หลังถูกจำคุกในคดีกบฏแบ่งแยกดินแดนมานานกว่า 7 ปี ในที่สุด “วิทิต จันดาวงศ์” ลูกชาย ครูครอง จันดาวงศ์ ก็ได้รับอิสรภาพ แต่ชีวิตหลังเรือนจำก็ทำให้เขามึนงงกับการใช้เสรีภาพอยู่นาน เขาได้เริ่มงานเป็นกรรมกรในอู่ซ่อมรถแห่งหนึ่ง แต่ชีวิตดูยุ่งเหยิงเมื่อถูกชักชวนเป็นแกนนำประท้วงค่าแรง จึงทำให้เขาต้องลาออก
วิทิต จันดาวงศ์ เรื่อง
ถ้าจำไม่ผิด วันนั้นเป็นวันที่ 18 ตุลาคม 2510 ผมออกไปศาลเพื่อคัดสำนวนตามปกติ พอถึงศาลก็ทราบข่าวว่า ศาลจะมีคำสั่งปล่อยตัวจำเลยในคดีดำที่ 26 ก/2506 คือ คดีนายวิทิต จันดาวงศ์ที่ 1 กับพวกที่เหลือจำนวน 13 คน (คนอื่นปล่อยก่อนหน้านี้แล้ว) ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายควบคุมเบิกตัวจำเลยมาศาลในวันที่ 19 ตุลาคม แต่ทางร้อยตำรวจโทสมาน รองหมวดควบคุมสันติบาลกอง 4 พูดกับจ่าศาลทหาร (กลาโหม)ว่า ปล่อยวันนี้ไม่ได้หรือทางเจ้าหน้าที่ศาลตอบว่าได้ ถ้าตำรวจเบิกตัวจำเลยมาทัน
ร้อยตำรวจโทสมานตอบว่า ทันแน่ ทางตำรวจจะไปรับตัวมาก่อนแล้วรับหมายทีหลังเป็นอันว่าตกลง รู้สึกว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมก็ดีเจ้าหน้าที่ศาลก็ดี รวมทั้งเจ้าหน้าที่เรือนจำด้วย เขาต้องการปล่อยเต็มทีแล้ว ในขณะที่ผมเดินขึ้นไปฟังคำสั่งศาลตอนบ่ายแวะเข้าห้องน้ำ เจอกับตุลาการพระธรรมนูญท่านหนึ่ง เข้าห้องน้ำด้วยกันชื่อ น.ท.สวิทย์ วรทัต (เคยเป็นตุลาการพระธรรมนูญคดีผม) ท่านพูดกับผมว่า “หมดเวรหมดกรรมกันเสียทีนะวิทิต เรื่องไม่เป็นเรื่องขังกันอยู่ได้ 7 – 8 ปี โชคดีนะ” ท่านบอกทิ้งท้าย ผมยกมือไหว้และขอบพระคุณท่านอย่างสูง (ในระหว่างสู้คดี ผมเห็นว่า ตุลาการท่านนี้มีความเห็นอกเห็นใจและให้ความเป็นธรรม ไม่มีอคติต่อจำเลยคดีคอมมิวนิสต์ทุกคดีที่ท่านนั่งเป็นตุลาการพระธรรมนูญ (เจ้าของคดี)
ท่านตุลาการพระธรรมนูญศาลทหาร (กระทรวงกลาโหม) อีกท่านหนึ่ง ที่ผมอยากกล่าวถึงคือ พันเอกประทิน (จำนามสกุลไม่ได้) คือ ก่อนการปล่อยตัวจำเลยคดีนี้ไม่นานนัก ผมเข้าพบท่านที่ห้องตุลาการ ท่านถามผมว่า “คุณออกไปแล้วจะไปทำอะไร” ผมตอบท่านว่า “คงกลับไปทำนาที่บ้านเกิดครับ” ท่านพูดว่า “เฮ้ย เสียดายความรู้ สอบทนายชั้นสองสิ คุณว่า ความเก่งกว่าทนายบุญไทยที่เป็นทนายชั้นหนึ่งเสียอีก มีอะไรจะให้ช่วยมาหาได้เลย ผมยินดีช่วยเต็มที่ อีกอย่างระหว่างรอผลสอบก็ขับแท็กซี่ไปด้วย” ผมตอบว่า “ผมขับรถไม่เป็นครับ” ท่านบอกว่า “เรียนขับซิไม่ยากเลย ผมจะช่วยค่าเรียนในเบื้องต้น” ผมขอบคุณท่านก่อนที่จะกลับออกจากห้องตุลาการและคิดในใจว่า ที่เราเคยคิดว่า คนเหล่านี้อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับเราก็คือศัตรู แต่ตอนนี้เริ่มคิดว่า ในหมู่ศัตรูก็ยังพอมีมิตรอยู่บ้าง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับท่าทีท่วงทำนองเราเองด้วย จึงนึกคำที่ใครไม่ทราบเคยกล่าวไว้ว่า “คนที่สามารถทำให้ศัตรูเป็นมิตรได้ประเสริฐคน” เป็นวลีที่ผมจำตลอดมาและก็ขอขอบพระคุณตุลาการทั้งสองท่านอย่างสูงไว้ ณ ที่นี้ด้วย
เมื่อรับอิสรภาพและผ่านขั้นตอนการปล่อยตัวแล้ว คุณพรชัย แสงชัจจ์นำรถมารับไปที่บ้านพักแก จากนั้นก็พาไปเลี้ยงต้อนรับอิสรภาพที่ไนต์คลับ คืนนั้นไปนอนพักที่บ้านคุณประพาส สุคนธ์ นอนคืนนั้นผมยังฝันว่าตัวเองยังอยู่ในคุกอยู่เลย ตกใจตื่นมองดูรอบข้างปรากฏว่า นอนอยู่บนเตียงนอนค่อยใจชื่นขึ้นมาหน่อย
รุ่งเช้าตื่นขึ้น ผมมองไปรอบๆ บ้านคุณประพาส แปลกใจและคุ้นตามากว่า เราน่าจะเคยมาแถวนี้ จึงพูดกับคุณประพาสว่า “ผมคิดว่าน่าจะเคยมาแถวนี้ มากับพ่อสมัยพ่อเป็นผู้แทนฯ” คุณประพาสถามว่า “มาบ้านใคร” ผมบอกว่า “บ้านคุณปราโมทย์ พึ่งสุนทร ถ้าผมจำไม่ผิด ท่านเคยอยู่คุกบางขวางด้วยกัน” คุณประพาส อ๋อ ทันทีแล้วบอกว่า อยู่ตรงนี้เอง เดี๋ยวจะพาไปพบ ตกลงเมื่อเสร็จภารกิจส่วนตัวแล้วคุณประพาสพาเดินไปพบคุณปราโมทย์ที่บ้านท่าน ซึ่งไม่ไกลนัก เมื่อถึงบ้านท่าน ท่านรู้จักกับคุณประพาสดี แต่ไม่รู้จักผม คุณประพาสแนะนำให้ท่านรู้จักว่าเป็นใคร พร้อมกับบอกว่า พึ่งถูกปล่อยตัวเมื่อวานนี้ คุณปราโมทย์ดีใจมากและก็พูดถึงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างท่านกับพ่อผมและท่านก็เคยช่วยเหลือพ่อบ้างทางการเงินในระหว่างถูกคุมขัง ท่านชื่นชมพ่อ (ครูครอง จันดาวงศ์) มาก ตอนท้ายท่านถามว่า “ที่มานี่จะให้ช่วยอะไรไหม” ผมไม่ตอบแต่คุณประพาสตอบเองว่า “ถ้าเป็นไปได้ก็ช่วยแกบ้างก็ดี เพราะเขาก็ไม่มีใคร ที่ผ่านมาก็มีพวกผมที่ดูแลกันบ้างเท่าที่จะทำได้” ท่านเลยบอกว่าได้เลยจะใช้สักเท่าไหร่ดี ประพาสบอกว่า แล้วแต่ท่านเถอะ คุณปราโมทย์บอกว่า 2,000 พอไหม ผมตอบทันทีว่า พอครับมากไปเสียด้วยซ้ำ (เงินสองพันสมัยนั้นมีค่ามากพอสมควร ทองคำยังแค่บาทละ 400 เท่านั้น) จากนั้นคุณประพาสก็พากลับออกมา แล้วก็เดินทางไปที่สโมสรเนติฯ ก่อนที่จะทำอย่างอื่น เพราะยังมึนต่ออิสรภาพอยู่
หลังจากนั้นก็เดินทางไปพบ พ.ต.อ.อารี กรีย์บุตร รองผู้การสันติบาลและก็เข้าพักอยู่ที่สโมสรนายตำรวจสันติบาลตามข้อตกลงกันไว้ก่อนปล่อยตัว
เดือนแรกหลังการรับอิสรภาพ ผมก็ยังไปมาหาสู่คุณพรชัยที่สำนักงานทนายความมารุต บุญนาค เป็นประจำ แต่ละคืนตอนนั้นก็มีอดีตผู้ต้องขังด้วยกันผลัดเปลี่ยนกันเลี้ยงรับอิสรภาพแทบทุกวัน เรียกได้ว่า เมากลับสโมสรนายตำรวจทุกคืน ประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน ผมไปพบรองอารีที่ห้องทำงาน คำแรกที่ท่านพูดกับผมว่า “เมาทุกวันหรือ เบาๆ หน่อยก็ดีหัดเก็บเงินไว้บ้างยังไม่รู้ว่า อนาคตจะเป็นอย่างไร” เมื่อผมฟังคำพูดนี้ ผมนึกถึงคำพูดคุณทองใบ (ทองเปาด์) ที่เตือนผมก่อนออกจากเรือนจำและแน่ใจว่าเราอยู่ในสายตาสันติบาลตลอดเวลา ผมตอบท่านว่า “พรรคพวกเลี้ยงรับอิสรภาพครับและก็คงเป็นการชดเชยความหนุ่มย้อนหลัง แต่ตอนนี้ก็คงหมดคิวการเลี้ยงแล้วครับ ขอบคุณท่านมาก” ท่านถามว่าที่มาหามีเรื่องอะไรหรือ ผมเรียนท่านว่า ปัญหาบัตรประชาชน เพราะตอนนี้เขาทำบัตรประชาชน ท่านจะให้ผมทำอย่างไร กลับไปทำที่บ้านหรือ ท่านบอกว่า อย่าพึ่งกลับเลย บอกญาติแจ้งย้ายเข้าบ้านท่านที่กรุงเทพฯ ท่านให้เลขที่บ้านเรียบร้อย ผมได้บัตรประชาชนใบแรกทำที่อำเภอบางกะปิ ตอนผมไปทำบัตรประชาชนที่บางกะปินั้น ตัวอำเภอบางกะปิตอนนั้นเหมือนเป็นอำเภอเล็กๆ (ปลายปี 2510) เหมือนบ้านนอกเราดีๆ นี่เอง เดินทางจากแยกลาดพร้าว สองฝั่งเป็นทุ่งโล่ง มีหมู่บ้านบ้างที่สะพานสอง จากนั้นก็ผ่านทุ่งโล่งจนถึงอำเภอบางกะปิ ผมขึ้นอำเภอไปถามหานายอำเภอเพื่อยื่นหนังสือรับรองที่ทางสันติบาลทำให้ นายอำเภอยังนั่งเล่นกินลมอยู่ระเบียงข้างนอก ท่านเชิญผมนั่งบนม้ายาวตัวเดียวกันที่ระเบียงนั่นแหละ ผมรู้สึกชื่นชมนายอำเภอในเมือง ดูท่วงทำนองท่านไม่มีลักษณะเจ้าขุนมูลนาย เป็นกันเองกับประชาชนที่มาติดต่อราชการทุกคน ผิดกับนายอำเภอบ้านนอก ที่มีลักษณะเจ้าใหญ่นายโต ยิ่งนายอำเภอในพื้นที่มีความขัดแย้งแล้วท่าทีเหมือนกับนายพลขุนศึกในสงคราม มองชาวบ้านด้วยสาตาเหยียดหยาม นี่คือความแตกต่างของข้าราชการในเมืองหลวงกับหัวเมือง
ฟ้าส่งข้ามาเป็นกบฏ (1) : ครอบครัว ‘จันดาวงศ์’ รื่นรมย์และขมขื่น
ฟ้าส่งข้ามาเป็นกบฏ (2) – ชีวิตหลังการประหารครูครอง
ฟ้าส่งข้ามาเป็นกบฏ (3) – เข้าสู่วิทยาลัยเรือนจำลาดยาว
ชีวิตกรรมกร
เมื่อผมมีบัตรประชาชนแล้ว ผมเดินทางไปพบคุณลุงปราโมทย์ ท่านก็ฝากงานให้กับคุณประสิทธิ์หลานชายท่าน เป็นรองผู้จัดการฝ่ายช่างอยู่ที่อู่รถเบนซ์ซังฮี้ ผมเริ่มเข้าทำงานที่อู่นี้เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2510 การเข้าทำงานคุณลุงปราโมทย์แนะนำให้เปลี่ยนนามสกุล ผมจึงใช้ชื่อสมัครงานว่า นายวิทิต พงษ์สิทธิศักดิ์ เป็นนามสกุลทางแม่ ไม่ต้องแสดงบัตรประชาชนจึงรอดตัวไป ผมเข้าทำงานในตำแหน่งสโตร์ คือ เก็บรักษาเครื่องมือและจ่ายเครื่องมือช่างซ่อม ได้เงินเดือน 750 บาทต่อเดือนก็นับว่าสูง (เท่ากับข้าราชการชั้นตรีอันดับต้นสมัยนั้น) มากกว่าคนเก่าเสียด้วยซ้ำ อาจจะเพราะมีเส้นรองผู้จัดการก็เป็นได้
เมื่อเข้าทำงานเป็นกรรมกร จำเป็นต้องปรับความเคยชินจากชีวิตเสรีเข้าสู่ชีวิตที่เป็นระบบ ระยะแรกก็รู้สึกฝืนใจมาก ความเคยชินเก่าๆ ตอนถูกขังในเรือนจำนั้น เนื่องจากเป็นคดีการเมือง ทางเรือนจำก็ให้เกียรติพอสมควร เราจะตื่นตอนไหนเขาก็ไม่ว่า เมื่อออกไปอยู่ที่สโมสรนายตำรวจยิ่งแล้วใหญ่ ตอนกลางคืนเที่ยวเสียดึก นอนตื่นสาย พอเข้าทำงานต้องตื่นตั้งแต่ตี 5 อาบน้ำแต่งตัวเสร็จรีบเดินทางใช้รถเมล์สองต่อ ต้องปั้มบัตรเข้าทำงานอย่างช้าที่สุด คือ 8.30 น. ถ้าเกินกว่านั้น 20 นาทีจะถูกตัดค่าแรง ระยะแรกๆ อึดอัดไม่แน่ใจว่า จะอยู่ได้หรือไม่ แต่มาระยะหนึ่งก็เกิดความชินและรู้สึกว่า ตัวเองจะต้องปรับตัวเข้าสู่ระบบ การกินอาหารก็ต้องมีการจัดการให้สอดคล้องกับรายได้ จัดระเบียบชีวิตตนเองในหนึ่งเดือนนั้นเราจะบริหารความเป็นอยู่อย่างไรจึงจะอยู่ได้ การกินเช้ากินกี่บาท กลางวันกี่บาท เย็นกี่บาท เรื่องนี้พี่ประสิทธ์เป็นคนแนะนำสอนการดำรงชีวิตแบบกรรมกรและก็ได้เรียนรู้จากเพื่อนกรรมกรอีกมากมาย
ระหว่างทำงานผมกลับมานอนสโมสรฯ บ้าง บางคืนก็ไปนอนบ้านคุณภักดี น้าชายตอนหลังมาน้าชายก็ขอให้ย้ายไปอู่ด้วยกันเพื่อแบ่งเบาภาระค่าเช่าบ้านช่วยแกบ้าง พอย้ายไปอู่กับน้าชาย ทางรองอารีก็งดจ่ายเบี้ยเลี้ยง 300 บาท/เดือน ทำให้ค่าใช้จ่ายจำกัดลงอีกต้องเพิ่มความประหยัดขึ้นอีก แต่ดีที่นั่งรถเมล์ไปทำงานต่อเดียว
ในระหว่างที่เป็นกรรมกร ช่วงแรกยุ่งยากพอสมควร เครื่องมือแต่ละชิ้นเป็นภาษาอังกฤษ ผมต้องลงทุนไปซื้อหนังสือศัพท์ช่างมือศึกษา แรกๆ โดนฝรั่งเยอรมันด่าบ่อย สักพักหนึ่งได้รับคำชมเชยว่า เรียนรู้เร็ว หลังจากนั้นประมาณ 3 – 4 เดือน ฝรั่งเยอรมัน ชื่อ มอร์แมน สั่งย้ายเข้าไปอยู่ห้องอะไหล่ ตอนนี้ยิ่งงงมาก เพราะอะไหล่เป็น 99 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีตัวเลขประจำสิบหลัก เดือนแรกก็โดนด่าแทบทุกวัน หลังจากนั้นผ่านเดือนเดียวสามารถจำเลขกลุ่มอะไหล่กว่าครึ่ง มอร์แมนชมว่า เก่งฉิบหาย ผมพยายามจัดวางกลุ่มอะไหล่ให้เป็นระเบียบเพื่อง่ายแก่การหยิบให้ช่าง มอร์แมนมาเห็นมันกลับทำให้สับสนเหมือนเดิมอีก เมื่อจัดใหม่อีกมันก็ทำให้สับสนอีก ผมแปลกใจเลยถามเพื่อนในห้องอะไหล่ว่า เราจัดไว้ดีๆ ทำไมเขามาพังทุกครั้ง เพื่อนกรรมกรบอกว่า ถ้าเรามีความสามารถจัดการได้ดี ทำงานเก่งเท่ามันหรือเก่งกว่ามัน ฝรั่งพวกนี้หมดความหมายบริษัทก็เลิกจ้างผู้เชี่ยวชาญอย่างมันกินเงินเดือนเป็นแสน มันจึงไม่ยอมให้พวกเราทำได้ดีเท่ามัน คุณเห็นไหมตอนที่มันสอนคุณใหม่ๆ พอคุณเรียนรู้เร็วมันหาว่าเก่งฉิบหาย จากนั้นมันไม่สอนคุณอีกเลย เพราะมันกลัวคุณเก่งเท่ามัน อย่างที่เขาว่า เลี้ยงไม่ให้ตายแต่ไม่ให้โต
ผมฟังคำอธิบายจากเพื่อนกรรมกรแล้วทำให้คิดเลยไปถึงผู้เชี่ยวชาญอเมริกันที่รัฐบาลไทยจ้างมาแพงๆ มันก็คงเป็นแบบเดียวกันนี่เอง อย่างที่เรียกว่า เอาฝรั่งตกงานมากินเงินเดือนผู้เชี่ยวชาญในประเทศที่อยู่ในอาณัติที่บริษัทนี้มีเยอรมันอยู่ 3 คน แต่ละคนก็ไม่ค่อยเข้ากันนัก คงจะมีลักษณะชิงดีชิงเด่นเอาอกเอาใจเจ้าของบริษัทนั่นเอง
เหตุที่ออกจากงาน
ชีวิตประจำวันในการทำงานที่อู่รถเบนซ์ ข้าวเช้ากับกลางวันจะกินที่ร้านค้าในบริเวณอู่ เซ็นไว้ก่อนรับเงินแต่ละวิกค่อยจ่ายและต้องจำกัดรายจ่ายมื้อละไม่เกิน 5 บาท เมื่อกินข้าวกลางวันพอมีเวลาว่างก่อนเข้าทำงาน พรรคพวกกรรมกรชอบมานั่งคุยกับผมเป็นประจำ ระยะแรกๆ ก็มีเพียง 2 – 3 คน ต่อมาก็เริ่มมากขึ้นก็ถือว่าใช้เวลาไม่กี่เดือนก็มีพวกมากขึ้น เป็นที่เกรงใจของผู้จัดการอู่
ในระหว่างทำงาน บางครั้งพอถึงวันเสาร์ ทางอู่จะเกณฑ์กรรมกรไปทำงานที่สมุทรปราการ ทราบจากพวกกรรมกรว่า เจ้าของอู่กำลังสร้างพื้นที่จำลองประเทศไทย กรรมกรที่ไปทำงานต้องทำถึงวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดด้วย ค่าแรงล่วงเวลาก็ไม่ได้รับเป็นเหตุให้กรรมกรไม่พอใจนัก พวกเขามานั่งบ่นให้ผมฟังตอนพักเที่ยงทุกครั้ง ผมเองก็พูดคุยปลอบใจและให้ความเห็นว่า การที่บริษัททำเช่นนี้ไม่น่าจะถูกต้อง ใช้กรรมกรในวันหยุดแถมไม่จ่ายค่าแรงล่วงเวลาด้วย แบบนี้น่าจะมีการประท้วง กรรมกรชอบใจและเริ่มมาสนิทสนมมากขึ้น
มีอยู่วันหนึ่งเป็นวันเสาร์เดือนใดจำไม่ได้ ผมเป็นคนหนึ่งที่ถูกเกณฑ์ให้ไปทำงานที่แผนกอะไหล่ตรงข้ามสวนลุมพินี โดยการควบคุมของมอร์แมน ผมเดินทางไปพร้อมกับกรรมกรอีกร่วม 10 คน น้องๆ กรรมกรเขาบอกว่า ตอนเย็นหลังเลิกงานจะไม่ได้กลับบ้าน เพราะมอร์แมนจะให้เดินทางไปทำงานที่สมุทรปราการต่อ ผมตอบพวกเขาว่า ไม่ต้องห่วง วันนี้วันเสาร์เวลาเลิกงาน 4 โมงเย็นตามระเบียบ ผมจะพาพวกคุณกลับเอง เขาบังคับเราไม่ได้ การทำงานล่วงเวลานั่นจะต้องเป็นความสมัครใจของกรรมกรและต้องจ่ายค่าแรงสองเท่าด้วย พวกกรรมกรบอกว่า พี่จะกล้าหรือหากมอร์แมนมายืนขวางประตู ผมตอบว่า ทำไมจะไม่กล้าลองดูก็แล้วกัน ที่นี่ประเทศไทยใช้กฎหมายแรงงานไทย เราต้องกล้าสู้กับความไม่ถูกต้อง พวกน้องๆ กรรมกรฟังแล้วชอบใจแต่ไม่แน่ใจนัก ยิ่งตอนพักเที่ยงออกไปกินข้าวนอกบริษัท น้องๆ กรรมกรแอบหนีไปหลายคน เหลือ 4 – 5 คน ผมพยายามเกลี้ยกล่อมให้อยู่ พวกเขาเกรงใจผมเลยอยู่เป็นเพื่อนทั้งที่ไม่แน่ใจ
พอถึงเวลา 4 โมงเย็น น้องๆ เขาบอกว่า สโตร์ (เขาเรียกผม) สี่โมงแล้ว ผมตอบว่า เกินให้เขาสัก 10 นาที พอครบ 10 นาที ผมบอกว่า กลับพวกเรา ผมเดินนำหน้าพวกเขาออกมา เจอมอร์แมนยืนอยู่ทางออกเขาพูดเสียงดังว่า “จะไปไหน” ผมตอบว่า “กลับบ้าน” เขาบอกว่า “กลับไม่ได้ต้องทำถึง 6 โมงเย็นแล้วเลยไปทำงานที่ปากน้ำ” ผมตอบสวนทันทีว่า “ไม่ได้วันนี้วันเสาร์ต้องเลิกงาน 4 โมงเย็น ถ้าจะให้ทำล่วงเวลาและต้องเป็นความสมัครใจของกรรมกรด้วย ที่นี่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทย” พูดจบผมเดินออกไปโดยไม่สนใจ มอร์แมนได้แต่ยืนตาขวางพูดไม่ออก ส่วนพวกกรรมกรนั้นเขาแอบหนีตั้งแต่ผมยืนตอบโต้กับมอร์แมนอยู่และเขามายืนรออยู่หน้าบริษัท เมื่อผมไปถึงผมบอกน้องกรรมกรคนหนึ่งจำได้ว่า ชื่อแอ๊วไปเอารถออกมา (รถบริษัทที่ใช้เป็นพาหนะไป) แอ้วไปขับรถออกมาแล้วเดินทางเอารถไปเก็บที่อู่ซังฮี้ก่อน
พอถึงหน้าบริษัท คุณพันธ์งาม ผู้จัดการยังไม่กลับ เขาตะโกนถามว่า “แอ๊วกลับมาทำไม? ไม่ไปทำงานต่อที่ปากน้ำหรือ” แอ๊วตอบทันทีว่า “สโตร์พากลับครับ” พันธ์งามได้แต่หันมามองหน้าผมแต่ก็ไม่พูดอะไรผมเดินออกมาหน้าอู่ แอ๊ววิ่งมาหาถามว่า “สโตร์ผู้จัดการด่าอะไรไหม” ผมตอบว่า “ไม่เห็นว่าอะไรเพียงบอกให้เอารถไปเก็บ” แอ๊วพูดต่อว่า “ดีนะที่เป็นสโตร์ ถ้าเป็นคนอื่นโดนด่ากระเจิงเลย”
หลังจากวันนั้นมา ข่าวแพร่ไปในหมู่กรรมกรทุกแผนก พอตอนพักกินข้าวกลางวัน พวกเขาก็รุมล้อมพูดคุยกับผมมากคนขึ้น รู้สึกว่า มีความเชื่อถือในหมู่กรรมกรมากขึ้น แม้แต่หัวหน้าช่างเกือบทุกแผนกก็เห็นด้วยและบอกว่า มันต้องมีคนแบบนี้บ้าง ส่วนมอร์แมนมาทำงานตามปกติ เมื่อเจอหน้าผมได้แต่มองแว็บเดียวไม่พูดหรือด่าอะไร
การที่ผมได้รับความเชื่อถือในหมู่กรรมกรมากขึ้น มันก็มีทั้งด้านดีและด้านไม่ดีสำหรับผม เพราะหลังจากนั้นกรรมกรส่วนใหญ่ต้องการให้ผมนำพวกเขาหยุดงานเรียกร้องต่อบริษัท คือ ข้อแรกเรียกร้องค่าแรงเพิ่มขึ้น ข้อที่สอง เรียกร้องขอให้หยุดวันเสาร์ครึ่งวัน เอาละซิ ทำให้ผมยุ่งยากพอสมควร นั่นคือ ถ้าผมปฏิเสธการนำในการเรียกร้องนี้กรรมกรทั้งอู่ก็จะหมดความศรัทธา ไม่ให้ความเชื่อถืออีกต่อไป แต่หากทำตามที่พวกเขาต้องการ ผมคิดว่า ในสถานการณ์เช่นนั้นผมคงเจอข้อหาเดิมแน่ เพราะทางฝ่ายรัฐโดยเฉพาะฝ่ายทหารเขาไม่ไว้ใจอยู่แล้ว ทางออกที่ดีที่สุดของผมในตอนนั้นก็คือ ลาออกจากงานไม่เสียทั้งสองอย่าง เมื่อตัดสินใจเช่นนั้นแล้วก็เดินทางกลับภูมิลำเนาในปลายปี 2511 โดยยื่นจดหมายลาออกฝากไว้กับเพื่อนร่วมงาน
ในขณะนั้นยังคงเดินทางขึ้นล่องสว่างแดนดินกับกรุงเทพฯ อยู่บ่อยครั้ง สาเหตุเนื่องจากต้องไปจัดการปัญหาหนี้สิน ที่พ่อ (ครูครอง) กู้สหกรณ์การเกษตรไว้เป็นเงินจำนวน 6,000 บาท ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490 ไม่เคยจ่ายทั้งต้นทั้งดอกเบี้ยเป็นเวลา 20 กว่าปี สหกรณ์ก็ยังไม่กล้ายึด เพราะสันติบาลโดยรองอารี กรีย์บุตร รองผู้การสันติบาลขอให้ชะลอไว้ก่อนระหว่างที่มีการเจรจากันเรื่องการถอนฟ้องคดี อีกประกรหนึ่ง เมื่อตอนสหกรณ์ฯ ส่งหนังสือเตือนไปหาผมที่เรือนจำลาดยาว คุณสังข์ พัธโนทัย ได้กรุณาช่วยผ่อนดอกเบี้ยไป 2 เดือน ทำให้สหกรณ์มีเหตุผลในการชะลอการยึดไว้ก่อนได้
เมื่อพูดถึงหนี้สินนี้ก็อยากขอเพิ่มเติมรายละเอียดและสาเหตุของการก่อหนี้ก้อนนี้สักเล็กน้อย เพื่อสะท้อนถึงจิตใจที่ทุ่มเทเพื่อมวลมนุษย์โลกผู้ประสบชะตากรรมยามสงครามของครูครอง นั่นก็คือ การกู้เงินเกิดขึ้นหลังการรับคนเวียดนามสองหมื่นกว่าคนที่คุณสวัสดิ์ ตราชู ส่งต่อคนญวนอพยพจากอุดรธานีมาให้ครูครองจัดหาที่ทำกินให้ในพื้นที่สว่างแดนดิน (ในหนังสือลับสุดยอดเสรีไทยภูพาน) เมื่อครูครองรับมอบมาและหาที่ทำกินให้แล้วเพื่อช่วยเหลือให้พอมีรายได้เบื้องต้น ครูครองต้องทำแผนการเลี้ยงปลาสลิด โดยขุดดินทำคันกันน้ำรอบพื้นที่นาลุ่มยื่นขออนุมัติการกู้จากสหกรณ์การเกษตรสว่างแดนดิน แล้วว่าจ้างชาวญวนอพยพมาขุดดินทำคันรอบที่นาลุ่มดังกล่าวความยาวรอบประมาณร่วม 1 กม. โดยตกลงว่า จ้างกันตอนนั้นผมจำได้ว่าหลาละ 1.50 บาท วันเสาร์ อาทิตย์หยุดเรียน ผมยังไปนั่งดูคนญวนขุดดิน พูดคุยกับเขารู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องมาก เมื่อทำคันแล้วก็ไม่ได้เลี้ยงจริงจังอะไร เพราะต้องมาโดนจับกุมในคดีกบฎแยกดินแดนอีสานกับพวก 18 คน จากนั้นก็ไม่เคยส่งต้นส่งดอกเรื่อยมาจึงตกทอดมาเป็นภาระให้ผม ซึ่งเป็นลูกคนโตต้องเข้ามาจัดการแก้ปัญหาต่อไป
การแก้ปัญหาครั้งนี้ ตอนต้นๆ ก็มีอุปสรรคอยู่บ้าง คือ คุณภักดี (น้าชาย) ไม่เห็นด้วย นอกจากนั้นได้รับจดหมายจากแม่ น้องชาย น้องสาวที่อยู่ในป่าเขาให้ผมรีบเดินทางเข้าป่าไปร่วมงานต่อสู้ปฏิวัติกับพรรคคอมมิวนิสต์ ส่วนเรื่องหนี้สินสหกรณ์ไม่ต้องห่วง ปล่อยให้เขายึดไปเลย เมื่อการปฏิวัติชนะแล้วเราค่อยยึดคืน ซึ่งตรงกับความเห็นของคุณภักดีน้าชายที่อยู่ด้วยกัน แต่ผมกลับคิดอีกแบบหนึ่ง โดยให้เหตุผลกับคุณภักดีว่า “ถ้าปล่อยให้เขายึดไปแล้วก็ต้องมีการขายทอดตลาด คนซื้อก็ซื้อไปอย่างถูกต้องกว่าการปฏิวัติจะชนะนั้นจะใช้เวลากี่ปี ผมว่าคงไม่เร็วนักคิดว่า 20 ปีก็ถือว่าเร็วแล้ว เมื่อถึงวันนั้นเขาทำประโยชน์ถาวรไปแล้ว เราจะไปยึดคืนง่ายๆ มันจะเป็นธรรมแก่ประชาชนธรรมดาที่เขาซื้อมาโดยสุจริต ฝ่ายเราจะไม่เสียผลทางการเมืองหรือ” แต่คุณภักดีก็ยังยืนยันความเห็นเดิม ซ้ำกว่านั้นยังชวนให้น้าชายอีกคน คือ ครูสมคิดคัดค้านด้วย ผมต้องไปชี้แจงกับครูสมคิดน้าชายด้วยเหตุผลเดียวกัน ครูสมคิดเห็นด้วยในเหตุผลที่ผลเสนอ ผมจึงตัดสินใจขายที่ดินที่เป็นสิทธิของแม่ไป 40 ไร่ในจำนวนทั้งหมด 60 ไร่ เหลือที่แปลงนี้ 20 ไร่และมีผลให้ที่มรดกตายายที่มีชื่อรวมพี่น้องทางแม่ 5 คนเนื้อที่อีก 20 ไร่หลุดจำนองไปด้วยทำให้เป็นที่สบายใจของญาติๆ ในระดับหนึ่ง (ตอนนี้ผมยังคิดอยู่ว่า ถ้าทำตามความเห็นของแม่และน้องๆ ถึงตอนนี้คงไม่มีที่ซุกหัวนอนแน่)
ระหว่างที่ผมมาดำเนินการจัดการหนี้สินที่สว่างแดนดินนั้น ประมาณปลายปี 2511 ผมได้รับจดหมายจากสหายสาลิกา (เฉลิม วรรณโนรักษ์) และสหายสมหมาย (เพิ่ม วรรณโนรักษ์) สองพี่น้องที่รับผิดชอบงานปฏิวัติอยู่ที่ดงพระเจ้าสว่างแดนดิน ในจดหมายแนะนำให้ผมเดินทางเข้าป่าไปร่วมปฏิวัติ ผมตอบจดหมายว่ายินดีที่จะเข้าร่วมการปฏิวัติแต่ขอเวลาจัดการหนี้สินให้เสร็จก่อน แล้วจะนัดให้มารับทันที แต่ปรากฏว่าจากวันที่ตอบจดหมายกลับไปไม่กี่วัน ปรากฎว่าสาลิกากับสมหมายออกมอบตัวต่อทางราชการ โดยมีเฮลิคอปเตอร์ไปรับถึงที่นัดหมาย ผมทั้งงงทั้งวิตกจึงรีบเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ ทันทีที่ได้รับข่าว โชคดีที่ตอนนั้นจัดการเรื่องหนี้สินจบแล้ว จากนั้นก็ใช้ชีวิตในกรุงเทพฯตระเวนหางานทำใหม่ แต่โชคไม่เข้าข้างหางานไม่ได้จนถึงต้นปี 2512 ในที่สุดก็ตัคสินใจกลับไปตายที่บ้านดีกว่าเพราะตอนนั้นมีเมียมีลูกหนึ่งแล้ว ขืนอยู่กรุงเทพฯมีหวังอดตายแน่
ฟ้าส่งข้ามาเป็นกบฏ (4) – การสู้คดีและการถอนฟ้องปล่อยตัว
ฟ้าส่งมาเป็นกบฏ (5) พัฒนาการความคิด การเมืองในลาดยาว