กว่า 8 ปีภายใต้การบริหารงานของ “ประยุทธ์” ใช้กฎหมายที่เขียนเองอย่างบ้าคลั่ง นับตั้งแต่ ม.44 ที่ให้อำนาจครอบจักรวาล กระทั่งการคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยอ้างการจัดการโรคติดต่อ แต่แท้จริงแล้วเป็นการต้องการคงกฎหมายเพื่อการลุกฮือต่อต้านของประชาชน ล่าสุดกฎหมายควบคุม NGO ก็มีเจตนาซ่อนเร้นแบบเดียวกัน “ธีร์ อันมัย” ชำแหละ กฎหมายในมือประยุทธ์อย่างเห็นภาพ 

ธีร์ อันมัย เรื่อง 

หากนับตั้งแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา นี่ก็เกือบ 8 ปีแล้วที่คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สี่ปีแรกมาจากการแต่งตั้งในฐานะหัวหน้าคุณรัฐประหาร สี่ปีหลังก็ด้วยการเลือกตั้งตามกติกาอันไม่ปกติ ซึ่งใครเขาก็รู้ว่า ถ้ากติกาบ้านเมือง ทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมันปกติเหมือนอารยประเทศ คนอย่างคุณประยุทธ์ไม่น่าจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีแม้เสี้ยววินาที

แต่ที่เขายังอยู่ในอำนาจได้ก็เพราะทำรัฐประหารเอง เขียนกติกาเอง และสืบทอดอำนาจเอง และไม่แน่ว่า เมื่อถึงเดือนพฤษภาคม 2565 จะ ‘ตู่’ เพื่ออยู่ต่ออีกไหม 

ฉีกเอง เขียนเอง สืบทอดอำนาจเอง

ทันทีที่รัฐประหารเสร็จ คุณประยุทธ์และพวกก็ฉีกรัฐธรรมนูญ 2550 อันเป็นกฎหมายสูงสุดที่เขียนโดยเครือข่ายคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 (ซึ่งฝ่ายอำนาจนิยมหรืออนุรักษนิยมมองว่า รัฐประหารครั้งนั้นทำเสียของ คือ เลือกตั้งใหม่ ฟากที่ถูกทหารโค่นล้มและล้อมฆ่าก็ยังกลับมาชนะเลือกตั้งในปี 2554) พอฉีกเสร็จก็เขียนรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ให้ตนเองได้มีเครื่องมือบริหารอำนาจบาตรใหญ่ หากคุณยังไม่ลืมหรือแสร้งทำไม่รู้ คุณก็จะรู้ว่า คุณประยุทธ์ใช้มาตรา 44 ทำอะไรบ้าง

สี่ปีแรกที่คุณประยุทธ์อยู่ในอำนาจที่มาจากรัฐประหาร (ซึ่งอ้างว่าต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง) ใช้อำนาจผ่านประกาศและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปทั้งหมด 288 ฉบับ และยังใช้อำนาจในนามของนายกรัฐมนตรีซ้อนทับกับอำนาจหัวหน้า คสช.อีกต่างหาก

คสช.มีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.เอง (ในนี้มีทหารถึง 145 คน หรือร้อยละ 58) เป็นทีมออกกฎหมายกว่าอย่างรัวๆ กว่า 400 ฉบับให้ห้วงเวลากว่า 4 ปีก่อนจะมีการเลือกตั้ง

บ่อเกิดที่มาอันคล้ายคลึงกันของ ‘ร่างกฎหมายชุมนุม’ และ ‘ร่างกฎหมายส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม’

ถึงเวลาคนหนุนรัฐประหารค้านร่าง พ.ร.บ.คุมองค์กรไม่แสวงหากำไร

หากจำแนกกฎหมายที่ออกโดยกลไก คสช.กุมอำนาจเราก็จะพบว่า 

หนึ่ง – กฎหมายที่เป็นฐานค้ำยันให้ คสช.สืบทอดอำนาจยาวนานที่สุด เริ่มตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2560 ที่เขียนโดย 21 คน ที่มีอายุรวมกัน 1,295 ปี (เฉลี่ย 61.6 ปี) เป็นรัฐธรรมนูญที่ ‘ปิด’ ทางก้าวหน้าประชาธิปไตย แต่เปิดทางให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจาก ส.ส. กลไก ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.อีก 250 คน (เป็นทหาร ตำรวจถึง 104 คน) พร้อมยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และมีมาตรา 279 ที่นิรโทษกรรมให้การกระทำ คสช.ทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต

เมื่อนิรโทษกรรมให้ตัวเองแล้วก็เที่ยวประกาศท้าคนเห็นต่างเหยงๆ ว่า ‘ถ้าไม่ได้ทำผิด จะต้องกลัวอะไร?’ ราวกับว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยในรอบ 7 – 8 ปีที่ผ่านมามันเป็นไปตามหลักนิติธรรมสากล ซึ่งใครๆ ก็รู้สึกได้ว่า หลายกรณีมันอยู่ภายใต้หรือแทบจะเป็นหนึ่งเดียวกับอำนาจเบ็ดเสร็จของคณะรัฐประหาร

สอง – กฎหมายควบคุมสิทธิเสรีภาพประชาชน เริ่มตั้งแต่คำสั่ง คสช.ในช่วงแรกที่ทั้งเรียกคนให้ไปรายงานตัวหรือเรียกไปปรับทัศนคติจำนวนมาก และหลายคนถูกยัดข้อหาแล้วส่งขึ้นศาลทหาร จากนั้นก็ออก พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 โดยอ้างความสงบเรียบร้อย พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์แห่งชาติ 2560 ที่วางยุทธศาสตร์ชาติไว้ 20 ปี แต่ไม่มีสักยุทธวิธีเมื่อเจอวิกฤตโควิด – 19 ตามมาด้วย พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ 2562 ที่ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของคนที่รัฐสงสัยว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคง ซึ่งความมั่นคงนี้ไม่ใช่ความมั่นคงของประชาชนแน่นอน

สาม – ใช้กฎหมายความมั่นคงเพื่อกด ปราบประชาชน คือ นอกจากออกกฎหมายใหม่เพื่อคุ้มครองตนและควบคุมประชาชนแล้ว กฎหมายเก่าอย่าง กฎอัยการศึก 2457 (118 ปีแล้ว) ก็ถูกคุณประยุทธ์เอามาใช้ก่อนรัฐประหาร 2 วัน พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 ก็ถูกใช้ราวเสพติดอำนาจเบ็ดเสร็จ ถึงตอนนี้ เรายังอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะคุณประยุทธ์และพวกอ้างเพื่อควบคุมโควิด แต่เราก็รู้ว่า โควิดแก้ด้วยวัคซีนที่ดี ด้วยระบบสาธารณสุขที่ได้รับการสนับสนุนที่ดีและมาตรการทางสังคมที่ดี ไม่ใช่เอากฎหมายความมั่นคงมากดหัวประชาชนไว้ไม่ให้มีปากมีเสียง

ออกกฎหมายกดหัวประชาชน

ยังไม่หยุดแค่นั้น คุณประยุทธ์และพวกยังเดินหน้าออกกฎหมายเพื่อควบคุมเสรีภาพประชาชนอย่างต่อเนื่อง เริ่มจาก พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 2562  อย่างมาตรา 26 (2) ที่มีข้อยกเว้นเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลและใช้ข้อมูลที่มีความอ่อนไหวในกิจการโดยไม่ต้องขอความยินยอมโดยชัดแจ้งจากเจ้าของข้อมูลว่า

“เป็นการดำเนินกิจกรรมโดยชอบด้วยกฎหมายที่มีการคุ้มครองที่เหมาะสมของมูลนิธิ สมาคมหรือองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการเมือง ศาสนา ปรัชญา หรือสหภาพแรงงานให้แก่สมาชิก ผู้ซึ่งเคยเป็นสมาชิก หรือผู้ซึ่งมีการติดต่ออย่างสม่ำเสมอกับมูลนิธิ สมาคม หรือองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวโดยไม่ได้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลนั้นออกไปภายนอกมูลนิธิสมาคม หรือองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรนั้น” ​

จากกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนี้ก็จะเห็นการเปิดทางให้รัฐเข้าถึงข้อมูลขององค์กรที่ไม่แสวงหากำไรหรือองค์กรพัฒนาเอกชน (Non-Governmental Organization : NGO) ซึ่งนั่นคือ สัญญาณแรกที่รัฐบาลคุณประยุทธ์จะอ้างความชอบธรรมด้วยกฎหมายเพื่อเข้าถึงหรือล้วงข้อมูลขององค์กรที่ไม่ใช่รัฐ แต่ทำงานแข็งขันกว่าหน่วยงานของรัฐภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนหรือเมื่อยามประชาชนประสบกับสาธารณภัยหรือแม้แต่โรคระบาด

ล่าสุดวันที่ 4 มกราคม 2565 คณะรัฐมนตรีประยุทธ์และพวกก็มีมติเห็นชอบให้เดินหน้าเสนอร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์การไม่แสวงหากำไร พ.ศ. …. เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ แน่นอนว่า ตัวกฎหมายชื่อว่า ดำเนินกิจกรรม แต่ถ้าหากไปดูเนื้อในของร่างกฎหมายจะพบว่า เน้นการควบคุม โดยมีนัยซ่อนเร้นด้วยการอ้างว่า องค์กรไม่แสวงหากำไรหรือเอ็นจีโอบางส่วนพัวพันกับปัญหาการฟอกเงิน ลามไปถึงกับใส่ร้ายว่าเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย

แต่ใครๆ ก็รู้ดีว่าเอ็นจีโอที่มีหลักการด้านสิทธิมนุษยชนและเสรีประชาธิปไตยแม่นยำนั้น ไม่ว่าเอ็นจีโอประเทศนี้หรือประเทศไหนต่างก็ล้วนเป็นไม้เบื่อไม้เมา เป็นด้านตรงกันข้ามกับรัฐบาลอำนาจนิยมกันทั้งนั้น

ดังนั้นเรื่องความโปร่งใสของเอ็นจีโอที่ได้รับเงินบริจาคจึงเป็นแค่ข้ออ้างที่จะเล่นงานองค์กรเอกชนที่ทำหน้าที่เสริมพลังภาคประชาสังคมให้เข้มแข็งมากกว่า ถ้ารัฐบาลนี้จะมีจริตจะก้านเรื่องความโปร่งใสจริงๆ แล้วละก็ ไม่ยากเลย เริ่มจากคุณประยุทธ์และพวกที่ทำรัฐประหารเปิดเผยทรัพย์สินของตนก่อนดีมั๊ย?

เราต้องช่วยกันจับตามองว่า รัฐบาลประยุทธ์กำลังจะออกกฎหมายเพื่อควบคุมการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำหน้าที่ส่งเสริมภาคประชาชนที่รัฐบาลชุดนี้ไม่ทำหรือทำงานส่งเสริมประชาชนไม่เป็น และกฎหมายฉบับนี้ก็ขัดกับรัฐธรรมนูญ 2560 (ที่คนของคุณประยุทธ์เขียนเอง) หมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ทั้งมาตรา 26 มาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 37 และมาตรา 42

กฎหมายฉบับนี้ กระทบต่อทุกคน ทั้งประชาชนและเอ็นจีโอ เพราะมันขัดกับหลักการเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมและการสมาคม ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานและเงื่อนไขตามรายละเอียดกฎหมายที่เน้นการควบคุมมากกว่าส่งเสริมจะทำให้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทำงานยากขึ้น การรวมกลุ่มเพื่อชุมนุมเรียกร้องจะยากยิ่งขึ้น

เสนาะ เจริญพร นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นิยามกฎหมายฉบับนี้ว่าเป็น ‘ร่าง พ.ร.บ.ปลัดขิก’ เพราะคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรไม่แสวงหากำไรในมาตรา 6 ที่มีกรรมการ 21 คนนั้น ใน (2) ประกอบไปด้วยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงต่างๆ ถึง 7 คน

และห้วงเวลาไล่เลี่ยกับร่างกฎหมายควบคุมประชาชนนั้น รัฐบาลชุดนี้ก็ผลักดัน ‘ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ….’ หรือร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อ เพื่อออกมาควบคุมสื่อด้วยเช่นกัน

ที่น่าตกใจคือ ตัวแทนของสมาคมสื่อไทยกลับดูเบามากกับเรื่องนี้ แต่ก็ไม่แปลกอะไร เพราะองค์กรสื่อไทยไม่ได้มีจุดยืนเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก (freedom of expression) อยู่แล้ว ตอนทหารทำรัฐประหารก็มีตัวแทนสมาคมไปเป็น สนช. พอเขาแต่งตั้ง ส.ว.ก็มีตัวแทนในนามสมาคมสื่อไปเป็น ส.ว. หากเป็นนกก็เป็นนกเพลินกรง หากเป็นหมาก็ไม่ได้เป็นหมาเฝ้าบ้าน แต่เป็นหมาเชื่องๆ ของรัฐ

ภายใต้รัฐบาลที่ไม่เอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง อะไรที่เป็นเครื่องมือเพื่อค้ำยันอำนาจของตน อะไรที่จะกดข่มประชาชนให้เชื่องให้ปกครองง่าย รัฐบาลที่เลวก็ใช้มันทุกอย่าง กฎหมายก็เช่นกัน

หมายเหตุ: The Isaan Record ยินดีรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยความคิดเห็นที่แสดงบนเว็บไซต์ The Isaan Record ถือเป็นมุมมองของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการและเครือข่าย

image_pdfimage_print