“ภาคประชาชน” เห็นพ้องหยุดกฎหมายตัดตอนการรวมกลุ่ม ชี้กระทบอีสานแน่ ทั้งกลุ่มต้านเหมืองแร่-โรงน้ำตาล-โรงไฟฟ้าชีวมวล หารือเตรียมเคลื่อนไหวใหญ่สกัดร่างกฎหมายกดหัวปชช. เร็วๆ นี้ 

กป.อพช.ภาคอีสาน เเละ เครือข่ายนักวิชาการและกลุ่มทางสังคมเพื่อเฝ้าระวังร่าง พ.ร.บ.ควบคุมภาคประชาสังคม จัดเวทีระดมความคิดเห็นผ่านแอพลิเคชั่น Zoom ในประเด็น ร่างกฎหมายการควบคุมการรวมกลุ่มทางสังคมและผลกระทบต่ออีสาน เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ถ่ายทอดสดผ่านทางเพจ The Isaan Record

สุภาภรณ์ มาลัยลอย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) กล่าวว่า ถ้าร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร พ.ศ…มีผลบังคับใช้จะกระทบองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ซึ่งเป็นคณะบุคคล ภาคเอกชน ที่รวมกลุ่มกันจัดตั้งในรูปแบบใดๆ หมายความว่า กลุ่มชาวบ้านที่ดงมะไฟ จ.หนองบัวลำภู กลุ่มชาวบ้าน จ.เลย ที่ได้รับผลกระทบจากกิจการเรื่องเหมืองทอง  หรือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในภาคอีสานที่มีจำนวนมากในเวลานี้ 

“กลุ่มคนเหล่านี้ ถ้ารวมตัวกันแสดงเจตจำนงว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐ ในเรื่องนโยบายหรือโครงการจำนวนมากที่อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนิเวศและผลกระทบต่อภาคอีสาน มันคือการขัดมาตรา 20 ที่นายทะเบียนตาม พ.ร.บ.นี้จะตีความได้ว่าเป็นการกระทบต่อความมั่นคงในมิติเศรษฐกิจของประเทศหรือไม่ ถ้านายทะเบียนตีความแล้วว่าขัดกฎหมายสามารถสั่งการให้เราหยุดกระทำการได้เลย  หากไม่หยุดก็มีโทษปรับ”สุภาภรณ์ กล่าว  

สุภาภรณ์ มาลัยลอย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)

เธอยังกังวลอีกว่า รัฐควรสนับสนุนกลุ่มองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรและมีเจตจำนงที่จะดูแลปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ดูแลวิถีชีวิตของตัวเอง หรือเรียกร้องในประเด็นที่ไม่เป็นธรรมให้มีการแก้ไข แต่กลับออกกฎหมายเพื่อควบคุมการแสดงความคิดเห็น การดำเนินกิจกรรมบางอย่างของกลุ่มเหล่านี้ 

“กฎหมายนี้จะทำให้รัฐผลักดันโครงการที่อาจจะเกิดผลกระทบกับประชาชนได้ง่ายขึ้น ทั้งที่จากเดิมก็ทำได้ง่ายอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาโครงการต่างๆ ที่ลงมาในภาคอีสานมันไม่ได้ผ่านกระบวนการถามความคิดเห็นคนในพื้นที่ กฎหมายฉบับนี้จึงจะเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่รัฐจะนำมาใช้กำกับและมีบทลงโทษที่รุนแรงมาก”ตัวแทนมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) กล่าว 

นอกจากนี้เธอยังบอกอีกว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีบทบังคับให้องค์กรภาคประชาชนหรือกลุ่มต่างๆ ต้องเปิดเผยข้อมูลแหล่งทุนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยอ้างว่าเพื่อให้ประชาชนตรวจสอบได้ ถ้าไม่ดำเนินการก็จะมีความผิดตามกฎหมาย  ถ้าทำนอกเหนือจากที่รัฐเห็นว่าไม่ควรทำก็มีความผิดและต้องเสียค่าปรับ มีโทษ ต้องหยุดดำเนินการ 

“กฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่ควรเดินหน้าต่อ เราไม่สามารถที่จะไว้ใจและเชื่อมั่นให้รัฐบาลปัจจุบันพิจาณากฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ ต้องหยุดกฎหมายนี้และเปิดโอกาสให้กลุ่มองค์กรต่างๆ มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและดำเนินการ หากมีความผิดมีกฎหมายอื่นที่จะมากำกับและดูแลอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการฟอกเงิน หรือกฎหมายก่อการร้ายที่มีอยู่แล้ว ไม่ต้องมีกฎหมายฉบับนี้ หรือหากทำแล้วกระทบสิทธิผู้อื่นก็มีกฎหมายอาญาดูแล จึงไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายฉบับนี้ กฎหมายนี้จึงสะท้อนว่ารัฐต้องการอะไรจากเราและอยากควบคุมอะไรเราบ้าง  

ส่วนเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์  เครือข่ายประชาชนเจ้าของเหมืองแร่ กล่าวว่า  ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการร่างกฎหมาย แต่ก็มีเหตุการณ์ 3 กรณีที่เกี่ยวข้องกับร่างกฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้นแล้ว 1.สรรพากรได้เข้ามาตรวจสอบการเงินขององค์กรภาคเอกชนหลายองค์กร โดยอ้างเรื่องการตรวจสอบภาษีต่างๆ หรือมีความประสงค์ในการตรวจสอบเส้นทางการเงิน 2.การไม่อนุญาตให้ประกันตัว อานนท์ นำภา และ พริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำราษฎร หลังจากกลุ่มราษฎรและประชาชนได้ช่วยกันบริจาคเข้าไปในบัญชีกองทุนราษฎรประสงค์ ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงได้มา 10 กว่าล้านบาท 

“ถ้ากฎหมายฉบับนี้ผ่านกองทุนราษฎรประสงค์อาจจะถูกอายัดเงินหรือถูกเอาผิดในนามองค์กรหรือในนามบุคคลที่เป็นเจ้าของบัญชีก็ได้ เพราะนิยามว่า เป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่มันตีความได้กว้างขวางมาก รวมทั้งการกำหนดโทษไม่ใช่เฉพาะตัวองค์กรแต่กำหนดโทษไปที่ตัวบุคคลที่เป็นกรรมการในองค์กรด้วย ซึ่งอาจมีความผิดตามมาตรา 20 ในเรื่องเป็นภายต่อความมั่นคง เป็นภัยต่อศีลธรรมอันดี 

เขายังกล่าวถึงข้อสังเกตุที่ 3.ว่า การกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ทำจดหมายถึงองค์กรต่างๆ เพื่อขอรายละเอียดสอบถามแหล่งที่มาของแหล่งทุน ในขณะที่ พม.กำลังจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ แต่กลับทำหนังสือขอตรวจสอบและสอบถามแหล่งที่มาของแหล่งทุนในองค์กรต่างๆ แล้ว ดังนั้นเชื่อว่าถ้ากฎหมายฉบับนี้ผ่านออกมาบังคับใช้ 3 เหตุการณ์นี้ จะถูกกระทำการทางกฎหมายมากขึ้น 

เลิศศักดิ์ กล่าวต่อว่า  ถ้ากฎหมายฉบับนี้ถูกบังคับใช้มันจะผนึกกำลังกับตัวกฎหมายชุมนุมสาธารณะ เพราะยังปิดช่องทางการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่หมด ขณะนี้สิ่งที่รัฐบาลทำ คือ ไม่ใช้พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ แต่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แทน ถ้าใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ประชาชนก็ยังสามารถไปแจ้งชุมนุมตามกฎหมายได้ รัฐบาลจึงใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในการห้ามการชุมนุมแทน สภาวการณ์ตอนนี้รัฐไม่สามารถอ้างเหตุฉุกเฉินได้อีกต่อไป คือ ถ้าโควิดหมดไปจริงกลายเป็นโรคประจำถิ่นจะไปอ้างเหตุฉุกเฉินได้อย่างไรก็เลยต้องคิดกฎหมายตรงนี้ขึ้นมาเพื่อปิดช่องทางสิทธิเสรีภาพของประชาชนและบังคับให้เข้มข้นมากขึ้น 

เลิศศักดิ์ กล่าวต่อว่า ตนอยากวิพากษ์วิจารณ์ใน 2 ด้าน คือทั้งในส่วนของรัฐและภาคประชาชนด้วยกันเอง ขณะนี้ภาคประชาชนกำลังมีทิศทางและแนวทางที่ไม่ตรงกันในการผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ คำถาม คือ เราสมควรต้องอธิบายให้ชัดเจนว่าพี่น้องประชาชนส่วนไหนบ้างที่กำลังขอเข้าไปเป็นกรรมาธิการเพื่อแปรญัตติร่างกฎหมายฉบับนี้ ทั้งๆ พี่น้องประชาชนอีกหลายส่วนไม่ได้เห็นด้วยกับแนวทาง ถ้าเข้าไปเป็นกรรมาธิการนั่นแสดงว่าคุณยอมรับบางส่วนที่จะให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ผลักดันต่อไปได้

“ต้องหยุดกฎหมายฉบับนี้ตั้งแต่วันนี้ เพราะร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่ร่างกฎหมายควบคุมเอ็นจีโอ แต่เป็นร่างกฎหมายที่เอ็นจีโอบางส่วนเข้าไปมีมีส่วนเกี่ยวข้องทำให้มันเกิดขึ้น เป็นร่างกฎหมายที่ควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชนทั้งหมด หากทำอะไรที่ปฏิเสธหรือตรงข้ามกับรัฐต่อให้คุณอยู่ในชมรมไม้ด่างคุณก็โดน ซึ่งกำลังหารือกันว่า เคลื่อนไหวร่วมกันอย่างไร” เลิศศักดิ์ กล่าว 

ปรานม สมวงศ์  Protection International กล่าวว่า ท่าทีของ พม.เป็นสิ่งที่พวกเราจะต้องชัดเจนในการปฏิเสธ เพราะเห็นชัดว่า จุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม.ระบุว่า องค์กรไหนดีก็จะส่งเสริม องค์กรไหนไม่ดีก็จะควบคุม ถ้ากฎหมายฉบับนี้ยังทู่ซี้ออกมา หรือไม่ได้มีพลังอันชัดเจนที่จะล้มกฎหมายลง ก็จะเป็นการแบ่งแยกและปกครอง กลายเป็นองค์กรที่ไม่ตั้งคำถามตรวจสอบการทำงานของรัฐเลยจะอยู่ได้ แต่องค์กรหรือประชาชนที่รวมกลุ่มกัน และออกมาตั้งคำถามกับรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัคซีน นโยบายเศรษฐกิจ หรือการใช้เงินประกันสังคม วันหนึ่งที่เราตั้งคำถามเหล่านี้เรื่องก็จะมาถึงเรา 

“ยุทธศาสตร์ของเราต่อการรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.ที่ไม่ทั่วถึงของ พม.  ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็คือการประทับตราให้ร่างผ่าน จึงต้องมีท่าทีในอีกรูปแบบหนึ่งว่า เราไม่เห็นด้วยกับกระบวนการรับฟังความคิดเห็น เพราะระยะเวลาที่รวบรัดในกระบวนการต่างๆ 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาคประชาสังคมหวั่นกฎหมายคุมองค์กรเอกชนถอนรากการเรียกร้องสิทธิ์ 

“ภาคประชาสังคมต้องทบทวนว่า เราจะเป็นส่วนหนึ่งในการตรวจสอบร่างกฎหมายนี้หรือจะเป็นส่วนหนึ่งในการประชาสัมพันธ์ช่วยเขาในการทำงาน ทั้งนี้ทราบมาว่า ร่างกฎหมายนี้ไม่ใช่ร่างสุดท้าย ดังนั้นไม่รู้จะฟังความคิดเห็นไปทำไม ในเมื่อจะไปเขียนใหม่อีกรอบหนึ่ง สุดท้ายใครจะเห็นฉบับสุดท้าย ครม. และรัฐสภาจะลักไก่ในการผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้หรือไม่ในเดือน พ.ค. ก็ต้องติดตามกันต่อไป”  

ด้าน ผศ.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสารคาม กล่าวว่า ในคำว่าภาคประชาชนหรือกลุ่มทางสังคมมันไม่ได้มีความหมายแค่เอ็นจีโอ หรือองค์กรที่ไปขึ้นทะเบียน โลกในยุคปัจจุบันการรวมกลุ่มเกิดจากปัจเจกคนเล็กคนน้อยรวมตัวกัน คนที่มองไม่เห็นความยุติธรรม เช่น ชาวบางกลอยเดือดร้อน นักดนตรี นักกิจกรรม นักวิชาการก็ไม่ได้สังกัดอะไร แต่มารวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือเป็นกลุ่มเซฟบางกลอย กลุ่มลักษณะนี้เกิดขึ้นเยอะมาก แต่ขณะนี้รัฐมองประชาชนเป็นศัตรู จึงกล้าที่จะออกกฎหมายแบบนี้ได้ ลองเทียบกับภาคธุรกิจที่รัฐสนับสนุนให้เกิดสภาหอการค้าต่างๆ แล้วรัฐก็ไปสนับสนุนให้มีการเจรจาดำเนินธุรกิจ แต่พอเป็นภาคประชาชนรัฐกลับมองเป็นศัตรู ซึ่งกลุ่มต่างๆ ทั้งในภาคเหนือ อีสาน กลาง ใต้ ที่ออกมาเรียกร้องปกป้องทรัพยากรจะได้รับผลกระทบหมด 

“เราจะปล่อยให้รัฐมาออกกฎหมายเพื่อขุดรากถอนโคนการรวมกลุ่มทางสังคมแบบนี้ไม่ได้ เราต้องยอมรับว่ากลุ่มที่ไม่ได้เป็นเอ็นจีโอมีมากมาย ไม่ได้รับเงินจากต่างประเทศ แต่ระดมทุนกันเล็กๆ น้อยๆ ไปช่วยเหลือพี่น้องที่เดือดร้อน เช่น ประเด็นเหมืองทอง บางกลอย หรือบางที่ก็มีการทอดผ้าป่าระดมทุนต่อต้านโรงไฟฟ้าชีวมวล สิ่งเหล่านี้เป็นรากฐานของการเติบโตของภาคประชาชนที่กำลังเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้ามีกฎหมายฉบับนี้จึงคิดว่าจะเรียบร้อยโรงเรียนเผด็จการแน่นอน”ผศ.ไชยณรงค์

image_pdfimage_print