โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงอาจสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับสังคมไทย แต่อาจนำความหายนะมาพร้อมกัน โดยเฉพาะการทำลายเอกลักษณ์ของพื้นที่เกี่ยวพันกับอนาคตของประชาธิปไตยไทย อีไล เอลินอฟฟ์ นักเขียนรับเชิญ สะท้อนความสูญเสียของชุมชนริมทางรถไฟจากการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงในขอนแก่นและพื้นที่อื่นๆ
อีไล เอลินอฟฟ์ เรื่อง
เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา The Isaan Record ได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับการขับไล่ และการย้ายถิ่นฐาน ของชุมชนริมทางรถไฟของไทย ในขณะที่ประเทศกำลังเริ่มก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงแห่งใหม่ในภาคอีสาน เรื่องราวเหล่านี้เน้นย้ำถึงวิธีการที่โครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ในเมืองต่างๆ ในอีสานกำลังส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อคนยากจน การขับไล่เหล่านี้ไม่เพียงแต่เป็นการทำร้ายผู้อยู่อาศัย แต่เป็นความพยายามที่จะทำลายพื้นที่ในการทดลองประชาธิปไตยและเป็นข้อถกเถียงที่สำคัญ ดังนั้นการขับไล่จึงไม่เพียงแต่เป็นโศกนาฏกรรมท้องถิ่น แต่ยังเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญระดับชาติ
ผมได้ศึกษาชุมชนเหล่านี้ในจังหวัดขอนแก่น เป็นเวลาเกือบ 15 ปี ตอนที่ผมเริ่มทำการวิจัย ผู้อยู่อาศัยหลายคนบอกว่า พวกเขารู้สึกถูกเข้าใจผิด พวกเขาอธิบายว่า ชุมชนของเขาถูกดูถูก และถูกมองว่าน่าเกลียดและสกปรก พวกเขาบอกว่าข้าราชการมักมองพวกเขาเป็นอาชญากร เป็นผู้บุกรุกที่ผิดกฎหมาย และเป็นผู้อยู่อาศัยโดยผิดกฎหมาย
การรับรู้เหล่านี้สะท้อนผ่านมุมมองคนที่วิจารณ์คนจนที่มองชุมชนแบบผิดๆ ว่าเป็นการต่อต้านการถูกขับไล่และย้ายถิ่นฐานจากโครงการของรัฐ และมองว่าพวกเขาเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ความเห็นเหล่านี้เป็นความเข้าใจผิด ทั้งที่ประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐาน ริมทางรถไฟในเขตเมืองของไทย และบทบาทที่ประชาชนเหล่านี้มีต่อการสร้างเมืองและรูปแบบการปกครอง
มีผู้ที่อาศัยอยู่ริมทางรถไฟขอนแก่นตั้งแต่รางรถไฟกำลังก่อสร้าง โดยผู้อยู่อาศัยช่วงแรกมักจะทำงานกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งบางครั้งจะสนับสนุนให้พวกเขาอาศัยอยู่ริมทางรถไฟ เพื่อเป็นหลักประกันว่า หน่วยงานจะมีแรงงานที่พร้อมอยู่เสมอ ส่วนผู้อยู่อาศัยรายใหม่ก็ได้ซื้อสิทธิจากเจ้าของสัญญาเช่าทางการเกษตร มีการจ่ายค่าเช่า (อย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ) ให้หน่วยงานหลายแห่ง หรือใช้วิธีอ้างการถือครองสิทธิไปโดยปริยาย ซึ่งเป็นการกระทำที่แพร่หลายในภาคอีสาน
เด็กๆ ในชุมชนมิตรภาพ จ.ขอนแก่นยังไม่รู้ชะตากรรมของตัวเองว่า กำลังถูกไล่รื้อ ภาพโดย อติเทพ จันทร์เทศ
การตั้งถิ่นฐานตามที่ต่างๆ ได้ขยายตัวขึ้นตามการเติบโตของเมืองต่างๆ ในภาคอีสานในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ผู้อยู่อาศัยได้ตั้งถิ่นฐานริมทางรถไฟด้วยวิธีต่างๆ ทั้งจากความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ควบคู่กันไปกับการเติบโตของเมือง ดังนั้นสิ่งที่เรียกว่าเป็น “พื้นที่ทางรถไฟ” จึงมีความเชื่อมโยงกับรูปแบบความเป็นเมืองในอดีตและชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ริมทางรถไฟที่ช่วยกันสร้างเมืองขึ้นมา หรือในอีกแง่หนึ่ง การกล่าวอ้างว่าผืนดินแห่งนี้ไม่ได้เป็นของผู้อยู่อาศัยนั้นไม่เป็นความจริง แต่ความเป็นจริงระบบรถไฟ ศูนย์กลางเมืองของไทย และชุมชนเหล่านี้ ได้ถูกพัฒนาร่วมกัน
ในขณะที่ชุมชนเหล่านี้ได้ขยายตัว มีบางครั้งที่ผู้อยู่อาศัยได้จ่ายค่าเช่าให้แก่หน่วยงานระดับท้องถิ่นหรือระดับประเทศ หรือทั้งสองอย่าง เป็นเวลาเกือบ 3 ทศวรรษที่ผู้ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดขอนแก่นได้เข้าร่วมการเจรจาต่อรองที่มีความซับซ้อนกับหน่วยงานระดับประเทศและระดับท้องถิ่นหลายแห่งเพื่อเปลี่ยนสถานะตัวเองให้ถูกกฎหมาย แม้ว่าการเจรจาจะไม่ค่อยตรงไปตรงมานัก แต่เมื่อไม่นานมานี้ก็ได้ช่วยให้ชีวิตและบ้านเรือนของผู้ที่อาศัยอยู่ริมทางรถไฟดีขึ้นอย่างช้าๆ
การทำงานร่วมกับพันธมิตรที่เป็นนักกิจกรรม โดยเฉพาะเครือข่ายสลัม 4 ภาคและตัวแทนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (และเครือข่าย) ทำให้ผู้อยู่อาศัยสามารถสร้างระบบสาธารณูปโภคที่ถาวรในชุมชนได้ ซึ่งระบบเหล่านี้ก็ได้เพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้อยู่อาศัยริมทางรถไฟ และลดความเข้าใจผิดที่พื้นที่เหล่านี้เป็นเพียงชุมชนที่อยู่อาศัยของชนชั้นแรงงาน กิจกรรมเหล่านี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้อยู่อาศัยสมัครขอทุนเพื่อพัฒนาบ้านและองค์กรชุมชนระดับท้องถิ่น ในบางกรณี การเจรจายังได้เปิดโอกาสให้ผู้อยู่อาศัยเซ็นสัญญาเช่า ทำให้มีความเป็นเจ้าของพื้นที่มากขึ้น โดยจ่ายค่าเช่าให้การรถไฟโดยตรง
เมื่อรถไฟความเร็วสูงมาเยือน ชาวริมทางโคราชกำลังจะหายไป
คนจนเมืองขอนแก่น บนริมทางรถไฟความเร็วสูง
สิ่งที่อาจทำให้คนนอกอาจแปลกใจ คือ การที่ผู้อยู่อาศัยมักแสวงหาโอกาสที่จะอยู่ในที่ดินที่พวกเขาอาศัยอยู่ ร่วมพัฒนา และมีส่วนร่วมในโครงการระดับท้องถิ่นและระดับชาติ พร้อมกับพัฒนาเมืองในทุกด้าน
ไม่ว่าจะเป็นโครงการที่เกี่ยวกับสุขภาพ ไปจนถึงโครงการเงินกู้ และมีความพยายามที่จะปรับปรุงเขตเทศบาล นอกจากนี้พวกเขายังมีส่วนร่วมการเสวนาต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อธรรมาภิบาลของเมือง ผู้อยู่อาศัยเหล่านี้มีความเป็นพลเมืองสูงและยึดมั่นในค่านิยมที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตย คือ ความเป็นธรรม การมีส่วนร่วม และความเท่าเทียม ซึ่งตรงข้ามกับมุมมองของสาธารณะ เป็นความเข้าใจของผมว่าการทดลองที่ซับซ้อนที่สุดที่เกี่ยวข้องกับการนิยามคำว่าประชาธิปไตยในไทยก็กำลังได้รับการจัดการและการถกเถียงกันต่อไป
เดิมพันของการย้ายถิ่นฐานและถูกขับไล่ที่กำลังเกิดขึ้น กับชุมชนริมทางรถไฟนั้นสูงกว่าที่คาด การถูกขับไล่เป็นประเด็นสำคัญสำหรับผู้ที่มีความเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ เพราะเขากำลังสูญเสียบ้านและชีวิตความเป็นอยู่ที่เกิดจากการลงทุนนานนับศตวรรษ และเป็นประเด็นสำคัญสำหรับเมืองที่กำลังเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น เพราะชุมชนเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับเมือง ผู้อยู่อาศัยในชุมชนเหล่านี้เป็นทั้งคนงานรับจ้าง พ่อค้าแม่ค้า คนขับรถ คนก่อสร้าง แม่บ้าน และคนเก็บขยะ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเมือง
การวิจัยของผมยังโต้แย้งว่า การขับไล่ผู้อยู่อาศัยในลักษณะนี้เป็นประเด็นสำคัญสำหรับไทยในระดับที่กว้างที่สุด เนื่องจากชุมชนเหล่านี้เป็นรากฐานของประชาธิปไตยของประเทศในอนาคต ในขณะที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มนักศึกษาทั่วประเทศเป็นแรงผลักดันหลักในการขับเคลื่อนประชาธิปไตยในปัจจุบัน ผลงานของผู้อยู่อาศัยในชุมชนริมทางรถไฟจะเป็นพลังในการขับเคลื่อนที่ดีที่สุด เพราะมีการโต้เถียงกันเกี่ยวกับหลักการทำงานของประชาธิปไตยที่จะทำให้เกิดการพัฒนาชีวิตของคนชายขอบของประเทศ แน่นอนว่า ชุมชนเหล่านี้เป็นแกนนำในการส่งเสริมและเจรจาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ทำให้ประเทศเกิดความเท่าเทียมมากขึ้น
ประชาธิปไตยอย่างที่ผมเข้าใจจากการทำงานกับชุมชนริมทางรถไฟ ไม่ได้เป็นระบอบตายตัวที่จะบรรลุเป้าหมายในที่สุด แต่เป็นสิ่งที่ต้องค่อย เป็นค่อยไป มันคือระบอบการเมืองที่มาจากการทำงานอย่างหนักเพื่อยึดมั่นในความเท่าเทียม การถกเถียงกัน มุมมองที่ต่างกัน และการลงมือจัดตั้งพื้นที่และสถาบันที่สะท้อนถึงความสำคัญของแนวปฏิบัติและค่านิยมเหล่านั้น ความเป็นประชาธิปไตย ความเป็นธรรม และความเท่าเทียม เป็นวิสัยทัศน์ที่ผู้อยู่อาศัยมอบให้แก่สังคมไทย ในประเทศที่ยังไม่เห็นถึงความก้าวหน้าของสิ่งเหล่านี้ ทำให้ประชาธิปไตยเป็นความหวังในอนาคต
โครงการรถไฟความเร็วสูงมีประโยชน์ในระดับหนึ่ง แต่ก็จะนำมาสู่การสูญเสียแก่ชุมชนเหล่านี้ ซึ่งเป็นการกระทำที่ทำลายรากฐานอนาคตของประชาธิปไตยในประเทศ
บทความนี้แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ Tearing up Democracy’s Roots
หมายเหตุ: The Isaan Record ยินดีรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยความคิดเห็นที่แสดงบนเว็บไซต์ The Isaan Record ถือเป็นมุมมองของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการและเครือข่าย