“ภาคประชาสังคม” ซัด กม.คุมเอ็นจีโอกระทบสิทธิประชาชน  ซ้ำยังขัดหลักกติกาสากล “แอมเนสตี้” ระบุรัฐหวังลบองค์กรภาคประชาสังคมออกจากแผนที่ไทย ชี้ทุกกลุ่มกระทบหมดหากลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐ “เครือข่ายความหลากหลายทางเพศ” หวั่นใช้กฎหมายขุดรากถอนโคน ปิดกั้นสิทธิ 

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กป.อพช.ภาคอีสาน ร่วมกับกลุ่มทางสังคมเพื่อเฝ้าระวังร่าง พ.ร.บ.ควบคุมภาคประชาสังคม จัดประชุมออนไลน์ผ่านแอพลิเคชั่น Zoom ในหัวข้อ “ร่างกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มทางสังคม สิทธิมนุษยชน และผลกระทบ” ถ่ายทอดสดทางเพจ The Isaan Record และโดยมีตัวแทนองค์กรภาคเอกชนเข้าร่วมอย่างคับคั่ง 

ผศ. เสาวณีย์ แก้วจุลกาญจน์ เครือข่ายนักวิชาการและกลุ่มทางสังคมเพื่อเฝ้าระวังร่าง พ.ร.บ.ควบคุมภาคประชาสังคม 

ร่างกฎหมายที่เรากำลังพูดถึงอยู่ตอนนี้คือร่าง ร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรมขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร พ.ศ….ที่เสนอโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งครม.พิจารณาเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 มีสาระสำคัญมุ่งเน้นที่การส่งเสริมองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนและกำหนดกลไกการกำกับดูแลองค์กรไม่แสวงหากำไรเท่าที่จำเป็น ไม่เป็นภาระแก่องค์กรเกินสมควร ทั้งนี้เป็นไป “เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์สาธารณะและเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” คำนี้ถือเป็นคีย์เวิร์ดที่สำคัญว่ารัฐบาลอ้างว่าร่างฉบับกฤษฎีกานี้เพื่อส่งเสริมและคุ้มครอง 

“ถ้ามองดูลึกๆ แล้วเป็นลักษณะของการควบคุมมากกว่า โดยส่วนตัวไม่ต้องการให้มีร่างกฎหมายในลักษณะนี้เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นร่างฉบับใด เรื่องการทำงานของภาคประชาสังคมเราอยากให้กระทำได้โดยอิสระ เพื่อส่งเสริมและตรวจสอบควบคุมการทำงานของรัฐบาลอย่างแท้จริง”  

ข้อกังวลต่อสิทธิพลเมือง

ข้อห่วงกังวลที่เกิดขึ้นไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย แต่ยังเกี่ยวข้องกับกติกากฎหมายระหว่างประเทศ เพราะไทยเป็นภาคีของของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งบัญญัติว่าบุคคลย่อมมีสิทธิ์ในเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม 

นอกจากนั้นร่างกฎหมายนี้ยังมีความขัดแย้งในหลักความชอบธรรมด้วยกฎหมายและวัตถุประสงค์อันชอบธรรม การใช้ภาษาที่ไม่ชัดเจนของร่าง พ.ร.บ. ส่งผลต่อการตีความและการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่อย่างกว้างขวาง ซึ่งจะก่อให้เกิดอันตรายและความไม่มั่นคงต่อการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคม 

ประเด็นศีลธรรมอันดีงามของสังคมมักเชื่อมโยงกับองค์กรศาสนา การผลักดันกฎหมายหรือนโยบายที่เกี่ยวกับกลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มความหลากหลายทางเพศอาจถูกตีความว่าขัดต่อมาตรฐานศีลธรรมอันดี อีกทั้งรัฐมักจะเสนอโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีผู้ได้รับผลกระทบออกมาแสดงข้อห่วงกังวลและการชุมนุม และรัฐอาจใช้กฎหมายนี้เป็นข้ออ้างสำคัญในการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและการสมาคม  

ตรวจสอบแหล่งทุนต่างชาติ 

เรื่องการเข้าถึงแหล่งทุน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ย้ำไว้ชัดเจนในเรื่องการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิ ระบุว่าไม่ควรมีกฎหมายใดที่กำหนดโทษทางอาญาหรือกำหนดให้การดำเนินกิจกรรมด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในเรื่องแหล่งที่มาของทุน องค์กรพัฒนาเอกชนควรจะสามารถเข้าถึงเงินทุนจากต่างประเทศได้อย่างเท่าเทียมกับรัฐบาล 

ถ้าสร้างเงื่อนไขในเรื่องการองค์กรพัฒนาเอกชนจะรับเงินทุนจากต่างประเทศก็ถือเป็นการละเมิดสิทธิในการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชน ที่สำคัญยังมีข้อห่วงกังวลในเรื่องบทลงโทษ ในส่วนของความไม่ชัดเจนว่าอะไรคือความไม่สงบเรียบร้อยอะไรคือความมั่นคงของชาติ ส่งผลต่อดุลยพินิจของผู้ใช้อำนาจ อาจจะทำให้ภาคประชาสังคมตกเป็นเป้าหมายของการถูกลงโทษได้ อีกทั้งยังมีการให้นำตัวบุคคลธรรมดามาร่วมรับผิดกับตัวองค์กรด้วย กรณีดังกล่าวจะทำให้เกิดการบั่นทอนการก่อร่างสร้างองค์กรภาคประชาสังคมที่จะทำกิจกรรมเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะต่อไป  

สิ่งที่จะบั่นทอนการทำงานของภาคประชาชน ที่สำคัญคือในส่วนของโทษโดยเฉพาะที่กำหนดไว้ในมาตรา 27  เรื่องของบุคคลปัจเจกชน ที่ระบุว่าในกรณีที่องค์กรไม่แสวงผลกำไรแห่งใดกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ ให้ผู้รับผิดชอบดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไรแห่งนั้น ต้องรับโทษเช่นเดียวกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรด้วย กรณีนี้น่าห่วงกังวลมาก ไม่ใช่เฉพาะตัวองค์กรที่ต้องหยุดไป แต่บุคคลที่เป็นตัวแทนองค์กรก็ต้องโดนโทษด้วย 

บทลงโทษสั่งปิดทันที แต่อุทธรณ์ได้ใน 30 วัน 

สำหรับบทลงโทษองค์กรที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามพ.ร.บ.นั้น ในมาตรา 23 ระบุว่าในกรณีองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรได้รับคำสั่งจากนายทะเบียนให้หยุดดำเนินการ หากไม่เห็นด้วยสามารถโต้แย้งคำสั่งหรืออุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน ขั้นตอนต่อไปหากไม่หยุดดำเนินการโทษก็จะเป็นลักษณะของโทษปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท และปรับอีกวันละ 1,000 บาทตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืน และในมาตรา 22  หากเป็นกรณีที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ จะปรับไม่เกิน 5 แสนบาท และปรับอีกวันละ 1 หมื่นบาท ตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืน 

ปรานม ปรานม สมวงศ์  Protection International 

หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ของรัฐบาล คสช. ทำให้สิทธิเสรีภาพที่เรามีหายไป จนมีการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนนิสิตนักศึกษาและประชาชนในช่วงเดือนพฤศจิกายนปี 2563 มีการปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมจากรัฐบาลมีการใช้ความรุนแรง จากนั้นองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 13 องค์กรได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยต้องเคารพและสนับสนุนสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ในช่วงเดียวกันได้มีการยื่นรายชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไอลอว์กว่า 1 แสนรายชื่อ พร้อมกับมีความพยายามให้เกิดวิวาทะทางการเมืองป้ายสีเอ็นจีโอหรือองค์การสิทธิมนุษยชนแพร่กระจายทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะมวลชนฝ่ายขวาและนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลได้พยายามพูดถึงทฤษฎีสมคบคิด โจมตีว่าองค์กรภาคประชาชนที่ได้รับเงินทุนจากต่างชาติ กำลังร่วมมือกันในการแทรกแซงกิจการภายในประเทศ และต่อมารัฐบาลก็ได้มีการผลักดันกฎหมายเพื่อให้สอดรับกับวิวาทะการโจมตีการทำงานขององค์การสิทธิมนุษยชนหรือประชาชนที่ออกมาประท้วง และตรวจสอบรัฐบาลในเรื่องต่าง 

กระแสการแทรกแซงเกิดขึ้นทั่วโลก

ความพยายามในลักษณะนี้เกิดขึ้นทั่วโลกไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย ข้ออ้างที่บอกว่าการให้ทุนเอ็นจีโอจากต่างประเทศแล้วจะทำให้เป็นการทำลายและแทรกแซงกิจการภายใน เรื่องนี้เป็นกลไกคลาสสิกมาโดยตลอดในรัฐบาลเผด็จการและอำนาจนิยมทั่วโลก เพื่อที่จะเบี่ยงเบนการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาล และเพื่อสร้างอคติหรือความหวาดระแวงต่อผู้ที่ลุกขึ้นมาพูดถึงความจริงเกี่ยวกับผู้มีอำนาจ จาก 192 ประเทศทั่วโลก เรามีข้อมูลว่าใน 111 ประเทศนั้น ภาคประชาสังคมถูกละเมิดสิทธิ์ โดยเฉพาะในช่วงโควิดนี้ 

อย่างประเทศไทยก็มีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับคนที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องหรือตรวจสอบเรื่องวัคซีนหรือเรียกร้องเกี่ยวกับประชาธิปไตย มีประสบการณ์ในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย จีน ฮังการี หรืออินเดีย ซึ่งจริงๆ ไม่มีกฎหมายเฉพาะในการควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน แต่เขาใช้กฎหมายการเงินในการควบคุม ในส่วนของประเทศอินเดียโจมตีบางองค์กร เช่น กรีนพีซ ว่าการทำงานของกรีนพีซเป็นการทำลายเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเนื้อหาตรงกับร่าง พ.ร.บ.ที่กำลังเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นในมาตรา 20 เพราะถ้าเราลุกขึ้นมาต่อต้านโครงการพัฒนาโดยรัฐหรือทุน ที่มีผลกระทบต่อชีวิตเรา ๆ อาจจะถูกกล่าวหาว่ากำลังทำลายเศรษฐกิจของประเทศเช่นกัน  

กฎหมายควบคุมการรวมกลุ่ม

ถ้าเราไปอ่านตัวร่างกฎหมายไม่ว่าฉบับใดก็ตาม โดยเฉพาะฉบับล่าสุดการที่บอกว่าต้องออกกฎหมายแบบนี้เพื่อจะให้แน่ใจว่าการดำเนินงานหรือการรวมกลุ่มเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ มันกลายเป็นว่าสงสัยไว้ก่อนว่าการรวมกลุ่มของประชาชนมันผิด ซึ่งขัดกับหลักรัฐธรรมนูญและกฎหมายหลายฉบับ การเขียนแบบนี้แสดงว่ารัฐไม่ยอมรับการทำงานหรือการรวมกลุ่มของภาคประชาชน ที่สำคัญประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งในประชาคมโลกเราไปให้สัตยาบรรณไว้ว่าเราจะต้องสร้างและรักษาสิ่งแวดล้อมที่เกื้อหนุนและปลอดภัยเพื่อช่วยให้ภาคประชาชนหรือนักปกป้องสิทธิสามารถดำเนินงานได้อย่างเสรี ปราศจากอุปสรรคและความไม่มั่นคงปลอดภัยได้ 

“การออกกฎหมายลักษณะนี้จะยอมรับไม่ได้ และต้องย้ำว่าไม่ใช่กฎหมายตัวนี้เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงกฎหมายอีก 3-4 ฉบับ รวมทั้ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือพ.ร.บ.อื่นๆ ที่ผ่านมา ซึ่งผู้มีอำนาจหรือเผด็จการออกกฎหมายมาบังคับใช้และไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน” 

ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนที่ออกมาเรียกร้องในประเด็นต่างๆ นั้น ด้วยตัวกฎหมายที่เขียนไว้กว้าง ดังนั้นการรวมกลุ่มของประชาชนที่มากกว่า 2 คนขึ้นไปก็ถือเป็นการรวมกลุ่มที่อยู่ภายใต้กฎหมายตัวนี้ นิยามขององค์กรที่ไม่ได้หมายถึงเฉพาะเอ็นจีโอเท่านั้น แต่ยังหมายถึงมูลนิธิและสมาคมที่จดทะเบียนตามกฎหมายอยู่แล้วตอนนี้ รวมถึงประชาชนทุกคนที่รวมกลุ่ม 

สัปดาห์ที่แล้วได้พูดคุยกับกลุ่มนิติฮับและมีสมาคมคนรักไม้ด่างมาร่วมรับฟังด้วย ถามว่ากระทบกับเขาหรือไม่ ก็ต้องตอบว่ากระทบ คือ ใครที่ลุกขึ้นมารวมตัวกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ไม่ว่าสมาคมรักไม้ด่าง หรือแม้กระทั่งมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง หรือกลุ่มมูลนิธิที่รวมตัวกันในรูปแบบอื่นๆ ก็จะได้รับผลกระทบทั้งหมด  

จากข้อมูลมีองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไรในประเทศไทยในปี 2561 จำนวนประมาณ 8.4  หมื่นกว่าแห่ง มีทั้งองค์กรศาสนา องค์กรสังคมสังเคราะห์ สมาคมการค้า หอการค้า สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ สมาคมนายจ้าง สหภาพแรงงาน สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ และองค์กรอื่นๆ ดังนั้นกฎหมายตัวนี้ครอบคลุมทุกคนขึ้นอยู่กับว่ารัฐจะหยิบกฎหมายนี้มาใช้กับเราหรือไม่ 

“เมื่อเราลุกขึ้นมาต่อต้านและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ดังนั้นไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตามแล้วถูกตีความว่า เราทำแล้วสร้างความแตกแยก ไม่ใช่วิถีปกติสุขของประชาชนทั่วไป เช่น การพูดถึงการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือเรื่องใดก็ตามถ้าถูกมองว่า ทำให้สังคมแตกแยกหรืออยู่ในภาวะที่ไม่ปกติสุขมันจะขัดกับกฎหมายนี้ทั้งหมด” 

ปิยนุช โคตรสาร  ผู้อำนวยการ Amnesty International ประเทศไทย

กระแสไทย กระแสโลก 

ในกระแสโลก พื้นที่ภาคประชาสังคม รัฐและกฎหมายควบคุม จากการศึกษาและจัดทำรายงานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีกฎหมายอย่างน้อยใน 50 ประเทศ หรือประมาณ 40 ฉบับที่ออกมาปิดปากภาคประชาสังคม ถ้านับสถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทยก็คงอยู่ในลิสต์นั้นด้วย 

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยขนาดยังไม่มี พ.ร.บ.ตัวนี้บังคับใช้ เราก็ยังโดนขนาดนี้ ถ้าพ.ร.บ.นี้ผ่าน เราก็จะทำงานเคียงคู่กับคนที่ลำบากหรือโดนละเมิดสิทธิแทบจะไม่ได้เลย ที่สำคัญองค์กรทุนสนับสนุนต่างๆ ที่เข้ามาในประเทศไทยก็จะน้อยลง เพราะจากการศึกษาประเทศไหนที่มีกฎหมายเหล่านี้ทุนที่ให้การสนับสนุนก็จะน้อยลง และขอบอกว่ามันไม่ใช่แค่กฎหมายเอ็นจีโอ หรือ พ.ร.บ.องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร มันไม่ใช่เรื่องของ พ.ร.บ.การฟอกเงินเท่านั้น แต่มันเป็นวิธีการที่จะลบเอาองค์กรภาคประชาสังคมให้ออกจากแผนที่ประเทศไทย ลบเอาออกให้หมดเพื่อให้ไม่มีสิทธิ์ออกมาพูดหรืออกเสียงแล้วจำนนหรือยินยอมต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าองค์กรต่างๆ ได้รับผลกระทบจากกฎหมายนี้ ชาวบ้านก็อาจจะไม่มีเพื่อนมิตรที่มาคอยช่วยกันเป็นปากเป็นเสียง หรือดูแลเรื่องคดีและเขาอาจจะต้องสู้เพียงลำพัง เช่น กรณีบางกลอย เรื่องต่างๆ จะโดนเหยียบให้มิดไป เหมือนกับเป็นการใช้กฎหมายปรามและอาจจะมีหลายพื้นที่ที่กลัวและไม่กล้าออกมาเรียกร้อง  

กำจัดแอมเนสตี้ฯ ได้ แต่กำจัดประชาชนไม่ได้

คิดดูว่า กรุงเทพฯ หรือประเทศไทยเป็นศูนย์กลางขององค์กรระหว่างประเทศที่อยู่ในภูมิภาคนี้ ปัจจุบันลาว เวียดนาม พม่า กัมพูชา แทบจะไม่มีองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิเลย ถ้าเทียบกับประเทศไทย ถ้าสมมติว่าเราไม่ได้มีอยู่ในที่นี้ คิดดูว่าภูมิภาคนี้จะมืดมนแค่ไหน โดยเฉพาะเราหวังเพิ่งอะไรอาเซียนไม่ได้ ปัญหาของสิทธิมนุษยชนในอาเซียน โดยเฉพาะพม่า รวมทั้งเรื่องคนหาย และการส่งกลับก็ยังค้างคาคาราคาซังอยู่ แล้วใครจะเป็นปากเป็นเสียงได้ 

“แม้ว่าคุณจะพยายามทำอะไรแค่ไหนในการจัดการองค์กรที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์หรือทำอะไรที่ดูย้อนแย้งกับสิ่งที่รัฐทำ แต่คุณหยุดพลังของประชาชนไม่ได้ และหยุดสิ่งที่เราต้องการจะทำไม่ได้ สำหรับแอมเนสตี้ ถึงจะมีแคมเปญหรือความพยายามกำจัดแอมเนสตี้ออกไป ถึงไม่มีแอมเนสตี้ในประเทศไทยการเคลื่อนไหวของแอมเนสตี้ในระดับสากลก็ยังอยู่” 

ทั้งนี้ยังสามารถทำงานในเรื่องของประเทศไทยได้และเราไม่สามารถควบคุมกระแสของต่างประเทศได้เลยว่า จะมีสื่อหรือการรณรงค์อะไรออกมา เพราะว่าเราเป็นองค์กรที่เคลื่อนไหวโดยคนธรรมดาทั่วโลกดังนั้นถึงคุณจะกำจัดไปแค่ไหน แต่เรื่องสิทธิเป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องที่มีอยู่ และคุณกำจัดพลังของประชาชนไม่ได้

นาดา ไชยจิตต์ เครือข่ายความหลากหลายทางเพศ 

เมื่อเราขับเคลื่อนในประเทศเรื่องเพศ องค์กรแรกๆ ที่จะออกมาต่อต้านคือองค์กรในเรื่องศาสนา ปัญหาคือเมื่อเกิดการต่อสู้ทางความคิด มีแนวโน้มมากที่จะถูกตีความว่าเป็นการทำให้เกิดความแตกแยก และเป็นสิ่งที่ทำให้ถูกตีความว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีงามของสังคม การที่จะมีกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมามันมีผลกระทบโดยตรงกับเรา เมื่อไรก็ตามที่องค์กรศาสนาที่เขามีทั้งอำนาจในเรื่องศีลธรรมอันดี ต่อไปไม่ว่าจะเป็นคนที่ทำงานในเรื่องความหลากหลายทางเพศ สิทธิของพนักงานบริการ หรือแม้กระทั่งประเด็นที่หมิ่นเหม่ต่อการถูกตีความในเรื่องความมั่นคงของรัฐ เช่น เรื่องสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย เป็นต้น ก็จะถูกขุดรากถอนโคน เราไม่อาจรู้ได้เลยว่าองค์กรเบื้องหลังองค์กรศาสนานั้นมีความพร้อมมากขนาดไหนที่จะโค่นล้มเรา 

เห็นได้ชัดเจนว่าในสภาก็มีการประกาศนอกสภา ส่วนตัวมีโอกาสได้เห็นในการที่เขาระดมสรรพกำลังทั้งเรื่องเงินเรื่องคนในการระดมรายชื่อเพื่อต่อต้านไม่ให้พวกเรามีตัวตนอยู่ในสังคมได้ และได้รับการรับรองตามกฎหมาย 

“จึงเป็นสิ่งที่ต้องต่อสู้ทางความคิดกันไปอีกยาวนาน และเราจะถูกจัดการและขุดรากถอนโคนโดยกฎหมายฉบับนี้อย่างไม่ต้องสงสัย จึงอยากให้ทุกคนได้คิดดูว่าประเด็นที่เราขับเคลื่อนถ้ามันมีความหมิ่นเหม่ต่อศีลธรรมอันดีงามของสังคม มันมีโอกาสที่จะถูกใช้กฎหมายฉบับนี้ในการละเมิดสิทธิในการรวมกลุ่มเพื่อแสดงจุดยืน หรือขับเคลื่อนกฎหมาย นโยบายหรือการใช้สิทธิเสรีภาพในทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”  

ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ “ไม่เอาร่างกฎหมายทำลายสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มของประชาชนทุกฉบับ” ได้ที่นี่

ดูเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง


บ่อเกิดที่มาอันคล้ายคลึงกันของ ‘ร่างกฎหมายชุมนุม’ และ ‘ร่างกฎหมายส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม’

ถึงเวลาคนหนุนรัฐประหารค้านร่าง พ.ร.บ.คุมองค์กรไม่แสวงหากำไร

image_pdfimage_print