พงศธรณ์ ตันเจริญ เรื่อง 

ความขัดแย้งภายใน ม.มหาสารคามระหว่างครูกับศิษย์เมื่อปี 2518 ลุกลามบานปลายถึงขั้นปิดอาคารเรียน แล้วกักบริเวณอาจารย์ไว้นานกว่า 18 ชั่วโมง ส่วนหนึ่งมองว่าเป็นผลพวงจากความเบ่งบานของประชาธิปไตยที่นิสิตรู้สิทธิของตัวเอง แต่อีกแง่หนึ่งกลับมองว่า เป็นความก้าวร้าวที่ยากต่อการปกครอง ซึ่งนั่นเป็นฉากหนึ่งของการเรียนรู้ระบอบประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัยและเป็นต้นกำเนิดของพรรคการเมืองของนิสิตอย่างพรรคชาวดิน 

พรรคการเมืองนิสิตเป็นองค์กรที่สำคัญต่อการเคลื่อนไหวเรียกร้องในประเด็นทางสังคมและรวมตัวกันทำกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งเป็นพื้นที่ให้นิสิตได้เข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาสิทธิประโยชน์ภายในมหาวิทยาลัย เปรียบเสมือนพรรคการเมืองระดับชาติที่เป็นองค์กรตัวแทนของประชาชนผ่านการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งบทบาทของพรรคการเมืองนิสิตเป็นบทบาทที่พยายามจำลองการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระดับประเทศให้นิสิตได้ลองสัมผัสการเมืองในระดับมหาวิทยาลัย

ยุคแรกของการก่อตัวพรรคการเมืองนิสิต

ก่อนก่อตั้งมหาวิทยาลัยมหาสารคาม สมัยที่ยังเป็นวิทยาลัยวิชาการศึกษา มหาสารคาม ช่วงปี พ.ศ. 2511 – 2516 การจัดกิจกรรมและรวมกลุ่มกันของนิสิตเป็นไปอย่างเรียบง่าย ไม่ได้ซับซ้อนและไม่เป็นทางการ ยังไม่มีองค์กรนำหรือองค์กรพรรคการเมืองของนิสิต ดังนั้นนิสิตจึงร่วมมือกันภายในทำกิจกรรมและถ่ายทอดองค์ความรู้กับประสบการณ์ในการทำงานจากรุ่นสู่รุ่น

ในยุคดังกล่าวยังไม่มีองค์กรจัดตั้งที่มีลักษณะเป็นพรรคการเมืองนิสิตเพื่อลงเลือกตั้งแข่งขันชิงตำแหน่งนายกองค์การนิสิตและสมาชิกองค์การฯ เป็นแต่เพียงการเสนอชื่อบุคคลเพื่อชิงตำแหน่งเท่านั้น ซึ่งเรียกตำแหน่งผู้นำนิสิตว่า “ประธานนิสิต” จากนั้นมาเมื่อปี 2512 จึงเปลี่ยนมาเรียกว่า       “นายกองค์การนิสิต” จนกลายเป็นชื่อตำแหน่งผู้นำนิสิตจนถึงปัจจุบัน

ยุคแรกเริ่มของกิจกรรมนิสิตในช่วงที่เป็นวิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคาม ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรมและการลงไปพัฒนาชนบทเป็นหลัก มีการนำกิจกรรมจากภายนอกเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ด้วยการจัดกิจกรรมร่วมกับชุมชน ส่วนใหญ่เป็นงานบุญประเพณี กล่าวได้ว่าในยุคเริ่มต้นของกิจกรรมนิสิตนั้นเป็นยุคสายลมแสงแดด

ค่ายสุขเกษมอาสาพัฒนาของนิสิต สมัยที่ยังเป็นวิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคาม เครดิตภาพ ม.มหาสารคาม  

ต่อมายกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม นิสิตจึงมีความตื่นตัวทางการเมืองอันเป็นผลมาจากเหตุการณ์การชุมนุมครั้งใหญ่ของประชาชน เมื่อ 14 ตุลาคม 2516 ช่วงเวลาดังกล่าวจึงเป็นยุคแห่งการตื่นรู้ทางปัญญาและเป็นยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน เริ่มตั้งแต่ช่วงปี 2516 ถึง 2519 

ช่วงนั้นนิสิตได้รวมกลุ่มกันจัดตั้งองค์กรของตนเอง แต่ไม่ได้มีลักษณะเป็นทางการ ซึ่งแบ่งออกได้ 2 ลักษณะ กลุ่มแรก เป็นนิสิตชั้นปีที่ 3 ถึง 4 ที่จบ ป.กศ.สูง แล้วเข้ามาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการครูมาก่อน นิสิตกลุ่มนี้ชื่อว่า “กลุ่มสังคมใหม่” แกนหลักหนึ่งในนั้น คือ ขจิตร ชัยนิคม (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย) และ ไพจิต ศรีวรขาน (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนม พรรคเพื่อไทย) กลุ่มจัดตั้งดังกล่าวได้รับการรับเลือกเป็นผู้นำนิสิตในระยะแรกๆ

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม เครดิตภาพ ม.มหาสารคาม 

ต่อมาเมื่อปี 2517 ได้เปิดรับนิสิตปริญญาตรีหลักสูตร 4 ปี ส่งผลให้เกิดการรวมตัวกันของนิสิต เกิดการจัดตั้งกลุ่มใหม่ที่มีชื่อว่า “กลุ่มพลัง”  มีอาวุธ คำวัน เป็นแกนนำและสมาชิกส่วนใหญ่มาจากสาขาฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ 

ประท้วงอาจารย์ด้วยการปิดล้อมอาคารเรียน 

ระหว่างนั้นได้เกิดเหตุการณ์สำคัญต่อนิสิตและอาจารย์ในมหาวิทยาลัยอย่างที่ไม่น่าจะมีใครลืมได้ นั่นคือ ความขัดแย้งระหว่างอาจารย์กับนิสิตถึงขั้นสร้างความบาดหมางระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนในเวลาต่อมา 

เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 9-11 กุมภาพันธ์ 2518 ที่นิสิตได้รวมตัวกันปิดล้อมอาคารเรียน แล้วขังอาจารย์ไว้ในบนอาคารเรียนหลังที่สอง โดยมีชนวนเหตุจากความไม่พอใจต่ออาจารย์ผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์คนหนึ่ง เนื่องจากวิชาดังกล่าวมีผู้สอบตกประมาณ 14 คน (จากจำนวนนิสิตที่เรียนวิชานั้นทั้งหมด 31 คน) และมีนิสิตที่จะต้องสำเร็จการศึกษาในปีการศึกษานั้นรวมอยู่ด้วย 

ช่วงเวลานั้นนิสิตได้อ้างว่า เป็นเจตนาและความบกพร่องของอาจารย์ที่ต้องการกลั่นแกล้งด้วยการส่งเกรดช้า จึงเป็นผลให้่นิสิตแก้ไขไม่ทัน และผู้สอนมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในระหว่างการสอนจากการดูถูก ดูหมิ่นผู้เรียน 

ขณะนั้นนิสิตกลุ่มหนึ่งในรายวิชาดังกล่าวได้รวมตัวกันทำหนังสือถึงอธิการบดี เพื่อขอให้มหาวิทยาลัยเปิดสอนวิชาที่สอบตกดังกล่าวเพื่อให้นิสิตได้สำเร็จการศึกษาและขอให้เปลี่ยนอาจารย์ผู้สอนในรายวิชาดังกล่าวด้วย 

ช่วงนั้นรองอธิการบดีรับข้อเสนอเพียงข้อแรก แต่ข้อเสนออื่นๆ อ้างว่าต้องรอมติที่ประชุมมหาวิทยาลัย จากนั้นนิสิตจึงยื่นหนังสือถึงสภาอาจารย์และสภานิสิตฯ ด้วย ซึ่งสภานิสิตตอบรับว่า จะหาทางช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว 

ต่อมาเกิดการประท้วงเรียกร้องโดยนิสิตที่หน้าอาคาร 1 และ โรงอาหารยูงทอง มีการตั้งเครื่องขยายเสียงและมีนิสิตเข้าร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมากทำให้การเรียกร้องขยายตัวออกไปยังอาจารย์คนอื่นๆ ด้วย และได้เพิ่มเติมข้อเรียกร้องมาเป็นระยะจนเกิดการลุกลามบานปลายเป็นการปิดล้อมอาคารเรียน 

แกนนำในการเคลื่อนไหวดังกล่าวมีสภานิสิตเป็นองค์กรนำทำให้คณาจารย์ไม่พอใจ มีการกล่าวโทษนิสิตว่า มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ดูหมิ่นอาจารย์และสถาบัน กระทั่งสภาคณาจารย์ได้ออกแถลงการณ์ตอบโต้ให้นิสิตยุติการกระทำดังกล่าว มิฉะนั้นจะงดการสอน แต่นิสิตยังคงเดินหน้าเคลื่อนไหวต่อ จนกระทั่งทางสภาคณาจารย์แถลงการณ์งดสอนเป็นเวลา 1 เดือน ทำให้เกิดการตอบโต้จากนิสิตมากยิ่งขึ้น 

ผลสุดท้ายทางคณาจารย์จำนวน 71 คน ได้ยื่นหนังสือลาออกต่อมหาวิทยาลัย ส่วนนิสิตได้เดินหน้าเข้าพบอธิการบดีที่ มศว.ประสานมิตร (กรุงเทพฯ) เพื่อยื่นหนังสือให้ย้ายอาจารย์ผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์คนดังกล่าวและขอให้มีการหาอาจารย์คนใหม่เข้ามาทดแทน แต่กลุ่มคณาจารย์ได้มีความพยายามในการเข้าพบอธิการบดีที่ มศว. ประสานมิตรเพื่อย้ายนิสิตที่เป็นแกนนำจำนวน 7 คนไปเรียนยังวิทยาเขตอื่น อีกทั้งมีโปรยใบปลิวกล่าวหาว่าแกนนำนิสิต ทั้ง 7 คนเป็นภัยต่อมหาวิทยาลัยและชุมชน อีกทั้งอ้างว่าเป็นเจตนาของชุมชนที่ต้องการให้ย้ายแกนนำนิสิตทั้ง 7 คน ออกจากจังหวัดมหาสารคาม แต่ทางอธิการบดี มศว. ประสานมิตรได้ทำเรื่องย้ายอาจารย์คนดังกล่าวแทน และให้กลับมาเปิดเรียนในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2518 

หลังจากที่นิสิตทราบถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มคณาจารย์ ทางนิสิตได้ส่งตัวแทนเข้าพบรองอธิการบดีและสภาคณาจารย์เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2518  ณ อาคารสอง การประชุมครั้งนั้นเป็นไปอย่างเคร่งเครียด ระหว่างที่ยังไม่มีคำตอบได้มีอาจารย์บางส่วนลุกออกจากการประชุมและนิสิตจำนวนมากได้รวมตัวกันรอคำตอบอยู่ข้างล่างอาคาร 

เมื่อนิสิตที่รออยู่เห็นอาจารย์จำนวนหนึ่งเดินลงมาจากอาคาร จึงทราบว่าการประชุมไม่เป็นที่สัมฤทธิ์ผล ทำให้นิสิตบางส่วนปิดประตูไม่ให้อาจารย์ออก ซึ่งมีอาจารย์อยู่ข้างในอาคาร 16 คน รวมทั้งรองอธิการบดีด้วย แม้ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามและเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้าไกล่เกลี่ยแต่ไม่เป็นผล 

ขณะที่นิสิตได้สลับกันปราศรัยกับเล่นดนตรีอยู่บริเวณหน้าตึก จนสุดท้ายได้มีการเจรจาต่อรองกับนิสิตอีกครั้ง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ทำให้นิสิตยอมปล่อยอาจารย์ออกมาจากอาคาร รวมเวลาที่อาจารย์ถูกกักบริเวณเป็นเวลา 18 ชั่วโมง จากนั้นนิสิตได้ย้ายไปชุมนุมต่อที่หอพักชาย และต่อมาได้ยกเลิกการชุมนุม เนื่องจากถูกผู้ว่าราชการจังหวัดและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงกดดัน 

ผลจากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มหาวิทยาลัยอนุมัติย้ายนิสิตที่เป็นแกนนำและให้นิสิตสมัครใจย้ายไปเรียนที่วิทยาเขตอื่นได้ รวมถึงสั่งปิดการเรียนการสอน 1 เทอม แต่เมื่อเปิดการเรียนใหม่ ผลของความขัดแย้งก็ไม่ได้จางหายไปและส่งผลต่อการเลือกตั้งคณะกรรมการองค์การนิสิตทำให้เสียงภายในนิสิตแตกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ประท้วงอาจารย์และกลุ่มที่สนับสนุนอาจารย์ แต่จากผลการเลือกตั้งปรากฏว่า กลุ่มที่ประท้วงอาจารย์ชนะการเลือกตั้งโดย อาวุธ คำวัน ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การนิสิตเมื่อปี 2518

จากที่กล่าวมาทั้ง 2 กลุ่ม เป็นกลุ่มการเมืองของนิสิตรุ่นแรก แต่สลายตัวภายหลังจากการล้อมปราบประชาชน เมื่อ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นช่วงที่ขบวนการนิสิตนักศึกษาในประเทศไทยต้องหนีการปราบปรามและการเคลื่อนไหวในมหาวิทยาลัยถูกทำให้อ่อนกำลังลง 

ต่อมาความขัดแย้งทางการเมืองเริ่มผ่อนปรนเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลในสมัย พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเปลี่ยนแปลงนโยบายจากที่เคยใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนที่มีความคิดต่างทางการเมือง โดยเฉพาะพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งใช้อาวุธต่อสู้กับรัฐไทยมาตั้งแต่ปี 2508    มาสู่การดำเนินนโยบายที่เป็นสายกลางมากยิ่งขึ้นเพื่อรองรับต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระหว่างประเทศ มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้เคยเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หลังจากนั้นก็มีประชาชนและอดีตนิสิต นักศึกษาออกมาจากป่าเป็นจำนวนมาก บางส่วนก็ได้เข้าไปทำงานในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรโดยทำการเคลื่อนไหวต่อสู้ในภาคประชาชน ส่วนบางส่วนได้กลับเข้ามาศึกษาต่อในรั้วมหาวิทยาลัย 

ผลจากที่กล่าวมานั้นทำให้เกิดการรวมตัวกันของนิสิตจัดตั้งกลุ่มนิสิตขึ้นมาเพื่อเข้าสู่สนามการเลือกตั้งองค์การนิสิตและเป็นพรรคการเมืองของนิสิตกลุ่มแรกในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม กลุ่มแรกคือ “พรรคชาวดิน” เมื่อปี 2521  โดยมีแกนนำจัดตั้งคนสำคัญ คือ สุเพชร ยอดตา และมนพ สกลสินธุ์ศิริ เป็นต้น 

ภาพกิจกรรมทางการเมืองซึ่งสมาชิกพรรคชาวดินได้เข้าร่วมการเคลื่อไหวเมื่อช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา

ในปีเดียวกันพรรคชาวดินได้รับเลือกตั้งให้ทำหน้าที่บริหารองค์การนิสิต โดยมีนายกองค์การนิสิตคนแรกของพรรค คือ สุเพชร ยอดตา ซึ่งได้ออกจากป่าและได้รับเลือกเป็นนายกองค์การนิสิตคนแรกของพรรคชาวดิน  

หลังจากนั้นเป็นต้นมาพรรคชาวดินได้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองและการออกค่ายสู่ชนบทเรื่อยมากระทั่งเมื่อปี 2563 เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญในช่วงปีนั้น สมาชิกกลุ่มนิสิตชาวดินได้ร่วมต่อสู้เรียกร้องทั้งการเมืองระดับประเทศและการเมืองในระดับมหาวิทยาลัย เริ่มทำ กิจกรรมต่างๆ เพื่อพิทักษ์นิสิตสมกับเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นปากกระบอกเสียงให้นิสิต จนนำไปสู่การส่งคณะผู้สมัครองค์การนิสิต สังกัดพรรคชาวดินประจำปี 2564 

เป็นการกลับมาเข้าสู่สนามการเมืองในระดับมหาวิทยาลัยอีกครั้ง หลังจากที่พรรคไม่ได้ส่งผู้สมัคร 1 ปี ทำให้กิจกรรมของพรรคชาวดินกลับมาคึกคักอีกครั้ง ภายใต้คณะทำงานชุดใหม่ นำโดย ธนวิชญ์ เสพสุข 

บรรณานุกรม 

  1. พนัส ปรีวาสนา (2546), รากเหง้าและการพัฒนาการแห่งสภานิสิต. เอกสารประกอบการบรรยายการสัมมนาสภานิสิต, มหาสารคาม : มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 
  2. สารานุกรม ประวัติมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (กิจกรรมและเหตุการณ์) (2555),  มหาสารคาม: โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม น. 196-201

หมายเหตุ: The Isaan Record ยินดีรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยความคิดเห็นที่แสดงบนเว็บไซต์ The Isaan Record ถือเป็นมุมมองของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการและเครือข่าย

image_pdfimage_print