เครือข่ายลุ่มน้ำโขงอีสานออกแถลงการณ์วันหยุดเขื่อนโลก จี้รัฐบาลหยุดเขื่อนในแม่น้ำโขงก่อนหายนะหนักมาเยือนคนลุ่มน้ำ แนะใช้พลังสะอาดแทนพลังงานไฟฟ้า
อีสาน – เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง อีสาน ออกแถลงการณ์เนื่องในวันหยุดเขื่อนโลก วันหยุดเขื่อนโลก 14 มีนาคม 2565 เรื่อง “หยุดสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง” มีใจความว่า แม่น้ำโขง เป็นแม่น้ำแห่งชีวิตของประชาชนทั้ง 6 ประเทศที่พึ่งพาอาศัยดำรงชีวิต แต่ที่ผ่านมา ชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง ทั้งในประเทศไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม ต่างได้รับผลกระทบข้ามพรมแดนอย่างแสนสาหัสจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง ตอนบนในประเทศจีนถึง 11 แห่ง และถูกซ้ำเติมด้วยการสร้างเขื่อนไซยะบุรี ใน ลาว
“การขึ้นลงของระดับน้ำที่ผิดธรรมชาติ การลดลงของตะกอนจนทำให้เกิดปรากฏการณ์แม่น้ำโขงเป็นสีฟ้า ส่งผลให้ธาตุอาหารลดลง การลดลงของปลาในธรรมชาติและประมงพื้นบ้านหาปลาอย่างยากลำบาก นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงผู้คนชนพื้นเมืองที่ต้องถูกอพยพย้ายถิ่นฐานจากริมแม่น้ำโขงและกลุ่มคนเปราะบางที่พึ่งพาทรัพยากรจากแม่น้ำโขง”แถลงการณ์ ระบุ
กลุ่มผู้หญิงและเยาวชน จ.เลย อ่านแถลงการณ์ต่อต้านการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง
แถลงการณ์ยังระบุอีกว่า วันที่ 14 มีนาคม 2565 เป็นวันครบรอบ 25 ปีของวันหยุดเขื่อนโลก ขบวนการประชาชนที่ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและคัดค้านการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำจากทั่วโลกที่ได้ร่วมกันเรียกร้องให้มีการหยุดการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อการโยกย้ายถิ่นที่อยู่ของชุมชนท้องถิ่น ส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต่อประมงพื้นบ้าน การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนทำให้ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเลวร้ายลง สำหรับเราแล้วการสร้างเขื่อน ขนาดใหญ่ ไม่ใช่แหล่งพลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืน ตามที่นักสร้างเขื่อนมักกล่าวอ้าง พวกเราที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงต่างได้รับผลกระทบทางสังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง
“เราขอแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักทุกแห่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ทั้งใน ลาว ไทย กัมพูชา ด้วยกลุ่มทุนให้มีการเร่งรัดการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบง ปากลาย ลาว ยิ่งจะเป็นการทำให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงและซ้ำเติมต่อสภาพระบบนิเวศแม่น้ำโขงมากยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงยุติการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักทุกแห่งและหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และสังคมน้อยกว่าเขื่อนขนาดใหญ่ รวมถึงการฟื้นฟูระบบนิเวศ และปกป้องแม่น้ำโขงให้กลับคืนมาเหมือนเดิม
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
วิกฤตแม่น้ำโขง เราจะช่วยกันปกป้องได้อย่างไร
“หายนะ” กำลังมาเยือนแม่น้ำโขง