ครบรอบหนึ่งปีการต่อสู้ของนักกิจกรรม “กลุ่มทะลุฟ้า” ที่เริ่มต้นกิจกรรมด้วยการเดินรณรงค์ให้ปล่อยนักโทษทางการเมือง 247.5 กม.จากโคราชถึง กทม.เมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2564

แม้จะมีเป้าหมายเพื่อเรียกร้องไม่ให้มีการจับเพิ่ม แต่กลับมีผลตรงกันข้าม เพราะ 1 ปีที่ผ่านมามีนักกิจกรรมมากว่าร้อยที่ถูกคุมขังอย่างไม่ได้รับสิทธิประกันตัว 

The Isaan Record คุยกับ “ปนัดดา สิริมาศกูล” หรือต๋ง ทะลุฟ้า” ที่ถูกขังเดี่ยวจนคิดจะฆ่าตัวตาย ส่วนครอบครัว แม้แต่หลานวัยที่อยู่ชั้นอนุบาล 3 ยังถูกข่มขู่คุกคาม เธอผ่านช่วงเวลาอันเลวร้ายนั้นมาได้อย่างไร 

หทัยรัตน์ พหลทัพ เรื่อง 

อติเทพ จันทร์เทพ ภาพ 

กว่า 19 วันที่ “ปนัดดา สิริมาศกูล” หรือ “ต๋ง ทะลุฟ้า” ถูกขังเสรีภาพในทัณฑสถานพิเศษหญิง กรุงเทพฯ ทำให้น้ำหนักเธอลดลงอย่างฮวบฮาบ ปัจจัยหนึ่งอาจเป็นอาหารคุกที่ไร้รสชาติ แต่ปัจจัยสำคัญคือ ภาวะความเครียดที่ส่งผลต่อจิตใจถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาลระหว่างถูกควบคุมเสรีภาพ 

The Isaan Record พูดคุยกับเธอเมื่อช่วงปลายปี 2564 และขอนำบทสัมภาษณ์นี้มาทบทวนการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ในช่วง 1 ปีของการก่อตั้งกลุ่มทะลุฟ้า เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษทางความคิดด้วยการเดิน 247.5 กิโลเมตรจากโคราชถึง กทม.

“จริงๆ 19 วัน ในนั้นมันแทบจะเรียกได้ว่า แย่ที่สุดในชีวิตเลย ไม่เคยคิดว่า การเป็นวัยรุ่นอายุ 22 เป็นนักศึกษาอยู่ต้องมีประสบการณ์โดนจับ ต้องเข้าไปอยู่ในพื้นที่ๆ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพทุกอย่าง”เธอเอ่ยปากถึงประสบการณ์อันเลวร้ายที่ไม่อาจลืมเลือน 

เพราะความเป็นอยู่และอาหารที่ส่วนใหญ่มีแต่ผักกับซี่โครงไก่ทำให้เกิดภาวะกินไม่ได้ นอนไม่หลับ ประกอบกับโกรธแค้นกับความอยุติธรรมที่ได้รับทำให้เกิดภาวะความเครียด โดยเฉพาะความรู้สึกกังวลความปลอดภัยของครอบครัว รวมถึงการเรียนที่ช่วงนั้นอยู่ในช่วงใกล้สอบทำให้เธอเกิดความกังวล 

“หนูถูกขังเดี่ยวเลยทำให้คิดมาก ในนั้นหนูคิดเรื่องฆ่าตัวตาย จนต้องขอพบจิตแพทย์ ซึ่งก็นานมากกว่าจะได้เจอ มันเป็นความรู้สึกที่แย่และดิ่งที่สุดแล้วมั้งในชีวิต”

แม้เธอจะผ่านความรู้สึกเลวร้ายนั้นมาได้ แต่ไม่ขอกลับไปเจอและไม่อยากให้ใครประสบพบเจอประสบการณ์อันเลวร้ายนั้น 

“ในเมื่อเรารู้แล้วว่า มันแย่แค่ไหน ก็ไม่อยากให้ใครแม้แต่คนเดียวต้องมารับชะตากรรมแบบเราอีก” 

ปนัดดา สิริมาสกุล หรือ ต๋ง ทะลุฟ้า (ขวา) และ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ทำกิจกรรมเดินทะลุฟ้าจากโคราชถึงกทม.เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 (แฟ้มภาพ) 

เหตุแห่งการออกหมายจับ 

ย้อนกลับไปก่อนถูกจับ คือ ช่วงประมาณเดือนสิงหาคม ปนัดดาทำกิจกรรมคาร์ม็อบที่กรุงเทพฯ ร่วมกับเพื่อน แต่ถูกยึดเครื่องเสียงแล้วถูกนำไปไว้ที่สโมสรตำรวจ วิภาวดี เธอและเพื่อนจึงไปติดตามทวงถาม เพราะเป็นเครื่องมือทำกินของผู้ให้เช่า แต่เมื่อไปถึงกลับมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น 

“วันนั้นเพื่อนๆ ถูกจับกันเยอะเลย น่าจะ 30-40 คนแล้วนำตัวไปไว้ ตชด.เราก็ตามไปเรียกร้องให้ปล่อยเพื่อนเรา แค่ไปขอเครื่องเสียงคืนจะจับทำไม มันไม่เมคเซนส์เลย วันนั้นเราก็ปิดถนนเพื่อกดดันและทำกิจกรรมสาดสีเพื่อประจานความไม่เป็นธรรม”เป็นเหตุการณ์ก่อนที่จะนำมาสู่สาเหตุของการออกหมายจับ 

แทนที่การเรียกร้องให้ปล่อยตัวเพื่อนนักกิจกรรมจะได้รับการตอบสนอง แต่กลับส่งผลตรงกันข้าม หนำซ้ำปนัดดาและเพื่อนรวม 9 คนกลับถูกออกหมายจับฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

“ตอนนั้นเห็นได้ชัดเลยว่า ตำรวจใช้ข้อกฎหมายแบบมั่วมาก เพราะเขาจะออกหมายจับ 11 คน รวมไปถึงรุ้ง (ปนัสยา) กับ เบนจา (อะปัญ) ด้วย แต่ว่าวันนั้นทั้งสองคนไม่ได้ทำอะไร จึงมีแค่หมายเรียก” 

ก่อนถูกจับ เธอและเพื่อนตกลงกันว่า จะไม่ยอมรับคำสั่งศาลที่ไม่ชอบธรรม โดยจะใช้วิธีอารยะขัดขืนมากที่สุด จึงใช้วิธีการคล้อนแขนกันทั้ง 9 คน เพื่อให้การจับกุมยากขึ้น แต่เจ้าหน้าที่กับใช้กองกำลังควบคุมฝูงชนถึง 30 คนดึงคนที่มีหมายจับออกไปทีละคน 

“ตอนนั้นหนูเห็นเขากดคอเพนกวิ้น (พริษฐ์ ชิวารักษ์) เห็นเพื่อนอีกคนถูกบีบคอจนบอกว่า หายใจไม่ออก กระทั่งร้องว่า ช่วยด้วยๆ ”

ถือเป็นภาพติดตาที่เธอไม่อยากจำ 

แค้นนี้ต้องชำระ 

แม้ว่า ประสบการณ์ในเรือนจำหญิงจะยังเป็นฝันร้าย แต่เมื่อได้รับอิสรภาพแล้ว “ปนัดดา” ก็เดินหน้าเคลื่อนไหวทางการเมืองที่หนักหน่วงมากกว่าเดิม เพราะระหว่างที่ถูกกักขังเสรีภาพเธอได้รับกำลังใจจากเพื่อนนักต่อสู้และอีกหลายคนว่า “ยังคงสู้”  

“รัฐเขาค่อนข้างที่จะผิดคาดในการจับนักกิจกรรมไปขัง เขาอาจจะคิดว่าเรากลัว แต่อย่างหนึ่งที่เขาลืม คือ เวลาคนโดนกด ไม่ให้พูด ไม่ให้คิด โดนปิดกั้นเสรีภาพ มันยิ่งอยากจะลุกขึ้นมาต่อต้าน อารมณ์ประมาณเดี๋ยวเจอกัน เพราะไม่อยากให้ใครมาโดนแบบนี้อีก” 

หนูไม่ได้แค้นส่วนตัว เพราะมันเป็นเรื่องของโครงสร้าง ข้อกฎหมาย เราแค่อยากเปลี่ยนแปลง รู้แล้วว่ามันมีปัญหาตรงไหน ก็อยากเปลี่ยนแปลง เขาคงคิดว่า จับคนๆ หนึ่ง แต่อีกมุมหนึ่ง คือ คุณกำลังสร้างนักต่อสู้ทางความคิดที่จะแข็งแกร่งมากกว่าเดิม”

เพราะเวลาที่อยู่ในเรือนจำ แม้มันจะทรมานแต่ก็ได้ทบทวนตัวเองและเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองมากขึ้น แม้รัฐจะเปลี่ยนเกมด้วยการใช้ไม้แข็ง จับคนเห็นต่างมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้ท้อหรืออยากหยุดเคลื่อนไหว ตรงกันข้ามกลับมีความหนักแน่นมากขึ้น 

ปนัดดา สิริมาสกุล หรือ ต๋ง ทะลุฟ้า (ขวา) ปราศรัยที่หมู่บ้านทะลุฟ้า บริเวณสะพานชมัยมรุเชษ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564 

จับนักเคลื่อนไหวสัญญาณสู้แผ่ว?

เธอวิเคราะห์ว่า การเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมเริ่มแผ่วนั้นมีจากหลายปัจจัย ทั้งจากการแพร่ระบาดของโควิด รวมทั้งการเคลื่อนไหวที่ไม่ได้รับการตอบรับก็ทำให้กำลังใจหลายคนเริ่มลดน้อยลง 

“พอข้อเรียกร้องของเรามันไม่เป็นรูปธรรม คนก็อาจเกิดอาจจะหมดหวัง เหนื่อยล้า เพราะว่าการต่อสู้ครั้งนี้มันเดินทางมามากกว่าหนึ่งปี” 

นอกจากนี้ปัจจัยการใช้ความรุนแรงของตำรวจก็ทำให้พื้นที่การชุมนุมไม่ใช้พื้นที่ปลอดภัยอีกแล้ว 

“มันเกินกว่าเหตุจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้กระสุนยางหรือกระสุนจริงก็ตาม เหตุการณ์ที่ สน.ดินแดงยิ่งเห็นชัดเจนว่า ไม่มีการนำผู้กระทำความผิดไปลงโทษ รวมถึงการใช้แก๊สน้ำตาที่เห็นเป็นเรื่องชินตาไปแล้ว” 

ในสถานการณ์บ้านเมืองที่เต็มไปด้วยความรุนแรง แต่รัฐกลับทำสิ่งตรงกันข้ามไม่แก้ไขปัญหา แต่กลับหมักหมมปัญหา ทั้งที่สถานการณ์ควรนำไปสู่การพูดคุยและเจรจากันด้วยเหตุผล ซ้ำร้ายกลับจับนักกิจกรรม ผู้เคลื่อนไหวไปกักขังโดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว ทั้งที่ตามหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชนระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้ใดที่ยังไม่ได้ถูกตัดสินว่ามีความผิดอย่างถึงที่สุด ให้สันนิษฐานไว้เสมอว่า ผู้นั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่กระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยกลับทำในสิ่งตรงกันข้าม 

เธอบอกอีกว่า หลังเพื่อนนักกิจกรรมต้องเผชิญกับความอยุติธรรมในหลายรูปแบบ เธอจึงอยากให้สังคมช่วยกันอธิบายหรือส่งแรงกดดันไปถึงศาลหรือทุกคนที่มีส่วนในกระบวนการยุติธรรมว่า เราควรคำนึงถึงหลักการที่มันควรจะเป็น แต่สิ่งที่เราได้กลับมาจากศาลหรือจากคนในกระบวนการยุติธรรมเองนั้น คือ การนิ่งเฉย 

คุกคามหลานอนุบาล 3 ถึงโคราช 

การออกมายืนแถวหน้าด้วยการเป็นนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ในฐานะบทบาทนักศึกษาทำให้เธอเจอแรงปะทะมากมาย รวมทั้งการถูกคุกคามหลายรูปแบบ แต่ไม่มีครั้งใดที่ทำให้เธอท้อถอย ทว่าการต่อสู้ที่ผ่านมากว่า 1 ปี การคุกคามของรัฐกลับไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเธอเท่านั้น เพราะการต่อสู้มันแลกกับความปลอดภัยของ “ครอบครัว” 

ขณะกำลังจะออกจากเรือนจำประมาณเดือนกันยายน กลับมีเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.และตำรวจนอกเครื่องแบบไปคุกคามสมาชิกในครอบครัวที่บ้านจังหวัดนครราชสีมา 

“เหตุการณ์ในวันนั้นไม่มีผู้ใหญ่อยู่บ้าน เพราะแม่มารับหนูที่กำลังจะออกจากคุก เด็กๆ ก็อยู่บ้าน มีเด็กผู้หญิงอนุบาลสาม 1 คน เด็กผู้ชายที่เป็นฝาแฝดอยู่ ป. 4 สิ่งที่ตำรวจทำ คือ การไปล้อมบ้านและขู่เด็กอนุบาล นี่เป็นราคาที่จะต้องจ่ายกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้”  

นั่นจึงอีกครั้งหนึ่งที่สมาชิกในครอบครัวขอร้องให้เธอหยุดเคลื่อนไหว หลังจากที่ก่อนหน้านี้พวกเขาเคยขอร้องมาแล้วคร้ังแล้วคร้ังเล่า แต่เธอก็หยุดมันไม่ได้ 

“เราหยุดไม่ได้ไง เราก็รู้สึกว่าคุณก็แค่ทำให้เรากลัวในจังหวะเวลาหนึ่งเท่านั้นแหล่ะ แต่เรารู้สึกว่าความกลัวเหล่านั้นมันไม่ได้มาเป็นตัววัดว่าเราจะต้องหยุดเคลื่อนไหว” 

แม้การต่อสู้เพื่อเรียกร้องจะกินเวลาแรมเดือน แรมปี หรือมากกว่านั้น แต่เธอก็จะไม่หยุด โดยเฉพาะข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันและมาตรา 112 ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเสนอ 3 ข้อ 

“มาตรา 112 มันมีปัญหาจริงๆ มันมีคนที่โดนคดีแค่พูดว่า “จ้า” หรือแม้กระทั่งร้องเพลง วัน ทู ทรี โฟร์ ไฟฟ์ก็โดน ใส่ชุดไทยก็โดน แล้วอย่างนี้ในอนาคตเราจะอยู่กันยังไง เพราะมันไม่มีขอบเขตชัดเจนว่า อันไหนคือ ดูหมิ่น อันไหนที่เรียกว่าอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ มันไม่มีขอบเขตที่มันชัดเจนเลย”

เธอยังยกตัวอย่างกรณีของ พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน ที่ถูกฟ้องด้วยข้อหาตามมาตรา 112 คนเดียว 21 คดี เมื่อรวมโทษของคดีนี้แล้วจะทำให้เขาต้องติดคุกมากกว่า 300 ปี ซึ่งทำให้ดูเหมือนว่า กฎหมายมาตรานี้ไม่มีเหตุผลในการบังคับใช้ โดยเธอยังยืนยันว่า ต้องการให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อความสง่างาม 

แม้ข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อจะเดินมาถึงทางตันและเป็นเรื่องที่ไกลเกินฝัน แต่เธอยังฝันว่า วันหนึ่งจะได้มีโอกาสเห็น 

“ไม่รู้ว่าแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์มันอยู่ตรงไหน แต่เราหยุดทำไม่ได้ เราต้องไปต่อ เพื่อที่ว่า สิ่งที่เราเรียกร้อง ความฝันของเรา ที่หนูพูดง่าย ๆ คือว่าหนูอยากชนะ เพื่อทดแทนความเจ็บปวดและความบอบช้ำที่เกิดจากการต่อสู่ ในระหว่างที่เราต่อสู้เรียกร้อง”

image_pdfimage_print