กลับมาตามคำเรียกร้องกับการค้นหาประวัติศาสตร์อีสานที่หายไป แม้จะมีผู้เสียชีวิตกว่า 300 ศพที่หมู่บ้านสะพือ จ.อุบลราชธานี แต่กลับไม่ถูกบันทึกในตำราเรียน ไม่มีแม้แต่อนุสาวรีย์หรือเรื่องเล่าในพิพิธภัณฑ์ 

The Isaan Record ชวนติดตามสาเหตุที่แท้จริงของการต่อสู้ของชาวบ้านอีสานเมื่อ 121 ปีที่แล้ว โดยจะนำเสนอซีรีส์ชุด “ผู้มีบุญในอีสาน” ซีซั่น 2 ตลอดเดือนนี้และเดือนเมษายนที่ช่วงเวลาอันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของการปราบปราม

ช่วงเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว กองบรรณาธิการ The Isaan Record ได้ผลิตวิดีโอ สารคดีเชิงข่าวและบทความ เรื่องราวเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐสยาม ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างปี 2444-2445 ภายใต้ชื่อซีรีส์ “ผีบุญอีสาน” 

กองบรรณาธิการเผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับการต่อสู้ครั้งนั้นกว่า 30 ตอน แต่ก็ยังเหลือเรื่องราวอีกมากที่ยังตกหล่นริมทาง ด้วยเพราะเหตุการณ์นั้นผ่านมากว่า 120 ปี ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ก็ทยอยล้มหายตายจาก เหลือแต่เพียงเรื่องเล่าแบบปากต่อปาก จากผู้เฒ่าสู่ลูกหลานที่อาศัยอยู่หมู่บ้านสะพือ อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นสมรภูมิรบของฝ่ายกบฏและทหารสยาม  

การนำเสนอเรื่องราวที่ผ่านมา กองบรรณาธิการไม่ได้ต้องการฟื้นฝอยหาตะเข็บหรือสร้างความแตกแยกให้กับสังคมไทย หรือต้องการปลุกปั่นให้แบ่งแยกดินแดน เป็นแต่เพียงการพยายามค้นหาประวัติศาสตร์บางส่วนของอีสานที่หายไป เพื่อให้ยังคงระลึกถึง เรียนรู้และจดจำ 

การเผยแพร่ครั้งนั้นได้นำมาสู่การถกเถียงบนเพจ The Isaan Record อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะต้นตอของการลุกขึ้นมาต่อสู้ของกลุ่มที่ถูกเรียกว่า “กบฏผีบุญ” นั่นก็คือ “การถูกรีดภาษีที่แสนแพงและความอยุติธรรมที่ถูกกระทำจากรัฐ” 

ระหว่างที่เผยแพร่ซีรีส์ชุด “ผีบุญอีสาน” อยู่นั้น ทางกองบรรณาธิการได้จัดเสวนาออนไลน์ผ่านคลับเฮาส์หัวข้อ “เล่าเรื่องบ้านสะพือ : ทุ่งสังหารผู้มีบุญ” ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนจากส่วนกลางและผู้คนบนโซเชียลมีเดียอย่างล้นหลาม นำมาสู่การกถเถียงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหลายเวที

 

เหตุการณ​์ขณะกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐถูกทหารสยามควบคุมตัว ภาพจากหนังสือ ประวัติศาสตร์อีสาน

ต่อมาไม่ห่างกันนัก กองบรรณาธิการได้จัดเสวนาออนไลน์ผ่านช่องทางเดิม แต่เป็นการรวมผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์จาก 3 ภูมิภาค เหนือ อีสานและสามจังหวัดชายแดนใต้ ร่วมพูดคุยกันถึงประวัติศาสตร์กบฏ 3 หัวเมือง ภายใต้หัวข้อ “สามหัวเมืองกบฏ : อีสาน เหนือ ใต้” ก็ได้รับความสนใจไม่แพ้กัน  

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเสวนาของตัวแทน 3 หัวเมือง คือ ผู้คนชายขอบหรือผู้คนในหัวเมืองต่างๆ มีความรู้สึกเป็น “คนอื่น” ในประเทศไทย ซึ่งเกิดขึ้นจากการยุบรวมมณฑลต่างๆ เพื่อให้เป็นรัฐชาติเดียวกันตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ทำให้ผู้คนจำนวนหนึ่งตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เป็นความรู้สึกของคนที่ตกเป็น “อาณานิคมภายในของรัฐสยาม” ซึ่งต้องเผชิญการถูกกดทับและถูกทำลายอัตลักษณ์ ตัวตน เพื่อกลืนกินและทำให้เลือนหาย โดยอ้างว่า “ต้องการสร้างความสามัคคีและความเป็นหนึ่งเดียว” ทั้งที่แต่ละพื้นที่ล้วนมีความงดงามในความแตกต่าง 

เพื่อเป็นการค้นประวัติศาสตร์อีสานที่ไม่ได้ถูกบันทึกในตำราเรียน กองบรรณาธิการ The Isaan Record จึงผลิตซีรีส์นี้อีกครั้งหนึ่ง โดยเปลี่ยนชื่อเป็นซีรีส์ชุด “ขบถผู้มีบุญอีสาน” ซีซั่น 2 เพื่อเป็นการให้เกียรติกับผู้เสียชีวิตที่มีมากกว่า 300 คนในดินแดนที่ราบสูงแห่งนี้ 

เนื้อหาในซีรีส์ชุดนี้จะเป็นการพูดคุย เสาะหา เพื่อค้นหาคำตอบถึงสาเหตุของการต่อสู้ของกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐสยาม ณ หมู่บ้านสะพือ อ.ตระกาลพืชผล จ.อุบลราชธานีเมื่อ 121 ปี ซึ่งพยานบุคคลแทบจะไม่มีแล้ว เหลือแต่เพียงลูกหลานที่ฟังมาจากบรรพบุรุษ โดยเฉพาะเรื่องราวสยองขวัญในการหลบหนีเพื่อไม่ให้ถูก “ลูกหลง” ของผู้ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ปราบกบฏและการต่อสู้ของกลุ่มต่อต้าน 

กองบรรณาธิการยังค้นพบว่า หมู่บ้านสะพือในอดีตมีการต้มเกลือเป็นล่ำเป็นสัน ซึ่งถือเป็นเศรษฐกิจสำคัญของคนพื้นที่ นำมาสู่ข้อสันนิษฐานว่า จากปัจจัยนี้หรือไม่ที่ทำให้เหล่านักรบผู้มีบุญ เลือก “หมู่บ้านสะพือ” เป็นชัยภูมิสำคัญในการปักหลักสู้ หรือมีเหตุปัจจัยอื่นที่ทำให้หมู่บ้านแห่งนี้เป็นดินแดนฝังศพของคนกว่า 300 คนอย่างไม่มีพิธีทางศาสนา 

คำตอบอยู่ในซีรีส์ชุดนี้ “ขบถผู้มีบุญอีสาน” ซีซั่น 2

image_pdfimage_print