The Isaan Record ลงพื้นที่ชุมชนประสพสุขริมทางรถไฟโคราช ที่เตรียมพร้อมสำหรับการรื้อบ้านเพื่อหลีกทางให้สร้างรถไฟความเร็วสูง ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการอนุมัติสัญญาเช่าที่แปลงใหม่ที่ยังไม่มีความแน่ชัดว่า พวกเขาจะมีอนาคตอันสดใสหรือต้องกลายเป็นคนไร้บ้านริมทางรถไฟ  

อติเทพ จันทร์เทศ เรื่องและภาพ 

เสียงหวูดรถไฟที่ได้ยินทุกค่ำเช้า ถือเป็นความคุ้นชินของชาวประสพสุข จ.นครราชสีมา แต่ภาพเหล่านี้กำลังจะเลือนหาย เมื่อบริษัทเอกชนที่ได้รับสัมปทานจากรัฐเริ่มรื้อบ้านริมรางที่เห็นว่าเกะกะเส้นทางพัฒนา เพราะรถไฟความเร็วสูงกำลังพาดผ่านอีสานเพื่อเชื่อมต่อลาวและจีน 

“เราเคยไปขอเช่าจากการรถไฟ แต่เขาปฏิเสธ ทำให้รู้สึกแปลกใจ เพราะชาวบ้านผู้มีรายได้น้อยไปเช่า ไม่ได้ แต่ทำไมนายทุนเช่าได้” 

นิยม พินิจพงศ์ หัวหน้าเครือข่ายชุมชนริมรางเมืองย่าโมโคราช ตั้งคำถามถึงความแตกต่างที่เกิดขึ้น

เขาเป็นสมาชิกในชุมชนประสพสุข ที่เป็นหนึ่งในชุมชนที่ต้องย้ายออกจากระยะทาง 40 เมตรของโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะ 2 นครราชสีมา – หนองคาย ตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนเพื่อพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงภูมิภาคไทย – ลาว – จีน รวมงบประมาณ 2 ระยะ พร้อมโครงการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีมูลค่าการลงทุนประมาณ 5219,413 ล้านบาท (ข้อมูลจากเอกสารประกอบการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน การรถไฟแห่งประเทศไทย) 

ชาวบ้านต่างเฝ้ารอหนังสือสัญญาอนุมัติเช่าจากทางการรถไฟ โดยพื้นที่ขอเช่าแห่งใหม่ของเครือข่ายริมรางเมืองย่าโมตั้งอยู่บริเวณหน้าโรงเรียนบ้านพะไล จ.นครราชสีมา ห่างจากชุมชนเดิมราว 13 กิโลเมตร ซึ่งเป็นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ 

“เราก็รอ ตอนนี้รอ คือ รอการรถไฟอย่างเดียวที่จะเซ็นอนุมัติให้เราเช่า เราพร้อมไป ชาวบ้านบอกแล้วว่าไปประชุมกับชาวบ้านไม่ดื้อหรอกขอให้มีที่ให้เขาไปอย่างชัดเจนก็คืออย่างเราชาวบ้านก็อยากทำอะไรให้มันถูกต้องตามกฎหมายให้มีสัญญาเช่าให้เราซะ แล้วเราไปปลูกสร้างเองก็หาว่าเราบุกรุกอีกเดี๋ยวก็ได้เราอีกมันก็ไม่จบไม่สิ้น” นิยมกล่าว

ชุมชนประสพสุขมีประชากรอาศัยอยู่ราว 130 คน ผู้คนส่วนใหญ่ทำอาชีพเก็บหาของเก่า แรงงานก่อสร้าง รับจ้างรายวัน รวมถึงเล่นลิเก 

หลังการระบาดของโควิด-19 ชาวบ้านส่วนหนึ่งที่มีอาชีพแสดงลิเกต้องเปลี่ยนวงจรชีวิตเพื่อเลี้ยงปากท้อง บางส่วนรับทำข้าวกล่องขาย อย่าง บ้านของนิยม พินิจพงศ์ หัวหน้าลิเกคณะนิยม รุ่ง สุริยา – ชาย สัญญา ก็ปรับเปลี่ยนมาขายอาหารตามสั่งระหว่างรองานแสดง 

แน่งน้อย ใจกล้า หนึ่งในชาวบ้านชุมชนประสพสุข เล่าว่า บ้านเกิดอยู่ที่อำเภอโนนสูง จ.นครราชสีมา โดยทวดมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกับนิยม ที่เป็นเจ้าของวงลิเก นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอได้อพยพมาอาศัยอยู่ในชุมชนริมทางรถไฟ 

“อยู่ในเมืองมันหากินสะดวก แต่ก่อนอยู่บ้านนอกก็แค่หาหอยปูปลากินไปวันๆ หนึ่ง พอย้ายมาอยู่ที่นี่ก็รับจ้างทำงานก่อสร้างบ้าง พอมีงานลิเกก็ไปเล่นลิเก”เธอเล่าชีวิตการอยู่ริมรางรถไฟ 

ชุมชนไบเล่โคราช

ตลอดริมทางรถไฟที่ทอดยาวเป็นชุมชนไบ่เล่ย์ ซึ่งอยู่ด้าน

หลังเทศบาลนครราชสีมา 

“ไม่แน่ใจว่าชื่อมาจากตัวแสดงจากภาพยนตร์1984 อันธพาลครองเมืองไหมนะ” เสียงเล่าจาก เหมันต์ เปรมในเมือง ชาวชุมชนไบเล่โคราช ที่ตั้งคำถามถึงชื่อชุมชนที่เขาอาศัย 

งานภาพชุดนี้นำเสนอชีวิตของผู้คนในชุมชนประสพสุข หลากหลายอาชีพใช้ชีวิตเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมือง แต่กลับถูกมองว่าบุกรุกที่ดินของรัฐ The Isaan Record ออกสำรวจ 2 ชุมชนริมทางรถไฟโคราชเพื่อสนทนากับผู้คนและบันทึกเรื่องราวของพวกเขาก่อนที่ชุมชนจะหายไป  

1.คนเก็บของเก่า

ตลอดสองข้างทางของริมทางรถไฟชุมชนไบเล่โคราช  มีเพิงตั้งเรียงรายจำนวนมาก ทุกหลังมีกองขยะหลากหลายชนิดรอการคัดแยก เหมันต์ เปรมในเมือง เล่าเกี่ยวกับชุมชนของตัวเองว่า เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว เกิดการขโมยเหล็กที่เป็นฝาท่อระบายน้ำ หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่มุ่งตรงมาตรวจสอบที่ชุมชนแห่งนี้ ถือเป็นตราบาปของคนในชุมชน 

“พอเขาถามมาจากไหน เราบอกว่า มาจากชุมชนนี้ เขาก็ตอบว่า อ่อ มันไม่ใช่ที่สำหรับชุมชนนะมันเป็นที่ของคนเมือง คนอย่างพวกเธอมันเปรียบเหมือนรากหญ้า นี่เป็นคำพูดของเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคลากรที่จะรับเราเข้าทำงาน”  เหมันต์ฯ เล่าถึงเหตุการณ์ยื่นสมัครงานในหน่วยงานแห่งหนึ่ง

2.แหล่งพักพิงคนทำกิน

ลัดดา คุ้มทอง ชาวชุมชนประสพสุขโคราช มีอาชีพเก็บของเก่า และรับจ้างทำความสะอาดบ้านให้กับคนในเมือง เธออาศัยอยู่ในที่ดินของเอกชนรายหนึ่ง ฝั่งตรงข้ามกับที่ของการรถไฟฯ เพื่อใช้เป็นที่หลับนอน และใช้ชีวิตอยู่ตามประสาคนรอนแรม เธออยู่ที่นี้ได้ 10 ปีเต็ม จากเดิมที่อยู่จังหวัดอื่นก่อนจะย้ายมาทำงานที่โคราช และพบกับสามีจึงตั้งหลักอยู่ที่นี่ด้วยการเก็บขยะเลี้ยงปากท้องกับหมาอีกจำนวนหนึ่ง 

“เราก็อยู่แบบนี้หากินใครหากินมัน แฟนก็ออกไปหาของเก่า ส่วนเราก็ไปหาตามถัง ตามถังขยะ คือ เราจะไม่ไปเอาอะไรของใครทั้งนั้น บางทีก็มีคนมาจ้างไปขนของให้ ไปเก็บบ้านเขาก็ให้เรามา อันไหนขายได้ เราก็ขาย ก็จะมีคนมารับซื้อ แบบเอาไปขายของมือสอง ก็ขายพอได้เลี้ยงปากท้องชีวิตไปวันๆ”   ลัดดากล่าว

3.ยามเย็น

4.เครือข่ายริมรางเมืองย่าโม

“ไล่ชาวบ้านออกจากเมือง เอาที่ดินประเคนให้นายทุน นายทุนเช่าได้ตลอดกาล แต่ชาวบ้านเช่าไม่ได้ ปฏิรูปที่ดินรถไฟลดความเหลื่อมล้ำ” ข้อความบนป้ายสีแดงที่ถูกแขวนริมถนนหน้าชุมชนประสพสุข เป็นป้ายข้อความหน้าบ้านของอุไรวรรณ สิงหรัตน์ 

เธอเล่าว่า ตอนนี้ก็ไม่มีอาชีพอะไร พ่อกับแม่ก็เป็นลิเก ครอบครัวของเธอมีอาชีพแสดงลิเก มาอยู่ที่ตรงนี้เพื่อเฝ้าที่ดินให้นายทุนสมัย ตั้งแต่ตายายยังมีชีวิตอยู่ แต่เมื่อผ่านมาถึงรุ่นลูกของนายทุนกลับจะไล่ครอบครัวออกจากพื้นที่ 

5. ไม่รู้จะเดินไปทางไหน 

ขณะนี้ชาวบ้านอยู่ระหว่างการรอสัญญาเช่าที่แปลงใหม่จากการรถไฟฯ ที่อยู่ด้านหน้าโรงเรียนบ้านพะไล จ.นครราชสีมา 

“ทุกอย่างมันดำเนินการเสร็จหมดแล้วเหลือแค่เอกสารของการรถไฟฯ ที่จะเขียนหนังสือถึง พอช. จากนั้นการรถไฟฯ ก็จะเอาเข้าบอร์ด เขาบอกว่าจะเอาเข้าบอร์ดเดือนมีนาคม ไม่รู้จะยังไง ยังไม่เข้าใจเหมือนกันว่าจะสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี หรือเลื่อนไปอีก”  นิยม พินิจพงศ์ หัวหน้าเครือข่ายชุมชนริมรางเมืองย่าโมโคราช บอกเล่าสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้ 

6.กว่าจะได้บ้านมั่นคง

เครือข่ายริมรางเมืองย่าโมต่างออกมาร่วมกันเรียกร้องให้มติบอร์ดรถไฟฯ วันที่ 23 กันยายน 2543 ให้เป็นมติคณะรัฐมนตรี เพื่อให้การรถไฟอนุมัติที่ดินแปลงใหม่ให้ชาวชุมชนริมทางรถไฟโคราชเช่าเหมือนกับเอกชน 

ในขณะที่ยังไม่มีคำตอบ คนในชุมชนริมรางโคราชก็พยายามดิ้นรนเพื่อให้มีที่อยู่อาศัย 

 “ก็พยายามเต็มที่เพื่อจะออมให้ได้บ้านที่มันมั่นคง แล้วไม่ต้องโดนรถไฟไล่อีก คนจนก็อยากได้บ้าน ได้ที่มันแบบถึงจะเป็นที่เช่าก็ได้ แต่มันก็ยังมั่นคงที่มีบ้านอยู่เป็นถาวร เราก็อยากให้ประเทศเจริญเหมือนกัน”  กัลยากร นิลทอง ชาวชุมชนเรียบนครโคราช กล่าวถึงการรวมกลุ่มเพื่อย้ายเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงของ พอช. 

6.ชุมชนไบเล่ ไร้น้ำ-ไฟ

เหมันต์หนึ่งในสมาชิกชุมชนไบเล่ ซึ่งอยู่หลังเทศบาลนครราชสีมา บอกกับทีมงาน The Isaan Record ว่า ชุมชนแห่งนี้ทำอาชีพเก็บของเก่าเกือบทุกหลังคาเรือน แม้คนในครอบครัวอาจจะทำอาชีพอื่นบ้าง แต่อาชีพหลักก็ยังเป็นการเก็บของเก่า

“ที่นี่เป็นแหล่งเก็บหาของเก่าที่ใหญ่ที่สุดของโคราช เป็นชุมชนที่ตระเวนเก็บหาของเก่าตลอดวันยันค่ำคืน บางคนถีบสามล้อ บางคนถือกระสอบเข้าออกชุมชนไปตามจุดต่างๆ ของเมือง มีคนอยู่ในชุมชนนี้กว่า 100 คน แต่ไม่มีน้ำใช้ ต้องซื้อจากในเมือง ส่วนไฟฟ้าต้องหาเครื่องปั่นไฟจากกองขยะมาปั่นเพื่อเก็บกระแสไฟฟ้าไว้เก็บแบตเตอรี่เพื่อใช้ในครัวเรือน” 

อ่านเรื่องราวเพิ่มเติม

ความทรงจำชุมชนมิตรภาพ จ.ขอนแก่น ก่อนรถไฟความเร็วสูงมาเยือน

ดูวิดีโอเพิ่มเติม

image_pdfimage_print