” รวมถึงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่สมาชิกในชุมชนไม่สามารถจ่ายค่าเช่าที่ดินการรถไฟฯ ได้ และ/หรือไม่สามารถส่งหนี้เงินกู้ในการสร้างบ้านให้กับ พอช.ได้ ทำให้เกิดวงจรการขายสิทธิที่อยู่อาศัย หรือชุมชนหลายชุมชนต้องอพยพกลับมาบุกรุกที่ดินสาธารณะเช่นเดิมอย่างที่หลายชุมชนประสบมา
การขับเคลื่อนของเครือข่ายฯ ที่มีสมาชิกเป็นชุมชนเปราะบาง ซึ่งในอดีตเป็นกลุ่มคนจนเมือง คนตกขอบการพัฒนา เข้าไม่ถึงสิทธิ ไม่มีอำนาจต่อรองในด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง แต่ในวันนี้มีความพร้อมและความพยายามที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างสรรค์วิถีชีวิตใหม่ โดยหวังว่าจะนํามาซึ่งการเปลี่ยนแปลงสังคมที่เป็นธรรม แต่ความหวังและความพยายามในครั้งนี้จะนําไปสู่การสร้างหน่วยพื้นที่เล็กๆ ที่สะท้อนรูปธรรมของสังคมที่เป็นธรรมได้หรือไม่ การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจะทำได้มากน้อยเพียงใด ด้านใดบ้าง และมีกระบวนการอย่างไร จึงเป็นความท้าทายอย่างมาก เพราะเป็นกระบวนการเรียนรู้ใหม่ของชุมชนเปราะบาง ซึ่งเป็นคนจนเมืองที่ดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางปัญหาที่สลับซับซ้อนหลายมิติมาอย่างยาวนาน
สำหรับการโยกย้ายที่อยู่อาศัยของชุมชนเปราะบาง 166 ครัวเรือนไปยังที่ดินแปลงใหม่ ในมิติของการสร้างชุมชนใหม่ การบริหารจัดการชุมชนใหม่ และการพัฒนาชุมชนที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีหน้านี้ งานวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม การพัฒนาศักยภาพของชุมชนเปราะบางบนที่การรถไฟแห่งประเทศไทยในการจัดการตนเอง จึงวางเป้าหมายให้สอดผสานไปกับแผนงานหลักของเครือข่ายฯ 4 แผนงาน โดยมีการดำเนินงานและกิจกรรม ดังนี้
1.แผนงานด้านที่ดิน
– คณะกรรมการเครือข่ายฯ ขอจดทะเบียนจัดตั้งสหกรณ์เพื่อที่อยู่อาศัย เพื่อทำนิติกรรมสัญญาในการเช่าที่ดินกับการรถไฟแห่งประเทศไทย
– จัดตั้งโครงสร้างบริหารงานสหกรณ์ ออกแบบกระบวนการ และวางระบบในการดำเนินงานสหกรณ์
– พัฒนาศักยภาพคณะกรรมการและคณะทำงานในการดำเนินงานสหกรณ์
– สหกรณ์ทำสัญญาเช่าที่ดินกับการรถไฟแห่งประเทศไทยในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2565 (หากจัดตั้งสหกรณ์ไม่ทัน ทำสัญญาเช่าช่วงผ่าน พอช.)
2.แผนงานวางรากฐานจัดตั้งชุมชนใหม่
– จัดตั้งกลไก คณะกรรมการเมือง ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากหน่วยงานระดับจังหวัด เทศบาล พอช. เครือข่ายสลัม 4 ภาค กรรมการเครือข่ายฯ องค์กรที่เกี่ยวข้อง ภาคีต่างๆ และภาคเอกชน เพื่อขับเคลื่อนการรื้อย้ายชุมชนและสร้างชุมชนใหม่
– คณะกรรมการเครือข่ายฯ ร่วมกับ พอช. หน่วยงาน และภาคีที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนผังชุมชน ออกแบบบ้าน และวางระบบการพัฒนาโครงการให้มีอัตลักษณ์และเอกลักษณ์เป็นแลนด์มาร์คในเมืองโคราช แบ่งระยะเวลาการดำเนินโครงการออกเป็น 2 เฟส และการจัดหมวดรายละเอียดงบประมาณ
รายละเอียดการออกแบบผังชุมชน ใช้แนวคิดชุมชนอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม อาคารกลางและไฟสว่างในพื้นที่ส่วนกลางใช้โซล่าเซลล์, ร่องระบายน้ำแบบเปิดเลียบแบบธนาคารน้ำใต้ดิน มีระบบบำบัดน้ำเสียนำกลับมาใช้ใหม่ มีระบบการคัดแยกขยะที่มีประสิทธิภาพและสร้างรายได้
3.แผนงานก่อสร้าง และโครงการบ้านมั่นคง
– จัดโครงสร้าง วางระบบ ออกแบบกระบวนการ และวางแผนงานในการบริหารงานและดำเนินงานโครงการบ้านมั่นคง
– พัฒนาศักยภาพคณะกรรมการโครงการฯ และคณะทำงานฝ่ายต่างๆ ในชุมชนให้สามารถดำเนินงานตามแผนโครงการฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การบริหารจัดการโครงการ การขออนุญาตตามขั้นตอนต่างๆ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ไฟฟ้า ขนดิน ถมดิน ก่อสร้าง เป็นต้น
– พัฒนาศักยภาพช่างชุมชนในเครือข่ายในการดำเนินงานด้านการพัฒนาและก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค อาคารเอนกประสงค์ การก่อสร้างบ้าน 166 หลัง และบ้านกลางสำหรับกลุ่มเปราะบาง 1 หลัง (ทีมแผน ทีมรื้อ ทีมย้าย ทีมสร้าง ทีมตรวจสอบคุณภาพ) เพื่อสร้างขบวนการ “ช่างชุมชน” ที่มีระบบและมาตรฐาน สามารถรับงานในการดำเนินโครงการบ้านมั่นคงได้ทุกกระบวนการและทุกกิจกรรม เพื่อให้งบประมาณโครงการบ้านมั่นคงหมุนเวียนสร้างรายได้ภายในชุมชน และสามารถต่อยอดสู่ธุรกิจ “ช่างเมือง” ต่อไปในอนาคต
– งานพัฒนาและก่อสร้างโครงการบ้านมั่นคง เฟส 1
– งานพัฒนาและก่อสร้างโครงการบ้านมั่นคง เฟส 2
4.แผนงานพัฒนาชุมชน
4.1 จัดตั้งโครงสร้าง วางระบบ และกระบวนการในการบริหารงานชุมชน ด้านการบริหาร ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข ด้านสวัสดิการ ด้านการศึกษาและศิลปวัฒนธรรม ด้านงานซ่อมบำรุง
– พัฒนาศักยภาพของคณะกรรมการชุมชน คณะทำงาน และแกนนำในชุมชน อย่างมืออาชีพและยกระดับเป็นนวัตกรเพื่อให้สามารถบริหารงานชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4.2 สร้างชุมชนต้นแบบในการสร้างเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน
– ศูนย์พัฒนาอาชีพ กลุ่มแปรรูปอาหาร ทำปลาส้ม เครื่องแกง น้ำมันเจียว แหนม ไส้กรอก อบรมพัฒนาอาชีพในลักษณะการจ้างงานสมาชิกในชุมชนมีการก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์ ประกอบด้วย ศูนย์พัฒนาอาชีพ ที่ตั้งสหกรณ์และศูนย์บริการชุมชน เป็นอาคารใช้โซล่าเซลล์ มีกิจกรรมในอาคาร คือ แปรรูปอาหาร, พื้นที่ทำปุ๋ยหมัก, ระบบบำบัดน้ำเสียนำกลับมาใช้ในแปลงผัก ระบบการลงทุนจากสมาชิกในชุมชน เช่น ตู้ซักผ้า ตู้น้ำ สมาชิกลงทุนแบ่งผลกำไรให้ชุมชน และมีบริการชุมชน เช่น อินเตอร์เน็ต จ่ายบิล ถ่ายเอกสาร
– สร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อเศรษฐกิจฐานราก จัดกิจกรรมชุมชน และพื้นที่ส่วนกลางให้เป็นแลนด์มาร์คจังหวัดนครราชสีมา
มีการก่อสร้างศาลาชุมชน/โรงเรียนลิเก-กิจกรรมการแสดงลิเก/ตลาดนัดชุมชน-สตรีทฟู๊ด/ลานกีฬา/จุดเช็คอิน สร้างสวนผักริมราง แปลงผักอินทรีย์
– สร้างตัวแบบเชิงธุรกิจ 3 ตัวแบบ
– สร้างผลิตภัณฑ์ในชุมชนที่สามารถเข้าสู่การแข่งขันในตลาดที่แท้จริง 1 ผลิตภัณฑ์ (ตลาดค้าปลีก ตลาดค้าส่ง ตลาดออนไลน์)
– สร้างนวัตกรชุมชนด้านการพัฒนาอาชีพ
– สร้างระบบเศรษฐกิจฐานรากในชุมชน เพื่อยกระดับรายได้ของกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นสมาชิกชุมชนได้ อย่างน้อย 30%
4.3 สร้างชุมชนนวัตกรรม
– ออกแบบ วางแผน และจัดกระบวนการในการพัฒนาศักยภาพคนจนเมืองในชุมชนเปราะบางให้สามารถขับเคลื่อนการบริหารจัดการชุมชนและการพัฒนาชุมชนที่ต้องย้ายที่อยู่อาศัยใหม่ได้ในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง
– สร้างความเข้มแข็งและยกระดับกลไกคณะกรรมการเมือง เพื่อขับเคลื่อนตัวแบบการพัฒนาพื้นที่ที่มีองค์ประกอบจากความร่วมมือจากทุกฝ่ายเพื่อให้หลุดพ้นจากวงจรการไม่มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงได้อย่างถาวรและเป็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่หยุดชะงักอย่างฉับพลันมาตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 ส่งผลกระทบให้รายได้ของชุมชนเปราะบางหายไปอย่างฉับพลัน ผู้ประกอบการรายย่อยขาดกําลังทุนในการจ้างงาน และประชาชนทั่วไปขาดกําลังซื้อ ปัจจัยภายนอกเหล่านี้ไม่อาจเป็นที่พึ่งของชุมชนเปราะบางได้ดังที่เคยเป็นมา การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระดับชุมชนจึงต้องหันกลับมาสร้างความเข้มแข็งภายใน คือ การสร้างฐานรากให้มั่นคง ด้วยการเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสในการสร้างเศรษฐกิจฐานรากในระดับชุมชนอย่างครบวงจร ควบคู่ไปกับการสร้างคน สร้างชุมชนใหม่ ให้เติบโตอย่างยั่งยืนผ่านการเพิ่มศักยภาพอย่างรอบด้าน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่า การปรับตัวเข้าสู่การตลาดที่หลากหลาย รวมทั้งการพัฒนาการท่องเที่ยวและบริการเชิงสร้างสรรค์ โดยมีการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน ผ่านการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และสนับสนุนกระบวนการผลิตเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนอย่างต่อเนื่อง องค์ความรู้และปัจจัยสำคัญเหล่านี้จะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนเปราะบางได้อย่างยั่งยืน
เครือข่ายริมรางเมืองย่าโม จ.นครราชสีมา เข้าร่วมการชุมนุมกับเครือข่ายริมรางจังหวัดอื่นๆ และพีมูฟที่หน้าทำเนียบ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565
การพัฒนาขีดความสามารถของกลุ่มอาชีพในชุมชนเปราะบางที่ต้องย้ายที่อยู่อาศัยใหม่ 166 ครัวเรือน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ขาดโอกาสทางเศรษฐกิจ กำลังเผชิญกับปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำ เพื่อยกระดับศักยภาพของกลุ่มอาชีพในชุมชนเปราะบาง 6 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอาชีพช่างชุมชน กลุ่มแปรรูปอาหาร กลุ่มคัดแยกขยะ กลุ่มผู้ประกอบการร้านค้า กลุ่มอาชีพลิเก และกลุ่มงานบริการอื่นๆ ให้มีอาชีพ มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะนำไปสู่การไหลเวียนของระบบเศรษฐกิจระหว่างกันเป็นระบบ และเป็นระบบเศรษฐกิจที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาด้านอื่นๆ ในชุมชน เกิดการสร้างอาชีพและการกระจายรายได้ สามารถลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และความไม่เสมอภาคในระดับชุมชน
ทั้งนี้ความสามารถในการยกระดับกลุ่มอาชีพในชุมชนเปราะบางขึ้นเป็นผู้ประกอบการฐานราก ที่จะส่งผลให้การยกระดับศักยภาพและขีดความสามารถของเศรษฐกิจฐานรากบรรลุเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรมได้นั้น จะเกิดขึ้นได้ด้วยองค์ประกอบสำคัญ คือการสร้างองค์ความรู้ ทักษะ และส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างเหมาะสม รวมถึงการพัฒนามาตรฐานและเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์และบริการ การส่งเสริมการเข้าถึงการตลาด การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถของเศรษฐกิจฐานรากที่เหมาะสมกับศักยภาพ ความต้องการ และบริบทของพื้นที่
เครือข่ายริมรางเมืองย่าโมคาดหวังว่า กระบวนการขับเคลื่อนงานอย่างแข็งขันของเครือข่ายฯ จะทำให้ชุมชนคนจนเมืองที่กำลังได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการระบบรางที่มีเป็นจำนวนมากทั่วประเทศ สามารถเรียนรู้แลกเปลี่ยนร่วมกันที่จะนำไปพัฒนาศักยภาพ ปรับปรุง และนำไปสู่การผลักดันทางนโยบายเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนจนเมืองในจังหวัดนครราชสีมา โดยส่งเสริมพัฒนาความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อมภายในชุมชนของคนจนเมืองให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมั่นคง สอดคล้องกับวิถีชีวิต ผ่านการส่งเสริมเศรษฐกิจระดับชุมชนให้มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการแข่งขัน สามารถพึ่งพาตนเองได้ อีกทั้งยังเป็นการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของคนจนเมือง จากเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงของวิกฤตเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงทำเลที่อยู่อาศัยอย่างกระทันหัน ที่สามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาสในการยกระดับมาตรฐานการครองชีพและความเป็นอยู่ของคนจนเมืองให้ดีขึ้นตามแนวทางการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการตนเอง เพื่อให้เศรษฐกิจฐานรากเกิดความเข้มแข็งเชิงโครงสร้าง และส่งผลถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศชาติต่อไปด้วย
มติบอร์ดรถไฟฯ 13 กันยายน 2543 ต้องเป็นมติ ครม.
ล่าสุดกับการขับเคลื่อนร่วมกับเครือข่ายริมรางรถไฟที่กำลังได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาระบบรางทั่วประเทศ ร่วมกับเครือข่ายสลัมสี่ภาค และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ (P-Move) โดยคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ยื่นประเด็นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 15 กรณี
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ครม. ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาในข้อเรียกร้องข้อที่ 4. ตามข้อเสนอของ ขปส. เกี่ยวกับการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยบนที่ดินการรถไฟฯ คือ
1.ให้คณะรัฐมนตรีมีมติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ใช้มติคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2543 มาเป็นนโยบายในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยในที่ดินของ รฟท.ทั่วประเทศ
2.ให้คณะรัฐมนตรีมีมติให้ รฟท. ใช้มติอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม เป็นแนวทางแก้ปัญหาชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่ถูก รฟท. ฟ้องร้องดำเนินคดี ให้สามารถเช่าที่ดินเดิมที่อาศัยอยู่ในลักษณะสัญญาเช่าที่ดินชั่วคราวระยะเวลา 1 ปี ในอัตราค่าเช่า 20 บาทต่อตารางเมตรต่อปี หากไม่สามารถดำเนินการได้โดยเร็ว ให้ รฟท. ไปแถลงต่อศาลเพื่อชะลอการดำเนินคดีระหว่างการดำเนินการทำสัญญาเช่าชั่วคราว กรณีสิ้นสุดแล้วให้ รฟท. จัดหาพื้นที่รองรับใกล้เคียงกับชุมชนระหว่างรอที่อยู่อาศัยแห่งใหม่
3.ให้คณะรัฐมนตรีมีมติให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดำเนินการเสนอโครงการแก้ไขปัญหาประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในระยะต่อไปโดยเร่งด่วน (โดยเทียบเคียงมติ ครม. กรณีการดำเนินโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร ที่ได้รับผลกระทบจาการสร้างเขื่อนริมคลองและการพัฒนาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2559 คือกล่าวคือ มีการ อุดหนุนงบประมาณการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและอุดหนุนที่อยู่อาศัย ครัวเรือนละ 80,000 บาท และงบประมาณช่วยเหลือผู้ได้รับกระทบและเสียโอกาส ครัวเรือนละ 80,000 บาท)
4.มอบหมายให้คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินเกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม ตรวจสอบรายชื่อชุมชนที่อยู่อาศัยในที่ดินของ รฟท. เพิ่มเติมและพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมในการดำเนินการตามข้อเสนอของ ขปส. และมอบหมายให้ รฟท. ไปหารือร่วมกับ ขปส. เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาเป็นรายกรณีไปตามมติคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2543
หมายเหตุ: The Isaan Record ยินดีรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยความคิดเห็นที่แสดงบนเว็บไซต์ The Isaan Record ถือเป็นมุมมองของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการและเครือข่าย